ပလာတာတွေရမယ် ပလာတာတွေ (ปะหล่าต่า ดเหว่ ยะ แหม่ ปะหล่าต่า ดเหว่ ) ท่อนฮุคของเพลงฮิปฮอปเมียนมา เพลง ‘GZ ပလာတာတွေရမယ်’ โดยกลุ่มศิลปินที่ใช้ชื่อว่า GZ Myanmar อัพโหลดเพลงของพวกเขา ในสังคมออนไลน์เมียนมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2021 กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์เมียนมา
เพลงดังกล่าวเป็นเพลงแนวฮิปฮอปที่แต่งขึ้นมาใหม่เอี่ยม เพื่องัดข้อกับคณะก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อนที่ยกมาแร็ปร้องเปิดข้อเขียนนี้ ศิลปินกำลังวิพากษ์คณะก่อการรัฐประหารอย่างเผ็ดร้อน ทำนองว่าได้ ‘ปะหล่าต่า’ หรือ Roti prata กันทุกคน ไม่ต้องแย่งกัน
โรตีเป็นเมนูอาหารเช้าง่ายๆ ยอดนิยมอย่างหนึ่งของชาวเมียนมา กินกับชา กาแฟ แกงถั่ว โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ช่วงเช้าๆ เราจะเห็นร้านขายโรตีตามตรอกซอกซอยต่างๆ ถ้าเทียบกับไทย ก็คงประมาณข้าวเหนียวหมูปิ้ง ปะหล่าต่าซึ่งเป็นอาหารอินเดียเริ่มได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม อันที่จริงโรตีที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีราคาแพงอะไร คนทั่วไปสามารถหาซื้อกินได้ (สนนราคาประมาณแผ่นละ 100 จ๊าต) แล้วทำไมต้องแย่งกันด้วย ใครกำลังแย่งโรตีกันในเพลงฮิปฮอปเมื่อสักครู่
ศิลปินกำลังบอกเราว่าคนที่กำลังแย่งโรตีกัน คือ พวกโปลิศในย่างกุ้งนั่นแหละ และเหตุที่ต้องถึงกับแย่งอาหารเช้ากันเพราะว่าพวกเขาต้องทำงานรับใช้นายอย่างหิวโหย แม้แต่โรตีก็ยังต้องถึงกับแย่งกันกิน มันคือภาพที่ศิลปินสะท้อนให้เห็นว่านี่คือการปกครองในเมียนมา ที่เมื่อพวกเขาถูกจัดวางให้หิวโหย ทำให้การควบคุมและสั่งการใดๆ เป็นไปโดยง่าย
โรตีไม่ได้เป็นเพลงฮิปฮอปใหม่แห่งปี 2021 ในสื่อสังคมออนไลน์เมียนมาเพียงเพลงเดียวที่กำลังต่อล้อต่อเถียงกับอำนาจ นับตั้งแต่มีการประท้วงหยุดงานและการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ส่งผลให้เมืองต่างๆ ทั่วประเทศเมียนมาเป็นอัมพาต ในจังหวะนี้ เหล่าแร็ปเปอร์ต่างปล่อยเพลงเพื่อเปล่งเสียงเร่งเร้าทวงถามเพียงเพื่อต้องการให้ประชาธิปไตยหวนกลับคืนมาโดยเร็ว เพลงนับสิบของศิลปินฮิปฮอปที่อาศัยอยู่ในเมียนมาและต่างประเทศถูกอัพโหลดไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์สตรีมมิ่ง รวมถึง Facebook, YouTube, Soundcloud และ TikTok เพลงเหล่านี้เป็นแนวหน้าใหม่ในสงครามข้อมูลที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่องัดข้อกับรัฐบาลเผด็จการทหาร
ในช่วง 6 สัปดาห์นับตั้งแต่การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย มีการประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มมีรายงานข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตและมีคนถูกควบคุมตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นสองเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
เพลงฮิปฮอปวิจารณ์กองทัพเริ่มปฏิบัติการบรรเลงในสังคมออนไลน์อย่างหนักหน่วงภายในไม่กี่วันหลังรัฐประหาร โดยหนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก่อนหน้าโรตี คือ ‘End Game’ โดย Nay Ye Khant, Adjustor, Yung Hugo, GRACEe, D-Vision, Young Yair และ EilliE ซึ่งมีผู้ชมมากกว่า 300,000 ครั้งใน YouTube เพลงดังกล่าวกำลังกล่าวถึงการต่อต้านเผด็จการในยุคปัจจุบันของเมียนมา ซึ่งถือว่าเป็นวงรอบที่ 3 ที่ประเทศถูกปกครองโดยทหาร นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948
ในการแร็ปประสานเสียง แร็ปเปอร์ทีม End Game บอกในเนื้อเพลงถึงการเดิมพันในการต่อสู้ครั้งนี้ว่า “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย การต่อสู้ครั้งสุดท้าย การสิ้นสุดครั้งสุดท้าย/ผู้คนต้องชนะ ความจริงต้องเหนือกว่า/การต่อสู้ครั้งสุดท้าย การต่อสู้ครั้งสุดท้าย ตอนจบสุดท้าย/เราจะกบฏ ยุติเผด็จการ และรากเหง้าของมัน” เนื่องจากเขาพบว่าความรุนแรงในการปราบปรามผู้เห็นต่างเริ่มมีมากขึ้น ตลอดจนมีข้อจำกัดใหม่มากมายที่ขีดเส้นตีกรอบเสรีภาพในชีวิตประจำวันของประชาชน
แน่นอนว่ามันบีบบังคับให้กับคนที่ออกมาต่อสู้จะต้อง ‘จบเกม’ อย่างที่มีรายงานข่าวว่าสถานการณ์แย่ลงทุกวัน อย่างเช่น การโดนตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตระหว่างเวลาตี 1-9 โมงเช้า หรือการที่ตำรวจ ทหารบุกลุยเข้าไปในบ้านหรือหมู่บ้านยามวิกาลโดยไม่มีเหตุและไม่รู้ว่าเพราะอะไรกันแน่ บางคนโดนจับกุมเพราะถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพ
นับตั้งแต่ขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของสหรัฐอเมริกา จนถึงยุคการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ดนตรีมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน จนปลายทศวรรษ 1970 ฮิปฮอปกลายเป็นสื่อกลางและข้อความที่ทรงพลังของการเสริมอำนาจและความยุติธรรมทางสังคมที่แพร่ระบาดไปไกลทั่วโลก
สองปีที่ผ่านมาเราได้เห็นฮิปฮอปอยู่ในแนวหน้าในการประท้วงทั่วโลก Black Lives Matter ที่สหรัฐได้กระตุ้นให้ศิลปินหลายสิบคน อย่าง Run The Jewels, Meek Mill, Ty Dolla $ign ปล่อยเพลงที่เน้นย้ำถึงความโหดร้ายของตำรวจ การเหยียดเชื้อชาติ และความเหลื่อมล้ำ หรืออย่างการที่ศิลปินในฮ่องกงแสดงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
เช่นเดียวกับการเปิดตัวเพลงฮิปฮอปต่อต้านการรัฐประหาร ที่นำโดย นายพลมินอ่องหล่าย จำนวนหลายสิบเพลงของเมียนมา ยังคงพูดถึงประเด็นการกดขี่ และสิทธิเสรีภาพ ในสังคมเมียนมามีประวัติการเซ็นเซอร์บทเพลงมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่เมื่อกองทัพยึดอำนาจครั้งแรกในปี 1962 ทางการได้สั่งห้ามเสนอเนื้อเพลงที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์พวกเขา ไม่ว่าจะแบบตรงไปตรงมา พาดพิง เสียดสี หรือล้อเลียน สิ่งนี้นำไปสู่การสร้างสรรค์สไตล์ดนตรีเมียนมาใหม่ ที่เรียกกันว่า ‘ก๊อปปี้ตะชีน’ (copy သီချင်း ) หรือ ‘เพลงก๊อปปี้’ ซึ่งศิลปินเมียนมาได้แต่งและปรับแปลงเพลงฮิตของ Bob Dylan และ John Lennon ให้เข้ากับอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวของชาติ
ครั้นเมื่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2000 และข้อจำกัดต่างๆ เริ่มคลายล็อคลง ศิลปินเมียนมาได้พัฒนาฮาร์ดร็อคและเฮฟวีเมทัล ซึ่งเฟื่องฟูมาก ในปี 2015 Zayar Thaw จากกลุ่ม Generation Wave เป็นคนบุกเบิกเพลงแร็ปภายในประเทศจนทำให้เขาได้รับเลือกให้เข้าสู่รัฐสภา ในฐานะสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ควรกล่าวว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่เลย เพลงสไตล์ฮิปฮอปอยู่คู่กับการเมืองในวัฒนธรรมเมียนมามานานนมแล้ว
ศิลปินเมียนมามีทักษะนี้อยู่แล้ว ทำไมถึงพูดอย่างนี้ เพราะว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันมีรูปแบบกวีนิพนธ์ที่เรียกกันว่า ตั่นจั๊ด (သံချပ်) ซึ่งถือเป็นพื้นที่วรรณกรรมที่นำเสนอท่วงทำนองฮิปฮอปแบบพม่าโบราณก่อนฮิปฮอปสมัยใหม่ นิยมแต่งขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตี เยาะเย้ย และเสียดสีผู้มีอำนาจ รากเหง้าทางวรรณศิลป์นี้เองทำให้พวกเขาสามารถคิดรูปแบบกวีนิพนธ์ที่มีจังหวะคล้องจองในเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองได้เป็นอย่างดีก่อนถึงยุคฮิปฮอปเสียอีก ชนิดที่ว่ามันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว
“หลังจากรัฐประหาร เกือบทุกคน รวมถึงฉัน ต้องสูญเสียอนาคต”
3 กุมภาพันธ์ 2021 สองวันหลังจากการยึดอำนาจของกองทัพ แร็ปเปอร์ Louz Xa Lone ชาวเมืองย่างกุ้ง วัย 24 ปี ได้ปล่อยเพลง ‘THE VOICES’ ซึ่งมันทำให้ผู้ฟังตระหนักและหยั่งเห็นอนาคตอันเลวร้ายของเมียนมา
“ชีวิตของพวกเราทุกคนเป็นอย่างไร?/คิดไม่ออกในสถานการณ์ของประเทศนี้/คำพูดผิดเพี้ยนยังถูกรักษาไว้จนถึงรุ่นต่อไป” เพียงวันเดียวเพลงนี้มียอดไลค์ถึง 10,000 ไลค์ และมียอดแชร์กว่า 2,000 แชร์บนเฟซบุ๊ค The Voice กำลังให้ข้อมูลว่า กองทัพเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเมียนมา
นอกจากศิลปินฮิปฮอปในเมียนมาแล้ว ศิลปินที่อาศัยอยู่นอกประเทศ อย่าง Rapper Vanzzzo ที่ขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2009 ได้ปล่อยเพลง ‘Rebel (Save Myanmar)’ เพื่อตอบโต้ในสนามสงครามข้อมูลด้วยเช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับเพลงฮิปฮอปเกี่ยวกับการก่อรัฐประหาร เขาใช้มุมมองแบบไม่มีการประนีประนอมภายใต้การปกครองของทหาร
“ฉันและคนของฉัน ใช่ เราเป็นกบฏ/เราจะไม่อยู่เหมือนวัวเหมือนควาย/จงจำคำพูดของฉัน เราจะไม่มีวันตกลง/จนกว่าเราจะได้อิสรภาพ /เราแค่ต้องการความสงบ มิใช่ปืนพก”
ฮิปฮอปในเมียนมาได้ต่อต้านรัฐบาลที่กดขี่และวัฒนธรรมอนุรักษนิยมมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย จนกระทั่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจีขึ้นมามีอำนาจ เพราะนี่เป็นช่องทางในการแสดงออกและการทำสงครามข้อมูล