แรงงานเมียนมาถือเป็นแรงงานกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ พวกเขาอพยพข้ามแดนมาทำงานในประเทศไทยต่อเนื่อง อันมีพื้นหลังการอพยพมาจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ การเมือง และสงครามภายในประเทศ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
การรัฐประหารโดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในปี 2564 หลังเศรษฐกิจเมียนมากลับมาเฟื่องฟูภายหลังการเปิดประเทศในปี 2554 ได้ปิดประตูตายเมียนมาจากนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง จนนำไปสู่สภาวะเดิมที่เคยเกิดขึ้นตลอดหลายทศวรรษก่อนหน้านั้นคือ สงครามกลางเมือง ระหว่างรัฐบาลทหาร ชนกลุ่มน้อย และเพิ่มเข้ามาคือ การจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของประชาชน
สงครามกลางเมืองในเมียนมาภายหลังการรัฐประหาร 2564 ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องแล้ว 3 ปี ก่อนจะปะทุอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา จนได้รับความสนใจจากนานาชาติ เมื่อเมืองเมียวดี เมืองเศรษฐกิจสำคัญซึ่งอยู่ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของไทย เกิดการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยง ทำให้การเกิดอพยพของชาวเมียนมาข้ามแดนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง
ความไม่แน่นอนของสงครามเมียวดี ย่อมส่งผลต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจของชาวเมียนมา เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงัก การหางานยากลำบาก วิถีชีวิตเริ่มไร้ตัวเลือก แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ต้องกิน ต้องอยู่
เนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2567 เราขอให้ความสำคัญต่อหนึ่งในจักรกลสำคัญของเศรษฐกิจไทย นั่นคือ แรงงานเมียนมา ท่ามกลางสภาวะสงคราม ผ่านมุมมองของ รวีพร ดอกไม้ ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงาน ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation: HRDF) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน ประสานงานเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฏหมายให้แก่พี่น้องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งปีที่ผ่านมาทางองค์กรได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติมากกว่า 1,000 กรณี ที่จะมาอัพเดตสถานการณ์สงครามและวิถีชีวิตของแรงงานเมียนมาในยามที่พวกเขาอาจไร้ทางเลือกในชีวิต
สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตอนนี้เป็นอย่างไร
ณ วันนี้ (29 เมษายน 2567) สถานการณ์บริเวณชายแดนฝั่งจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ปราศจากการสู้รบ แต่ก่อนนี้ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา การสู้รบเต็มไปด้วยความดุเดือด แม้ว่าจะเริ่มสงบลงแล้ว แต่สถานการณ์ทั่วไปยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและความไม่มั่นใจในการอพยพข้ามแดนของชาวเมียนมา เพราะบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 นั้น ยังคงมีการเปิด-ปิดไม่แน่นอน จนเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา สะพานแห่งที่ 1 กลับมาเปิดอีกครั้ง หลังจากปิดไปในระหว่าง 21-26 เมษายน โดยอนุญาตให้ทั้งคนไทยและคนเมียนมาสามารถข้ามแดนได้
เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่สงบร้อยเปอร์เซ็นต์ ชาวเมียนมาจำนวนมากเลือกใช้เส้นทางตามธรรมชาติ เพื่อลี้ภัยสงครามเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องในฝั่งไทย โดยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั้น ชาวเมียนมาจำนวนมากต่างทำบัตรผ่านแดน (border pass) เป็นจำนวนมากทะลุ 8,000 คน ซึ่งยังไม่รวมถึงชาวบ้านที่ขอข้ามแดนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในฝั่งไทย
การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับฝ่ายต่อต้าน ขยับแนวรบลึกเข้าไปในพื้นที่ชั้นใน เช่น เมืองก่อกะเระ เมืองพะอัน และรัฐมอญ มากยิ่งขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้คาดการณ์ไม่ได้ว่า ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาจะดำเนินการเจรจาหรือไม่อย่างไร ตัวแสดงทางฝั่งเมียนมาเพิ่มเยอะขึ้น ทำให้มีความไม่แน่นอนสูงมากขึ้นตามไปด้วย
สถานการณ์ที่ดำเนินอยู่เช่นนี้ ส่งผลอย่างไรต่อพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะบริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมืองเมียวดี
สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าชายแดน ทุกอย่างหยุดชะงัก ไม่สามารถส่งออกได้เหมือนก่อน ไม่ว่าจะเป็นการค้าผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 หรือ 2 แต่การค้าทางท่าเรือยังคงเปิดใช้ในการส่งออกได้ ขณะเดียวกัน ชาวเมียนมาก็ได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของการส่งออกสินค้าจากฝั่งไทยไปยังเมืองเศรษฐกิจอย่างเมียวดี ผลกระทบนี้กระจายตัวออกไปยังเมืองต่างๆ เช่น บ้านวาเล่ย์ รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับบ้านวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก หรือเมืองอื่นๆ โดยรอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้ามายังฝั่งไทยด้วย
ด้านการเดินทางข้ามแดน ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดจากการปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ทำให้ชาวเมียนมาจำนวนมากลักลอบเข้ามาตามพรมแดนทางธรรมชาติเพื่อความปลอดภัย ครอบครัวชาวเมียนมาหลายครอบครัวเลือกที่จะส่งลูกหลานออกมายังประเทศไทยก่อน ขณะที่ผู้ใหญ่ยังคงอยู่ดูแลบ้านและทรัพย์สิน แต่ก็เตรียมพร้อมในการอพยพโยกย้าย เก็บทรัพย์สินของมีค่าใส่กระเป๋าพร้อมเดินทางหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน
เมื่อสถานการณ์ยังไม่แน่นอน เกิดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการเดินทาง ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อพี่น้องแรงงานชาวเมียนมาด้วย โดยตัวเลขแรงงานเมียนมาในอำเภอแม่สอด ณ เดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่อยู่ในระบบการขึ้นทะเบียนของกรมการจัดหางาน พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 40,177 คน ยังไม่รวมแรงงานเมียนมาที่อยู่นอกระบบการขึ้นทะเบียนด้วย เมื่อเศรษฐกิจข้ามพรมแดนระหว่างไทย-เมียนมาหยุดชะงักไม่ต่อเนื่องเหมือนก่อน การหางานก็ลำบากขึ้น ทำให้ตัวเลือกในชีวิตลดน้อยถอยลงไป พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะข้ามมาฝั่งไทยเพื่อหางานทำหรือทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป
ผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ส่งผลต่อการหางานและวิถีชีวิตของชาวเมียนมาอย่างไร
อาจจะต้องแยกแรงงานเมียนมาออกเป็น 2 ประเภทก่อนคือ แรงงานที่เข้ามาทำงานก่อน กับแรงงานที่เข้ามาทีหลังจากการได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองภายหลังการรัฐประหารในปี 2564 ทั้งสองประเภทได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่สถานการณ์ตอนนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม ส่งผลให้อุปทาน (supply) ของแรงงานเมียนมามีมากกว่าจำนวนงานโดยเฉพาะในภาคเกษตร ส่วนภาคอุตสาหกรรมอาจแบ่งระดับทักษะหรือความต้องการออกไปอีก แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ยังคงมีความต้องการแรงงานสูง ซึ่งนำไปสู่การซอยค่าแรงออกตามทักษะ
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาหางานของชาวเมียนมาก็ไม่ได้ราบรื่นเสียหมด เพราะมีข้อจำกัดทางด้านเอกสาร การเข้าถึงงาน ทักษะ หรือกลุ่มชั้นที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านที่อยู่ในภาคเกษตร และคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา เป็นแรงงานทักษะ ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเข้ามาเรียน จากนั้นจึงหาโอกาสในการทำงานหรือตั้งถิ่นฐาน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน
หากจะบอกว่า สถานการณ์เช่นนี้ที่ชาวเมียนมาต้องการความมั่นคงในชีวิต พวกเขาต้องกิน ต้องอยู่ ต้องใช้ จนต้องจำยอม และอาจกลายช่องว่างที่นำไปสู่การกดค่าแรง แต่ทางไทยเองก็ไม่ได้มีช่องทางอะไรมากไปกว่านี้ในการให้การยอมรับสถานะของผู้อพยพชาวเมียนที่แตกต่างหลากหลาย เพราะกฎหมายไทยบีบให้ชาวเมียนมาเหลือเพียง 2 ประเภทคือ เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่นใด เพราะสุดท้ายนายจ้างส่วนใหญ่ก็ต้องการแรงงานที่มีเอกสารทั้งนั้น
แต่หากกล่าวโดยรวม วิถีชีวิตของชาวเมียนมา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาได้รับผลกระทบขนาดไหน แน่นอนว่าตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาแล้ว เพราะมีการปิดพรมแดน จนกระทั่งการแพร่ระบาดเริ่มทุเลาลงและกำลังฟื้นตัว ก็มีการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองตามมาอีก รวม 3 ปี
ในกลุ่มชาวเมียนมารุ่นใหม่ มีจำนวนผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หลังรัฐบาลทหารประกาศเกณฑ์ทหารเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
กลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มทยอยออกจากประเทศมาสักระยะแล้ว ตั้งแต่การแสดงพลังต่อต้านรัฐประหาร จนถูกปราบปรามและไล่จับกุม จนมาถึงการประกาศเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหาร ทำให้เมียนมาอยู่ในช่วง ‘สมองไหล’ คนรุ่นใหม่ไหลออกจากประเทศมากขึ้น เป็นกลุ่มที่ถูกนับเป็นกลุ่มที่อพยพข้ามแดนมาใหม่
ชาวเมียนมารุ่นใหม่เหล่านี้ จำนวนมากเป็นแรงงานทักษะ การศึกษาดี เมื่ออพยพข้ามพรมแดนมาแล้ว พวกเขาเข้ามาทำงานที่ใช้ทักษะ มีรายได้ดี หรือไม่
ทางเลือกของชาวเมียนมารุ่นใหม่ มีการศึกษา เป็นแรงงานทักษะ มีไม่มากเหมือนแรงงานเมียนมาทั่วไป มีจำนวนน้อยมากที่สามารถหางานที่ตรงกับทักษะหรือการศึกษา
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า พวกเขาเข้ามาถูกกฎหมายหรือไม่ หากเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่ก็ต้องการเรียนต่อ เพื่อให้ได้วีซ่าในระยะยาว แต่หากไม่เรียนต่อก็ขึ้นอยู่กับโอกาสเพียงน้อยนิดของแต่ละคนเท่านั้น หากเข้ามาแบบผิดกฎหมายก็ต้องอยู่แบบลักลอบหรือต้องไปขอขึ้นทะเบียนแรงงาน
ชาวเมียนมากลุ่มนี้ถือว่ามีทักษะสูงกว่าแรงงานทั่วไป เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร เป็นต้น หากประเทศไทยเห็นโอกาสนี้ ให้โอกาสเขา พวกเขาจะสามารถช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยได้
การดึงชาวเมียนมารุ่นใหม่ที่มีทักษะเข้ามาในตลาดงานของไทย อาจจะถูกมองว่าพวกเขาเข้ามาแย่งงานคนไทยหรือไม่
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการเปิดรับแรงงานทักษะอย่างพวกหมอ พยาบาล มันเกิดขึ้นตั้งแต่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แล้ว แต่หากสถานการณ์สมองไหลของแรงงานทักษะเกิดขึ้นจริง มันจะกลายเป็นเรื่องการต่อสู้กับทัศนคติด้วย
ในช่วงที่สถานการณ์ในเมียนมารุนแรง และจากการติดตามเทรนด์ในเอ็กซ์ (X) พบว่า ทัศนคติที่มีต่อแรงงานทักษะชาวเมียนมา ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ หนึ่ง กลุ่มที่มองว่าพวกเขากำลังจะเข้ามาแย่งชิงทรัพยากร แย่งงาน กับสอง กลุ่มที่มองบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน มีความเข้าใจในปัญหาของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ไม่มีปัญหาหากมีการรับแรงงานทักษะเมียนมาเข้ามา แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับสังคมไทยว่า พวกเรามองพวกเขาแบบไหน
สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี ดังนั้น หากมองไปสู่อนาคตไทยจะขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนเราต้องการแรงงานเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจตรงนี้ ดังนั้น แรงงานข้ามชาติคือคำตอบหนึ่ง ในแง่ของความจำเป็นและความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็น โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยว่า เราจะจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร