หน้าพิพิธภัณฑ์ ฉันมองหาทางเข้าเพื่อซื้อตั๋ว ปรากฏว่าประตูตรงกลางปิดสนิท ฉันงงว่า เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า จนเหลือบไปเห็นกระดาษ A4 สีขาวติดอยู่ด้านหน้า ฉันไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่นของเซอร์เบีย แต่เห็นว่ามีวันที่ระบุอยู่ซึ่งตรงกับวันที่ฉันยืนอยู่ตรงนั้น ก่อนจะเจอสองหนุ่มเซอร์เบียนเดินผ่านมา ฉันถามทั้งสองถึงสาเหตุของการปิด คนหนึ่งในนั้นอ่านข้อความแล้วบอกว่า พิพิธภัณฑ์เจอแบคทีเรีย เอ่อ… เราสามคนหัวเราะพร้อมกันเสียงดัง หนุ่มคนเดิมพูดต่อว่า
“แย่มาก ตอนนี้เซอร์เบียเศรษฐกิจแย่ แถมพิพิธภัณฑ์ยังมีแบคทีเรียอีก อันนี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีจริงๆ”
จนเพื่อนเขาต้องปรามว่า “หยุดเถอะน่า ไร้สาระ”
ตอนบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2016 หลังจากเดินสำรวจเมืองเบลเกรดรอบนอกพอสมควรแล้ว ฉันอยากสัมผัสความอบอุ่นในอาคารจากเครื่องทำความร้อนบ้าง และวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะไปยังจุดหมายสำคัญ คือพิพิธภัณฑ์ด้านชาติพันธุ์วรรณา ซึ่งอยู่ติดกับสวนนักศึกษาหรือสวนนักวิชาการ และควรไปวันอาทิตย์ เพราะส่วนใหญ่พิพิธภัณฑ์จะปิดวันจันทร์ แต่ก็ต้องพลาดไปตามระเบียบดังที่กล่าวไป แอบเสียดายมากถึงมากที่สุด เพราะเชื้อราเจ้ากรรมดันมาขึ้นเอาวันนั้นพอดี ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดพิพิธภัณฑ์ทำความสะอาด
ที่ฉันรู้สึกว่าอยากเยี่ยมชมที่นี่มาก เพราะอยากรู้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่เมืองเบลเกรดจะนำเสนอเรื่องราวของผู้คน เชื้อชาติ สังคมที่เริ่มต้นและเปลี่ยนแปลงในประเทศเซอร์เบีย รวมถึงอดีตประเทศยูโกสลาเวีย หรือภูมิภาคบอลข่านอย่างไร เนื่องจากประเทศในภูมิภาคนี้ต่างผ่านประวัติศาสตร์การถูกครอบครองจากหลายจักรวรรดิและการสู้รบในสงครามมาอย่างรุนแรง
เท่าที่เห็นในแผ่นไวนิลหน้าพิพิธภัณฑ์ระบุว่า นิทรรศการถาวรมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวเซิร์บในศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อเช็คในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ มีคำอธิบายถึงนิทรรศการดังกล่าวว่าเพิ่งจัดให้มีขึ้นในปี 2001 เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในปี 1901 โดยนำเสนอวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ที่เริ่มมีอุตสาหกรรม ผู้จัดนิทรรศการต้องการนำเสนอวัฒนธรรมดังกล่าวนอกเหนือจากพื้นที่ทางการอย่างโบสถ์หรือสถานที่ปฏิบัติธรรม หากรวมถึงงานรื่นเริงหรือเทศกาลหรือพื้นที่ของการสังสรรค์ เต้นรำ การแลกเปลี่ยนสินค้า และการพบปะกันของคนหนุ่มสาว
นอกจากนี้ นิทรรศการยังเน้นวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในบริเวณบอลข่าน และส่วนที่เป็นเขตการปกครองของเซอร์เบียและพื้นที่ชนบท เช่น ประเพณีพื้นบ้าน รูปแบบเกษตรกรรม อาหารการกิน หรือชีวิตประจำวันในงานเทศกาลทางศาสนา นั่นหมายความว่าวัฒนธรรมหลากหลายของบอลข่านถูกบีบแคบเหลือเพียงแค่วัฒนธรรมของชาวเซิร์บ และระยะเวลาอาจกินมาถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เท่านั้น และไม่ครอบคลุมเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ร่วมสมัยขึ้นมาอย่างการรวมชาติในยุคของยูโกสลาเวีย ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน แต่เหมือนพิพิธภัณฑ์ต้องการจะหยุดพลวัตความเปลี่ยนแปลงไว้ที่กลางศตวรรษที่ 20
จากประสบการณ์การเดินทางของฉัน พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณามีเกือบทุกเมืองในยุโรป เป็นพื้นที่ที่แสดงเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลง และพลวัตของผู้คนและสังคมที่ประกอบขึ้นมาในประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆ บางแห่งอาจแสดงเกี่ยวกับชิ้นส่วนทางโบราณคดีหรือแหล่งตั้งรกรากดั้งเดิมของผู้คนด้วย ซึ่งสำหรับคนไทยแล้ว พิพิธภัณฑ์ในลักษณะนี้อาจไม่คุ้นหูและอาจไม่เข้าใจว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับอะไร
ที่พอมีประสบการณ์ไปเยี่ยมชมอยู่บ้างในเมืองไทย และพอจะเข้าข่ายพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาก็เช่น พิพิธภัณฑ์สยาม พิพิธภัณฑ์ชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่ และอาจรวมถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแห่ง น่าเสียดายที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านส่วนใหญ่เน้นการแสดงสิ่งของเก่าหายาก แต่ขาดมิติของความสัมพันธ์ของผู้คนและสิ่งของที่สะท้อนสภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย ขณะที่บางแห่งให้ภาพผู้คนและสังคมที่แน่นิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง และเน้นการซาบซึ้งถึงอดีตอันสวยงาม ขาดบริบทร่วมสมัยและพลวัตที่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน
เมื่อผิดหวังจากพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาที่เบลเกรด ฉันข้ามไปยังแผนต่อไป คือป้อมปราสาทเบลเกรด (Belgrade Fortress) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมือง ‘เบลเกรด’ (Belgrade) แปลว่าป้อมปราสาทสีขาว (white fortress) ซึ่งมาจากหินก้อนใหญ่ที่นำมาสร้างส่วนกำแพงของปราสาท
ป้อมปราสาทเบลเกรดเป็นจุดพบกันระหว่างแม่น้ำดานูบ (Danube) และแม่น้ำซาวา (Sava) ว่ากันว่าไม่มีทางที่คนจะเห็นแม่น้ำดานูบใสกระจ่าง มีเพียงสีน้ำตาลที่ไหลเชื่อมกับแม่น้ำซาวาที่เป็นสีดำเท่านั้น
ป้อมปราการมีทางเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะ Kalemegdan สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในเบลเกรด กินเนื้อที่เกือบ 190 ไร่ ฉันเดินเรื่อยขึ้นตามทางเนินสูงต่อไปยังจุดชมวิว ช่วงนั้นใกล้เวลาพระอาทิตย์ตก ราว 4 โมงเย็น เพราะเป็นช่วงหน้าหนาว ทำให้เห็นทิวทัศน์อยู่บ้าง แต่ก็มีหมอกบางเบาอยู่ จึงเห็นฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำดานูบที่เต็มไปด้วยตึกสูงสมัยใหม่ได้ไม่ชัดนัก
ป้อมปราสาทแห่งนี้มีโบสถ์ออธอดอกซ์ถึงสองแห่งคือ Rose Church of Our Lady และ Saint Petka มีผู้คนหนาตามาสักการะและประกอบพิธีกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนถือคริสต์นิกายนี้
ฉันเดินต่อมายังฐานสามเหลี่ยมที่ยื่นออกไปเป็นหมุดหมายโดดเด่นของเมืองที่เรียกว่า Messenger of Victory หรือ Pobednik ในภาษาท้องถิ่น เห็นอนุเสาวรีย์รูปปั้นชายฉกรรจ์ตั้งอยู่บนฐานสูง หันหน้าไปทางแม่น้ำซาวา ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1928 โดยสถาปนิก อิวาน เมสโตรวิช (Ivan Meštrović)เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีชัยชนะของทหารเซอร์เบียนที่ ‘แนวหน้ามาซิโดเนียน’ (Macedonian Front) หรือ ‘แนวหน้าซาโลนิกา’ (Salonika Front) ในปี 1918 หลังการต่อสู้กับกองกำลังออสเตรีย-ฮังการีในสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงที่ฉันไปมีการซ่อมปรับปรุงฐานรูปปั้น ทำให้เข้าด้านในไม่ได้ มองเห็นได้จากระยะไกลเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือที่ตั้งอนุสาวรีย์ เดิมทีรัฐมีแผนตั้งอนุสาวรีย์บริเวณใจกลางเมือง แต่ต้องเปลี่ยนแผนย้ายมาตรงที่ปัจจุบัน เนื่องจากรูปปั้นมีลักษณะเปลือยด้านหน้าให้ภาพชัดเจนของอวัยวะเพศชาย แม้ว่าผู้ออกแบบอนุเสาวรีย์พยายามเสนอแนวคิดชาตินิยมเซิร์บอย่างเต็มที่ คือมีเหยี่ยวซึ่งเป็นสัญลักษณ์เสรีภาพของชาวสลาวิคอยู่ในมือข้างซ้ายของรูปปั้น และถือดาบปักไปกับพื้นหมายถึงการปกป้องสันติภาพ เพื่อสื่อความหมายว่า เบลเกรดในประวัติศาสตร์เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการสู้รบและสงครามมาตลอด และต้องกลายเป็นหน้าด่านในการสร้างสันติภาพ แต่ก็ถูกทำลายล้างมานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะการจู่โจมทางอากาศโดยทหารนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ฉันเดินผ่านไปยังจุดที่เป็นเส้นทางเดินขนานไปกับแม่น้ำซาวาและเป็นทางออกของตัวป้อมปราสาทและสวนสาธารณะอีกด้าน เห็นคนเซอร์เบียนทั้งเป็นคู่และกลุ่มเล็กๆ มานั่งชมพระอาทิตย์ตกค่อนข้างหนาตาในวันหยุดสุดสัปดาห์ ระหว่างทาง รัฐบาลได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายกลางแจ้งเกี่ยวกับการฉลองครบ 100 ปีของการป้องกันเบลเกรด 1915-2015 (The Defence of Belgrade 1915-2015) บันทึกเรื่องราวที่เบลเกรดถูกจู่โจมโดยทหารของออสเตรีย-ฮังการีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำซาวา พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ และต่อมาได้มีการบูรณะเมืองใหม่จนกลายเป็นเบลเกรด เมืองใหญ่ทันสมัยในปัจจุบัน
แม้ว่าอากาศจะเย็นลง ฉันยังเดินอย่างเพลินใจพลางดูรูปขาวดำบ่งบอกถึงอดีตไปจนจบ ได้รู้เรื่องราวของเบลเกรดอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งเป็นอารมณ์ของคนเดินทางไปเยือนครั้งแรกที่ยังไม่ค่อยเข้าใจความคิดเบื้องหลังมากนัก จนได้กลับมาหาข้อมูลเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ทางอินเทอร์เน็ต
นิทรรศการนี้ออกแบบโดย ดูซาน บาบัค (Dusan Babac) มีเป้าหมายเพื่อรำลึกถึงกองกำลังทหารเซอร์เบียนในฐานะวีรบุรุษปกป้องเมืองเบลเกรดที่ถูกรุกรานจากทหารเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ระหว่างวันที่ 5-10 ตุลาคม 1915 นิทรรศการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่พระราชวังขาว (White Palace) มี มกุฎราชกุมารอเล็กซานเดอร์ (Crown Prince Alexander) และมกุฎราชกุมารีแคเธอรีน (Crown Princess Katherine) เสด็จเปิดพิธีในวันที่ 15 ธันวาคม 2015 โดยมกุฎราชกุมารอเล็กซานเดอร์กล่าวตอนหนึ่งว่า “ขอให้พวกเราภาคภูมิใจกับบรรพบุรุษของเรา ที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นไปได้ ทำให้มีอิสรภาพคอยคุ้มครองเราจากอดีตถึงทุกวันนี้”
จากนิทรรศเมืองเบลเกรด ตอนนั้นยังไม่ดึกมาก ฉันจำได้ว่าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เบลเกรดเปิดถึง 2 ทุ่ม ยังพอมีเวลาให้หาอะไรกินมื้อเย็นก่อนเข้าพิพิธภัณฑ์ที่อาจใช้เวลาไม่นานนัก ผิดคาด นิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จัดในช่วงนั้นเป็นชีวประวัติของนักฟิสิกส์เชื้อสายเซิร์บ มิคาเอล อิดวอร์สกี ปูปิน (Michael Idvorsky Pupin) ในหัวข้อ จากผู้อพยพสู่นักประดิษฐ์ ซึ่งเป็นชื่อของหนังสือชีวประวัติของปูปินจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ From Immigrant to Inventor ปูปินประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงหลังจากพยพไปอยู่นิวยอร์ก ระหว่างเป็นนักวิจัยและสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เขาได้ผลิตสายโทรศัพท์เพื่อการสื่อสารทางไกลและอุปกรณ์หลายชิ้นที่ได้รับการจดสิทธิบัตรถึง 36 รายการ
ปูปินเกิดในปี 1858 ที่หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในเขตเซอร์เบีย ช่วงวัยเยาว์ เขาเข้าเรียนชั้นประถมที่บ้านเกิด หลังจากนั้นเข้าร่วมขบวนการเยาวชนต่อต้านอำนาจออสเตรีย-ฮังการี แรงกดดันทางการเมืองทำให้ต้องย้ายไปเรียนที่ปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน
ปี 1974 พ่อของเขาเสียชีวิต ทำให้ขาดทุนรอนในการเรียนต่อ จึงตัดสินใจเดินทางไปสหรัฐ และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนงานในโรงงานที่แมนฮัตตันอยู่ถึงห้าปีเพื่อเรียนภาษาอังกฤษ กรีก และลาติน ในที่สุดปูปินก็สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้ จนต่อมาได้สัญชาติอเมริกัน เขากลับมาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เยอรมนี ก่อนจะมาเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียอีกครั้งจนเกษียณอายุ
ด้วยความที่เป็นนักวิจัยด้านฟิสิกส์เชื้อสายเซิร์บที่ไม่ลืมรากของตัวเอง แม้ว่าจะได้สัญชาติอเมริกันแล้วก็ตาม มุมชีวิตของเขาส่วนหนึ่งที่นำมาจัดเป็นนิทรรศการ โดยเฉพาะตรงที่ปูปินบอกถึงที่มาของหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Idvor ซึ่งไม่ปรากฏบนแผนที่ นี่เป็นเหตุให้เขาตั้งชื่อกลางของตัวเองว่า ‘Idvorski’ เพื่อเป็นการรำลึกถึงที่มาของเขาในเซอร์เบีย จากเด็กฐานะยากจนในหมู่บ้านเล็กๆ คนหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ได้รับการศึกษาสูง แต่ได้ขวนขวายและมีชีวิตที่ดีเทียบเท่ากับเด็กอเมริกัน
ปูปินพยายามย้ำตลอดว่าเขามีสำนึกรักบ้านเกิด และพร้อมอุทิศสิ่งที่เขาทำเพื่อมาตุภูมิ เป็นประเด็นที่ทางพิพิธภัณฑ์เองพยายามสร้างจุดเชื่อมโยงของนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกกับความเป็นเชื้อสายเซอร์เบียนของปูปิน
ฉันเห็นว่านิทรรศการทำออกมาได้ดี เน้นเรื่องความสามารถของบุคคล ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับการสร้างความภูมิใจตามแบบฉบับ ‘เซอร์เบียอันยิ่งใหญ่’ (Great Serbia) ประการเดียว และด้วยความที่นิทรรศการทำได้สนุกตามแนวทางให้คนดูมีส่วนร่วม ถือว่าคุ้มค่ากับค่าตั๋วในราคา 200 ดีนาร์ หรือราว 60 บาท
เมื่อชมนิทรรศการจบ ฉันออกมาคุยกับเจ้าหน้าที่หญิงของพิพิธภัณฑ์ที่ยืนอยู่ด้านหน้าบริเวณขายตั๋ว ชื่นชมถึงเนื้อหาและรูปแบบในการจัด เธอเห็นด้วย และแสดงความเห็นที่ทำให้ฉันอึ้งเล็กๆ ว่า เธอก็ชอบนิทรรศการนี้มาก เพราะทำให้ได้รู้จักปูปิน จากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนด้วยซ้ำ
ฉันคิดในใจ อย่างที่บอกว่าในช่วงสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเบลเกรดและประเทศเซอร์เบียให้คนภายนอกรับรู้ จากอดีตที่ขมขื่นและคนทั้งประเทศรู้สึกเป็นผู้ร้าย ละอายต่อสิ่งที่ผู้นำของเขากระทำขึ้น ด้านหนึ่งพวกเขาก็ยังต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ต่อไปกับหน้าประวัติศาสตร์ฉบับนี้และดึงเอาความเป็นตัวตนกลับมา ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล หากนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ขับเน้นความรู้สึกรักชาติ ภาคภูมิใจในเอกราชมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชิดชูความเป็นเซิร์บที่เหนือกว่าชาติอื่น
ประวัติศาสตร์ของเซอร์เบียผ่านการชมนิทรรศการเป็นการบอกเล่าและนำเสนออดีตแค่บางช่วง อยู่บนทางสองแพร่งของการ ‘ควรจดจำ แต่ก็เจ็บปวดจนอยากลืม’ เช่นประวัติศาสตร์ยูโกสลาเวียในช่วงที่ ติโต ปกครองประเทศ ที่ฉันเล่าให้ฟังในบทที่แล้ว เด็กหนุ่มที่ทำงานในเกสต์เฮาส์ที่ฉันพักอยู่ไม่เคยไปมาก่อน ไกด์สาวที่สุสานติโตเกิดอาการอ่อนใจว่าประวัติศาตร์ช่วงนั้นกำลังถูกลืม หน้าหนึ่งของอดีตกำลังถูกฉีกขาด ขณะที่รัฐเองมุ่งดึงรากความรุ่งเรืองก่อนเกิดสงครามยูโกสลาเวียมาสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชาติ อย่างวัฒนธรรมพื้นบ้านช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 นิทรรศการเมืองเบลเกรดรอดพ้นจากสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือชีวประวัติคนเชื้อสายเซิร์บอย่างปูปิน
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนยอมรับว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดสงครามความรุนแรง และใจกว้างพอที่เปิดเผยและแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ตรงข้ามกับทิศทางที่เบลเกรดกำลังเป็นอยู่ เบลเกรดมีภาพของการเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและความบันเทิงสำหรับคนรุ่นใหม่ ณ วันที่ฉันเดินทางไป แม้มีประสบการณ์ที่นั่นไม่นาน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการท่องเที่ยวกำลังเติบโต มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งน่าสนใจ แต่ก็ยังมีปัญหาในเชิงการเงินและการจัดการ เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเซอร์เบียที่อยู่ใจกลางเมืองเบลเกรดปิดตัวมากว่า 10 ปีแล้วหลังสงคราม ฉันเปิดเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ล่าสุดก็ยังพบว่าพิพิธภัณฑ์ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงเช่นเดิม
ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องปัญหาด้านการจัดการที่ขาดงบประมาณ เพราะการบูรณะสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญเช่นนี้ใช้งบจำนวนไม่ใช่น้อย เซอร์เบียเองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจมาตลอด โดยเฉพาะช่วงสงครามยูโกสลาเวียที่กินเวลาเป็นทศวรรษ
ช่วงปี 1992-1995 เซอร์เบียภายใต้การกดดันของสหประชาชาติหลังเกิดสงครามบอสเนีย ทำให้ขาดรายได้จากการค้ากับต่างประเทศ และเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประสบปัญหาเงินเฟ้อ อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ประจวบกับประชากรที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.1 ล้านคนในปี 1991 ช่วงหลังสงครามประกาศเอกราชของโครเอเชียและสงครามบอสเนีย มีประชากรเชื้อสายเซิร์บหนีภัยจากทั้งสองประเทศเข้ามาสมทบอีกเป็น 1.5 ล้านคน และเกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเบลเกรด ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เช่น อัตราความยากจนที่สูงขึ้น พร้อมกับอาชญากรรมตามท้องถนนและการก่อตัวของมาเฟียท้องถิ่น
กระทั่งปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจของเซอร์เบียก็ยังไม่กระเตื้องมากนัก คนยังตกงาน รัฐบาลมีหนี้สินและขาดเงินคงคลัง ซึ่งเป็นสภาพต่อเนื่องมาตั้งแต่การบริหารของ สโลโบดัน มิโลเชวิช และเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลเซอร์เบียต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย
ปัจจุบันเบลเกรดมีประชากรราว 1.3 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งประเทศเกือบ 9 ล้านคน เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งมากกว่าเมืองโนวี สัด (Novi Sad) ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศถึงห้าเท่าตัว เบลเกรดจึงเป็นเมืองหลวงที่ต้องแบกรับการเจริญเติบโตของประเทศที่มาพร้อมความท้าทายในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
จึงไม่น่าแปลกใจที่หนุ่มเซอร์เบียนสองคนที่ฉันเจอด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณา คนหนึ่งพูดติดตลกร้ายเรื่องเชื้อรากับปัญหาเศรษฐกิจ ที่แม้พิพิธภัณฑ์ยังได้รับผลกระทบไปด้วย