ห้วงเวลาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุยังเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาเล่ามาผลิตซ้ำด้วยมุมมองที่หลากหลาย เป็นสารตั้งต้นของจินตนาการใน Fiction ทั้งในหนังสือและภาพยนตร์ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฉากหลังของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นปรากฏในหนังแทบทุก Genre ทั้งภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรรกรรมเยาวชนเยาวชน สารคดี หนังดราม่า เลิฟสตอรี่ คอมมิดี้ หรือหนังเพี้ยนๆ แบบเควนติน ตารันติโน ประวัติศาสตร์ในห้วงนั้นคือสิ่งที่มนุษย์รุ่นหลังควรจดจำ สำรวจเข้าไปในซอกหลืบที่เร้นลับของความเป็นมนุษย์ ด้านที่ดำมืดที่สุด แต่ในที่ที่ดำมืดที่สุดย่อมมีจุดเล็กๆ ของแสงสว่าง
Schindler’s List (1993)
ความหวังท่ามกลางกลิ่นคาวเลือด
“กว่า 6 ศตวรรษที่พวกเขาเข้ามาตัวเปล่า มาตั้งรกราก พวกเขาเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ การศึกษา ศิลปะ ในเย็นวันนี้ 6 ศตวรรษนั้นจะเป็นเพียงคำร่ำลือ และมันจะไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์” อามอน เกิท (Amon Goth) กล่าวก่อนการกวาดล้างสลัมของชาวยิวที่เมืองคราคอฟ (Krakow) ประเทศโปแลนด์ ในปี 1943
จากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของ ออสการ์ ชินเลอร์ (Oskar Schindler) ผู้ปลดปล่อยชาวยิวกว่า 1,000 คน สู่ภาพยนตร์ขาวดำผลงานการกำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) เนื้อหาของภาพยนตร์เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความสิ้นหวังของชาวยิวผสมกับการทารุณไร้ซึ่งมนุษยธรรมของทหารนาซีที่กระทำต่อชาวยิวจำนวนมาก
ย้อนกลับไป หนังพยายามจะเข้าสู่ภาพเหตุการณ์ที่ดูแล้วหดหู่ไปหลายวันจนต้องคิดตามว่า มนุษย์เรานั้นจิตใจต้องโหดเหี้ยมอำมหิตถึงขนาดไหนถึงสามารถปลิดชีพมนุษย์ด้วยกันได้ในชั่วพริบตาเดียว มันก็คงเป็นความคิดที่คล้ายกับชินเลอร์เช่นกัน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีได้บุกสถานที่ต่างๆ เพื่อทำการกวาดล้างชาวยิวโดยการส่งไปสังหารหมู่ รมแก๊ส ที่ค่ายกักกัน Auschwitz เรียกได้ว่าไร้สิ้นความหวังถึงการที่จะรอดชีวิตกลับมาได้ แต่ยังพอมีความหวังอยู่วิธีเดียวที่จะไม่ถูกส่งไปค่ายกักกัน ก็คือต้องไปเป็นทาสและใช้แรงงาน
ชินเลอร์ ผู้อำนวยการโรงงานผลิตหม้อเสบียงเพื่อส่งไปบำรุงกองทัพ ได้ซื้อแรงงานชาวยิวจากทหารนาซี ในช่วงแรกๆ เขาคงไม่เห็นอกเห็นใจได้ แค่คิดว่าจะเอากำไรเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความโหดร้ายยิ่งทวีคูณขึ้น ผสมกับความอำมหิตของ อามอน เกิท ที่กระหายในการฆ่าชาวยิวอย่างมาก มีฉากหนึ่งที่เขาตื่นมาคาบบุหรี่ถือปืนไรเฟิลสังหารชาวยิวที่นั่งพักระหว่างการใช้แรงงานในค่ายกักกัน
จุดเปลี่ยนความคิดของ ออสการ์ ชินเลอร์ ระหว่างการกวาดล้างสลัมของชาวยิวที่เมืองคราคอฟ ท่ามกลางความโกลาหล ชาวยิวทุกคนต้องหนีตาย ทหารนาซีพยายามบุกบ้านทุกหลังที่พยายามจะหนีหรือซ่อนตัว และจะโดนยิงปลิดชีวิตด้วยกันหมด แต่ความวุ่นวายในสลัมนั้นก็มีเด็กสาวสวมเสื้อคลุมสีแดงซึ่งเป็นสีสันเพียงหนึ่งเดียวในเรื่อง เธอคือเด็กธรรมดาทั่วไปมีแต่ความไร้เดียงสา เธอเดินไปรอบๆ โดยที่ไม่รู้ว่าต้องเผชิญกับความตาย
สิ่งนี้ที่ทำให้ชินเลอร์ได้ตระหนักถึงความห่วงใยของมนุษย์ด้วยกัน เขาจึงพยายามซื้อแรงงานชาวยิว เพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังค่ายกักกัน แม้จะต้องตระเวนติดสินบนเจ้าหน้าที่ทหารนาซี แต่นั่นคือทางรอดทางเดียว หากไม่ทำเช่นนั้น ปลายทางของคนเหล่านั้นก็คงไม่พ้นสิ่งเดียวคือ ‘ความตาย’
Anthropoid (2016)
ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงเริ่มต้นในคืนอันหนาวเหน็บของวันประกาศเอกราชเชโกสโลวาเกีย 28 ธันวาคม 1941 นายทหารสองคนจากกองทัพเชโกสโลกวาเกียซึ่งต้องย้ายฐานไปที่อังกฤษ โยเซฟ แกบชิค (Jozef Gabčík) และ ยาน คูบิช (Jan Kubiš) คนแรกเป็นสลาฟ อีกคนเป็นชาวเชก ทั้งสองเดินทางจากจุดโดดร่มใกล้ๆ กรุงปรากเข้าตัวเมือง ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของนาซี
ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มผู้รักชาติเชก แกบชิคและคูบิชกำลังดำเนินการตามแผนสำคัญตามภารกิจที่ถูกส่งมารับใช้มาตุภูมิ ในชื่อ ‘Operation Anthropoid’ หรือการลอบสังหาร ไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)
ไรน์ฮาร์ด ไฮดริช ผู้พิทักษ์อาณาจักรไรค์ที่ 3 Reichsprotektor เจ้าของฉายา ‘Butcher of Prague’ ผู้คิดค้นคนสำคัญของโครงการ Final Solution หรือการแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้าย ด้วยการกวาดต้อนและส่งชาวยิวในยุโรปเข้าห้องรมแก๊ส (Holocaust) และเป็นผู้นำสูงสุดอันดับ 3 ของนาซี รองจากฮิตเลอร์ และ ไฮดริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)
ภารกิจพิเศษของอังกฤษภายใต้การอนุมัติของรัฐบาลพลัดถิ่นเชกโกสโลวาเกียประสบผลสำเร็จบนถนนในกรุงปราก แกบชิคกระโดดขวางหน้าขบวนรถของไฮดริช แม้ปืน Colt M1903 จะขัดข้อง แต่ชั่วขณะนั้นถ่วงเวลาพอให้คูบิชโยนระเบิดเข้าใส่รถเมอร์เซเดซ 320 นักฆ่าจอมโหดของนาซีบาดเจ็บหนักและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อ 4 มิถุนายน 1942 – ไรน์ฮาร์ด ไฮดริช คือผู้นำระดับสูงของนาซีคนแรกและคนเดียวที่ถูกลอบสังหารสำเร็จ
มรณกรรมของไฮดริชไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดล้างครั้งใหญ่ในเชโกสโลวาเกีย หน่วย SS ออกล่าตัวมือสังหาร ชาวเชก 13,000 คนถูกจับ ประมาณ 5,000 ถูกฆ่า หมู่บ้าน Lidice และ Ležáky ถูกทำลายย่อยยับ นาซีขู่ประหารคนรายวันจนกว่ามือสังหารจะมอบตัว
หลังเกิดเหตุ พลร่มที่ถูกส่งจากอังกฤษหลบภัยอยู่ในห้องใต้ดินของวิหาร St.Cyril and Methodius Cathedral ท้ายที่สุดทุกคนสู้จนฆ่าตัวตาย ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดกินไซยาไนด์ 18 มิถุนายน 1942 จากนั้นเชโกสโลวาเกียได้รับการพิจารณาเป็นฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลก
อนุสรณ์สถานแห่งชาติการลอบสังหารไฮดริชตั้งอยู่ ณ ที่พวกเขาทำการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ใต้วิหาร St.Cyril ปี 2007 Slovak National Museum เปิดนิทรรศการยกย่องวีรบุรุษต่อต้านนาซีของทั้งเชกและสโลวาเกีย และอนุสรณ์สถานปฏิบัติการณ์ Anthropoid เปิดเมื่อปี 2009 ที่ปราก
The Boy in the Striped Pajamas (2008)
จากหนังสือวรรรกรรมเยาวชนของ จอห์น บอยน์ (John Boyne) นักเขียนไอริช สู่การหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองสัญชาติ อเมริกันและอังกฤษในปี 2008 กำกับโดย มาร์ค เฮอร์แมน (Mark Herman) ที่ได้พยายามเล่าเรื่องราวความโหดร้ายของนาซีใน Auschwitz ค่ายกักกันชาวยิว ผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กชายสองคน ที่ได้เป็นเพื่อนกันผ่านเส้นกั้นลวดหนามไฟฟ้า สัญลักษณ์ของการแบ่งชั้นแบ่งเผ่าพันธุ์ของนาซีผู้เรียกตนว่าชาวอารยันและมนุษย์ชาวยิวที่ถูกมองอย่าไร้ค่าเกินกว่าจะเป็นมนุษย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
บรูโน (Bruno) เด็กชายวัย 8 ขวบ ซึ่งชอบอ่านหนังสือนิทานการผจญภัยเกินกว่าที่จะรับรู้เหตุการณ์บ้านเมืองในเวลานั้น ต้องย้ายจากบ้านหลังใหญ่โตในกรุงเบอร์ลินพร้อมกับครอบครัว มาอยู่นอกเมืองที่ถูกเรียกว่า Auschwitz หากพูดกันตรงๆ ก็คือ คุณพ่อของบรูโนคือทหารระดับนายพันที่ถูกย้ายมาประจำการในค่ายมรณะที่กักกันและสังหารชาวยิวนั่นเอง โดยพ่อของบรูโนให้เหตุผลว่า
“ฟังนะบรูโน ข้อหนึ่งของการเป็นทหาร ชีวิตเราไม่สามารถเลือกได้มากนัก มันเรื่องของหน้าที่ ชาติอยากให้เราไปที่ไหนเราก็ต้องไป แต่การย้ายไปที่อื่นมันคงง่ายขึ้นเยอะหากรู้ว่าครอบครัวของเรายินดีไปกับเราด้วย”
เขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องย้ายมาที่นี่ เขาไม่มีเพื่อนและถูกสั่งห้ามไม่ให้ไปเล่นที่อื่นแม้เขาจะเห็นสถานที่ที่มองออกทางหน้าต่างห้อง และเข้าใจว่านั่นคือฟาร์ม ความเป็นนักผจญภัยและนักสำรวจในตัวของบรูโนทำให้เขาสงสัยใคร่รู้ และตัดสินใจแอบออกไปสำรวจที่ฟาร์มแห่งนั้น และที่นั่นเขาได้พบกับ ชมูเอล (Shmuel) และคนอื่นๆ ที่สวมชุดนอนลายทางเหมือนกันหมด บรูโนไม่เข้าใจ แต่การออกไปครั้งนั้น เขาได้เพื่อน และมิตรภาพระหว่างงเขากับชมูเอลก็ได้เริ่มต้นขึ้นแม้จะมีลวดหนามไฟฟ้ากั้นกลางทั้งสอง กั้นกลางโลก
“ทำไมเขาถึงไม่ให้เธอออกมา เธอทำผิดอะไรเหรอ?” บรูโนถามชมูเอล
“เพราะฉันเป็นยิว”
ฉากหนึ่งในหนังได้เล่าเรื่องโดยพาบรูโนไปตั้งคำถามกับเหตุการณ์บ้านเมืองของเยอรมนี ณ ขนะนั้น โดยหนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของฝ่ายนาซี ผ่านสายตาของบรูโน วัย 8 ขวบ ซึ่งตัวละครบรูโนได้ทำให้เราเห็นสภาพจิตใจของเขา ที่ตั้งคำถามกับการกระทำของทหาร กับสิ่งที่ชมูเอลถูกกระทำ จากความถูกต้องที่เขาถูกสอน ความเกลียดชังชาวยิวที่เขาได้ยิน และความจริงที่เขาได้เห็น โดยเฉพาะตอนหนึ่งของหนัง ครูของบรูโนได้บอกเขาว่า
“ฉันว่านะ บรูโน หากเธอเกิดเจอยิวดีๆ เธอคงเป็นนักสำรวจที่เก่งที่สุดในโลก”
ในตอนจบของ The Boy in The Striped Pajamas สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ก่อหรือผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมันหรือยิว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็ได้รับผลที่เลวร้ายจากสงครามทั้งนั้น และเมื่อบรูโนตอบแทนมิตรภาพที่มีชมูเอลมีให้กับเขาด้วยการช่วยชมูเอลตามหาพ่อที่หายไป และต้องปลอมตัวด้วยการสวมชุดนอนลายทางเข้าไปในค่าย วินาทีที่บรูโนใช้แขนสอดใส่ไปในเสื้อนอนลายทางนั้น ความไร้เดียงสาของเขาไม่ได้หายไปไหน ความบริสุทธิ์ของมิตรภาพยังคงติตามบรูโนไปตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือโลกที่เขาเคยมองด้วยสายตาไม่เข้าใจ เขาก็ยังคงไม่เข้าใจต่อไป ซึ่งสิ่งที่เขากำลังได้สัมผัสมันคือความโหดร้ายที่เขาไม่เคยจินตนาการได้ถึง และมันก็บ่งบอกว่าสงครามไม่เคยมีผู้ชนะที่แท้จริงนอกจากความสูญเสียเท่านั้น
The Great Dictator (1940)
The Great Dictator เป็นภาพยนตร์มีเสียงเรื่องแรกของ ชาร์ลี แชปลิน ออกฉายในปี 1940 แชปลินใช้เวลาช่วงปี 1939 สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ในตอนนั้นฮิตเลอร์เริ่มมีนโยบายกักบริเวณชาวยิว ตลอดระยะเวลา 10 ปี คือระหว่างปี 1933-1943 ผู้ที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของฮิตเลอร์เป็นเพียงเสียงส่วนน้อยในสังคม ด้วยความเชื่อมั่นในตัว ‘ท่านผู้นำ’ เป็นเหตุให้ชาวเยอรมันเทคะแนนนิยมให้ฮิตเลอร์อย่างสมัครใจ ตอนนั้นพรรคสังคมชาตินิยมของคนงานเยอรมัน (National Socialist German Workers’ Party: NSDAP) หรือที่รู้จักกันในนามพรรคนาซี ได้รับเสียงข้างมาก ตอนนั้นฮิตเลอร์ได้รับการสนับสนุนในหมู่ชาวเยอรมัน นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคส่วนมากคือผู้คลั่งไคล้นาซีและศรัทธาท่านผู้นำ ตอนนั้นประวัติศาสตร์ยังไม่กลับข้าง ตอนนั้นฮิตเลอร์ยังเป็นแสงเรืองรอง แต่ตอนนั้นแชปลินคือเสียงส่วนน้อยผู้ออกมายืนแถวหน้าต่อสู้กับฮิตเลอร์ผ่านภาพยนตร์
แชปลินเกิดก่อนฮิตเลอร์เพียง 4 วัน ตอนนั้นคือปี 1889 แชปลินเกิด 14 เมษายน ฮิตเลอร์เกิด 20 เมษายน
The Great Dictator มีตัวละครหลัก 2 ตัว ตัวหนึ่งคือ อดีนอยด์ ฮินเคิล (Adenoid Hynkel) ผู้นำตลอดกาลแห่งรัฐโทมาเนีย ผู้นำที่บ้าคลั่งอำนาจและสงครามและมีความฝันสูงสุดคือการที่จะได้ครองโลก ตัวละครอีกตัวคือช่างตัดผมชาวยิวที่มีหน้าตาเหมือนกันกับ อดีนอยด์ ฮินเคิล ช่างตัดผมเคยเป็นทหารออกรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเมื่อกลับมาก็ป่วยใจอยู่ในโรงพยาบาล จนเมื่อออกมาก็พบว่าบ้านเมืองของเขาภายใต้การปกครองของ อดีนอยด์ ฮินเคิล ไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตัวละครทั้งสองตัวแสดงโดย ชาร์ลี แชปลิน
ในซีนสุดท้ายหนังสลับบทบาทของสองตัวละครที่มีหน้าตาเหมือนกัน ช่างตัดผมที่หน้าตาเหมือนท่านผู้นำได้ขึ้นปราศรัยต่อประชาชนและทหารในการที่สามารถรุกรานประเทศอื่นได้สำเร็จ และบทสุนทรพจน์นี้ก็คือความคิดของแชปลินที่ต้องการวิพากษ์ฮิตเลอร์และผู้สนับสนุนฮิตเลอร์ในเวลานั้น มันเป็นสุนทรพจน์ในเรื่องแต่งที่ทรงพลัง ตราบวันนี้ และตอนนี้
“เหล่าทหาร จงอย่าให้ตัวเองเป็นดั่งสัตว์ป่า ใครที่เกลียดชังและกดขี่พวกคุณ ใครที่บงการชีวิตคุณ บอกคุณว่าต้องทำอะไร ต้องคิดแบบไหน ต้องรู้สึกอย่างไร ใครที่ทรมานคุณ ปฏิบัติกับพวกคุณเช่นวัวควาย ดั่งคุณเป็นแค่วัตถุในการทำสงคราม จงอย่าทำตัวเองเป็นดั่งมนุษย์ที่ผิดธรรมชาติเหล่านี้ พวกมนุษย์เครื่องจักร มีจิตใจเป็นเครื่องจักร และหัวใจเป็นเครื่องจักร พวกคุณไม่ใช่เครื่องจักร พวกคุณไม่ใช่วัวควาย พวกคุณคือมนุษย์”
The Pianist (2002)
The Pianist ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องราวของนักเปียโนเชื้อสายยิว วลาดิสลาฟ สปิลมัน (Wladyslaw Szpilman) ที่อาศัยอยู่ในกรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ ในช่วงปี 1939 ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น เหล่าบรรดาทหารพรรคนาซีเยอรมันบุกเข้าโจมตีกรุงวอร์ซอว์ บ้านเมืองเต็มไปด้วยทหารคอยควบคุม ชาวยิวในเมืองกลับต้องกลายเป็นผู้แปลกแยกและได้รับการกระทำที่แตกต่างเป็นพิเศษ เช่น จำกัดจำนวนเงินของชาวยิว ถูกห้ามให้เข้าร้านกาแฟ ถูกห้ามให้เข้าสวนสาธารณะ ถูกห้ามใช้ทางเท้า อีกทั้งยังมีประกาศให้ชาวยิวทุกคนต้องติดสัญลักษณ์ดาว 6 แฉกเพื่อแสดงตัวตน
ในเวลาต่อมาชาวยิวทั้งเมืองเกือบ 400,000 คนต้องเข้าไปในพื้นที่เขตกักกันที่สร้างกำแพงกั้นและถูกควบคุมโดยทหารเยอรมัน พวกเขาต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัวในทุกๆ คืน ได้รับการกระทำความรุนแรงจากกลุ่มทหารเยอรมัน ทำให้บางคนถึงกับสิ้นหวังและหมดศรัทธาที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ไม่ใช่กับชาวยิวทุกคน
วลาดิสลาฟ สปิลมัน เป็นหนึ่งในชาวยิวที่ยังมีความหวังว่าตัวเองจะต้องรอดชีวิต เขาได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนทหารคนหนึ่งขณะที่กำลังจะขึ้นรถไฟไปพร้อมกับครอบครัวของเขา และเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เขาพลัดพรากจากครอบครัวไป เขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างทรมาน จากนักเปียโนชื่อดังต้องกลายเป็นกรรมกรใช้แรงงานก่อสร้าง แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากมิตรสหายมากมาย ในเรื่องอาหารการกิน หาที่อยู่ที่หลบซ่อนที่ปลอดภัย และในทุกค่ำคืนเขาจะได้ยินเสียงปืนและเสียงกรีดร้องนับครั้งไม่ถ้วน
เมื่อสถานการณ์พลิกผัน ฝ่ายเยอรมันสามารถโจมตีเข้ายึดพื้นที่ สปิลมันได้หลบหนีข้ามกำแพงไปยังเมืองร้างที่มีแต่ซากตึก เขาใช้ชีวิตท่ามกลางความอดอยาก อาศัยซุกซ่อนใต้หลังคา แล้ววันหนึ่งก็ได้พบกับนายทหารชาวเยอรมันผู้หนึ่ง ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือเขา ให้อาหารการกินและให้เสื้อคลุมแก่เขา ภายหลังที่กองทัพเยอรมันต้องถอยทัพหนี เขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากทหารโปแลนด์และรอดชีวิตมาได้ในที่สุด
เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่เล่าประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะท้อนให้เห็นความรุนแรงของพรรคนาซีเยอรมันที่กระทำต่อชาวยิว ไม่ว่าจะทั้งการใช้แรงงานหนักเยี่ยงทาส การกราดยิง การทุบตี หรือแม้แต่การเผาศพชาวยิวกลางถนน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจ เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ชาวโปแลนด์ หรือแม้แต่นายทหารเยอรมันนายนั้นที่แม้ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคนาซี เเต่เขาก็ยังมีความคิดที่อยากจะช่วยเหลือชาวยิวเช่นกัน อย่างที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือสปิลมันจนสามารถรอดชีวิตจากสงครามอันโหดร้ายได้ในที่สุด
Life is Beautiful (1997)
กุยโด (Guido) บริกรหนุ่มชาวยิวผู้ร่าเริง เขากำลังสร้างครอบครัวเล็กๆ พ่อแม่ลูกอย่างมีความสุข แต่โชคร้ายที่ช่วงเวลานั้นตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 2
กุยโด ภรรยา-ดอร์รา (Dora) – ที่ถูกเรียกเสมอว่าเจ้าหญิง และลูกชาย โจชัว (Joshua) ถูกกวาดต้อนเข้าค่ายกักกันชาวยิว กุยโดรับหน้าที่ดูแลลูกชายให้ปลอดภัยจากการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยการ ‘โกหก’
เริ่มต้น…กุยโดโกหกโจชัวว่าสงครามคือเกม
“เห็นมั้ย ที่นี่จัดการดีแค่ไหน ใครๆ ก็อยากมาต่อแถวเข้าคิว” โกหกคำแรกระหว่างเข้าค่ายกักกัน
เกมสำหรับโจชัว มีหลายสิ่งหลายอย่างให้เรียนรู้ เช่น ทำไมต้องแยกหญิงชาย (เลยถูกแยกกับแม่) แล้วเพราะอะไรคนแก่ถึงต้องไปอยู่อีกที่
“คุณปู่ถูกจัดอยู่อีกทีม” กุยโดโกหกคำที่สองต่อโจชัว
กติกาสำหรับเกมนี้คือ ทุกคนต้องทำตามกฎ ทำได้คือได้แต้ม ทำพลาดโดนหักแต้ม ใครถึง 1,000 แต้มก่อนคือผู้ชนะ และของรางวัลใหญ่คือ รถถัง
ค่ายกักกันถูกกุยโดแปลงให้เป็นสถานที่สำหรับเล่นซ่อนหา โจชัวจะถูกพ่อท้าทายว่า ถ้าถูกหาตัวเจอเมื่อไหร่ จะโดนหักคะแนน
จึงไม่มีทหารเยอรมันคนไหนได้เจอตัวโจชัวเลย ขณะที่เด็กๆ คนอื่นจะถูกหลอกให้ไป ‘อาบน้ำ’ พร้อมกับคนแก่ ซึ่งปลายทางคือโดนรมแก๊ส
โชคดีที่โจชัวเป็นเด็กไม่ชอบอาบน้ำอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่มีใครหาโจชัวเจอ
ไม่ใช่แค่กุยโดเท่านั้นที่โกหก เพื่อนๆ ในค่ายกักกันที่งงกับบทสนทนาเรื่องเกมของพ่อลูกในตอนแรก หลังๆ มาก็เริ่มเข้าใจ และเออออไปด้วยกับโกหกคำโต เพื่อให้โลกของโจชัวยังคงสวยงามเสมอ
จนเยอรมันตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เกมตาสุดท้ายของกุยโดและโจชัว ก็ดำเนินมาถึงเช่นเดียวกัน ค่ายกักกันถูกกวาดล้างด้วยลูกปืน แต่เกมเล่นซ่อนหาของโจชัวยังไม่จบ เพราะพ่อบอกให้ไปซ่อนตัวจนกว่าจะแน่ใจแล้วว่าไม่มีใคร – ค่อยออกมา
กุยโดยังคงเล่นเกมจนวาระสุดท้ายของชีวิต เขายังยิ้ม ขยิบตา และโบกมือลาลูกชาย หลังจากถูกทหารจับได้และพาไปยิง
Life is Beautiful จึงเต็มไปด้วยคำโกหกตลอดทั้งเรื่อง โจชัวก็อาจจะเติบโตมากับความจริงเพียงเสี้ยวเดียว ไม่ต่างกับคนรุ่นหลังที่ห่างจากข้อเท็จจริงเรื่องนาซีมากขึ้นเรื่อยๆ จนหยิบสัญลักษณ์บางอย่างมาสวมใส่และให้เหตุผลว่า ‘ไม่รู้’
Downfall (2004)
นี่คือหนึ่งในหลายๆ วิดีโอล้อเลียนฮิตเลอร์ และ ‘มีม’ ที่หลายคนอาจเคยเห็นผ่านตามาบ้างจากในสื่อต่างๆ มันชวนเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้เสมอ ทว่าฉากการล้อเลียนนี้เป็นซีนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Downfall ที่มีชื่อภาษาไทยว่า ปิดตำนานบุรุษล้างโลก เป็นภาพยนตร์ที่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงเวลาวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ ชวนไปเห็นชะตากรรมที่น่าหดหู่ของท่านผู้นำแห่งพรรคนาซี ที่ต้องคอยหลบซ่อนอยู่ในเบอร์ลินบังเกอร์ (Berlin Bunker) โดยนับวันรอท้าชนกับความพ่ายแพ้และความตาย โดยไม่คิดหนีไปไหน
ฉากล้อเลียนดังกล่าว พูดถึงการประชุมที่ตึงเครียด เมื่อนายทหารคนหนึ่งเข้ามารายงานข่าวร้ายต่อฮิตเลอร์ว่า “กองทัพรัสเซียและสัมพันธมิตรได้รุกคืบมาใกล้กรุงเบอร์ลิน แต่ไม่มีทหารช่วยค้ำยันอีกแล้ว เพราะกำลังพลส่วนใหญ่ ต่างยอมแพ้ต่อกองทหารสัมพันธมิตรกันหมด” จึงทำให้ฮิตเลอร์โกรธจนหัวเสีย
นอกเหนือจากการแสดงที่สมบทบาทแล้ว บรูโน แกนซ์ (Bruno Ganz) ผู้สวมหัวโขนแสดงเป็นฮิตเลอร์ยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่อยู่ในสถานะ ‘ผู้นำ’ ได้อย่างยอดเยี่ยม ฉายภาพให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของผู้นำจอมเผด็จการคนนี้
Downfall ทำให้เห็นว่าในแต่ละวันภายในเบอร์ลินบังเกอร์ ฮิตเลอร์ต้องปะทะกับความรู้สึกกดดันหลายๆ อย่าง
ความรู้สึกกลัวการพ่ายแพ้ทำให้เขาอ่อนแอ
กองทัพแดงทิ้งระเบิดใส่เบอร์ลินทุกวัน ทหารรัสเซียเข้าประชิดเบอร์ลินมากขึ้น แถมยังโดนคนสนิทที่ไว้ใจทรยศหักหลังอีก เมื่อทุกอย่างไล่ต้อนจนฮิตเลอร์อ่อนแอ เขาตัดสินใจปลิดชีพตัวเองพร้อมคนรัก เป็นเหตุให้พรรคนาซีล่มสลาย
ไม่น่าเชื่อว่า Downfall จะเป็นภาพยนตร์ช่วยสะกิดความรู้สึกบางอย่าง ที่ทำให้เห็นว่า ‘ฮิตเลอร์ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง–และเขาก็เป็นผู้นำปีศาจที่ฆ่าชาวยิว แต่ร่องรอยของสมรภูมิรบครั้งนี้ ก็ช่วยคลี่คลายความสงสัยที่ว่า ทำไมบางคนถึงยังศรัทธาในเสียงหมาป่าของฮิตเลอร์
“แด่ทุกคนที่จงรักภักดี ต่อสู้เพื่อปกป้องเบอร์ลิน แม้กระสุนของคุณจะหมด–ถึงจะยืนหยัดสู้ต่อไป ก็คงไม่มีประโยชน์อันใดอีกแล้ว” ประโยคหนึ่งของไวด์ลิง (Helmuth Weidling) อดีตผู้บัญชาการในการปกป้องเบอร์ลิน หลังจากฮิตเลอร์ปลิดชีพตัวเอง (Downfall, 2004)
Inglourious Basterds (2009)
“เราจะถลกหนังหัวไอ้พวกนาซีออกให้หมด”
ยุคที่ปารีสอยู่ภายใต้การปกครองของนาซี บ้านเมืองในครานั้นก็เต็มไปด้วยทหารนาซีเยอรมัน แต่ทว่ายังมีก๊วนร่วมขบวนการเพื่อตามล่าและสังหารทหารนาซีโดยการฆ่าถลกหนังหัวที่ใช้ชื่อว่า Inglourios Basterds ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนอเมริกัน ออสเตรีย ยิว หรือแม้แต่คนเยอรมันอย่าง ฮิวโก สติกลิทซ์ (Hugo Stiglitz) โดยมีหัวหน้าก๊วนขบวนการชาวอเมริกัน ร้อยโทอัลโด เรน (Aldo Raine) ฉายา ‘The Apache’ ได้ทำการรวบรวมทีมพลพรรคเพื่อสังหารและถลกหนังหัวทหารนาซีเต็มเปี่ยมไปด้วยความเกลียดชังอัดอั้นบ้าบิ่นต่อนาซีเยอรมัน
รวมไปถึง โชแซนนา (Shosanna) หญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่ครอบครัวของเธอถูกทหารนาซีสังหาร เนื่องจากเหตุผลที่เชื่อว่าให้ที่พักพิงแก่ชาวยิวในตอนต้นเรื่อง จนเธอเติบโตมาเปิดกิจการโรงภาพยนตร์อยู่ในปารีส แต่เหมือนกับว่าเหตุการณ์ทุกอย่างคงประจวบเหมาะเป็นอย่างมาก โรงภาพยนตร์ของเธอได้รับการเสนอให้เป็นสถานที่จัดฉายภาพยนตร์เพื่อยกย่องเชิดชูอาณาจักรไรค์ที่ 3 โดยที่ฮิตเลอร์ก็จะมาร่วมงานนี้ด้วย เธอจึงคิดที่จะแก้แค้นทหารนาซีที่ปลิดชีพครอบครัวของเธอด้วยการจุดไฟเผาโรงหนังเสียเลย
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการแต่งตัวละครขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ต่างๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งการที่นาซีบุกยึดฝรั่งเศสและการไล่ล่าชาวยิว
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็น่าจะเป็นฝ่ายของทหารนาซีเยอรมันที่เอาชนะได้ยาก ทั้งความฉลาดและเล่ห์เหลี่ยมอย่าง พันเอก ฮานส์ ลันดา (Hans Landa) ที่แฝงไปด้วยกลยุทธ์ทั้งในด้านจิตวิทยาคำพูด ซึ่งพูดได้หลายภาษาอย่าง เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาเลียน เป็นอย่างดี
ท่ามกลางทหารนาซีทางฝ่ายก๊วนร่วมขบวนการ Basterds นั้นต้องแฝงตัวเพื่อที่จะทำภารกิจให้ลุล่วง สิ่งนี้คือจุดน่าสนใจที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ว่าได้ ทั้งในเรื่องสำเนียงและวัฒนธรรมของเยอรมันในฉากบาร์ที่กดดันสุดๆ เพื่อไม่ให้เผยไต๋ออกมาได้ หรือแม้กระทั่ง ร้อยโทอัลโด เรน ที่ปลอมตัวเป็นชาวอิตาลี ถือว่าสิ่งนี้ผู้กำกับอย่าง เควนติน ตารันติโน (Quentin Tarantino) จิกกัดได้แสบสะใจจริงๆ
The Reader (2008)
ฉากของเรื่องราวคือเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบแล้ว เด็กนักเรียนคนหนึ่งบังเอิญได้รับความช่วยเหลือจากสาวแปลกหน้าในยามที่ไข้ขึ้นสูง หลังจากนั้นเขาตามหาเธอเพื่อจะขอบคุณ เธอชื่อ ฮันนา (Hanna Schmitz) เป็นชนชั้นแรงงานการศึกษาน้อย ทำงานเก็บตั๋วรถเมล์ นอกจากการค้นพบทางเพศของเด็กหนุ่ม อีกกิจกรรมที่ฮันนามักขอให้เด็กหนุ่มทำให้ คือการอ่านหนังสือให้ฟัง เพราะเธออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันในช่วงสั้นๆ เหมือนปิดเทอมฤดูร้อนอันแสนหวาน ก่อนที่เธอจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากเด็กหนุ่มอ่านวรรณกรรมเล่มหนาให้ฮันนาฟังจนจบ
แล้วเวลาก็ผ่านไป
เด็กนักเรียนคนนั้นกลายเป็น ไมเคิล เบิร์ก (Michael Berg) นักศึกษากฎหมาย เขาบังเอิญได้พบกับฮันนาอีกครั้ง ในคอกจำเลย ศาลไต่สวนอาชญากรรมของพรรคนาซี อดีตและพื้นเพที่ฮันนาไม่ได้เล่าจึงกระจ่างออกมา เธอทำงานในค่ายกักกัน
ในฐานะนักศึกษาวิชากฎหมาย ไมเคิลกำลังเรียนรู้วิธีที่จะสะสางบาดแผล และร่วมรับมลทินของชาติ กลไกนี้สามารถมองผ่านจริยธรรมก็ได้ หรือใช้เครื่องมือที่เรียกว่ากฎหมาย ดังไดอะล็อกช่วงหนึ่งในหนัง
ศาสตราจารย์: สังคมคิดว่ามันถูกขับเคลื่อนด้วยจริยธรรม แต่ไม่ใช่หรอก สังคมขับเคลื่อนด้วยบางสิ่ง ที่เรียกว่ากฎหมาย มีคนกว่า 8,000 คนที่ทำงานในเอาท์ชวิตช์ 19 คนเท่านั้นที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด และเพียง 6 คนที่เป็นข้อหาฆาตกรรม คำถามจึงไม่ใช่ “มันผิดไหม” แต่เป็น “มันผิดกฎหมายไหม” และไม่ใช่กฎหมายของเราด้วย แต่คือกฎหมาย ณ ตอนนั้น
นี่เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เห็นว่า ระบบอันเหี้ยมโหดทำให้ปัจเจกบุคคล ‘มึนชา’ จนทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างไรบ้าง ในที่นี้ ฮันนาเอง ที่แม้จะเป็นหนึ่งในองคาพยพ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นเหยื่อเช่นกัน แน่นอนว่าอดีตนั้นไม่สามารถลบล้างได้ แต่หนังเรื่องนี้คือการชี้ให้เห็นความยุติธรรม และความพยายามในการชำระประวัติศาสตร์
ฮันนา: ไม่สำคัญหรอกว่าฉันรู้สึกยังไง ไม่สำคัญหรอกว่าฉันคิดอะไร คนที่ตายไปแล้วก็ตายอยู่ดี
ฮันนาไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่เธอเคยกระทำ (หรือเคยเพิกเฉยไม่กระทำ) สิ่งเหล่านั้นมีผลสืบเนื่องที่เธอต้องรับผล แต่ความศิวิไลซ์ของเรื่องราวนี้ก็คือ แม้กระทั่งคนที่ทำผิดพลาด ก็สมควรได้รับความยุติธรรม และรับโทษตามน้ำหนักที่สมเหตุสมผล มิใช่เพียงความโกรธเกรี้ยวเดือดดาล
The Reader สร้างจากนิยายชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาเยอรมันเมื่อปี 1995 เขียนโดย แบร์นฮาร์ด ชลิงค์ (Bernhard Schlink) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและผู้พิพากษา รายละเอียดในการว่าความจึงสมจริงและเต็มไปด้วยแง่มุมทางศีลธรรมที่น่าสนใจ เช่น เราควรรับโทษทัณฑ์ถึงขั้นไหนหากเราเป็นเพียงแค่เฟืองตัวหนึ่งในกลไก เราควรเผยหลักฐานข้อเท็จจริง ที่อาจช่วยลดหย่อนโทษของจำเลยไหมหากตัวจำเลยเองไม่ประสงค์เช่นนั้น บาปรวมหมู่ของ ‘ชาติ’ ทำร้ายเราอย่างไรได้บ้าง
ยังมีรายละเอียดอีกมากในหนัง โดยเฉพาะชีวิตช่วงท้ายของฮันนาและไมเคิลที่เหมาะกับคำว่า bittersweet เอามากๆ รวมทั้งฉากเกือบสุดท้ายในหนังที่ไมเคิลสนทนากับหญิงชาวยิวผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในคดีของฮันนา มันไม่ใช่การให้อภัยหลุดพ้นหมดจดแบบทุกอย่างจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง แต่เป็นการอยู่กับบาดแผลและดำเนินชีวิตต่อไป (แบบที่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประวัติศาสตร์บาดแผลแบบไทยๆ จะเยียวยาเช่นนี้บ้าง)
ฉบับภาพยนตร์มีเสน่ห์มาก และเป็นอีกเรื่องที่ เคท วินสเลต (ในบทฮันนา) ได้สำแดงความสามารถทางการแสดง ทั้งความเยียบเย็นชา และความปวดร้าวในแววตา ได้อย่างไร้ข้อกังขา
Where to Invade Next (2015)
ถามว่าหนังสารคดี Where to Invade Next: บุกให้แหลก แหกตาดูโลก โดย ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) เล่าเรื่องนาซีโดยเฉพาะเลยหรือเปล่า ตอบฉับทันทีว่า “ไม่” แต่ภารกิจพาอเมริกันชนไปเปิดหูเปิดตาบ้านอื่นเมืองอื่นนั้น ประเทศเยอรมนีคือหนึ่งในเป้าหมายที่ ไมเคิล มัวร์ บุกไปเพื่อเด็ดดอกไม้กลับสู่สหรัฐอเมริกา ที่นั่น เขาพาเราไปรู้จักกับแนวคิดของคนเยอรมันยุคสมัยนี้กับประวัติศาสตร์อันมืดดำจากบรรพบุรุษ
ห้องเรียนแห่งหนึ่งในประเทศนั้น เด็กเยอรมันอายุประมาณ 10 ขวบกำลังนั่งเรียนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่านี่คือบาดแผลฉกรรจ์ที่ยากต่อการลบลืม กระนั้นการมาทำความเข้าใจว่าคนรุ่นปู่ย่าตายายของตนเองเคยสร้างความสยดสยองอะไรไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะอยากให้ลูกหลานของพวกเขากล่าวซ้ำ
พูดง่ายๆ คือ ลืมมันเสีย เลี่ยงที่จะพูดถึง อาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ทว่าคนเยอรมันไม่ทำเช่นนั้น
ครูในเยอรมนีกลับเลือกที่จะสอนว่าคนรุ่นก่อนหน้าทำอะไรไว้บ้าง หน้าที่ของคนรุ่นหลังคือต้องไถ่บาป ชดใช้ และถือเป็นบาดแผลร่วมของคนในชาติที่ต้องไม่ลืม หาใช่ปกปิดซุกซ่อนมันไว้ใต้พรมของประวัติศาสตร์
“หน้าที่ของผมคือสร้างอนาคตที่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้อีก ผมจะทำทุกทางไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อีก”
ครูคนหนึ่งพูด ขณะที่ห้องเรียนกำลังจำลองสถานการณ์ให้เด็กๆ ได้เห็นฉากของคนยิวที่ถูกบังคับให้เก็บของเพื่อเข้าไปสู่ค่ายกักกัน มันคือการเดินทางครั้งสุดท้าย นอกจากไม่ได้กลับออกมาแล้ว ยังไม่ได้ไปไหนต่อด้วย เพราะมันคือการเดินทางสู่ความตาย
ออกจากห้องเรียน บนท้องถนนมีชื่อของชาวยิวที่ถูกพรากตัวไปและถูกสังหาร ขณะที่ป้ายริมถนนก็มีข้อความที่ระบุข้อห้ามและการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของชาวยิว สิ่งที่ ไมเคิล มัวร์ พูดในหนังสารคดีเรื่องนี้ก็คือ นี่เป็นเครื่องเตือนใจให้คนในยุคปัจจุบันระลึกว่า เยอรมนีไม่ได้มีเพียงความศิวิไลซ์ ความพร้อมทางเทคโนโลยี และการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย
“ถ้ามีอะไรจะยึดจากคนเยอรมันก็คือความคิดที่ว่า หากคุณยอมรับรู้ด้านมืดของตนเองและหาทางชดใช้มัน คุณก็จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้ และทำสิ่งที่ดีกับคนอื่นได้” ไมเคิล มัวร์ พูดเช่นนั้น ก่อนเดินทางจากเยอรมนีไปสู่แผ่นดินอื่น