12 หลักฐานทำลายหลักประกันสุขภาพ

ภาพประกอบ: antizeptic

 

15 ปีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น ‘บัตร 30 บาท’ หรือ ‘บัตรทอง’ ระบบนี้ทำให้คนบนผืนแผ่นดินไทย 48 ล้านคนเศษสามารถเข้าถึงการรักษาและบริการทางการแพทย์ สร้างความถ้วนหน้าให้กับประเทศไทยเป็นครั้งแรก จากเดิมที่สิทธิเข้าถึงการรักษาแบบนี้รองรับเฉพาะข้าราชการ พ่อแม่ลูก และลูกจ้างในระบบประกันสังคม

ด้วยประสิทธิภาพของระบบการจัดการ ศักยภาพของหน่วยบริการสาธารณสุขที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยรัฐ ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน ทำให้สามารถลดจำนวนครอบครัวคนไทยที่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาลจาก 2.36 เปอร์เซ็นต์ในปี 2550 เหลือเพียง 0.36 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศลดลง

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาปกครองประเทศของ คสช. ตลอดสามปีเศษ ยากจะปฏิเสธว่าเป็นช่วงเวลาที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเผชิญการคุกคามหนักหน่วงที่สุด แม้จะถูกนำไปอ้างถึงในสุนทรพจน์ของท่านผู้นำในเวทีนานาชาติมากที่สุดก็ตาม

นี่คือหลักฐาน 12 ชิ้นที่มีนัยยะของการคุกคามหลักประกันสุขภาพและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยรัฐบาล คสช.

1. มีคำสั่งย้ายเลขาฯ สปสช. เพื่อตรวจสอบ แต่พอผลตรวจออก ไม่พบความผิด กลับไม่รับผิดชอบ ลิงค์ข่าว

2. สร้างสถานการณ์ว่า สปสช. ไม่สะอาด ไม่โปร่งใส ทำผิดระเบียบ จนก่อกระแสการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาระบบหลักประกัน โดยปราศจากหลักฐาน และไม่ได้ตั้งอยู่บนงานวิจัยทางวิชาการ ลิงค์ข่าว 1 ลิงค์ข่าว 2 ลิงค์ข่าว 3 ลิงค์ข่าว 4

3. ไฟเขียวให้คณะกรรมการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ประธาน – วรากรณ์ สามโกเศศ) แก้ไขกฎหมายตามอำเภอใจของคนเห็นต่าง แต่กลับไม่นำความเห็นหรือข้อเสนอของอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ไปปรับแก้ เช่น คตร. เสนอให้อำนาจ สปสช. ในการซื้อยา แต่กรรมการแก้ไขกฎหมายฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขกลับไม่เห็นชอบ ลิงค์ข่าว

4. พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวอ้างว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร) ให้ข้อมูลว่าเงินที่เหลือจากส่วนลดในการซื้อยาจำนวนมากถูกนำไปให้ NGOs แม้จะออกมาขอโทษและแก้ตัวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้พูดตามที่เป็นข่าว ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนไปแล้ว ลิงค์ข่าว

5. การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากเดิมจะแก้ไข 14 ประเด็น แต่พอมีการคัดค้านจึงยอมถอย หลังจากนั้น พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวหาว่ากลุ่มผู้คัดค้านเกี่ยวข้องกับการเมือง ลิงค์ข่าว

6. ประเด็นแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังทำลายสมดุลสัดส่วนของคณะกรรมการ เพิ่มจำนวนผู้ให้บริการ แยกเงินเดือนข้าราชการจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งจะส่งผลให้ โรงพยาบาลรัฐในชนบท และโรงพยาบาลนอกกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณน้อยลง และทำให้บุคลากรทางการแพทย์กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ลิงค์ข่าว

7. แต่งตั้งคนที่ไม่เอาระบบหลักประกันสุขภาพเข้าไปในกลไกการปฏิรูปประเทศ เช่น ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ โดยมีข้อเสนอสำคัญคือ การตั้งเขตบริการสุขภาพแยกออกมาต่างหากจาก ‘เขตสุขภาพเพื่อประชาชน’ ซึ่งมีอยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายดึงเงินกองทุนของ สปสช. ไปให้แต่ละเขตบริหารเอง การกระทำเช่นนี้คือการสลาย สปสช. อย่างเป็นรูปธรรม ค้านกับการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ยั่งยืน ตามที่นายกรัฐมนตรี เคยไปถกแถลงในที่ประชุมสหประชาชาติ นิวยอร์ค หัวข้อ ‘The Path towards Universal Health Coverage: The Promotion of Equitable Global Health and Human Security in the Post-2015 Development Era’ ลิงค์ข่าว

8. ไม่ยับยั้งหรือห้ามปรามฝ่ายโจมตี สปสช. ว่าบริหารอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส ทั้งกรณียา กรณีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO-SEARO) เวทีการค้าโลก และมูลนิธิ Maxx Inter Network ว่าประเทศไทยสามารถจัดซื้อได้ในราคามาตรฐาน (benchmark) ของโลก ทำให้คนไทยเข้าถึงยามากมาย และประเทศไทยกำลังได้รับมอบหมายจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น hub บริหารยากำพร้าและยาต้านพิษ ของ SEARO ลิงค์ข่าว

9. เปิดโอกาสให้ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขแต่งตั้งคนที่ไม่เอาระบบหลักประกันสุขภาพ และผู้ที่มีคดีความกับ สปสช. (แพย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนาเชิดชู) รวมทั้งผู้มีประวัติถูกสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต (แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ) เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการการสาธารณสุข เพื่อถล่ม สปสช. ลิงค์ข่าว 1 ลิงค์ข่าว 2 

10. คสช. นำเสนอข่าวที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนอยู่เนืองๆ เช่น จะให้หลักประกันสุขภาพเฉพาะคนจน (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) การเงินไม่พอขอเก็บจ่ายร่วม copayment ฯลฯ ลิงค์ข่าว 1 ลิงค์ข่าว 2 

11. ไม่เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำสามกองทุนตามข้อเสนอ SAFE ที่มี ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุลเป็นประธาน ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งขึ้นมาเอง ขณะที่กระทรวงการคลังกลับมีแนวคิดให้ บริษัทประกันเอกชนมาดูแลงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ทำให้การบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนได้ยากกว่าเดิม ลิงค์ข่าว

12. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตัดคำว่า ‘เสมอกัน’ เปิดทางให้รัฐสามารถ ‘ยกเลิกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ให้เหลือแค่เฉพาะบัตรประกันสุขภาพสำหรับคนจนได้ ลิงค์ข่าว

Author

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เป็นตัวอย่างของคนทำงานสื่อที่มีพัฒนาการสูง จากนักข่าวรายวันสู่คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุที่รอบรู้และรอบจัดในการสังเคราะห์ข้อมูล ขณะที่อีกขาหนึ่งยังรับบทผู้ประสานงาน และทำงานวิชาการป้อนข้อมูลให้องค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเข้มข้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า