ก่อนจะถึง ‘ฟรีแลนซ์…ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’

way81_nawapol-4

เรื่อง: อภิรดา  มีเดช / รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์

ภาพ: อนุช ยนตมุติ

เราขอถอนคำพูดที่เคยบอกว่า คุณอาจจะไม่เคยดูหนังของผู้กำกับหนุ่มคนนี้ เพราะเขาเพิ่งทำหนังมาได้เพียง 3 เรื่อง แถมยังจัดฉายเองตามหอศิลป์บ้าง สมาคมภาษาต่างประเทศบ้าง ฉายจำกัดโรง (1-2 โรง) บ้าง คือไม่แปลกเลยที่คุณจะไม่เคยดูหนังของเขา ถ้าเคยดูทุกเรื่องสิแปลก!

แต่วันนี้ ไม่มีทางที่คุณจะพลาดหนังเรื่องล่าสุดของเขากับค่าย GTH ฟรีแลนซ์…ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ แต่ก่อนที่ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จะเดินทางมาถึงวันนี้ เราขอเท้าความถึงหนังยาว 3 เรื่องแรกของเขาสักเล็กน้อย

36 (2012) คือหนังยาวเรื่องแรกของเขา มันเรียบนิ่ง สวยงาม แต่ขณะเดียวกันก็เจ็บปวด หนังตั้งคำถามเกี่ยวกับการบันทึกความทรงจำด้วยอุปกรณ์อนาล็อกและดิจิตอล ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ของคน 2 คน

Mary is Happy, Mary is Happy. (2013) ไม่ใช่แค่หนังเรื่องที่ 2 แต่เป็นปรากฏการณ์ทางภาพยนตร์ทางเลือกที่น่าจับตา ผลตอบรับของหนังเรื่องนี้มหาศาลเกินกว่าจะบันทึกไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร อีกข้อสังเกตของเราคือ Mary เป็นหนังคืนความสุขที่มาก่อนกาล

The Master (2014) โปรเจ็คท์สารคดีบูชาครู ‘พี่แว่น’ แห่งร้าน ‘แว่นวิดีโอ’ ผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์นอกกระแส ในยุคที่คนเรียนหนังต้องเรียนจากหนังสือหรือภาพนิ่ง ไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนั้นๆ การค้าของพี่แว่นถือเป็นการเปิดโลกให้กับอนาคตผู้กำกับ นักวิจารณ์ และคนในแวดวงหนังนอกกระแสอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่ย้อนแย้งคือ กิจการของร้านพี่แว่นเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์

นอกจากความน่าสนใจของตัวหนังแล้ว วิธีการพาหนังตัวเองไปสู่คนดูของเขาก็น่าสนุกและบ้าพลังเอามากๆ ตอนฉาย 36 รอบพิเศษมีเล่นดนตรีสดประกอบ กับ Mary ก็มีกิจกรรมดูหนังข้ามปีพร้อม commentary โดยผู้กำกับ ส่วน The Master ก็มีรอบฉายด้วยวิดีโอ ตอนท้ายแถม deleted scene และ Q&A กับผู้กำกับ

หากคุณเพิ่งเคยดูหนังของเขา คุณอาจจะสนุกกับการฟังเขาคุยเรื่องหนังเล็กๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่เรื่องอื่นๆ อีกมากมายในสังคมเรา

หมายเหตุ: คัดจากบางส่วนของคอลัมน์ Interview ตีพิมพ์ในนิตยสาร #WAY81 ฉบับเดือนธันวาคม 2014

way81_nawapol-2

+ ถ้าพูดถึงแนวหนังของคุณ มันคืออินดี้หรือเปล่า

อินดี้มันคือวิธีการ distribute หรือหาทุนมากกว่า สำหรับผม อินดี้มันไม่ได้กำหนดแนวหนังว่ามันจะเป็นยังไง เพราะจริงๆ หนังที่เราทำ ก็ทำสำหรับคนทั่วไป อาจจะไม่ได้ทั่วไปขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) อันนั้นจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าพูดถึงหนังอาร์ตก็จะมีเนื้อหาหรือประเภทของมันอยู่

ผมว่าในความรับรู้ของคนทั่วไป เขาจะเข้าใจว่าหนังอินดี้เป็นหนังดูยาก แต่ผมก็พยายามอธิบายให้หลายๆ คนเข้าใจว่ามันไม่เกี่ยว ‘อินดี้’ มันก็คือการหาเงินนอกสตูดิโอเท่านั้นเอง คือถ้าขอเงินพ่อแม่มาทำก็ถือเป็นหนังอินดี้เหมือนกัน คือมันไม่ได้ไปผูกกับสตูดิโอใหญ่ ไอ้เรื่องจะทำหนังอะไรมันแล้วแต่คุณ

จริงๆ ก็เรียกว่าเป็นหนังอินดี้หมดแหละครับ เพียงแต่หนังอินดี้ไม่จำเป็นต้องดูไม่รู้เรื่องหรือดูยาก เพราะเอาเข้าจริง หนังอย่าง Whiplash ก็เป็นหนังอินดี้นะ แต่มันก็ไม่ได้ดูยากอะไรเลย

อยู่ที่ความเข้าใจเรื่องหนังอินดี้มากกว่า เพราะหนังอินดี้บางเรื่องมันไม่ได้ดูยาก แล้วผมว่า บางทีคนไทยก็ดูหนังอินดี้ไปตั้งเยอะโดยที่ไม่รู้ว่านี่คือหนังอินดี้ เพียงแต่เขาอาจจะดูแล้วรู้สึกว่ารู้เรื่อง อย่าง Juno, Little Miss Sunshine หรือ (500) Days of Summer ก็เป็นหนังอินดี้

+ โดยการรับรู้ของคนดู จะจับที่ตัวหนัง เหมือนคำว่า อินดี้ เป็นชื่อแนวหนึ่งของหนัง เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักใช่ไหม

ใช่ แต่มันเข้าใจได้นะ ผมเองก็อยู่ในยุคที่เริ่มจะมีคำนี้ สมัยเด็กๆ เราเข้าใจได้ คือหนังอินดี้ที่ฉายไม่กี่โรง จะมาพร้อมกับหนังที่มันดูยากกว่าปกติมากๆ พอคนเข้าไปดูบ่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่มันจะซ้อนทับกันหรือปั๊มว่า หนังอินดี้มันก็เป็นแบบนี้ทุกทีนั่นแหละ

ผมว่าสมัยก่อนก็มีหนังอินดี้ที่ดูง่ายอยู่เยอะ เพียงแต่มันอาจจะไม่ได้เข้ามาให้ดู คือมันไม่ได้มีกระจายเหมือนตอนนี้ เดี๋ยวนี้จะมีหนังเล็กๆ เข้ามาเยอะ หนังญี่ปุ่น หนังฝรั่งเศสเล็กๆ เข้ามาฉาย แล้วบางทีบางเรื่องก็ดูง่าย Amélie (2001) คนก็รู้จัก มันก็คือหนังอินดี้

+ รู้สึกไหมว่า เวลาผ่านไป คนเริ่มขวนขวายหาหนังเล็กๆ พวกนี้ดูกันมากขึ้น

ผมว่าอัตราการขวนขวายอาจจะเท่าเดิม แต่มันหาดูง่ายขึ้น เมื่อก่อนนี้ถึงอยากหา แต่ถ้าไม่รู้จักร้านพี่แว่นก็บ๊ายบายแล้ว หรืออยู่ต่างจังหวัดก็ไม่สามารถหาได้ง่ายๆ แต่เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ต มันเป็นยุคที่คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ข่าวหนังต่างๆ เราไม่ต้องรออ่านจากนิตยสารแล้ว เพราะมันส่งตรงถึงเราทุกวัน แค่คุณลงทะเบียน indiewire.com หรือเว็บอื่นๆ คือมันเร็วมาก อย่างตัวอย่างหนัง Star Wars เราก็ได้ดูพร้อมกัน

+ ตอนทำหนัง คาดหวังไว้เลยไหมว่ากลุ่มคนดูเราจะต้องอยู่ในช่วงไหน

ดูทีหลังนะ คือผมต้องดูก่อนว่าจะทำหนังเรื่องอะไร คือไม่ได้คิดว่า ต่อไปเราจะทำหนังที่เรนจ์คนดูเท่านี้ๆ เพราะเราจะคิดไม่ออกว่าต้องทำเรื่องอะไร (หัวเราะ) ก็จะเริ่มต้นก่อนว่า เราอยากทำหนังจากทวิตเตอร์ ก็ทำๆๆ จนเสร็จ แล้วค่อยมาคิดว่า เรื่องนี้มันจะไปถึงไหนได้บ้าง

หรือ The Master ก็ไม่เหมือน Mary แล้ว ก็จะโตขึ้นมา ขรึมขึ้นมาอีก เด็กผู้หญิงก็ไม่มี มีแต่คนแก่ เรารู้อยู่แล้วว่าคนดูมันจะไม่มหาศาลอะไรขนาดนั้น แต่เราก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้

+ ทำมา 3 เรื่อง สามารถระบุได้หรือยังว่าเป็นคนทำหนังแนวอะไร

ผมไม่ได้ถึงขั้นว่าจะต้องทำหนังวัยรุ่นๆๆ ตลอดไป หรือจะทำหนังแบบ 36 ไปเรื่อยๆ คือตอนทำ 36 มันก็โอเค แล้วจะทำ 37 ไหมล่ะ คือเราก็ไม่อยากจะย่ำแบบนั้น หรือไม่ได้พยายามจะ auteur (งานที่ดูแล้วรู้ว่าต้องเป็นคนนี้กำกับแน่ๆ) หรือถ้าทำแบบนี้แล้วต้องทำซ้ำไปเรื่อยๆ เราแค่รู้สึกว่า มันเป็นประเด็นที่เราสนใจมากกว่า

ช่วงหลังๆ ผมจะสนใจเรื่องแนวเทคโนโลยี เช่น อนาล็อก-ดิจิตอล หรือโลกโซเชียลมีเดีย เพราะรู้สึกว่า เวลาเทคโนโลยีใหม่มาครั้งหนึ่ง มันจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม เปลี่ยนวิธีการสื่อสาร เราเลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ผมไม่สามารถระบุได้ว่าผมจะทำหนังแบบตั้งกล้องเสมอ โอเค มันอาจจะมีการใช้ text เสมอ มันจะมีบางอันที่ซ้ำๆ อาจารย์ป๊อป-มโนธรรม (เทียบเทียมรัตน์) ทักว่า The Master นี่เหมือน เมธาวี เลย (มั่นใจว่าคนไทยเกินหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวี –หนังสั้นของนวพลในซีรีส์บันทึกกรรม ปี 2011) คือสัมภาษณ์คนเยอะๆ ที่พูดถึงคนคนหนึ่ง แล้วก็ไม่รู้ว่าอันไหนจริงไม่จริง แล้วมี text คั่น คือมันซ้ำโดยอัตโนมัติ เพราะตอนทำ The Master ไม่ได้คิดถึง เมธาวี เลย เราคิดถึงแบบอื่นมากกว่า แต่มันก็คงไปเอาสิ่งที่คุ้นเคยมาผสม ซึ่งก็กลายมาเป็นจุดร่วมบางอย่าง

สำหรับเรื่องต่อไปตั้งใจจะทำหนังที่มันโตขึ้น อายุของตัวละครจะกระเถิบขึ้นมา เพราะเราไม่ได้อยากทำหนังวัยรุ่นนักเลงคีย์บอร์ดกันตลอดไป

+ คนดูรุ่นเด็กๆ ที่อาจจะยังไม่รู้จักงานเรา ถ้าทำหนังเรื่องต่อไปแล้วตัวละครมีอายุก็อาจจะไม่เร้าให้เข้ามาดูเท่าไหร่?

ผมว่าถ้าทำ The Master แล้วเด็กมาดูได้ ผมก็ไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะนี่ถือว่ากระโดดข้ามมาไกลมาก เพราะเรื่องที่คิดว่าจะทำต่อไปก็อยู่แถวๆ 28-30 ปี คงไม่ได้หนีจากนี้มาก แต่ก็อาจจะไม่ได้วัยรุ่นจ๋า คือไม่ใช่ว่าเราทำ Mary แล้วโอเค เราเลยจะเป็นผู้กำกับหนังวัยรุ่นตลอดไป มันไม่ใช่ความสนใจเราขนาดนั้น มันแล้วแต่ว่า ณ ขณะนั้น เราสนใจเรื่องไหนอยู่มากกว่า

+ สิ่งที่จุดประกายให้ทำ The Master คืออะไร

จริงๆ ผมอยากทำมานานมากแล้ว อยากทำก่อน Mary ด้วย สมมุติถ้า Mary ไม่ได้ทุนที่เวนิซก็จะทำเรื่องนี้เลย ผมอยากสัมภาษณ์พี่เขามาตั้งนานแล้ว สมัยยังทำหนังสืออยู่ แต่ตอนนั้นเขาก็ยังทำร้านอยู่ เขาเลยไม่ให้สัมภาษณ์ จนผ่านมาหลายปีแล้ว (ร้านปิดตัวลงเมื่อปี 2005) ผมคิดว่ามันไม่น่าจะมีอะไรแล้ว เพราะเขาก็หยุดขายไปแล้ว เลยรู้สึกว่าเป็นเวลาที่พอดีที่จะลองทำดู

สำหรับผม ค่อนข้างมีความผูกพันส่วนตัว คือตอน ม.ปลาย เราไปร้านเขาบ่อยมาก มันเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าหนังมันมีทางไปหลายๆ แบบ จากการดูหนังพวกนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เราก็น่าจะพอทำหนังได้นะ มันก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานทุกวันนี้ด้วย ในเชิงส่วนตัวเราเลยอยากบันทึกเรื่องนี้เอาไว้

ถ้ามองว่าเป็นหนังส่วนตัวก็เป็นหนังส่วนตัว แต่ถ้ามองเป็นหนังส่วนรวมก็ได้เหมือนกัน เพราะมันก็เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของการดูหนังในประเทศไทยเอาไว้

+ ที่เล่าว่าอยากทำหนังมาตั้งแต่ ม.ปลาย ตอนนั้นคิดยังไงถึงอยากทำ

ตอนแรกเป็นคนชอบวาดการ์ตูน แต่ก็วาดไม่ค่อยเก่ง รู้สึกว่ามันออกมาไม่ค่อยสนุก ก็เลยจางๆ ไป พอช่วง ม.ต้น เริ่มดูหนังเยอะขึ้น หนังยุคนั้น ก็พวก Titanic, The Fifth Element, Jurassic Park พวกหนังใช้ CG คือมันก็สนุกดี แล้วเรารู้สึกว่า หนังคือสื่อที่มันถ่ายทอดเรื่องที่เราอยากเล่าได้ครบ มันมีทั้งภาพและเสียง ขณะที่การ์ตูนมันจะได้เป็นช่องๆ หรือเขียนเรื่องสั้นมันก็ออกมาเป็นตัวหนังสือ เลยคิดว่าหนังมันน่าสนใจ แล้วก็น่าสนุกดี

จนเริ่มมาดูหนังร้านพี่แว่น ได้เจอหนังโครงสร้างแปลกๆ คืออาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เล่าแบบตีลังกา เล่ากลับไปกลับมา เล่นกับโครงสร้างของการเล่าเรื่อง ซึ่งเรารู้สึกสนุก เพราะเวลาดูมันเกิดความรู้สึก หรือมันสนุก แม้ว่าจะไม่ใช่หนังแบบ CG ก็ตาม แล้วมันใช้เล่าเรื่องที่เราอยากเล่าได้ด้วย ก็เลยคิดว่าการทำหนังมันค่อนข้างตรง คือเราเห็นอะไร คนดูก็เห็นอันนั้น

แล้วช่วงนั้นมีโอกาสดูหนังพี่เจ้ยยุคแรกๆ เป็นหนังทดลองของเขา สมัยก่อนเขาทำ ดอกฟ้าในมือมาร เราก็ได้ไปดูที่ฉายครั้งเดียวที่เมเจอร์รัชโยธิน รู้สึกสนุกกับการเล่นกับภาพ ถ้ามองตอนนี้ก็เป็นการเล่นกับการตัดต่อ (cutting & editing) ด้วย เอาภาพนี้ชนกับภาพนี้ แล้วเพลงมันเปิดขึ้นแบบนี้ เราก็รู้สึกว่ามันสนุกว่ะ

อย่างหนังสั้นของพี่เจ้ยเรื่องหนึ่งชื่อ Malee and the Boy (1999) เขาจะตามอัดเสียงของเด็กคนหนึ่งคุยอะไรกับแม่ไปเรื่อยๆ แต่ภาพมันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือมันจะไม่ซิงก์กับเสียง ตอนดูเราสนุกว่ะ ตลกด้วย เด็กมันคุยกับแม่ตลกดี เลยรู้สึกว่ามันเป็น magic ของภาพยนตร์ ที่มีแต่ภาพยนตร์เท่านั้นจะทำได้แบบนี้ เพราะเราไม่สามารถเขียนหนังสือแล้วให้คนอ่านฟังซีดีไปพร้อมๆ กันได้ แต่หนังมันรวบเข้าไปอยู่ในจอ อยู่ในลำโพง แล้วปล่อยออกมาทีเดียวได้

+ ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลอะไรจากเจ้ยมาไม่น้อย

คือถ้าพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) เป็นสายเล่าเรื่อง พี่เจ้ยก็เป็นสายทดลอง ถึงเราจะดูหนังเขาไม่ได้รู้เรื่องทั้งหมด แต่อย่างหนึ่งคือ เรารู้สึกว่าเขาเห็นภาพยนตร์เป็น moving image & sound จริงๆ ทำให้รู้สึกว่าเราสามารถมองหนังเป็นอย่างอื่นได้ ไม่ใช่แค่ story แต่มีการผสมภาพและเสียง อาจจะดูวิทยาศาสตร์หน่อย แต่ผมก็เห็นด้วย เพราะเวลาเราเอาช็อตนั้นมาชนกับช็อตนี้แล้วใส่เสียงเข้าไป มันให้ความรู้สึกอย่างหนึ่ง เอาช็อตนี้มาแต่เสียงไม่ซิงก์ ก็ให้ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เวลาดูหนังเขาจะมีความรู้สึกอะไรแบบนั้นตลอด

ถึงเวลาเราทำหนังอาจจะไม่ได้เป็นแบบเขาเลยก็ตาม แต่อย่างน้อย มันจะมี element บางอย่างที่มาจากหนังของเขา คือเราสามารถเล่นแบบนี้ได้นะ สัมภาษณ์อยู่เราสามารถปิดเสียงได้นะ สัมภาษณ์อยู่เราขึ้น text อันนี้ได้นะ คือมันเล่นกับคนดูได้

สมัยก่อน เราชอบทำหนังเพราะรู้สึกว่าหนังมันตีปิงปองกับคนดูอยู่ มันเล่นกับความรู้สึกคนดูอยู่ ถ้าดูหนังพี่เจ้ยยุคแรกๆ มันจะมีอะไรพวกนี้สูงมาก ตอนนั้นแค่ขึ้น text ในหนังก็ประหลาดแล้ว หรืออยู่ดีๆ ไอ้นี่ขึ้นมาเลย อยู่ดีๆ เสียงไม่ซิงก์กันทั้งเรื่อง มันประหลาดมากสำหรับเรา แล้วเวลาดูมันรู้สึกจริงๆ คือดูหนังทั่วไปเราจะอินไปกับมัน แต่อันนี้จะรู้สึกเลยว่า มึงจะเอาอะไรกับกูอีก เราชอบความรู้สึกที่จะสามารถโยนอะไรใส่คนดูได้บ้าง ก็คงได้อะไรแบบนั้นมาจากพี่เขา

+ จุดที่คลิกให้อยากทำหนังคือตอนไหน

เราอยากทำหนังมาตั้งแต่ ม.ปลาย แต่มันแพง แล้วก็ยังไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย ช่วงนั้นมันเป็นยุคกล้องฟิล์มแพงๆ กล้องวิดีโอก็เริ่มมีแล้วแต่ก็ยังแพงอยู่ เราก็เลยเขียนเรื่องสั้น เขียนหนังสือไปก่อน ก็คือได้ทำหนังสือก่อนจะมาทำหนัง แต่ระหว่างเรียนปี 2 จะเริ่มมีหนังที่ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายแล้ว พอดีมีพี่คนหนึ่งให้ยืมกล้องแฮนดีแคม ก็เลยลองถ่ายดู ถ่ายง่ายๆ วันเดียว ทำหนังสั้น

ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นว่า พีซีแม่งตัดหนังได้ด้วยว่ะ คือไปเห็นแล้วมันจะช็อกว่า เครื่องพี่ก็เหมือนเครื่องบ้านผม แต่ทำไมมันทำได้ด้วย ก็เลยเริ่มซื้อกล้อง ซื้อคอมฯ แล้วก็ลองทำเองมาเรื่อยๆ ก็ได้ฝึกไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องแรกๆ มันก็ไม่ดีหรอก ก็ค่อยๆ ทดลองทำนู่นทำนี่มาเรื่อยๆ

+ ตอนทำหนังแรกๆ ให้ใครดูบ้าง

ตอนนั้นลองส่งประกวดที่นิเทศฯ จุฬาฯ มันจะมีงาน Movie Mania ส่งไปแล้วได้รางวัลชมเชย ก็สนุกดี ทำไปก็มีคนดูด้วย ก็เลยลองทำไปเรื่อยๆ ส่งงาน Fat บ้าง

way81_nawapol-1

+ ถ้านับงานกำกับหนังยาวครั้งแรก คือ 36 ทำไมเลือกทำเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก

มี 2 เหตุผล หนึ่ง-คือมันเป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว คือเรื่องฮาร์ดดิสก์ กล้องดิจิตอล การเก็บข้อมูลแบบดิจิตอล แล้วยิ่งถ่ายรูปมาเยอะๆ ก็จะรู้ว่า ถ้าแผ่นพัง รูปมันจะหายไปเลย คือผมจะโตมากับยุคต้นๆ ของดิจิตอลทั้งหลายแหล่ ตอน ม.6 เรามีกล้องดิจิตอลแทบจะคนแรกของโรงเรียนเลย ไม่มีใครมีเลย หรือเรามีสแกนเนอร์ ก็ไม่มีใครมี เพื่อนก็จะชอบฝากสแกนรูป คือเหมือนเราจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเกือบตลอดเวลา

พฤติกรรมการถ่ายรูปของคนเราก็เปลี่ยนไป พอมีกล้องดิจิตอลเราก็ถ่ายๆๆ แผ่นซีดีที่เก็บรูปก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ บางแผ่นก็พังบ้าง ภาพมันก็หายไป เราก็จะรู้สึกกับมันเยอะ อาจเป็นเพราะเวลาเราตัดต่อหนัง เราจะใช้ฮาร์ดดิสก์เยอะ มันก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราก็ลองมานึกว่า ถ้าของในฮาร์ดดิสก์ลูกนี้หายไปก็เท่ากับว่าหนังก็หายไปทั้งเรื่องสิวะ มันก็เลยคิดต่อว่า แล้วยังไง ต้องก๊อปไว้ทั้งหมดกี่ลูกวะ แล้วมันต้องแบ็คอัพไว้กี่อันเหรอ ทำซีดีต้องทำกี่ก๊อปปี้ ต้องทำสำรองไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้นหรือเปล่า

กับอีกอย่าง เราคิดว่าตัวเรื่องมันเหมาะกับสิ่งที่กำลังจะทำ กับงบประมาณที่เรามี เพราะเวลาทำหนัง เราก็ออกเงินเอง คือเราเชื่อว่า ทำเล็กๆ ให้มันสวยๆ ดีกว่าไป push ให้ใหญ่แต่มันไปไม่ถึง มีแค่นี้ก็เอาแค่นี้ ก็เลยเลือกเรื่องที่เราสนใจและเหมาะกับสเกลที่กำลังจะทำ

+ ถามจริงๆ เคยเจอเหตุการณ์ฮาร์ดดิสก์พังบ้างไหม

ผมว่าใกล้แล้วล่ะ มีบางอันไปแล้วด้วย อันเก่าๆ ที่มีอยู่ก็ไม่ได้เอาไปเช็ค ตัวที่ใช้เก็บหนังก็เพิ่งจะเจ๊งไปไม่นาน แต่เราเอาของออกเกือบหมดแล้ว ก็เสียวๆ เหมือนกัน เพราะมีอีกหลายตัวที่ไม่เคยเช็คเลย แต่ก็ทำใจนะ พยายามจะคิดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นแล้วกัน (หัวเราะ) เพราะเอาเข้าจริง ถ้าให้นึกว่าในก้อนนั้นมีอะไรบ้าง ผมก็จำไม่ได้เหมือนกัน มันก็คงเป็นกระบวนการตามธรรมชาติแหละ ถ้ามีอะไรสำคัญจริงๆ เราก็คงจะย้ายมันออกมาตั้งนานแล้ว

+ แสดงว่าการเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกเป็นดิจิตอลส่งผลต่อการทำหนังของเราพอสมควร?

ผมว่ามันส่งเสริมโอกาสด้วย ถ้าเกิดก่อนหน้านี้สัก 10 ปี ผมไม่มีวันได้ทำหนังตอนปี 2 แน่ๆ ไม่มีวันที่จะได้ลองตัดต่อเอง ค่อยๆ ทำความเข้าใจมันเอง จริงๆ ก่อนหน้าก็อาจจะมีเทคโนโลยีพวกนี้แหละ แต่มันคงแพงมาก เราเกิดมาในยุคที่ทุกอย่างมันกลายเป็น home use หมด เมื่อก่อนกล้องดิจิตอลก็คงมีแหละ แต่ราคาอาจจะสัก 40,000 จนมันพัฒนามาเหลือ 10,000 กว่าบาท คอมพิวเตอร์ก็ตัดต่อได้พอดี

แล้วพอซื้อคอมฯไม่นาน ก็เริ่มมีโมเด็ม เราก็จะได้เล่นเน็ตยุคแรกๆ เลย ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เจอร้านพี่แว่น เพราะเจอมาจากเว็บพันทิปยุคแรกๆ

ก็แอบโชคดีนิดหนึ่งที่เกิดถูกปี มันพอดีจริงๆ ถ้าเป็นปีผมก็คือ ออกจากโรงเรียนแล้วโรงเรียนติดแอร์ เป็นยุคแบบที่ออกแล้วจะเกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เหมือนเราเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านตลอด

+ ตอนทำหนังแต่ละเรื่อง เราคิดไปถึงตอนโปรโมทไหมว่าต้องทำยังไงให้หนังไปถึงคนดูได้มากที่สุด

ยังไม่คิดขนาดนั้น ต้องรอหนังเสร็จก่อนแล้วค่อยมาดูว่าจะทำยังไงกับมันได้บ้าง อย่างเวลาทำ The Master ก็ไม่ได้คิดว่าจะทำให้เป็นหนังเนิร์ด คนแก่ดูกันเอง เพราะเราเสียดาย คือมันก็ทำได้ ทำแบบลึกๆ ไปเลย ทำให้ละเอียด เพราะฟุตเทจเหลือเยอะมาก มีรายละเอียดให้ทำได้อีกมาก แต่เราก็เลือกที่จะทำหนังให้ยังสามารถสื่อสารกับวัยรุ่นยุคนี้ได้ มีจุดร่วมหรือทำให้มันดูไม่น่ากลัวมากนัก ซึ่งผมว่ามันอยู่ตั้งแต่ในกระบวนการคิดงานแล้ว

แต่สุดท้าย ไม่ว่าเราจะคิดแบบไหนยังไง พอหนังออกมา มันก็มีลักษณะของคนที่โตขึ้นมาอีกนิดหนึ่งอยู่ดี คือมันไม่สามารถผลักให้กลายเป็นหนังเด็กขนาดนั้นได้ แต่เราก็คิดว่า ค่อยมาคิดกันต่อว่าจะสื่อสารกับวัยรุ่นอย่างไร เพราะเราเชื่อว่าเด็กๆ ก็ดูได้ตามปกติ

+ ในอนาคต คิดอยากทำหนังที่นำเสนอประเด็นใหญ่ๆ ทางสังคมบ้างไหม

ผมแค่คิดว่าตัวเองถนัดกว่าที่จะทำเรื่องเล็กๆ แต่เชื่อว่าปัญหาสังคมบางอย่างที่เป็นเรื่องใหญ่ จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกับไอ้เรื่องเล็กๆ นี่แหละ สมมุติเราอาจจะทำเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนทะเลาะกัน ด้วยความที่มันไม่เข้าใจความต่างกัน แค่นี้มันอาจจะสะท้อนไปถึงอย่างอื่นได้เยอะแยะเต็มไปหมด

ตอนทำ The Master แค่ทำเกี่ยวกับร้านพี่แว่น แต่จากคำตอบของแต่ละคนมันกระจายไปสู่ประเด็นอื่นให้คิดต่อได้อีกเยอะเลย ทั้งเรื่องการศึกษา วิธีคิดของคนไทยที่มีต่อลิขสิทธิ์ มันกระจายโดยที่เราไม่ต้องไปพูดตรงนั้นขนาดนั้น คือเราสามารถพูดเรื่องซีเรียสผ่านเรื่องราวที่มันสนุกได้

+ ตอนทำ The Master ตั้งใจจะสื่อสารอะไร

ผมชอบความเป็นควันๆ ของเขา ผมตีความว่า พี่แว่นเหมือนเป็น myth หรือ urban legend ประมาณว่าลุงคนนั้นเคยอยู่ที่นี่ เขาเล่ากันว่า… เราชอบลักษณะอย่างนี้มากกว่า

เรื่องที่อยากเสนอก็คือเรื่องพี่แว่น เขาเป็นคนน่าสนใจ ร้านเขาก็มีเอกลักษณ์ แล้วมันเป็นของเถื่อนที่มีลักษณะย้อนแย้ง คือเป็นของเถื่อนที่ตั้งใจทำมากจนเหมือนของจริง ถ้าเขาทำแค่ก๊อปๆๆ ดราฟท์ๆๆ มันก็คงไม่มีอะไร มันก็เลยมีความค้านในตัวเองประมาณหนึ่ง

อีกเรื่อง คือมุมมองจากลูกค้า คนที่เป็นคนทำหนังที่เคยซื้อ แล้ววันหนึ่งก็โดนเอง มันก็มีหลายๆ เรื่องซ้อนๆ กัน ทั้งตัวร้านพี่แว่นกับตัวลูกค้า มุมมองจากอาจารย์ประวิทย์ (แต่งอักษร) มองว่า ม้วนผีเป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษา คนนั้นคิดอย่างนี้ คนโน้นคิดอย่างนั้น มันสะท้อนไปถึงอย่างอื่นได้อีกเยอะ จริงๆ เราอยากให้หนังเป็นตัวตั้งต้นในการพูดคุยกันมากกว่า

สมมุติถ้าเด็กๆ ไปดูมา ปกติเขาจะชินกับการดู youtube แบบเต็มเรื่อง เขาอาจจะ อ๋อ…มันไม่ได้ถูกกฎหมายจริงๆ นี่หว่า แต่หลังจากนี้ก็แล้วแต่เขานะว่าจะเดินทางเดิมหรือเปล่า ก็แล้วแต่คน แล้วแต่เงื่อนไขชีวิตคน เพราะเท่าที่สัมภาษณ์หลายๆ คน เราจะเริ่มเห็นอะไรบางอย่าง บางเรื่องมันไม่ใช่เรื่องการตัดสินใจของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของสังคมหรือระบบที่มันครอบไว้แบบไหนบ้าง คนมันเดินออกไปไม่ได้ หรือคนมันถูกบังคับให้ไปทางนี้ ไม่มีทางอื่น มันพูดได้หลายๆ อย่าง

+ แสดงว่าตอนทำหนังเสร็จ ก็ต้องมาคิดเรื่องโปรดักชั่นของการขายหลังจากออกจากโรงไปพร้อมๆ กันด้วย?

ก็ด้วยครับ ก็อยากทำออกมาเป็นดีวีดีทุกเรื่อง เพียงแต่ต้องมาดูว่ามันจะออกมายังไงบ้าง Mary อาจจะไม่มี disc2 หรือ feature เราก็เปลี่ยนเป็นหนังสือแทน จะดูตามแต่ลักษณะของเรื่อง จริงๆ ผมแฮปปี้ในการทำของพวกนี้ ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกกดดันให้ต้องคิดเพื่อที่จะขาย

เรารู้สึกว่า เฮ้ย! จะทำดีวีดี Mary ว่ะ มีอะไรให้เล่นได้บ้างวะ สนุกว่ะ กล่องมันควรจะเป็นทรงไหน บุ๊คควรจะมีอะไรบ้าง แต่บางอันมันก็จะมาก่อนนะ อย่างในบ็อกเซ็ต Mary จะมีโฟโต้บุ๊ค ซึ่งอีกครึ่งหนึ่งจะเป็น แมรี่ มาโลนี่ ตัวจริง (@marylony) เขียนว่า ทำไมเขาถึงทวีตแบบนั้นออกมา ซึ่งไอเดียนี้ออกมาก่อนที่เราจะออกไปถ่ายหนังอีก บางอย่างมันก็เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ เออ…ถ้ามีแมรีมาเขียนเฉลยทวีตก็คงจะมัน ว่าจริงๆ แล้ว เราทำหนังตรงกับชีวิตจริงของเขาหรือเปล่า แต่มันก็ยังเป็นไอเดียอยู่ เราอาจจะทำเป็นไฟล์ pdf แจกก็ได้ ทำเป็นบุ๊คเล็ตเล็กๆ ก็ได้  จากไอเดียก็ยังรอว่าจะเอาไปลงตรงไหนสักที่ ในเมื่อมีโฟโต้บุ๊คแล้ว ก็เอาใส่ไว้ในนี้เลยแล้วกัน

+ แม้แต่ตอนฉายโรง ก็จะมีรอบฉายพิเศษ อย่าง The Master ก็มีรอบฉายด้วยวิดีโอ 36 ก็มีเล่นดนตรีประกอบสดๆ แล้วตอน Mary มีอะไรพิเศษไหม

มีรอบปีใหม่ จะเป็น live commentary แบบดูกันข้ามปี จบเที่ยงคืนกว่า คือมีฉายหนัง แต่จะปิดเสียง แล้วเราก็จะคอมเมนต์หนังตัวเอง ฉากนี้มันนู่นนี่นั่น ถ่ายยากมาก จะได้ยินคนพูดกันในโรง แล้วพอจบมันก็จะข้ามปีไปแล้ว ก็เหมาะกับคนที่ไม่รู้จะไปไหน

คือเรารู้สึกสนุกที่ได้ทำอะไรแบบนี้ มันเป็นวิถีการ Indy distribute ที่มันอนุญาตให้เราทำอะไรแบบนี้ แล้วก็ตัวโรงด้วย มันก็สามารถเล่นสนุกได้ค่อนข้างเยอะ แล้วบางเรื่องไม่รู้ว่าถ้าไม่ทำตอนนี้จะไปทำตอนไหน อย่าง The Master ถ้าไม่ทำรอบ VHS ไปทำกับเรื่องอื่น เดี๋ยวก็โดนด่าว่า แหม…จะกิมมิคอะไรกันนัก แต่เรื่องนี้เถียงไม่ได้ เพราะมันพูดเรื่องวิดีโอเว้ย ซึ่งเราก็อยากทำอยู่แล้ว ที่บ้านก็ยังมีเครื่องอยู่ ก็ยังอัดได้ แล้วทำไมถึงไม่ทำล่ะ ลองดูสนุกๆ

+ ถ้าทำขายจะทำเป็นวิดีโอดูไหม

(หัวเราะ) อันนี้ยังไม่รู้เหมือนกัน ไว้ดูกันอีกที เพราะตอนอัดก็ต้องนั่งอัดเองทีละม้วน มันทำจำนวนมากไม่ได้ เราก็ทำในสิ่งที่เราทำได้ เพียงแต่มันจะเหนื่อยกว่าปกติ มันจะมีอาการแบบ…มึงนี่ก็หาเรื่องจังนะ มันก็จะทำให้ไม่ได้นอน แล้วก็จะมีโมเมนต์ที่คิดได้ว่า นี่มันก็หาเรื่องอยู่เหมือนกันนะ

อย่างคืนก่อนฉาย The Master ก็ยังมีอาการไม่ยอมจบ พอต้องมาเลือก deleted scene มันจะไม่จบ มีอีกหรือเปล่า มีขำกว่านี้ไหม มีที่เด็ดกว่านี้อีกไหม เหมือนนั่งตัดหนังใหม่เลย จริงๆ มานั่งคิดอีกทีคือไม่ต้องทำก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่เราก็รู้สึกว่าเราแฮปปี้ที่จะทำ เออ…มันสนุกดี แล้วคนดูก็มาสนุกด้วยกันได้ เราอยากทำให้รู้สึกว่าหนังอินดี้ที่คุณเคยรู้สึกว่ามันน่ากลัว จริงๆ มันเฟรนด์ลีได้

สำหรับผมหนังมันคือหนัง ผมเลยไม่มีปัญหากับการที่จะทำหนังอินดี้หรือทำหนัง GTH มันข้ามไปข้ามมาได้ เพราะผมคิดว่าหนังคือสื่ออย่างหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกว่าเราจะต้องอินดี้ตลอดไป สมมุติมีหนังที่เรื่องมันเหมาะกับคนวงกว้างกว่านี้ หรือเรื่องแบบนี้อาจจะต้องใช้เงินมากกว่านี้ แล้วสตูดิโอเข้าใจก็ลองทำดูได้

way81_nawapol-3

+ หมายความว่าถ้าสตูดิโอใหญ่มาชวนไปทำก็ทำ อย่างที่มีข่าวว่าจะร่วมงานกับ GTH

ใช่ จริงๆ ปกติก็เขียนบทให้เขาอยู่แล้ว ปี 58 ก็จะเป็นงานกำกับด้วย แต่อย่างนี้เราจะคุยกับเขาว่าไม่ต้องไซส์ใหญ่มากก็ได้ ไม่ต้องถึงขั้น ไอฟายฯ เราขอแบบเล็กหน่อยดีกว่า

เราทำกับเขาเราเข้าใจไงว่า มันมีเรื่องการลงทุน ผมก็ต้องยอมรับว่าหนังที่เราทำบางเรื่องคนดูมันไม่ได้เยอะ ข้อดีของการไปทำหนังกับ GTH มันทำให้เราเข้าใจอะไรพวกนี้มากขึ้น มันเป็นธรรมชาติคนว่า การที่เราทำหนัง story ที่มัน niche ลงไปหน่อย ความสนใจมันก็จะน้อยลงไปโดยอัตโนมัติ เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่เราเลือกที่เหมาะกับมันมากกว่า อย่าง 36 เราอยากทำแบบนี้ เรารู้อยู่แล้ว GTH อาจจะไม่ทำแบบนี้ เราก็มาทำของเราเอง

+ การไปทำกับค่ายใหญ่ จะทำให้สูญเสียลักษณะเฉพาะของงานตัวเองไปหรือเปล่า

คือจริงๆ ค่อนข้างเข้าใจกันและกันประมาณหนึ่ง แล้วตัวเราก็มีทั้งเรื่องที่อยากมาระเบิดเองส่วนตัว กับเรื่องที่รู้สึกว่าเล่าแล้วคนทั่วไปสามารถเก็ทได้ตามปกติ เราก็เลือกโปรเจ็คท์ที่เหมาะกับเขา ซึ่งก็ยังเป็นตัวเราอยู่ คือเลือกเรื่องที่มันเหมาะกับเขาน่ะครับ แล้วก็เอาเข้าจริงเขาก็รู้ว่าเราทำอะไร เขาก็บอกว่า พี่ก็ไม่ได้หวังว่าน้องจะทำแบบพี่มากหรอกนะ ก็ทำไม่ได้หรอก เออ…ใช่ครับ ผมทำไม่ได้พี่ (หัวเราะ)

มันมีความเข้าใจกันประมาณหนึ่ง เพียงแต่เราต้องทำในเงื่อนไข ซึ่งเอาเข้าจริง อินดี้ก็มีเงื่อนไข สมมุติผมต้องทำ Mary ในราคา 6 ล้านบาท นี่ก็เงื่อนไข จะฉายที่ใหญ่กว่านี้ผมคงทำไม่ได้ หรือจะถ่ายเยอะวันกว่านี้ก็ทำไม่ได้ การต้องบินไป pitch งานที่เวนิซ ไม่ต่างอะไรกับการเสนอบทกับค่ายเลย แต่นั่นเราต้องบินไปแข่งกับมนุษย์ทั่วโลก

กับ GTH เขาก็มีเงื่อนไขแบบหนึ่ง เขาอาจจะขอเนื้อหาที่มันกว้างขึ้นมาหน่อย แต่การพิจารณาบท มันก็จะถึงตัวง่ายขึ้น เร็วกว่า มันคือความเข้าใจทั้งสองฝ่ายมากกว่า เราเลยไม่ค่อยรู้สึกว่าเราจะเสียตัวตนอะไรไป เพราะตัวตนเราครึ่งหนึ่งก็เป็นอย่างนั้น แต่อีกครึ่งหนึ่งเราก็เป็นแบบนี้

ไอ้ความครึ่งๆ กลางๆ นี่ก็ทำให้สับสนใน identity อยู่เหมือนกัน เพราะฝั่งสตูดิโอก็จะคิดว่าเราอินดี้มากๆ เลย ฝั่งอินดี้ก็จะบอกว่า โห…มึงแมสมากเลย ก็ไม่เป็นไรหรอก เรารู้สึกเราโอเคที่จะอยู่โซนนี้แหละ

อีกอย่าง ผมว่าซีนหนังของที่นี่มันมีแค่ 2 ขั้ว ไม่ซูเปอร์อาร์ตไปเลยก็ซูเปอร์แมสไปเลย เรารู้สึกว่าถ้าจะทำให้มันมาเจอกันได้ มันต้องมีสะพานกลาง ซึ่งเรายินดีจะเป็นอันนั้น หมายถึงว่าเราเองก็แฮปปี้ เราดูหนังเองเราก็ชอบ

เราอาจจะไม่ได้ชอบหนังอาร์ตมากทุกเรื่อง อย่างหนังช้ามากบางทีก็หลับนะ ไม่ไหว แม่งไม่ connect ว่ะ หนังที่เราชอบคือหนังที่มันกลางๆ คือเกือบๆ จะรู้เรื่อง แต่ต้องคิดอีกแป๊บหนึ่ง หรือประเภทที่เรื่องที่จะเล่าแมสมาก แต่เล่าด้วยลีลาใหม่มาก อย่าง Memento คือมันเล่าปกติก็ได้นะ แต่พอมันเล่ากลับหลัง แค่นี้สำหรับเราก็น่าสนใจแล้ว

+ มีหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือผู้กำกับที่ชอบบ้างไหม

ถ้าเอาช่วง ม.ปลาย คนไทยก็จะเป็นพวกพี่เจ้ย พี่ต้อม ยุคนั้นแหละ เขาเรียกอะไร…Thai new wave ที่เพิ่งกลับมากันใหม่ แล้วก็จะเป็นพวกหนังร้านพี่แว่น หนังเยอรมัน Run Lola Run

ผมโชคดีที่มักจะจับได้หนังที่ค่อนข้างป๊อปนิดหนึ่ง ประหลาดนิดหนึ่ง ก็เลยรู้สึกสนุกกับมัน ถ้าเกิดจับม้วนแรกเป็นหนังโกดาร์ (Jean-Luc Godard – ผู้กำกับยุคนิวเวฟของฝรั่งเศส) อาจจะแบบ เชี่ยแม่ง…เป็นอย่างที่เขาพูดจริงๆ ด้วย ไม่รู้เรื่องเลย

+ ทุกวันนี้ดูหนังเยอะแค่ไหน

ก็แล้วแต่โอกาส จริงๆ จะค่อนข้างเลือกเยอะขึ้น เพราะเวลามันน้อย เสาร์-อาทิตย์ว่างก็ได้สักเรื่อง อย่างเทศกาลหนัง World Film ผมจะดู 2 เรื่องจากที่เอาเข้ามา 50 เรื่อง จะไม่ถึงกับดูกวาดไล่ไปเรื่อย มันจะมีเรื่องที่เราเคยอยากดู แล้วมันฉายที่นี่พอดี ก็จะดูเรื่องนี้ กับอีกเรื่องหนึ่ง ได้ข่าวว่าโอเค ก็ดูแค่ 2 เรื่องนี้ อาจจะใช้เวลาแค่ 2 วัน แต่แก๊งอื่นจะดูวันละ 4 อันนั้นไม่ไหวเหมือนกัน

บางทีจะย้อนไปดูหนังเก่าที่ดูไม่ทัน อย่างหนังปี 2009 ดีๆ อีกตั้งหลายเรื่องที่ไม่เคยดู ก็จะดูสลับกันไป ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะดูหนังสารคดีค่อนข้างเยอะขึ้น เพราะรู้สึกว่ามันสนุกดี

+ หนังสารคดีเดี๋ยวนี้ก็เล่าเรื่องสนุกขึ้นด้วย?

ใช่ ช่วงหลังๆ เลยจะดูสารคดีหนักหน่อย พวก Our Daily Bread, Standard Operating Procedure ที่ทหารอเมริกันจับนักโทษมาทรมานแล้วถ่ายรูปเล่นกันในคุก

รู้สึกว่าตัวเองกลับมาดูสารคดีอีกทีหลังจากดู Man On Wire มันเป็นช่วงที่สารคดีมันเปลี่ยนพอดี คือมันสนุกฉิบหายเลย สนุกกว่าหนังอีก แต่ก่อนสารคดีอาจจะน่าสนใจที่ topic ตอนดูไม่ค่อยสนุกมาก แต่หลังๆ มันเริ่มมีแบบ March of the Penguins เริ่มมีนู่นนี่เข้ามาให้ดู

เรารู้สึกว่าประเด็นของสารคดีจะดีกว่าหนังเสียส่วนใหญ่ จะใหม่กว่า น่าสนใจกว่า กับอีกอย่างเพราะมันจริง พลังมันเยอะกว่าอยู่แล้ว เพราะสารคดีมันคือ เขาก็นั่งอยู่ตรงนั้น แล้วเราก็ถ่ายเขาอยู่ มันก็จะมีความจริงอยู่

+ หมายถึงเราเชื่อในพลังของการเล่าเรื่องจริงมากกว่าเรื่องเล่าหรือเปล่า

สำหรับผม หนังสารคดีถือเป็น fiction อย่างหนึ่ง แต่มันจะมีเชื้อที่เกิดขึ้นจริงๆ แบบที่ยังมีข่าวอยู่ หรือมีร่องรอยอยู่บนโลกจริงๆ มันก็เลยเชื่อง่ายกว่า

หนังหลายเรื่อง เวลาสร้างจากเรื่องจริง เลยต้องขึ้น ‘based on a true story’ เพราะถ้าไม่ขึ้นแบบนี้ เหตุการณ์บางอย่างจะดูขี้โม้มาก สมมุติว่าเหตุการณ์จริงของการคิดเครื่องนี้ได้เกิดจากการเดินไปเจอต้นไม้ แล้วอยู่ดีๆ ก็นึกขึ้นมาได้ โดยที่ไม่มีสาเหตุอะไรเลย ถ้าไม่ขึ้นว่า based on คนดูจะคิดว่า เดี๋ยวก่อนนะ…ฉากนี้เอาอย่างนี้จริงๆ เหรอ แต่ถ้า based on ปุ๊บมันเถียงไม่ได้ไง เพราะมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ แต่คนทำอาจจะต้องอธิบายเพิ่มนิดหนึ่ง แต่คนดูจะเชื่อง่ายขึ้น

+ มีสารคดีแบบที่อยากทำบ้างไหม

ยังไม่แน่ใจว่าถ้าได้ทำอีกเรื่องมันจะออกมาลักษณะไหน แต่เราจะชอบสารคดีที่ใช้รูปแบบใหม่ๆ อย่าง Our Daily Bread ไม่มีบรรยายอะไรเลย มีแต่ภาพๆๆ หรือ The Second Game อันนี้จะเอาฟุตเทจแข่งบอลโรมาเนียมาฉายทั้งเรื่อง แต่เสียงจะเป็นพ่อลูกคุยกัน ซึ่งเวลาคุยจะมีทั้งเรื่องฟุตบอล เรื่องการเมืองตอนนั้น และความสัมพันธ์พ่อลูก แต่ภาพจะมีแค่ฟุตเทจบอลทั้งหมด เราเลยรู้สึกว่า สารคดีมันมีทางไป (possibility) อีกตั้งหลายแบบ มันไม่จำเป็นต้องถ่ายคนพูดกัน (talking head) เลยก็ได้ แต่ด้วยความที่เราไม่ได้ทำสารคดีบ่อยขนาดนั้น เลยยังไม่ถึงขั้นที่จะมีโปรเจ็คท์ใหม่รออยู่

+ พูดถึงคนทำหนังสั้นรุ่นหลังๆ ที่ทำหนังกันออกมาเยอะมาก คิดอย่างไรกับเรื่องนี้

จริงๆ ก็ดีครับ เทคโนโลยีมันใกล้ขึ้น แต่มันก็จะเหมือนเดิม คือจำนวนมันเยอะขึ้น แต่ปริมาณที่โอเคอาจจะเท่าเดิม มันไม่ใช่แบบ ปีนี้มีน้องหน้าใหม่ตั้ง 15 คน…มันก็ 2 คนเหมือนเดิม เหมือน 10 ปีก่อนน่ะ หรือเทคโนโลยีมันไม่ได้ช่วยอะไร

คือมันช่วยให้มีอะไรหลากหลายมากขึ้น ช่วยให้มันมีเหนียวไก่ มีน้องโอ๊ต-ครูอังคณา คำว่าหนังมันถูกละลายไปเรื่อยๆ มันมี วิดีโอแบบที่เราไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรเหมือนกันออกมาเยอะมาก จะเรียกว่าคลิป viral คลิป youtube ที่ไม่ใช่หนัง ไม่ใช่โฆษณา ไม่ใช่หนังสั้น แต่เหมือนเอา content มาพรีเซนต์เป็นรูปแบบวิดีโอ มันจะเห็นอะไรอย่างนี้เยอะขึ้น ซึ่งก็น่าสนใจ

พอดูเยอะๆ ก็เออ…จริงๆ แล้วบางเรื่องที่อยากเล่าก็ไม่ต้องคิดเป็นคาแร็คเตอร์ story ก็ได้นี่หว่า เราแค่หาวิธีการนำเสนอในรูปแบบวิดีโอ คัตแบบไหน ฉายอะไร อย่างนี้มากกว่า มันเปิดกว้างมากขึ้น ก็ดูสนุก ผมว่าเราจะเห็นเด็กๆ ทำอะไรอย่างนี้กันออกมาเยอะมากกว่าจะเป็นหนัง คือหนังพวกหน้าใหม่ก็มาเท่าเดิมแหละ แต่ว่าพวกคลิปประหลาดๆ จะมากันเยอะขึ้น

+ ส่วนใหญ่ที่อยากทำน่าจะมาจากความอยากเป็นทุนเดิม?

ก็ด้วยครับ แต่ผมว่าถ้ายุคนี้มันเป็นธรรมชาติของเด็ก ตัดต่อก็คือเขียนหนังสือน่ะครับ โคตรจะปกติ ผมจำได้ว่ายุคผมตัดต่อคือแบบ “ทำยังไงอ่ะ สอนกูใช้ Movie Maker หน่อย” ผมว่าเดี๋ยวนี้มันเข้าใจหมดแล้ว เด็กเดี๋ยวนี้มันโตมาในโลก visual culture เขาอาจจะไม่สามารถแยกได้ว่านี่คือ editing นะ นี่คือใช้ jump cut อยู่ แต่เขาจะทำไปแบบอัตโนมัติเลย เฮ้ย…อันนี้มันต่อกับอันนี้ได้อยู่แล้ว ไม่เป็นไร ใส่ text ใส่เพลงเข้าไปสิ มันจะคล่องมาก ผมว่ามันแทบจะเป็นภาษาของคนยุคนี้เลย มันไม่ใช่ทักษะที่เราต้องเรียนรู้เหมือนยุคก่อนที่เราต้องนั่งอ่าน Adobe Premier (โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ) แบบจริงจังว่ามันใช้ยังไงอยู่เลย

ยุคนี้โปรแกรมมันคงง่ายขึ้นด้วย อย่าง instagram ก็คือการตัดต่อในตัว คือถ่ายมา 7 วินาทีแล้วเอามาต่อกัน ผมดูของฝรั่ง โห…แม่งเก่งชิบเป๋งเลย ถ่ายอะไรเล่นๆ 7 วินาทีก็ตลก สำหรับผมมันไม่ได้ฟลุคนะครับ เพราะมันก็เซ็ตเอา 7 วินาที มี 3 ช็อต ต้องอย่างนี้นะ เดี๋ยวกูตัดเข้านี่ แล้วจบ มันคือแก๊กการ์ตูน 3 ช่อง สำหรับผมมันยากนะครับ แต่เขาทำกันเป็นธรรมชาติมากๆ แล้วมันก็ออกมาตลกจริงๆ มันคงเป็นภาษาของคนยุคนี้แหละ เขาเลยไม่รู้สึกว่ามันยากอะไร

+ ด้วยวิธีการที่ง่าย มีโอกาสทำให้ content อ่อนลงหรือเปล่า

ผมว่ามันแล้วแต่คนทำ ว่าคนทำเป็นสายไหน ทุกคนมีหน้าที่ของมันแหละ บางคนอาจจะเก่งสไตล์เยอะหน่อย แต่สไตล์ก็ยังจำเป็นต่อการครีเอทภาษาหนังใหม่ๆ ขึ้นมา ส่วนเรื่อง content ก็ทำไป ผมว่ามันควรจะมีควบคู่กันไป

คนทำสไตล์อาจจะสนุกกับการทำพวกนี้ ขยันทำออกมามากกว่า มันเลยมีเยอะกว่า ส่วน content อาจจะไปปล่อยทางอื่น ไปเขียนเอา ทำสัมมนาเอา เพราะคิดว่าทำวิดีโอมันยุ่ง เลยไม่อยากทำ

จริงๆ มันอาศัยทักษะในการเล่าเหมือนกันว่าจะนำเสนอ content ไหนก่อน อย่างทำ The Master มันต้องดูว่าจุดไหนคนจะเบื่อแล้ว มันยืดไปหรือเปล่า ก็ต้องทำบ่อยๆ เพื่อให้รู้เหมือนกัน

+ จำนวนที่มากขึ้นของหนังหรือวิดีโอ ก็จะถูกคัดเลือกโดยตัวมันเองใช่ไหมว่าอันไหนจะอยู่อันไหนจะไป

ใช่ครับ อันที่จะขึ้นมาจริงๆ มันก็ต้องถึงพร้อมทั้งวิธีการทั้งสิ่งที่ต้องการจะสื่อนั่นแหละ พูดยากเหมือนกัน แต่ใจเราก็ชอบฟัง content มากกว่า งานที่เราจำได้มักจะเป็นงาน content แต่หลายๆ งานเราก็ชอบเพราะสไตล์เหมือนกัน แต่ไม่ถึงขั้นว่ามันควรจะมีอะไรอย่างหนึ่ง มันก็ควรจะไปพร้อมกันนั่นแหละ

+ อย่างนี้คนที่ไม่ได้โดดเด้งขึ้นมาก็อาจจะท้อแท้ไปเลยก็ได้?

ผมว่ายุคนี้โอกาสคนมันเกือบๆ จะเท่ากันอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้โดดเด้งขึ้นมาก็แปลว่าคุณยังไม่เก่งแค่นั้นเอง ก็ฝึกกันไป

งานพวกนี้มันกะอะไรไม่ได้หรอกครับ ต่อให้เป็น มาร์ติน สกอร์เซซี ก็ยังมีเรื่องที่ไม่ค่อยดี แล้วก็มีเรื่องที่โคตรชอบเลย มันก็มีขึ้นๆ ลงๆ นั่นคือมันทำมา 40 ปีแล้ว ก็ยังมีแบบ…เรื่องนี้แม่งดูไม่สนุกเลย เรื่องนี้แม่งยาวไป แต่อย่างน้อยทุกเรื่องก็ตั้งใจทำ ก็ต้องฝึกกันไปเรื่อยๆ ขนาดโปรยังมีขึ้นๆ ลงๆ เราเพิ่งทำก็มีขึ้นๆ ลงๆ เหมือนกันแหละ เป็นเรื่องปกติ

สมมุติว่างานน้องคนหนึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่ดีหรอกนะ แต่เราดูแล้วเราจะรู้ว่า มันโอเคกว่าคนอื่น เพียงแต่ยังไม่โดดขึ้นมาเท่านั้นเอง เช่น content ดีมาก แต่มึงเล่าไม่เป็นนี่หว่า มันก็เลยเสีย content ไป แทนที่จะรู้สึกกับมันเยอะ ก็จะรู้สึกน้อยกว่าปกติ แต่ก็รู้ว่าไอ้นี่คิดไม่เหมือนคนอื่น

+ แบบนี้จะสอนกันอย่างไร

ต้องค่อยๆ ผมว่ามันเป็นความชำนาญในการใช้เครื่องมือ ความชำนาญในการเข้าใจภาษา คือภาพยนตร์มันจะมีเรื่องของ time อยู่ พูดแล้วมันจะ metaphysic คือ เราคนทำจะไม่รู้ว่า นี่ยาวไป สั้นไป เพราะหนึ่ง-เราเป็นคนทำ เราจะจมไปกับมัน แล้วเราไม่สามารถลบความทรงจำทั้งหมดแล้วไปดูใหม่ได้เอง มันจะจมอยู่กับกองฟุตเทจ เวิร์คหรือเปล่า ยาวไปหรือเปล่า ตลกหรือเปล่า จังหวะนี้ถูกต้องหรือเปล่า

ผมรู้สึกว่าคนทำหนัง ตอนทำเสร็จมันก็ได้แต่เดาว่ามัน น่าจะโอเคนะ ผมไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่า แต่ผมเป็น กูทำดีที่สุดแล้ว ได้แค่นี้แหละ ห่วยไม่เป็นไร เดี๋ยวเรื่องหน้าเอาใหม่ คือมันต้องรู้ครับ พอเข้าไปแล้วแม่งห่วย ไม่เห็นตลกเลย แม่งเสียเซลฟ์ว่ะ เราก็รู้แล้วว่า อ๋อ…มุกนี้ยาวไปนิดมันเลยยืด มุกนี้ยังไม่ทันขยี้เลยแม่งจบแล้ว หรือท่อนซึ้งไม่มีรับหน้า คนเลยมองไม่เห็น มันจะค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วครั้งต่อไปจะรู้แล้วว่า อันนี้ถ่ายเพิ่มไป หรือคัตแค่นี้พอแล้ว เพลงไม่ต้องเยอะขนาดนี้ มันเป็นเรื่องความรู้สึก

สำหรับผมจะเรียกมันว่า time กับ space ของหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่กะๆ เอาทั้งนั้นเลย ไม่สามารถเปิดเพลงนี้ 3 วินาทีแล้วคนร้องไห้แน่ๆ มันไม่ได้คณิตศาสตร์ขนาดนั้น วางเพลง 3 วินาทีกับเรื่องนี้เวิร์ค ไปวางอีกเรื่องหนึ่งไม่เวิร์ค มันแปรปรวนผันผวนตลอดเวลา แต่ทำบ่อยๆ มันจะแม่นขึ้น หรือการดูเยอะก็จะรู้ว่าแบบนี้ทุกคนก็ทำ งั้นไปทำอย่างนี้ดีกว่า ก็จะเกิดความแปลกใหม่ขึ้น ต้องทำด้วย ดูเยอะด้วย

ถ้าเป็นเรื่องบทมันคือประสบการณ์ชีวิตที่มันต้องใช้เยอะๆ อ่านเยอะๆ การทำหนังคือการสร้างโลกขึ้นมาใบหนึ่ง สร้างคนขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ไม่มีอะไรง่าย หนังยิ่ง simple เท่าไหร่ยิ่งยาก เพราะจริงๆ คนมันซับซ้อน โลกมันกว้างใหญ่ไพศาล มันแทบจะเอาอะไรมาก็ได้ แต่ว่าคุณจะหยิบอะไรมาวาง ให้มาบวกกันแล้วพอดี ตัวละครนี้ควรไปอยู่ในสถานการณ์นี้ว่ะ คนดูถึงจะได้เห็นว่าไอ้นี่มันโง่สุดๆ หรือไอ้นี่แม่งเก่งสุดๆ ภายในเวลาที่เท่ากัน

way81_nawapol-5

+ เวลาทำหนังให้เวลากับส่วนไหนมากที่สุด

จริงๆ แล้วแต่เรื่อง แต่ส่วนใหญ่ถ้ากินเวลาเยอะสุดจะเป็นบท เพราะบทมันกำหนดทุกอย่าง หมายถึงตอนกำกับด้วย ตอนตัดต่อด้วย ซึ่งมันก็ช่วยเราคุมงบด้วยว่า ถ้าเราเขียนมามั่วซั่ว มันก็ต้องไปถ่ายหมดเลย เหมือนกับเอาหมดเลย กูก็ต้องถ่ายทุกซีนเลย แล้วพอตอนไปตัดจริงก็ไม่ได้ใช้ เพราะฉะนั้น ตอนทำบทจะนานสุด เพราะถ้าบทมันจบ ตอนออกไปถ่ายเราจะมั่นใจขึ้น ตกลงไอ้นี่มันทำแบบนี้ถูกหรือเปล่า มันจะไม่มีข้อสงสัย ก็จะแค่ถ่ายตามนี้ เพราะหน้ากองจริงๆ มันไม่มีเวลาคิดแล้วว่าแบบนี้เวิร์คไหม ถ้าเราไม่ใช่ หว่อง กาไว พวกนั้นคือเขาไม่มีบทเลย สมมุติตอนทำ Happy Together (1997) มันไปอาร์เจนตินาแล้วไม่มีบทเลย

+ คือไม่มีบทเลยจริงๆ?

เท่าที่อ่านมาคือไม่มีเลย ไปเขียนกันที่นั่น แต่เขาคงมีเวลา อาจจะอยู่ไปเลย 3 เดือน ถ่ายวันไหนก็ถ่าย อันนั้นไม่เป็นไร แต่ของเรามันต้องเช่าไฟ พอออกไปถ่ายเลยต้องเป๊ะ

+ บทแต่ละเรื่อง ต้องเขียนอย่างน้อยสักกี่ร่าง

อันนี้ก็ระบุไม่ได้ขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะตั้งแต่ 7-8 ร่าง ไปจนถึง 10 ร่างก็มี

+ ถ้าหนังที่มีทีมเขียนบทหลายคน เวลาทำงานจริงแบ่งงานกันอย่างไร

อย่าง พี่มากพระโขนง เขียน 3 คน ตอน รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ก็เขียนกัน 3-4 คน มันไม่ถึงขั้นแบ่งงานหรอก จะช่วยๆ กันมากกว่า

ตอนเขียน รถไฟฟ้าฯ พี่อมราพร (แผ่นดินทอง) จะดูเรื่องตัวละคร ผมดูโครงสร้าง พี่ปิ๊ง (อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ผู้กำกับ) เป็นคนดูมุก แต่มันไม่ถึงกับแบ่งเซ็คชั่นกันขนาดนั้น เพียงแต่ก็มาช่วยกันคิดว่าจบซีนนี้แล้วต่อไปเป็นอะไร มีมุกอะไรได้บ้าง ก็จะโยนๆ เข้าไป เหมือนช่วยกันเขียนมากกว่า

+ แล้วคนที่จะเขียนให้ออกมาเป็นบทคือใคร

ตอน รถไฟฟ้าฯ ที่เขียนกันหลายคน ผมจะเป็นคนโน้ตไว้แล้วค่อยเอามาพิมพ์ ก็เหมือนเราได้ฝึกไปด้วย สมมุติทั้งวัน คิดออกมาได้ 15 ซีน ก็ลองไปรวบให้มันเป็นบทภาพยนตร์ (screenplay) ดูว่าจะเป็นยังไง แล้วเดี๋ยวค่อยมาให้ทีมช่วยดูกันอีกที

สุดท้ายมันต้องมีคนพิมพ์อยู่คนหนึ่ง จะเป็นคนรวบไอเดียทั้งหมดให้ออกมาเป็น format script หรือถ้าลองเขียนดูแล้วเห็นว่าอันไหนมันเลอะเทอะก็เอาออก

+ ถึงจะมากำกับหนัง แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการเขียนเสียทีเดียว เพราะยังไงก็ยังต้องเขียนบทอยู่

ใช่ แต่หลังๆ จะเริ่มรู้สึกว่ามันต้องแยกกัน ข้อดีของคนเขียนหนังสือเวลามาเขียนบทคือจะไม่เหวอมาก แต่ข้อเสียคือจะเอาวิธีการเขียนหนังสือมาใส่ด้วย ซึ่งที่เขียนอยู่ตอนนี้ ยังรู้สึกเลยว่า นี่แม่งเขียนหนังสือชัดๆ นี่ขนาดขัดมาหลายปีแล้วก็ยังออกไม่หมด มันก็ยังออกมาในแบบที่…มันถ่ายไม่ได้เว้ย แบบนี้มันทำได้แค่ในหนังสือเท่านั้น ก็ยังต้องมานั่งปรับกันอยู่ คือถ้าตอนเขียนโครงเรื่องใช้ภาษาเขียนเยอะ พอเป็นบทภาพยนตร์ก็ต้องมานั่งแก้เยอะเหมือนกัน

+ เรียกว่าต้องใช้ประสบการณ์เยอะมาก

เยอะครับ ผมทำเรื่องที่ 3 ก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่รู้ ผมเขียนบทเรื่องใหม่ก็ยังไม่ได้แบบ…รอบนี้เขียนพลิ้วจัง แต่จริงๆ กูจมกับ 5 ซีนนี้มา 4 วันแล้ว ทำไมประสบการณ์ที่เขียนบทมามันไม่ช่วยอะไรเลยวะ มันก็มีเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ ก็ค่อยๆ ฝึกไป

ผมเลยรู้สึกว่า เวลาดูหนังถ้ามีใครจะคอมเมนต์อะไรให้บอกมาให้หมดเลย คอมเมนต์ด่าเราในทวิตเตอร์ เราก็รีทวีต เพราะไม่ได้ซีเรียสว่าห้ามแตะต้องหนังเรา มันเป็นของมีค่า คือเราวางมันแล้ว คุณก็…เอาเลยครับ คอมเมนต์มา แต่ถ้าคอมเมนต์ด่าแล้วไม่ให้เหตุผล เราก็ไม่ได้อะไรแค่นั้นเอง

เออ…รู้ว่าไม่ชอบแต่ไม่อธิบายหน่อยเหรอ อย่างหลับ หลับช่วงไหนวะ อาจจะเป็นช่วงที่เราไม่แน่ใจจริงๆ ว่าช่วงนี้หลับหรือเปล่าวะ กูน่ะไม่หลับอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าคนดูหลับหรือเปล่า ก็บอกมา ก็โอเค รอบหน้าเราจะไม่เอายาวขนาดนี้แล้ว

แล้วเรารู้สึกว่า ถ้ายิ่งห้ามด่า ห้ามแตะ เราจะไม่ได้อะไรเลย คือหนังฉายไปแล้วไม่มีคอมเมนต์อะไรเลยมันเศร้ามาก เศร้ากว่าโดนด่าอีก เพราะโดนด่ายังได้รู้ว่าไม่เวิร์คเลยเหรอวะ มันทำไมวะ แต่สมมุติตอบคอมเมนต์แบบ เก่งจริงมึงทำเองสิ ผมเชื่อว่าครั้งหน้า ต่อให้เขาดูหนังผม เขาก็จะไม่คอมเมนต์อะไรอีกแล้ว ก็เลย…คอมเมนต์มาเถอะครับ ผมฟังได้หมด

+ ในมุมคนทำหนัง เวลาทำหนังออกมา จำเป็นไหมที่ต้องทำให้คนดูรู้เรื่อง

อันนี้แล้วแต่คนนะ พี่ลิ (ชลิดา เอื้อบำรุงจิต – ผู้อำนวยการมูลนิธิหนังไทย) เคยเล่าว่า บางทีน้องๆ ที่ทำหนังทดลองมาบ่นน้อยใจว่า หนังทดลองไม่เคยเข้ารอบหรือชนะเลิศเลย พี่ลิบอกว่า ก็เราทำหนังทดลอง…นี่ก็ได้ทดลองแล้วไง ก็จบแล้ว

ผมคิดว่ามันแล้วแต่ว่าใครทำด้วยจุดประสงค์อะไรมากกว่า เพียงแต่ต้องยอมรับในเงื่อนไขของตัวเอง อย่างเราอาจจะทำหนังกึ่งทดลอง ก็ได้ลองบางอย่างไปบ้าง แต่เราก็ยังอยากสื่อสารกับคนดูมากกว่า อย่างที่ว่า เราอยากเล่นกับคนดู อยากตีปิงปองกับเขา ฉะนั้น เราจะเผื่อมาแล้วว่า ถ้าโยนไปแล้วเขารับได้หรือเปล่า โยนไปเขาจะตีกลับมาได้หรือเปล่า ถ้าเราตีอยู่คนเดียว ส่วนตัวจะไม่ได้สนุกเท่าไหร่

งานบางงานที่ค่อนข้างเป็นศิลปะหน่อย หรืองานที่เล่าเรื่องส่วนตัวของตัวเองด้วยวิธีการของตัวเองมากๆ ผมว่ามันก็ทำได้เหมือนกัน แต่แน่นอนว่าปริมาณคนที่มาดูก็จะมากน้อยตามโปรเจ็คท์ที่เราทำ ตามจุดประสงค์ที่เราทำ

อย่างตอนทำหนังจะรู้เลยว่า เรื่องนี้คนจะดูเยอะหรือน้อย คือบางเรื่อง รู้แล้วล่ะว่าคนดูไม่เยอะ แต่เราก็ยังทำอยู่ดี ไม่ใช่แบบ ถ้าคนดูน้อย ไม่ทำดีกว่า เราก็ยังคิดว่า ถึงคนดูน้อยก็ทำไปเหอะ เลยแล้วแต่ว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร ผมว่าทุกเรื่องมันก็มีคุณค่าของมัน หนัง ไอฟายฯ ก็มีหน้าที่ของมัน หนังพี่ต้อมก็มี หนังพี่เจ้ยก็มี ต่างคนต่างก็มีเส้นทางเป็นของตัวเองมากกว่า

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า