อาเซียนในสายตาอินเดีย นเรนทรา โมดิ เยือนไทย ล้มเหลวหรือสำเร็จ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโอกาสได้ต้อนรับเหล่าผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ รวมถึงการมาเยือนประเทศไทยของ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ (Narendra Modi) แห่งสาธารณรัฐอินเดีย อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่การเดินทางครั้งแรกในฐานะผู้นำประเทศ แต่การมาเยือนในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เพราะมีหมุดหมายและวัตถุประสงค์สำคัญ ซึ่งไม่เพียงแต่การเชื่อมความสัมพันธ์กับไทยและอาเซียนเท่านั้น แต่ยังมุ่งยกระดับความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อเสริมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในการเชื่อมสองมหาสมุทร รวมถึงการใช้การทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) อีกด้วย

 

ใครคือ นเรนทรา โมดิ

หลังจากประสบความสำเร็จในการเมืองท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน นเรนทรา โมดิ อดีตมุขมนตรีแห่งรัฐกุจราช ได้นำพรรคภารติยะชนตะ (Bharatiya Janata Party) ลงสนามในระดับชาติและสามารถชนะการเลือกตั้งในปี 2014 เหนือพรรคคองเกรสแห่งอินเดีย (Indian National Congress) พรรคการเมืองยอดนิยมและเก่าแก่ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ชัยชนะดังกล่าว ทำให้ชื่อของ นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ พร้อมแนวนโยบายที่มุ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอินเดียผ่านนโยบายชาตินิยมและเสรีทางเศรษฐกิจ

จากการดำเนินงานด้วยนโยบายที่ชัดเจนแข็งกร้าวตลอดระยะเวลา 4 ปี (2014-2019) มีทั้งเสียงชื่นชม ในขณะเดียวกันก็มีผู้ต่อต้าน แต่ความสำเร็จของโมดิได้รับการพิสูจน์ ดังจะเห็นได้จากชัยชนะอย่างถล่มทลายอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา สะท้อนว่าแนวทางการบริหารประเทศของโมดิยังคงได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวอินเดีย และบทบาทของอินเดียที่เพิ่มมากขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับอินเดียในฐานะมหาอำนาจใหม่ที่น่าจับตามอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการยกระดับแนวนโยบายเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการมองตะวันออก (look east) สู่การปฏิบัติตะวันออก (act east) แต่ในช่วง 4 ปีแรกของ นเรนทรา โมดิ ไทยและอาเซียนแทบจะยังไม่ได้อยู่ในกรอบคิดของโมดิ เพราะในห้วงเวลาดังกล่าว โมดิเลือกที่จะเดินทางเชื่อมความสัมพันธ์กับมหาอำนาจที่สำคัญของเอเชีย ยุโรป แลtอเมริกา แต่โมดิเองก็ยังไม่ได้มีท่าทีอย่างชัดเจนต่อเอเชียตะวันตะวันออกเฉียงใต้

 

การเดินทางมาเยือนไทยของโมดิ

ครั้งแรกของการมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ นเรนทรา โมดิ เกิดขึ้นในปี 2016 ในระหว่างการเดินทางไปยังญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียได้แวะกรุงเทพมหานครเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

จนกระทั่งระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นเรนทรา โมดิ ได้มาเยือนประเทศไทยอีกครั้งแต่เป็นครั้งสำคัญเพราะการมาครั้งนี้อินเดียจะได้โอกาสในการปักหมุดนโยบายการทูตแบบโมดิให้ชัดขึ้นในภูมิภาคผ่านการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน อินเดีย (ASEAN-India Summit), การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) และการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

 

อุ่นเครื่อง ‘สวัสดีนายกฯ โมดิ’ ด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม

เป็นที่น่าสนใจว่าการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) ที่ใช้ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถูกทำให้เห็นอย่างเด่นชัดในการมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ เฉกเช่นเดียวกันการเยือนประเทศอื่นๆของโมดิ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แม้กระทั่งอินโดนีเซีย

ในวันแรกของการเยือนไทย โมดิได้ใช้สนามกีฬานิมิบุตร ใจกลางกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ‘Sawasdee PM Modi’ เพื่อพบปะกับประชาคมชาวอินเดียโพ้นทะเล (Indian Diaspora) ที่มีจำนวนหลายพันคน คนไทยเชื้อสายอินเดียเหล่านี้มีบทบาทสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมไปถึงการเชื่อมโยงถิ่นพำนักปัจจุบันกับแผ่นดินแม่

เป็นที่สังเกตว่า โมดิให้ความสำคัญกับชาวอินเดียโพ้นทะเลมาโดยตลอด และก่อนจะเดินทางมาถึงประเทศไทย โมดิได้ส่งข้อความผ่านทางทวิตเตอร์เพื่อตอกย้ำความสำคัญของชาวอินเดียโพ้นทะเลเหล่านี้ว่า การเชื่อมต่อกับชาวอินเดียโพ้นทะเลคือสิ่งที่โมดิถวิลหาอยู่เสมอ เพราะโมดิเชื่อว่าชาวอินเดียที่อยู่ในเมืองไทยจำนวนมากเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการที่สำคัญต่อประเทศไทยและความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติเสมอมา

และเพื่อตอกย้ำการทูตเชิงวัฒนธรรม ให้โมดิเลือกที่จะใช้โอกาสนี้ในเปิดตัวเหรียญที่ระลึกเพื่อเฉลิมฉลอง 550 ปี ชาตกาลของ คุรุนานักเทพ เนื่องจากชาวอินเดียโพ้นทะเลในประเทศไทยมีชาวซิกข์อยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง

ในการพบปะกับชาวอินเดียโพ้นทะเล โมดิได้กล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญว่า อินเดียและไทยต่างมีความคล้ายคลึงกันในหลายประการ ทั้งเชิงภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่ย้อนหลังผ่านการค้าและการเดินทางระหว่างกันนับพันปี อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยยังมีความสัมพันธ์อันดีกับอินเดีย ดังจะเห็นได้จากการที่ สมเด็จกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาภาษาสันสกฤตอีกด้วย ทำให้การเดินทางมาเยือนเมืองไทยไม่ทำให้โมดิรู้สึกว่ามาเยือนต่างประเทศเลย

 

โมดิในการประชุมสุดยอดอินเดีย-อาเซียน

ก่อนการเดินทางสู่กรุงเทพมหานคร นเรนทรา โมดิ ได้แถลงการณ์ว่าการมาเยือนอาเซียนในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทบทวนความร่วมมือกับอาเซียนในฐานะหุ้นส่วน สอบทานแผนการพัฒนาและเครื่องมือที่อาเซียนใช้ในการขยายความร่วมมือ รวมไปถึงการให้ส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางทะเล ทางบก ทางอากาศ ทางเทคโนโลยีดิจิทัล และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน (people to people) ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากทางหลวงไตรภาคีเชื่อมอินเดีย เมียนมาร์และไทยแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้นโยบายปฏิบัติตะวันออก (Act East Policy) เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

และในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมานั้น นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียได้เป็นประธานในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 16 (the 16th ASEAN-India Summit) ร่วมกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เสนอประเด็นหลักด้านการพัฒนาหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (advancing partnership for sustainability)

จากการประชุมพบว่าทั้งอาเซียนและอินเดียได้เจรจาและตกลงที่จะสานต่อความสัมพันธ์ผ่านโครงการต่างๆ อีกทั้งยังได้ต่อยอดนโยบายการต่างประเทศใหม่ๆ อาทิ การยกระดับคุณภาพและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human resource development) ผ่านการให้ทุนการศึกษากว่า 1,000 ทุน รวมมูลค่ากว่า 3,000 ล้านรูปี สำหรับนักศึกษาจากชาติสมาชิกอาเซียนเพื่อเข้าศึกษาระดับปริญญาเอก ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institute of Technology)

 

โมดิกับกรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอินเดีย โมดิได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแห่งเอเชียตะวันออกครั้งที่ 14 (the 14th East Asia Summit) ซึ่งโมดิเชื่อว่าการประชุมความร่วมมือเอเชียตะวันออกนั้น คือองค์ประกอบสำคัญในสร้างความร่วมมือหนึ่งเดียวระดับภูมิภาคโดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และความร่วมมือนี้จะช่วยหนุนนำให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของอินเดียมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

เป็นที่น่าสนใจว่า กิจกรรมสำคัญในการมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ คงจะหนีไม่พ้นการเจรจาภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งกรอบดังกล่าวขยายภาพของการยกระดับความร่วมมือของอาเซียน+6 ได้แก่สมาชิกอาเซียนและอีก 6 ชาติคู่เจรจาที่สำคัญ ประกอบไปด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

โดยประเด็นที่สำคัญคือข้อตกลงการค้าเสรีที่จะลดภาษีระหว่างชาติสมาชิกเพื่อให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางการค้า บริการและการลงทุนกันมากขึ้น ซึ่งความตกลงทางเศรษฐกิจนี้หากเกิดขึ้นได้จริงจะกลายเป็นกลุ่มการค้าและเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 39 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก มีปริมาณการค้าโลกสูงถึงร้อยละ 30 และมีมูลค่าการลงทุนข้ามชาติถึงร้อยละ 26 อีกทั้งครอบคลุมร้อยละ 45 ของประชากรโลกทั้งหมด

 

อินเดียและการตัดสินใจครั้งสำคัญ

แม้ว่าความร่วมมือและข้อตกลงดังกล่าว อินเดียมีส่วนร่วมนับแต่ครั้งเริ่มต้นในปี 2012 อีกทั้งหากข้อตกลงเกิดขึ้นจริงจะสามารถเชื่อมโยง 3 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เข้าด้วยกันได้ ซึ่งเป็นการเสริมพลังของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

แต่ระหว่างการประชุมที่ผ่านมา รูปแบบความร่วมมือของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงหลักการของการรวมตัวกันของภูมิภาค รวมถึงข้อกังวลของอินเดียโดยเฉพาะประเด็นความเป็นธรรมและการตรวจสอบไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร จึงทำให้นาทีสุดท้าย นายกรัฐมนตรีโมดิเลือกตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือดังกล่าว แต่หันมาใช้การเจรจาแบบทวิภาคีกับคู่เจรจา เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลียแทน ซึ่งหลังจากการปฏิเสธของอินเดีย ทำให้ที่ประชุม RCEP ถึงกับชะงัก โดยถือว่าการไม่เข้าร่วมของอินเดียนับเป็นการก้าวถอยหลังของการเจรจา

อย่างไรก็ดี เหตุผลสำคัญของการเลือกไม่เข้าร่วมอาจเป็นเพราะสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวในช่วงปีที่ผ่านมา แรงกระเพื่อมจากกระแสเศรษฐกิจของอินเดียและความวิตกหากต้องแข่งขันภายใต้กรอบความร่วมมือ RCEP อาจจะทำให้เศรษฐกิจของอินเดียไม่เป็นที่พึงใจเท่าที่ควร ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องเลือกที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นภายใน มากกว่า RCEP ที่สำคัญแนวนโยบายดังกล่าวได้รับการคัดค้านเป็นอย่างมากจากอินเดีย เนื่องจากเชื่อว่า หากข้อตกลงนี้เกิดขึ้นจริงเกษตรกรและชาวนาจำนวนมากของอินเดียย่อมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร

นอกจากนี้การเข้าร่วมความตกลงข้างต้นยิ่งทำให้สภาวการณ์การขาดดุลทางการค้าเด่นชัดและรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะในประเทศคู่ค้าของอินเดียใน RCEP จำนวน 15 ประเทศ มีถึง 11 ประเทศที่ได้ดุลการค้าเหนืออินเดีย สะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือลักษณะดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของอินเดีย อย่างไรก็ตามข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเพียงการกีดกันทางการค้า (protectionism) เพื่อสร้างรายได้และโอกาสให้กับอินเดียนั่นเอง

เดินหน้าโดยไร้อินเดีย

ภายหลังกลับประเทศ โมดิได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการตัดสินใจในครั้งนี้ เพราะการไม่ร่วม RCEP เท่ากับว่าอินเดียกำลังเดินออกจากข้อตกลงทางการค้าที่ทรงพลังที่สุดในโลก ในขณะที่อีก 15 ประเทศที่เหลือยังคงเดินหน้าต่อแม้จะไม่มีอินเดียอยู่ในความตกลงดังกล่าว และคาดว่ากระบวนการทางกฎหมายและการลงนามข้อตกลงจะประกาศใช้อย่างสมบูรณ์ในช่วงปี 2020-2021

เป็นที่สังเกตว่าการเดินหน้าของ RCEP โดยไร้อินเดีย ยิ่งทำให้จีนกลายเป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคในการกำหนดยุทธศาสตร์ของความร่วมมือดังกล่าว

ดังนั้นการมาเยือนไทยและการตัดสินใจของอินเดีย อาจทำให้บทบาทของอินเดียในสายตาประชาคมอาเซียนเปลี่ยนไปก็เป็นได้

 

Author

ปิยณัฐ สร้อยคำ
ปิยณัฐ สร้อยคำ ศิษย์เก่าจากดินแดนมหาภารตะ ทำการศึกษาและคลุกคลีอยู่กับ ‘ความเป็นอินเดีย’ นานนับสิบปี จนเป็นผู้เชี่ยวชาญและรู้จักอินเดียมากที่สุดคนหนึ่งในไทย ปัจจุบันปิยณัฐเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ​ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า