โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases) หรือ NCDs เป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ เชื้อโรค หรือพาหะนำโรค แต่เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยสะสมเป็นเวลานาน และเป็นผลจากหลายตัวแปรรวมกัน ไม่ว่าทั้งตัวแปรด้านพันธุกรรม จิตวิทยา สภาพแวดล้อม และด้านพฤติกรรม
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโรค (WHO) แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เป็นจำนวนกว่า 41 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 71 ของสาเหตุการตายทั้งหมด ส่วนประเทศไทย ในทุกๆ ปีจะมีประชากรเสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนกว่า 8,687.5 คน โดย 4 โรคที่เป็นสาเหตุหลัก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
นั่นทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค NCDs นี้อย่างเร่งด่วน และนั่นเป็นเหตุผลที่ พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์ หัวหน้าโครงการ WPP ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และพยายามชี้ให้เห็นว่า เพราะเหตุใด ‘สถานประกอบการ’ จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มหรือลดความเสี่ยงจากโรค NCDs โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ‘กลุ่มวัยทำงาน’ ซึ่งต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตอยู่ในสถานประกอบการ
WHO รายงานว่า กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 30-69 ปี มีสัดส่วนการตายจากโรค NCDs มากกว่า 15 ล้านรายต่อปี คำถามคือ ทำไมวัยทำงานจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด
ต้องขอขยายความสักเล็กน้อยว่า ตามสถิติของ WHO ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มคนวัยทำงานเสียชีวิตจาก NCDs มากกว่ากลุ่มอายุอื่น แต่หมายถึงว่า สาเหตุการเสียชีวิตของกลุ่มคนวัยทำงานโดยส่วนใหญ่แล้วมาจากโรค NCDs
ทีนี้ถามว่าทำไม เพราะถ้าไม่นับช่วง 2-3 ปีที่มีโควิดเข้ามา โรคติดเชื้อไม่ค่อยมีบทบาทกับสุขภาพของคนเราเท่าในอดีต ในอดีตคนเรามีโอกาสเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อได้มากกว่า อย่างเช่น อหิวาตกโรค เป็นต้น ซึ่งพอมีการผลิตยาปฏิชีวนะก็ทำให้โรคติดเชื้อลดความสำคัญลงไปมาก จนกระทั่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เรียกได้ว่าโรคไม่ติดต่อกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพของคนเรา โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีกลุ่มโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคในกลุ่มจิตเวช เหล่านี้คือโรคที่มีผลต่อกลุ่มคนวัยทำงานมากที่สุด
อัตราความรุนแรงจากโรค NCDs มีส่วนสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยใช่ไหม
ใช่ค่ะ ในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวมีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโควิดมากกว่า
WHO รายงานอีกว่า กว่าร้อยละ 85 ของการตายก่อนวัยอันควรนี้ เกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง พอจะวิเคราะห์ได้ไหมว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ในแต่ละประเทศ เมื่อมีผลลัพธ์ของการดูแลสุขภาพจะดูจากหลายๆ ตัวชี้วัด สิ่งหนึ่งก็คือ life expectancy หรือ อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดมักจะยืนยาวกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่า ทำให้คนมีชีวิตยืนยาว ไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือมีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ประชากรมักจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรค NCDs อุบัติเหตุ หรือถ้าในเด็กก็อาจจะเป็นการขาดสารอาหาร เป็นต้น
ทำไมสถานประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค NCDs ให้กับลูกจ้าง
เพราะคนวัยทำงานต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ถึง 1 ใน 3 ในแต่ละวัน อยู่ในที่ทำงาน ฉะนั้น ถ้าสถานประกอบการมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้คนทำงานได้ ก็จะทำให้คนวัยทำงานมีโอกาสที่จะมีสุขภาพดีขึ้นมาก
จะเห็นว่า เวลาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงไปทำงานในชุมชน ซึ่งเป็นเวลาทำการ ส่วนใหญ่ก็มักจะเจอแต่ผู้สูงอายุกับเด็ก เพราะว่าคนวัยทำงานจะอยู่ที่ทำงาน เมื่อเจ้าหน้าที่จะไปให้ความรู้ หรือไปตรวจสุขภาพคนในชุมชน จึงมักจะไม่เจอกลุ่มคนวัยทำงานเท่าไหร่
เท่าที่ทราบ แม้ประเทศไทยจะมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาพอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก คิดว่าเป็นเพราะสาเหตุใดที่ผู้ประกอบการยังไม่ให้ความร่วมมือมากนัก
อันนี้น่าจะมาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งสถานประกอบการอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ ซึ่งเจ้านายหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่อยากไปก้าวก่าย
ประการต่อมาคือ การจัดลำดับความสำคัญ ด้วยเหตุว่าตอนนี้การสร้างเสริมสุขภาพเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับ แตกต่างจากเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หรือการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน อันนี้จะมีกฎหมายค่อนข้างชัดเจน ก็เลยทำให้สถานประกอบการต้องให้ความสำคัญไปตามลำดับ หมายความว่า เลือกที่จะใช้ทรัพยากรไปกับเรื่องความปลอดภัยก่อน จนอาจไม่เหลือเวลาหรือทรัพยากรในการสร้างเสริมสุขภาพให้พนักงาน
อีกประการคือ ตัวคนทำงานเอง ด้วยความที่เขาเป็นวัยที่ต้องหารายได้ไปเลี้ยงครอบครัว เขาก็จะรู้สึกว่าต้องให้ความสำคัญกับเรื่องงานเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงต้องทำงานหนัก แล้วพออายุมากขึ้นก็จะเริ่มป่วย ซึ่งจากการตรวจคนไข้ส่วนใหญ่ก็จะพบกรณีแบบนี้เยอะ เหมือนเอาสุขภาพไปแลกงาน แล้วก็มาป่วย ต้องมาดูแลความเจ็บป่วยตอนที่สูงอายุแล้ว เนื่องจากแต่ละคนให้ความสำคัญกับเรื่องรายได้มากกว่า ส่วนเรื่องการดูแลสุขภาพจะจัดลำดับความสำคัญที่น้อยกว่า
ถึงที่สุดแล้วควรมีการออกกฎหมายบังคับใช้เลยไหม
เรื่องกฎหมายบังคับ เท่าที่ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะมองว่า การมีกฎหมายบังคับในบางส่วน น่าจะช่วยให้มีโอกาสที่จะเกิดโครงการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น เพราะหากไม่เกิดการบังคับเลยก็อาจทำให้การสร้างเสริมสุขภาพเป็นแค่ความสมัครใจ
หากสถานประกอบการมองว่าแค่การลงทุนด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงานก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องไปถึงขั้นเสริมสร้างสุขภาพ เราจะเปลี่ยนมุมมองนี้ได้อย่างไร
ถ้าเป็นในอดีต เวลาเรามองเรื่องสุขภาพกับความปลอดภัย เราจะมองแยกกัน แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ทั้งสองเรื่องนี้จะถูกผนวกรวมเข้าด้วยกัน เรียกว่าเป็นการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ คือเป็นการดูแลทั้งเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย เพราะว่าบางอย่างมันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อย่างเช่น กรณีคนขับรถสาธารณะเป็นเบาหวาน ถ้าเขาคุมระดับน้ำตาลไม่ดี โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากระดับน้ำตาลที่ขึ้นสูงมากหรือลดต่ำมาก ก็อาจจะทำให้มีผลต่อความปลอดภัยของทั้งตัวเองและผู้โดยสารด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องสุขภาพกับเรื่องความปลอดภัย ถ้าเราดูแลไปพร้อมๆ กัน ใช้กระบวนการแบบบูรณาการ ก็น่าจะทำให้โอกาสสำเร็จสูงขึ้น
นอกจากนี้ ถ้ามีการบูรณาการก็จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรลงได้ด้วย เพราะในสถานประกอบการมักจะไม่ได้มีบุคลากรที่ดูแลด้านสุขภาพเยอะนัก อาจจะมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ซึ่งถ้าเราทำเรื่องนี้ไปพร้อมกัน ทั้งฝ่าย HR และฝ่าย safety ก็สามารถทำงานไปด้วยกันได้
ทำอย่างไรจึงจะสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการหันมาสนใจเรื่องการควบคุมป้องกันโรค NCDs มากขึ้น
เรื่องแรงจูงใจน่าจะมีหลายๆ วิธีที่จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจได้
อันแรกคือเรื่อง ‘ผลลัพธ์’ ของการทำโครงการเหล่านี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้าผู้ประกอบการลงทุนในโครงการสร้างเสริมสุขภาพและความปลอดภัยแล้ว จะได้กำไรเท่าไหร่ ได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราสามารถสร้างโมเดลที่ทำให้เห็นว่าลงทุนแล้วคุ้ม ก็มีโอกาสที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะยอมลงทุนมากขึ้น
อันที่สองคือ ‘งบประมาณสนับสนุน’ ถ้าเขาได้รับงบประมาณสนับสนุน เช่น มีโครงการจากภาครัฐมาให้งบประมาณในการสร้างเสริมสุขภาพ สถานประกอบการก็มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานกประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว ตัวคนงานก็ต้องมาเข้าร่วมด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่า ไม่อยากให้คนทำงานต้องหยุดงานเพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ ฉะนั้นตัวเงินอย่างเดียวอาจจะไม่พอ
อันสุดท้ายคือ ‘ผลลัพธ์’ อย่างเช่น ถ้าสถานประกอบการทำโครงการแล้ว คนเจ็บป่วยน้อยลง การใช้เงินจากประกันสังคมน้อยลง ในปีต่อๆ ไป เขาก็สามารถลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมได้
ประเทศไทยสามารถศึกษาตัวอย่างการลงทุนในการสร้างเสริมสุขภาพ หรือป้องกันโรค NCDs จากประเทศใดได้บ้าง
มีตัวอย่างจากหลายประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา และบางประเทศก็ค่อนข้างเข้มงวด ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีที่เอาเรื่องสร้างเสริมสุขภาพมาเป็นกฎหมายบังคับเลย ส่วนในบางประเทศก็อาจเข้มข้นรองลงมา
ในเรื่องของการลงทุนในการสร้างเสริมสุขภาพ หลายประเทศมีข้อมูลว่าลงทุนแล้วคุ้ม สามารถลดวันลา ลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุบัติเหตุ ลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จากเดิมสถานประกอบการจะมีพื้นที่ที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ ต่อมามีการยกเลิกพื้นที่สูบบุหรี่ หมายความว่า สถานที่ทำงานแห่งนั้นจะไม่มีพื้นที่สูบบุหรี่เลย ปรากฏว่าทำให้คนทำงานเลิกบุหรี่ได้เยอะขึ้น สูบบุหรี่น้อยลง เทียบเท่ากับมาตรการขึ้นราคาบุหรี่ 3 ดอลลาร์ต่อซอง หรือประมาณ 100 บาท ซึ่งค่อนข้างได้ผลดีมาก เพราะการจะขึ้นราคาบุหรี่ขนาดนั้นในความเป็นจริงอาจจะทำได้ยากกว่า
พอประเทศเหล่านี้มีโครงการหรือมาตรการป้องกันโรค NCDs แบบนี้ มีผลให้อัตราการเกิดโรคและอัตราการตายจากโรค NCDs ลดลงด้วยไหม
ใช่ค่ะ มีผลการศึกษาพบว่าลดอัตราการป่วยลงได้ อย่างเช่นในกลุ่มโรค metabolic syndrome หรือ โรคจำพวกเบาหวาน ความดัน และโรคอ้วน พอสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ คนที่เป็นโรคกลุ่มนี้ก็ลดลงและมีสุขภาพที่ดีขึ้น ตัวชี้วัดสุขภาพที่ดีขึ้นก็อย่างเช่น น้ำหนัก สภาพจิตใจ หรือการลดความเครียด เป็นต้น
ส่วนเรื่องอัตราการเสียชีวิต ข้อมูลอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะระบุได้ชัดๆ ว่า หลังจัดโครงการแล้วสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยความที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการประเมินผล
ในบางสถานประกอบการดูจะเป็นไปได้ยากมากที่จะมีพื้นที่สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น ขาดแคลนพื้นที่ที่จะสร้างสถานที่ออกกำลังกายให้พนักงาน อยากถามว่า ด้วยเงื่อนไขที่ยากลำบากนี้ เบื้องต้นผู้ประกอบการและพนักงานควรปฏิบัติอย่างไร
ถ้าเป็นโรงงานที่มีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถสร้างฟิตเนสให้คนทำงานได้ ก็อาจจะหาแนวทางอื่นได้ เช่น ทำทางเดินหรือทางวิ่งรอบๆ โรงงาน ซึ่งอาจไม่ต้องใช้งบประมาณมาก เพียงแค่ทำให้เป็นทางเรียบพอที่จะสามารถเดินหรือวิ่งได้ต่อเนื่องก็เพียงพอแล้ว
ถ้าโรงงานมีโรงอาหาร อาจจัดให้มีอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ หรือถ้าเป็นโรงงานหรืออาคารที่มีตึกสูง การส่งเสริมให้ใช้บันไดก็ช่วยได้เช่นกัน คือถ้าทำอะไรแล้วง่ายต่อการปฏิบัติก็จะช่วยลดข้อจำกัดของสถานประกอบการลงได้
อย่างในโรงพยาบาลเองพอจะเป็นแบบอย่างให้สถานประกอบการได้ไหม
ในโรงพยาบาลตอนนี้ก็พยายามมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้เป็นทางเลือก อย่างเช่น ลดเครื่องปรุง ไม่ให้เติมน้ำปลา เพราะความเค็มจะเป็นตัวเพิ่มความดันโลหิต ซึ่งเป็นหนึ่งในโรค NCDs เช่นกัน รวมถึงการควบคุมอาหารในโรงอาหารให้มีความหวานน้อย หรือมีตัวเลือกให้เลือกหวานน้อยได้ ทั้งขนมและเครื่องดื่ม
ส่วนในบางโรงพยาบาลที่มีพื้นที่มากพอก็อาจจัดให้มีสถานที่ให้ออกกำลังภายในอาคารหรือมีพื้นที่ให้คนเดิน ซึ่งก็มีส่วนช่วยเรื่องสุขภาพได้เหมือนกัน
หากคิดในแง่ผลกำไร ผู้ประกอบการจะได้อะไรจากการลงทุนในโครงการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค NCDs
เขาก็จะได้คนทำงานที่มีผลิตภาพ หรือ productivity สูงขึ้น คือคนทำงานที่สุขภาพดี เขาก็จะสามารถทำงานได้เต็มที่มากขึ้น การลาก็จะน้อยลง ถ้าเขามีสุขภาพที่ดี ความคิดสร้างสรรค์หรือการทำงานให้เต็มที่ก็จะทำได้มากกว่าเดิม แต่ถ้าคนงานเจ็บป่วย มีโรคประจำตัว หรือมีความเครียดเรื่องสุขภาพของตัวเอง ก็อาจจะส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ต้องลาหยุด ลาป่วยมากขึ้น
ยิ่งในคนรุ่นใหม่ ด้วยความที่คน Gen Y กับ Gen Z เข้าสู่วัยแรงงานมากขึ้น ถ้าคนกลุ่มนี้รู้สึกว่าทางบริษัทไม่ดูแลลูกจ้างให้ดี ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงงานได้ง่าย ซึ่งต่างกับคนรุ่นเก่าที่จะพยายามทำงานอยู่ที่เดิมตลอดจนเกษียณ ดังนั้นถ้าบริษัทดูแลพนักงานได้ดี แนวโน้มที่จะรักษาคนรุ่นใหม่ๆ ไว้กับองค์กรก็จะมากขึ้น
สังคมจะได้อะไรหากสถานประกอบการลงทุนด้านสุขภาพของลูกจ้าง
อย่างที่บอกว่าคนวัยทำงานจะต้องใช้เวลาอยู่กับที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเขาอยู่ในที่ทำงานแล้วแข็งแรงขึ้น มีสุขภาพดี เขาก็จะสามารถทำงานได้นานขึ้น ตอนนี้สังคมไทยเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือมีสัดส่วนของผู้สูงอายุค่อนข้างสูงมาก คนมีลูกน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบแล้วประชากรวัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลงมาก ฉะนั้นคนวัยทำงานจึงต้องมี productivity หรือผลิตภาพที่สูงขึ้น เพื่อที่จะดูแลคนวัยพึ่งพิง ทั้งผู้สูงอายุและเด็ก เพราะฉะนั้นถ้าสถานประกอบการหันมาดูแลคนกลุ่มนี้มากขึ้น เขาก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะเลี้ยงดูคนในครอบครัว ทำให้แต่ละครอบครัวมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีได้ ท้ายที่สุดสังคมโดยรวมก็จะได้ประโยชน์ด้วย