นักข่าวเมียนมาที่หลบหนีภัยรัฐประหารอาจต้องเผชิญการเนรเทศออกจากไทยนักข่าว 3 คนกับนักเคลื่อนไหวอีกสองคนที่หลบหนีจากเมียนมากำลังจะเผชิญการพิจารณาคดีในประเทศไทยด้วยข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย หากพบว่ามีความผิด ทั้งหมดมีแนวโน้มว่าจะถูกส่งตัวกลับไปยังเมียนมาซึ่งพวกเขาบอกว่าชีวิตทุกคนจะตกอยู่ในอันตราย
ทั้ง 5 คนซึ่งยังไม่ได้รับการเปิดเผยชื่อจากทางการไทย ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นักข่าว 3 คนเป็นผู้ประกาศชื่อดัง ของ ‘เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า’ (Democratic Voice of Burma — DVB) กับนักกิจกรรมอีก 2 คน
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ผู้สื่อข่าวหลายสิบคนถูกจับกุมและตั้งข้อหา ตั้งแต่นั้นมามีผู้เสียชีวิตโดยฝีมือตำรวจและทหารมากกว่า 700 ราย อีกหลายพันคนถูกควบคุมตัว มีรายงานหลายครั้งเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวที่ถูกทรมาน มีบางคนเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ
“ชีวิตของพวกเขาจะตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงหากต้องถูกส่งกลับ” อัย ชัน เนง (Aye Chan Naing) ผู้อำนวยการบริหารของ DVB กล่าวในแถลงการณ์ ซึ่งขณะนี้เขากำลังยื่นคำร้องขอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Unied Nations High Commissioner for Refugees) เพื่อขอความช่วยเหลือ
แถลงการณ์ระบุว่าทั้งหมดจำเป็นต้องหลบหนีการปราบปรามของกองทัพในเมียนมา DVB และองค์กรสื่ออิสระอื่นๆ อีกหลายแห่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว
พ.ต.อ.ฐาปนพงศ์ ชัยรังษี ผู้กำกับการตำรวจภูธรสันทราย เชียงใหม่ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ชาวเมียนมาทั้ง 5 คนถูกจับกุมเนื่องจากลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายและจะถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลวันนี้ (อังคารที่ 11 พ.ค.)
นายตำรวจกล่าวว่าทั้งหมดจะถูกเนรเทศตามกฎหมาย แต่เสริมว่าเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ พวกเขาจะถูกกักขังไว้ก่อนเป็นเวลา 14 วันก่อนส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
เช่นเดียวกับองค์กรสื่อหลายแห่ง DVB ถูกห้ามให้ดำเนินการในเมียนมา จึงต้องหลบอยู่ในที่ไม่เปิดเผย และลักลอบออกอากาศโดยไม่ได้ขออนุญาต
สำนักผู้ประกาศข่าวกล่าวว่า “เราขอเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้ทางการไทยไม่ดำเนินการส่งพวกเขากลับเมียนมา เพราะชีวิตของพวกเขาทั้งหมดจะตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงหากกลับมาถึงที่นี่”
องค์กรสื่อ ‘เถื่อน’ หลายแห่งเคยตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยตลอดช่วงที่มีการปกครองโดยกองทัพอันยาวนานในอดีต และนับตั้งแต่การรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวหลายสิบคนได้ข้ามพรมแดนมาอีกครั้งเพื่อหลบหนีการจับกุม
เมื่อก่อนนี้ทางการไทยเคยแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นผู้ลี้ภัยเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือวีซ่าของทางการ
ประเทศไทยเคยเป็นฐานรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากในอดีตบ่อยครั้งตลอดเวลาหลายปี
แต่ไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติและพิธีสารว่าด้วยผู้ลี้ภัย (United Nations Convention and Protocol on Refugees — UNCPR) และบางครั้งก็เคยมีการเนรเทศกลุ่มเหล่านี้ออกจากประเทศ เช่นกลุ่มผู้อพยพโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของพม่า กับกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จากประเทศจีน แม้ว่าพวกเขาอาจต้องเผชิญกับการจับกุมบางครั้ง หรือที่แย่กว่านั้นก็ต้องถูกส่งไปตกอยู่ในเงื้อมมือของรัฐบาลของตน
ชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents Club of Thailand — FCCT) ยังส่งเสียงเรียกร้องให้ทั้ง 5 คนได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยในประเทศ โดยกล่าวว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับ “การจับกุมและการข่มเหงบางรูปแบบค่อนข้างแน่นอน”
“โลกกำลังเฝ้าดูสิ่งที่ทางการไทยกระทำในกรณีอันสำคัญเช่นนี้เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมาและภูมิภาค และเพื่อปกป้องผู้ที่หลบหนีจากการปราบปรามสื่ออิสระรวมทั้งภาคประชาชนด้วยรูปแบบอันโหดร้ายของรัฐบาลทหาร”
ตามรายงานของ FCCT นักข่าวมากกว่า 70 คนในจำนวนประชาชนกว่า 5,000 รายถูกจับกุมในเมียนมานับตั้งแต่รัฐประหาร และเสริมว่าส่วนใหญ่ถูกคุมขังในช่วงเวลาที่มีรายงานการทรมานและการวิสามัญฆาตกรรมอย่างกว้างขวาง
กลุ่มตรวจสอบสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners — AAPP) ระบุว่ามีนักข่าวกว่า 50 คนยังคงถูกคุมขังและครึ่งหนึ่งถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรง นอกจากนี้ยังมีการจับกุมนักข่าวต่างประเทศอีกสองสามคน
ที่มา
Reuters Myanmar reporters, activists arrested in Thailand
Straitstimes Myanmar reporters, activists arrested in Thailand face deportation
BBC Myanmar: Journalists who fled coup face Thailand deportation