เมื่อคนส่วนหนึ่งของโลกยังคงหายใจเข้าปอดและพ่นออกเป็นสายควัน และทุกคนก็รับรู้ถึงอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากไม่นับ ‘บุหรี่’ และบรรดาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ ซึ่งในหลายๆ ประเทศทำการปลูกใบยาสูบและผลิตกันระดับอุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบกึ่งรัฐและเอกชน เข้าไปด้วย คงจะเป็นการนิยามคำว่า ‘เครื่องบริโภค’ ที่ไม่ครอบคลุมถึงทั่วทุกตัวคน – คนสูบบุหรี่ก็เป็นผู้บริโภคเหมือนกัน
+ อุตสาหกรรมใบยาสูบ
ใบยาสูบเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกา ปลูกกันมานับพันปี ทั้งใช้ไล่แมลง ประกอบพิธีของชนเผ่าโบราณ ใช้เคี้ยว ก่อนที่จะพัฒนามาตากแห้งและจุดไฟ โดยตกแต่งรสชาติไปตามรสนิยมของแต่ละยุคสมัย
ใบยาสูบมีราคาสูง จึงถือเป็นพืชการเมืองเช่นเดียวกับชาในยุคล่าอาณานิคมอังกฤษ ในปี 1618 และ 1640 ผลผลิตในรัฐเวอร์จิเนียมีมูลค่าสูงถึง 135 ล้านปอนด์ ต้องใช้แรงงานกว่า 80,000 คน ในการสร้างระบบ ‘อุตสาหกรรมยาสูบ’ ขึ้นมา ทั้งในภาคการเกษตร จนถึงกระบวนการแปรรูป
สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 1 ของอังกฤษ ทรงริเริ่มให้มีการเก็บภาษียาสูบ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่นิยมกันในหมู่ราชวงศ์ พ่อค้า และชนชั้นสูง แต่ในอังกฤษเองก็มีการเริ่มต่อต้านผู้มีรสนิยมสูดควันในหมู่ราชวงศ์เอง ประมาณปี 1602 โดย พระราชินีชาลอตต์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3
+ ส่วนประกอบของบุหรี่
เราเห็นคำเตือนพร้อมกับภาพสยองขวัญสั่นประสาทบนข้างซองบุหรี่ สิ่งเหล่านี้ดูคล้ายภาพมายาที่สร้างขึ้นมาแบบไม่สมจริงสำหรับสิงห์อมควัน จึงไม่มีผลอะไรต่อการซื้อและสูบมากนัก บางคนบอกว่าแค่เอาซองทิ้ง เก็บมวนบุหรี่ 20 ตัวไว้…เป็นอันจบ แต่ความเป็นจริงที่เราไม่ได้รู้สึกถึงมันขณะ ‘ซื้ด’ เข้าปอด คือ สารเคมีเป็นพิษกว่า 4,000 ชนิดได้ลอยตลบอบอวลอยู่ในนั้นด้วย และมีอย่างน้อย 69 ชนิดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
ในปี 1994 มีการสำรวจส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบในอเมริกา โดยกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐ (Dept. of Health and Human Services) ให้การรับรองสารเติมแต่ง 599 ชนิด ซึ่งบริษัทผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่ 5 รายให้ความร่วมมือ คือ American Tobacco Company, Brown and Williamson, Liggett Group, Inc., Philip Morris Inc., R.J. Reynolds Tobacco Company อย่างไรก็ตาม รายการ ‘ส่วนผสม’ และอัตราส่วนของสิ่งที่อยู่ในมวนบุหรี่ยังคงเป็นความลับของแต่ละเจ้า ไม่ต่างจากสูตรลับของเชฟมือทองจากโรงแรม 5 ดาว
ที่สำคัญ มีการตรวจพบว่า ใบยาสูบระบบอุตสาหกรรมของอเมริกาถูกดัดแปลงให้เป็นพืช GMO ถึงร้อยละ 90 เพื่อให้ต้านทานโรคและแบคทีเรีย ดังนั้นนอกจากบุหรี่จะทำให้เมาควันแล้ว สารฆ่าแมลง หนอน และเชื้อรา ยังเจือปนตกค้างอยู่มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ ถึง 10 เท่า…เรากำลังเมา Roundup และ Gramoxone อยู่หรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม สารปรุงแต่งดังกล่าวได้รับอนุญาตในกรณีอยู่ในสภาพ ‘ปกติ’ ไม่ใช่สำหรับการบริโภคหลังจากที่มันเผาไหม้แล้ว ซึ่งสารพิษกว่า 4,000 ชนิดที่มักระบุกันว่าอยู่ในบุหรี่ ส่วนมากจะเกิดหลังจากที่เราเปิดไฟแช็คขึ้นมา แชะ…นั่นแหละ
+ ตัวเลขของบุหรี่ในอเมริกา
– ตัวเลขของบุหรี่ในอเมริกาเท่ากับน้ำหนักของรถบีเทิลส์ของ Volkswagen 350,000 คัน หรือ 360,000 ล้านมวน
– ก้นกรองและชิ้นส่วนของบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของขยะที่ได้จากการลอกท่อประจำปีถึงร้อยละ 38
– ทุกๆ วัน เยาวชนอเมริกันอายุ 12-17 ปี เริ่มสูบบุหรี่มวนแรก
– ทุกๆ 1 นาทีบนโลกมีการซื้อขายบุหรี่เกิดขึ้น 10 ล้านมวน
– การปลูกและขายยาสูบคือการรับประกันการจ้างงานถึงร้อยละ 10 ในอินโดนีเซีย
– คนอินโดนีเซียสูบบุหรี่มากกว่าปี 1990 ถึง 7 เท่า
– คนอังกฤษเสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 12 เท่า
– นักพ่นควันชาวจีนเพิ่มขึ้นจากทศวรรษที่ 1970 เป็น 4 เท่า หรือ 350 ล้านคน
– บริษัทบุหรี่รายใหญ่ Philip Morris มีลูกจ้างทั่วโลก 75,000 คน
– ผู้หญิง 250 ล้านคนสูบบุหรี่ เมื่อเทียบกับประชากรชาย 1 พันล้านคน
– คนทั่วโลกสูบบุหรี่ 15,000 ล้านมวนต่อวัน ในขณะที่ดื่มโค้กแค่วันละ 1,000 ล้านกระป๋อง
+ ความเชื่อเย็นๆ
เคยมีความเชื่อเก่าๆ ว่า การสูบบุหรี่มีแบรนด์เป็นอันตรายมากกว่าการมวนยาเส้นสูบแบบบ้านๆ และหากกลัวเสียรสนิยม ก็ให้เลือกบุหรี่รสธรรมดาๆ เพราะพวกบุหรี่มีรสจะมีการ ‘เบลนด์’ กลิ่นเมนธอล หรือแม้กระทั่งบุหรี่ตระกูล ‘ไลท์’ ก็จะมีการใส่ส่วนผสมพิสดารเข้าไปจนทำให้มันมีอันตรายมากขึ้น – จริงหรือไม่
องค์การอาหารและยาสหรัฐ (The Food and Drug Administration: FDA) ให้ข้อมูลว่า บุหรี่รสเมนธอลมีอันตรายมากกว่าบุหรี่รสอื่นๆ จึงควรมีการควบคุมการขายบุหรี่รสเย็นเหล่านี้บ้าง
FDA บอกว่าความเย็นจากรสมินท์อาจจะมาจากรสของสารพิษบางอย่าง ซึ่งทำให้บุหรี่นั้นมีรสจางลง ไม่มีความเข้มบาดปาก สูบง่ายขึ้น จึงเป็น ‘ตั๋วใบแรก’ สำหรับมือใหม่ ที่สำคัญ เมื่อมีรสอร่อย จึงต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการวางมือจากวงการ และมีการสำรวจตัวเลขว่า คนอเมริกันผิวขาวร้อยละ 25 นิยมรสเมนธอล ขณะที่ชาวแอฟริกันอเมริกันร้อยละ 70 ก็เสพติดรสเย็นๆ เช่นดียวกัน
ในปี 2011 ได้มีการเสนอให้แบนบุหรี่เมนธอล ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตยืนยันว่า ส่วนผสมของบุหรี่ซองเขียวนั้นไม่ได้ต่างอะไรจากแบบธรรมดาเท่าไหร่เลย
บุหรี่เมนธอลเป็นบุหรี่มีรสประเภทเดียวที่ถูกกฎหมายยาสูบ ขณะที่ส่วนผสมรสชาติอื่นๆ ถูกสภาคองเกรสแบนตั้งแต่ปี 2009 ทุกวันนี้ FDA ยังมีความพยายามที่จะแบนบุหรี่เมนธอลอยู่
สารที่ทำให้เกิดรสเมนธอลเป็นสาเหตุของอาการเส้นเลือดสมองแตกมากกว่า 2 เท่า ในผู้หญิง และนักสูบที่ไม่ใช่คนดำ จากผลสำรวจของ National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) ในปี 2001-2008 กับ 5,167 ตัวอย่าง พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่รสเมนธอลมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเส้นเลือดสมองแตกมากกว่าและหัวใจวายเฉียบพลันมากกว่าสูบบุหรี่รสปกติ
นิโคลัส โวโซริส จากมหาวิทยาลัยควีนส์ (Queen’s University) ในโตรอนโต พบว่าความเสี่ยงดังกล่าวมีอยู่ 2.25 เท่า และยังพบความต่างในผู้หญิงกับคนขาว โดยผู้หญิงที่สูบเมนธอลจะมีอัตราเสี่ยง 3.28 เท่า และตัวเลขของกลุ่มที่ไม่ใช่คนผิวสีมีความเสี่ยง 3.48 เท่า
เป็นความจริงที่ว่า บุหรี่เมนธอลมีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่รสธรรมดา แต่ด้วยความที่มันมีรสเย็นๆ ชิลล์ๆ กว่าบุหรี่สามัญ การวิจัยของ FDA สรุปว่า เกิดจากผลทางด้านจิตใจของผู้สูบ ที่ทำให้หยิบมันออกมาสูบได้ง่ายและบ่อยขึ้น – อันตรายของมันอยู่ตรงนี้ ข้อมูลชุดดังกล่าวยังบอกว่า บรรดาผู้นิยมความเย็นมีอาการเสพติดมากกว่า โดยจะสูบบุหรี่ภายใน 5 นาทีหลังตื่นนอน และมักจะตื่นมาสูบตอนกลางคืนด้วย
+ ควันเบาๆ
บุหรี่ไลท์เกิดในยุค 1950 เมื่อแต่ละบริษัทได้ลดปริมาณสารนิโคตินและทาร์ลงมาและได้ปรุงแต่งให้รสอ่อน นุ่มนวลขึ้น ก้นกรองยาว มีตัวดักจับทาร์ (น้ำมันดิน) และเจือจางควัน มีรูที่กระดาษมวนเพื่อระบายควันบางส่วน และที่แน่ๆ มันมีส่วนผสมต่างจากบุหรี่ธรรมดา ทำให้ต้องสูบแรงขึ้น เพื่อให้ได้รสเต็มๆ ควันที่เข้าปอดและพ่นออกมาจึงเยอะกว่าบุหรี่ปกติ สรุปคือ ก็ต้องสูบในปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งอันตรายก็ไม่ได้เบาๆ ตามชื่อสักเท่าไหร่
สำหรับประเทศไทย ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเมื่อปี 2554 ห้ามไม่ให้บุหรี่มีคำโฆษณารสชาติหลังชื่อการค้าเพื่อจูงใจผู้บริโภค ทั้ง Mild Light Menthol Crisp Mint เป็นต้น
มักมีความเชื่อผิดๆ ในหมู่สิงห์อมควันว่า บุหรี่ไลท์มีทาร์และนิโคตินน้อยกว่า แต่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโรดไอส์แลนด์ (University of Rhode Island) บอกว่า บุหรี่ 48 แบรนด์ ที่แปะตรา ‘Light’ และ ‘Ultralight’ จะมีส่วนผสมที่ทำให้ติดมากกว่าบุหรี่ธรรมดา
ในปี 2010 กฎหมายห้ามใช้คำว่า ‘Light’ หรือ ‘Mild’ แปะบนตราบุหรี่ ทำให้บรรดาผู้ผลิตต้องใช้สีแทน เช่น โกลด์และซิลเวอร์
+ บุหรี่หลากสี
ที่ทำการของสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กำลังจะผ่านร่างกฎหมายในการแบนบุหรี่รสชาติหอมหวานชวนดูด โดย The Deutsch Türkische Nachrichten รายงานว่า ในอนาคตจะห้ามไม่ให้มีการขายบุหรี่ดังกล่าวในชาติสมาชิก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าไปหาสิ่งเสพติดอื่นๆ ขณะที่ซิการ์และบุหรี่อื่นๆ ยังอยู่ในสถานะถูกต้องตามกฎหมาย
แม้แต่ในใบยาสูบธรรมดาๆ ก็ยังมีนิโคตินที่ทำให้ติด และคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ นอกจากนี้ใบยาสูบบางยี่ห้อที่โฆษณาว่าเป็น ‘ธรรมชาติ’ ก็ยังมีส่วนผสมของคานาบินอยด์ (Cannabinoids) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในกัญชา
ในอเมริกา ยาเส้นไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ส่วนผสมอื่นๆ ให้มีรสชาติหอมหวาน ยกเว้นในบางรัฐ แต่ก็ยังมีให้เห็นว่า หลายยี่ห้อยังคงผลิตบุหรี่และยาเส้นรสประหลาดๆ เช่น กลิ่นเชอร์รี วานิลลา หรือสูตรแปลกๆ เช่น รสโสม รสรัม เป็นต้น
พอล คิวาลา จาก Queen of the Valley Medical Center ในแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า เมื่อนิโคตินทำให้คุณรู้สึกฟิน แต่สารอย่างอื่นจะส่งผลต่อความคิดและสุขภาพจิตของคุณไปด้วย เช่น ความลังเล สับสน หงุดหงิด
ถึงตรงนี้ ‘กลุ่มแดง’ หรือผู้นิยมบุหรี่รสดั้งเดิม คงแอบยิ้มเล็กยิ้มน้อยว่า พวกเขาได้รับพิษภัยโดยตรงจากควันบุหรี่น้อยกว่าพวกนิยมหลากสีหลายรส หรือแม้แต่พวกสันติวิธีสีขาวไลท์ อย่างไรก็ตาม…หากทำตัวให้ไม่มีสี ปลดพันธนาการจากสายควันได้ ย่อมเป็นการดีที่สุด
+ บุหรี่และเด็ก
มีคำกล่าวว่า “บริษัทบุหรี่จะอยู่ไม่ได้ ถ้าคนรุ่นหลังๆ ไม่ริเริ่มสูบ” เมื่อนั้นผู้รับสืบทอดสายควันจะขาดช่วง บรรดาบริษัทยาสูบก็จะล่มสลาย ทั้งที่ยืนยันว่าจะไม่มีการโฆษณาชวนสูบ แต่ทุกวันนี้บริษัทเจ้าใหญ่อย่าง Philip Morris, RJ Reynolds, Brown and Williamson, Lorillard Tobacco และ U.S. Tobacco ก็ยังเล็งไปที่กลุ่มเป้าหมายเดิมนั่นคือ เด็กและเยาวชน
ข้อตกลงยาสูบ The Tobacco Master Settlement Agreement (MSA) ในปี 1998 เกิดจากข้อพิพาทระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่ 4 เจ้า คือ Philip Morris Inc., R. J. Reynolds, Brown and Williamson และ Lorillard และกฎหมายด้านสุขภาพใน 46 รัฐ จนได้สิทธิ์ในการค้ายาสูบแบบใครใคร่ค้ามา…ก็ค้าไป ในรูปแบบบริษัทเอกชน แต่มีข้อแม้ว่าต้องจ่ายเงินให้รัฐ มูลนิธิการกุศล และองค์กรต่อต้านการสูบบุหรี่
แต่…ในปี 1999 หลังได้รับการปลดแอกให้ ‘ทำการค้าได้’ บรรดาบริษัทใหญ่ๆ จึงทุ่มเงินผ่านค่าโฆษณากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าเพิ่มยอดขายในตลาดยาสูบให้ได้ร้อยละ 21 หรือ 1,500 ล้านดอลลาร์ในปีเดียว
ปี 2003 อุตสาหกรรมยาสูบในอเมริกาเติบโตขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ซื้อง่ายขายคล่องสำหรับเยาวชน และในปี 2011 บริษัทเหล่านั้นก็ได้อัดฉีดเงินเฉลี่ยประมาณวันละ 24 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มการผลิตให้สูงขึ้นไปอีก
ระหว่างปี 2008-2010 แบรนด์ยาสูบที่มีการโฆษณาดึงดูดนักสูบรุ่นใหม่มากที่สุดคือ Marlboro, Newport และ Camel
อ้างอิงข้อมูลจาก
cancer.gov