เปิดเทอมแล้ว หลังจากฤดูร้อนอันยาวนาน
ขับรถผ่านโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งมีนักเรียนมากกว่าพันคน เงียบสนิท เป็นไปได้ว่าใช้ระบบผลัดกันมาเรียน จะผลัดสองหรือผลัดสาม จะอย่างไรก็เงียบสนิทอยู่ดี
เป็นนักเรียนประถม
หากเราผ่านโรงเรียนประถมสักแห่งหนึ่งแล้วพบว่าเงียบสนิท เรียนตามตรงว่าควรเป็นห่วง และถ้าเราผ่านโรงเรียนอนุบาลสักแห่งแล้วพบว่าเงียบสนิท เรื่องจะน่าห่วงมาก
และน่ากลัว
เราพูดเรื่องความปกติใหม่หรือ new normal กันมา 3 เดือน สิ่งที่ได้มาคือใส่หน้ากาก นั่งห่างกัน และล้างมือบ่อยๆ เพิ่มเติมว่าผลัดกันมาเรียน แต่เราไม่กล้าแตะเรื่องใหญ่เลยแม้แต่เรื่องเดียว
1. ลดขนาดโรงเรียนขนาดใหญ่หลักพันคนให้เหลือหลักร้อย
2. ยุบหลักสูตรแกนกลางที่ล้าสมัยและไร้ประโยชน์
3. ถอนรากถอนโคนการสอนประเภทท่อง จำ ติว สอบ มุ่งเชิดชูเด็กเก่งและเด็กดี
4. ปฏิรูปครูให้เปลี่ยนภารกิจเป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยการเรียนรู้ มิใช่ผู้สอน
5. เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนเป็นการใช้โจทย์ปัญหาของชุมชนเพื่อการเรียนรู้
6. เปลี่ยนกระบวนการเรียนหนังสือเป็นการเรียนรู้ด้วยการทำงานจริง และทำงานเป็นทีม
7. วัดผลที่ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ของเด็ก มิใช่วัดผลที่เก่งหรือดี
นี่จึงเป็นนิวนอร์มอลที่แท้และที่ควรจะเป็น เราปล่อยโอกาสที่ดีหลุดลอยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่เกินความคาดหมายเพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่มีความสามารถทำงานด้านนี้อยู่แล้วตั้งแต่แรก มีแต่การกระจายอำนาจการจัดการการศึกษาก่อนเท่านั้นจึงจะทำได้ เรามีเวลาให้เตรียมตัว 3 เดือนแต่ทำได้เพียงใส่หน้ากาก นั่งห่างกัน และล้างมือบ่อยๆ ไม่เห็นจะนิวที่ตรงไหนเลย
เรื่องควรทำ 7 ข้อข้างต้น มีคนทำในประเทศไทยแล้วมิใช่ไม่มี หาดูก็จะพบ เสียอยู่อย่างว่ามักจะเป็นโรงเรียนที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบครัวส่วนใหญ่ของเราจ่ายไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจ่าย
เพราะอะไรโรงเรียนอนุบาลหรือโรงเรียนประถมที่เงียบสนิทเป็นเรื่องน่ากลัว?
เพราะธรรมชาติของเด็กอนุบาล (4-6 ขวบ) และเด็กประถม (7-12 ขวบ) ต้องเจี๊ยวจ๊าว ช่างพูด ช่างถาม และมีพลังล้นเหลือที่จะต้องระบายออกไปด้วยการวิ่งเล่น ทำงาน เดินป่า เดินเมือง และเรียนรู้ด้วยการสำรวจ ด้วยตา หู จมูก ลิ้นและมือ แต่ถ้าเด็กนับหมื่นแสนล้านคนเงียบหมดทั้งประเทศ นี่คือเรื่องน่ากลัวที่แท้จริง
เด็ก 4-6 ขวบมีหน้าที่ข้อหนึ่งเรียกว่า Initiation แปลตรงตัวว่าริเริ่มสิ่งใหม่ ความหมายก็ตามนี้จริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน คือเปิดโอกาสหรืออำนวยความสะดวกให้เด็กอนุบาลได้ริเริ่มสิ่งใหม่ อยากแปลว่าความคิดสร้างสรรค์ก็ได้ครับ แต่ควรเข้าใจตรงกันว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์แบบเด็กๆ ของเด็กแต่ละคน ซึ่งถูกทุกคน
พูดง่ายๆ อะไรใหม่สำหรับชีวิตของเขา คือความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น
โรงเรียนที่เปิดกว้าง เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนการเรียนรู้ ให้เด็กอนุบาลได้เล่น สำรวจ และลงมือทำงาน จึงจะเป็นโรงเรียนที่ได้ทำหน้าที่ของตนเองสอดคล้องกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กๆ นั่นคือได้ริเริ่ม ได้ทดลอง ได้เรียนรู้ มีเรื่องใหม่และสนุกทุกวัน
ถามว่าเด็กอายุ 4-6 ขวบไม่เรียนเขียนอ่านหรือบวกเลขจะเป็นอะไรไหม คำตอบคือ ไม่เป็นอะไรเลย นอกจากไม่เป็นอะไรแล้วยังได้ใช้เวลา 3 ปีเต็มๆ นั้นไปริเริ่มสิ่งใหม่และคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นฐานของการคิดวิเคราะห์และการสร้างนวัตกรรมในอนาคต ชาติของเราต้องการประชากรรุ่นใหม่ประมาณนี้
มิใช่ได้ไดโนเสาร์มาอีกฝูงหนึ่ง
มีเด็ก 6 ขวบจำนวนมากในโลกที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และบวกเลขไม่เป็น ก่อนที่จะทำทุกอย่างได้อย่างดีเมื่อ 7 ขวบ การศึกษาไทยไม่เชื่อเรื่องนี้และไม่ยินยอมให้เด็กๆ ได้พัฒนาอย่างถูกต้อง
ถามว่าเด็กประถม 7-12 ขวบ จำเป็นต้องท่องสูตรคูณ ท่องอาขยาน เรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และสารพัดวิชาวันละ 7-8 ชั่วโมงไหม ตอบง่ายมาก ไม่จำเป็นเลย
วิชาเหล่านี้พ้นสมัยหมดแล้ว เรียนไปได้เกรดดีแต่มีโอกาสที่จะเอาตัวไม่รอดในวันหน้า เพราะศตวรรษที่ 21 โลกไม่ต้องการคนเหล่านี้อีกแล้ว โลกต้องการคนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา พร้อมจะทิ้งของเก่าที่เกะกะ และสามารถคิดวิเคราะห์รอบด้านได้เรื่อยๆ
มิใช่ได้เด็กขี้กลัว ไม่กล้า สยบยอม งอตัว ขี้หงอ กราบกราน ไม่กล้าแม้แต่จะปกป้องร่างกายของตนเอง อย่าว่าแต่สิทธิของตนเอง
มีเด็ก 12 ขวบจำนวนมากทั้งในประเทศและในโลกที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย พวกเขาผ่านบ้านเรียนที่พ่อแม่มิใช่ครูมืออาชีพ มีเด็ก 12 ขวบจำนวนมากทั้งในประเทศและในโลกที่ไม่เคยเรียนวิชาเหล่านี้แยกเป็นส่วนๆ แต่เรียนรู้ด้วยการใช้โจทย์ปัญหาเป็นตัวตั้ง หรืออาจจะเรียนวิชาเหล่านี้อยู่บ้างแต่มิใช่มากมายบ้าบอคอแตกอย่างบ้านเรา วันนี้พวกเขาเรียบร้อยดี และมีตัวชี้วัดหลายตัวดีกว่าเด็กทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัดด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต การจ้างงาน การก่อคดี การใช้สารเสพติด และรายได้
เปิดเทอมแล้ว พวกเราทำตัวแบบเดิม ใครว่านี่คือนิวนอร์มอล
ที่จริงคือโอลด์นอร์มอล