ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ท้องสนามหลวง-สนามราษฏร์ กลุ่ม REDEM นัดรวมตัวทำกิจกรรมพับจรวดร่อนจดหมายส่งข้ามรั้ววัง แต่ยังไม่ทันที่กิจกรรมจะเริ่ม เมื่อแนวกำแพงตู้คอนเทนเนอร์ถูกโค่นถล่มลงมา เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนพร้อมโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ ระเบิดเสียง กระสุนยาง ฯลฯ ก็เปิดฉากรุกไล่ประชาชนจนแตกฉานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง
เป้าหมายที่รัฐบาลเผด็จการมุ่งหวังคือ การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว บดขยี้ผู้เห็นต่างไม่ให้กระด้างกระเดื่อง
ทว่าการณ์กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะยิ่งรัฐบาลตอบโต้ด้วยวิธีการสกปรกเยี่ยงรัฐมาเฟีย กลับยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟ สร้างความคับแค้นใจให้แก่มวลชน
ถัดมาไม่กี่วันหลังจากนั้น ช่วงเย็นวันที่ 24 มีนาคม 2564 มวลชนกลับคืนสู่ท้องถนนอีกครั้งที่บริเวณราชประสงค์ หรือราษฎร์ประสงค์ นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ภายใต้ชื่อกิจกรรม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร
จุดยืนและเป้าหมายของการชุมนุมยังคงเน้นหนักในข้อเรียกร้องเดิมคือ หนึ่ง-ประยุทธ์ต้องลาออก สอง-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน สาม-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อเรียกร้องคือ ยกเลิก 112 #ปล่อยเพื่อนเรา
นัยหนึ่งของการชุมนุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากเช้าวันรุ่งขึ้น (25 มีนาคม 2564) อัยการจะมีการนัดสั่งฟ้องนักกิจกรรม 13 คน ในคดี 112 จากกรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีแนวโน้มว่า หากอัยการมีคำสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาอาจจะไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในชั้นศาล
สู้ไปด้วยกัน
การชุมนุมเริ่มต้นเมื่อเวลา 17.00 น. โดยมีผู้ปราศรัยหลัก อาทิ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากกลุ่ม ROOT, เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ จากพรรคก้าวล่วง (กลุ่มราษฎรโขง ชี มูล) ซึ่งทั้ง 3 คน เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี
นอกจากนี้ ช่วงหนึ่งของกิจกรรมมีการเปิดคลิปวิดีโอของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในหัวข้อ ‘สถาบันกษัตริย์กับสิทธิมนุษยชน’
มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ขึ้นกล่าวปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ ตอนหนึ่งของการปราศรัยระบุว่า ต้องการส่งสารไปยังคนหลายกลุ่ม และหวังว่าการพูดวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สถาบันการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ เปรียบเสมือนการปราศรัยครั้งนี้เป็นการพูดครั้งสุดท้าย เพราะไม่มั่นใจว่าศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่ หากอัยการสั่งฟ้อง
ข้อความตอนหนึ่งบนเวทีปราศรัยระบุว่า
“เราในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เราควรจะต้องพูดถึงได้ ทั้งในแง่ของการสรรเสริญ และในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย ตามระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
นอกจากนี้ เพจแนวรวมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยังได้เผยแพร่บทกลอนที่มายด์-ภัสราวลี อ่านทิ้งท้ายบนเวทีปราศรัย ก่อนที่การชุมนุมจะยุติลงอย่างสงบในเวลา 21.00 น.
มุ่งหมายตามล่าล้าง ดุจมิ ใช่คน
หมายมุ่งปราบมวลชน ลูกหลาน
จบแล้วซึ่งอดทน กดขี่
ทวยราษฎร์เลิกหมอบกราบ หมดสิ้น ศรัทธา
เรียนทูลกษัตริย์แก้ว ตรับฟัง
หากยังอยากหยุดยั้ง ก่อนช้า
มิให้ทุกสิ่งพัง พินาศ ดับสูญ
พสกราษฏร์ทั่วหล้า แซ่ซ้อง ยินดี