ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
“เฟซบุ๊คที่เราอยู่และโตขึ้นมา มันไม่มีปุ่มกราบ ไม่มีปุ่มขออนุญาต เราคอมเมนต์ได้เลย บางทีเราอาจจะกดปุ่มโกรธ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีมารยาท แต่มันเป็นมารยาทใหม่ในยุคของเรา”
และ
“องค์กรเอ็นจีโอบ้านเรา ถ้านึกถึงเด็กจะชอบใช้ภาพต้นไม้ ขณะที่หลายประเทศใช้รูปจรวด มันค่อนข้างบอกได้ว่าเขามองเด็กเป็นอย่างไร เช่น มองว่าเด็กต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์คือมันต้องงอกออกจาก ‘ต้นเก่า’ ด้วยใช่ไหม”
คือวรรคทอง ที่อาจอธิบายที่มาที่ไปของกลุ่ม Newground กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานโดยคนรุ่นใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่ อธิบายให้เข้าใจขึ้น พวกเขานิยามตัวเองว่า เป็น ‘การรวมตัวของคนที่ไม่พอใจอะไรสักอย่าง’ แต่ถ้าให้อธิบายอย่างจริงจัง Newground คือองค์กรศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ และคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต
ถ้าดูจากวรรคทองวรรคเด็ดที่เรายกมาเบื้องต้น ก็คงพยักหน้าเห็นด้วย เออจริง… นายต้องไม่พอใจอะไรบางอย่างอยู่จริงๆ ด้วย แต่ใช่หรือไม่ว่า คนรุ่นใหม่แบบเราๆ ถ้าไม่ ‘ปิดตาข้างหนึ่ง’ เพื่อ ‘อยู่เป็น’ จนเกินไป เราย่อมรู้ว่ามันมีความไม่ปกติบางอย่างเกิดขึ้นในสังคม
และท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม Newground ลุกขึ้นมาตั้งคำถามแสนพื้นฐาน ชวนคนรุ่นใหม่ให้คะแนนผู้ใหญ่และประเทศ ประจำปี 2560 แบ่งเป็นสี่หมวดคำถามใหญ่โดยมีผู้เข้าร่วมตอบราว 7,000 คน และเผยแพร่ผลสำรวจนี้เมื่อวันเด็กที่ผ่านมา
หมวดคำถามสี่หมวด
- คำถามเกี่ยวกับตัวเอง
- คำถามเกี่ยวกับผู้ใหญ่
- เราจะได้คำตอบจากสิ่งที่สงสัยจากที่ใด
- ในปีที่ผ่านมา เราควรจะได้อะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เพราะ…
ลำพังแค่โจทย์ ‘ให้คะแนนผู้ใหญ่’ ก็ขบถเหลือเกินแล้ว เพราะเป็นเด็กเป็นเล็กจะมาให้คะแนนผู้ใหญ่ได้อย่างไร แต่ไม่เท่านั้น ต้นปีที่ผ่านมาพวกเขายังปล่อยข้อมูลอีกชุดชื่อ ‘ประวัติศาสตร์คนรุ่นใหม่’ ที่มีคำอธิบายพ่วงท้ายว่า
“รู้ไหมว่าเด็กและวัยรุ่นไม่ได้มีมาตั้งแต่ตอนที่มีมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง”
แซ่บๆ ดุๆ แบบนี้ WAY Magazine ชอบนัก เราจึงชวน ฟิล์ม–เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และ นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง สมาชิกกลุ่ม Newground ร่วมไขข้อข้องใจ ทำไมต้องไม่พอใจ อยู่เฉยๆ ไม่ได้เหรอ เป็นเด็กเป็นเล็กก็ควรจะอยู่นิ่งๆ เดี๋ยวก็ดีเอง คับข้องใจอะไรนัก ทำไมจึงต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงด้วย
รับประกันความแซ่บ เพราะเธอคือ นานา-วิภาพรรณ เจ้าของเดียวกับเพจ Thaiconsent อ่านบทสัมภาษณ์ของเธอได้ที่นี่ 🙂
แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ Newground คือใคร ทำอะไรอยู่
Newground เป็นการรวมตัวของคนที่ไม่พอใจอะไรสักอย่าง โดยปีแรกๆ เราอยากทำเรื่องของพวกเราเอง คือเรื่องคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าอธิบาย Newground อย่างเป็นทางการ เป็นองค์กรที่ศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ และคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต
เราพัฒนาข้อเสนอคนรุ่นใหม่บนความเข้าใจวัฒนธรรมเยาวชน ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หลายๆ ข้อเสนอมันต้องแก้ที่กฎหมาย แต่มันก็มีข้อเสนอบางข้อที่ทำได้ ก็จะทำเลย
เช่น สภาเด็กฯ มีงบประมาณกระจายไปแต่ละตำบล ตำบลละ 20,000 บาท กว่า 8,000 ตำบล ซึ่งวิธีการกระจายแบบนี้มันล้าหลังไปนิดหนึ่ง เราอยากเปลี่ยนเป็นการระดมทุนแทน คือให้วัยรุ่นตั้งต้นกองทุนกันเอง กองละ 1,500 บาท และเราสมทบให้สองเท่า คือ 3,000 บาท เราเริ่มทำกันในชื่อกองทุนคนรุ่นใหม่
คนก็ระดมทุนพร้อมกิจกรรมที่อยากทำได้เลย เช่น มีคนอยากไปเที่ยว หรือมีคนอยากทำต่างหูขาย มีคนอยากทำสวัสดิการเครื่องเขียน แก้ปัญหาการทำของหาย ซึ่งนโยบายแบบนี้ไม่ค่อยมีในสภาเด็กฯ
นานา: แล้วถ้าเด็กกลุ่มนี้อยากทำต้องเขียนเสนอโครงการยังไง
ฟิล์ม: ปกติคงต้องเขียนว่าเพื่อต่อต้านยาเสพติด หรือเป็นกิจกรรมจิตอาสา (น้ำเสียงจริงจัง) ซึ่งกองทุนของเราเขียนได้อย่างตรงไปตรงมาเลยว่า ‘เที่ยวเพราะอยากไปเที่ยว’ ‘ใช้ชีวิตปีสุดท้ายของการเรียนอย่างสนุก’ เราก็สมทบเพิ่มอีกสองเท่า ซึ่งไม่ใช่เงินของเรา แต่เป็นเงินภาษีของพวกเขาเอง
ที่มาของแนวคิด ‘เขียนโครงการอย่างตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ต้องบอกว่าทำเพื่อชุมชน’ คืออะไร
เริ่มมาจากปัญหาของเด็กและเยาวชน สองส่วนหลักคือ
หนึ่ง-เด็กและเยาวชนอาจมีงบประมาณสำหรับพวกเขา แต่เขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใช้งบประมาณนั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาของเขาเอง กลุ่มคนแบบเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่รณรงค์ให้อำนาจครูเป็นอำนาจที่ตรวจสอบโดยผู้เรียนได้ หรือคนที่จะรณรงค์เรื่องกัญชาถูกกฎหมาย หรือลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือแม้แต่รณรงค์เรื่องเด็กถูกครู bully อะไรพวกนี้ เข้าไม่ถึงงบประมาณเด็กเยาวชนเลย มีแต่โครงการเด็กในแบบที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็นเท่านั้นที่เข้าถึง
สอง-ไม่มีสถาบันวิจัยที่พยายามมองหาคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ ที่มีอยู่ก็เอามาตรฐานทางวัฒนธรรมแบบเดิมๆ มาเปรียบเทียบ องค์กรรู้เท่าทันสื่อหลายแห่งยังสอนให้พ่อแม่ ‘สอดส่อง’ มือถือลูกอยู่เลยว่าลูกเข้าเว็บอะไรบ้าง มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลชัดเจน
เราอาจจะเคยมีเศรษฐกิจประชาธิปไตย การเมืองประชาธิปไตย แต่ไม่เคยมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย หลายคนในรุ่นผมเองยังต้องอ่าน สี่แผ่นดิน โตมาผ่านเผด็จการ อำนาจนิยม ก็เป็นปัญหาอันที่สอง ที่เราพยายามทำคือสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของวัยรุ่น และพยายามมองหาคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่
ปีนี้เรามีสี่คนหลักๆ คนหนึ่งเรียนเรื่องผู้ประกอบการสังคม อีกสามคนเรียนนิเทศฯ นิเทศฯ แบบนิเทศฯ มากๆ อย่างที่ผู้ใหญ่มองเด็กนิเทศฯ ยังไง เราเป็นอย่างนั้นเลยครับ
ข้อมูลชุดล่าสุดของ Newground คือประวัติศาสตร์คนรุ่นใหม่ จุดเริ่มต้น ที่มาที่ไปคืออะไร
นานา: เพราะเรารู้สึกว่ามีข้อมูลตัวเลขพอสมควร แต่เยาวชนไม่รู้ว่าภาคนโยบายพูดถึงพวกเรายังไง ในมุมมองอะไร นิยามประชากรเยาวชนมีเท่าไหร่ เป็นตัวเลขของปีไหน การแบ่งมาตรฐานของเด็กและเยาวชนคืออะไร มีงบประมาณลงไปเท่าไหร่ เยาวชนอยู่ไกลข้อมูลพื้นฐานพวกนี้มาก
ฟิล์ม: เอาแค่สถิติประชากร แต่ละที่ยังไม่ตรงกันเลย
นานา: เวลาพูดถึงเด็ก เรามักพูดกันถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ การเติบโตเป็นแบบนี้นะ สมองเป็นแบบนี้ เขาโตมาจะเป็นยังไง หรือว่าพูดในเชิงแรงงาน แต่ไม่ได้พูดว่าเด็กในยุคนี้ โตมาท่ามกลางเหตุการณ์บ้านเมืองยังไง ซึ่งมันโคตรจะสำคัญกับการฟอร์มทัศนคติของคนคนหนึ่ง เลยลองรวบรวมดู แต่พอรวมแล้วก็ เออ… เอาขึ้นเว็บเลยแล้วกัน
ไม่ใช่แค่นี้ แต่ยังมี ‘ผลสำรวจความเห็นเด็กที่มีต่อผู้ใหญ่’ เผยแพร่เมื่อเดือนช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วย จุดเริ่มต้นของมันคืออะไร ทำไมถึงต้องเป็น ‘ความเห็นของเด็กที่มีต่อผู้ใหญ่’
ฟิล์ม: ช่วงปีก่อน เพื่อนผมคนหนึ่งชื่อ ป้อมปืน-วรวัส สบายใจ เขาทำโครงการนักเกรียนเปลี่ยนโลก ให้ทุนคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องทำอะไรสอดคล้องกับระบบ คือถ้าคุณเป็นเยาวชน อยากขอทุนกับองค์กรทำงานด้านเยาวชน องค์กรเหล่านั้นก็มักคิดว่า เราต้องทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จิตอาสา อะไรพวกนี้ จนเกลื่อนไปหมด ไม่มีองค์กรเยาวชนที่สนับสนุนให้เยาวชนดื้อหรือขัดขืนเลย เรามองว่ามันคือการทำให้ทุกอย่างเป็นแบบเดียวกันทำให้มีคนที่หากินกับโครงการสิ่งแวดล้อมหรือจิตอาสา ได้ทุนแล้วได้ทุนเล่าจนอยู่ได้อย่างยั่งยืน
แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย ต้องขายเสื้อยืดหาเงิน ผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ ป้อมปืนเลยอยากให้ทุนคนที่ไม่ยอมเชื่อฟังมีคนที่วิพากษ์การศึกษา หรือกลุ่มที่รู้สึกว่ามายาคติเรื่องการมีผัวฝรั่งมันไม่โอเคนะ หมายความว่าคนควรมีสิทธิ์เลือกว่าจะมีผัวเมียเป็นคนเชื้อชาติอะไร หรือเป็นใครก็ได้
เนื่องจากว่าโครงการนี้ทำมาระยะหนึ่งจนช่วงใกล้ๆ ปิดโครงการ ผมเลยคุยกับป้อมปืนว่า ผมอยากศึกษาคุณค่าบางอย่างจากโครงการที่เกิดขึ้น เลยลองทำวิจัยขึ้นตัวหนึ่งด้วยสมมุติฐานว่า เนื่องจากวิจัยเด็กและเยาวชนที่บ้านเรามีอยู่ก่อนช่วงปี 59 ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่พยายามเอาคุณค่าชุดหนึ่งไปเทียบกับอีกชุดหนึ่ง
อย่างที่เพื่อนผมคือ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ ซึ่งทำงานศึกษาชุดนี้ด้วยกันบอกว่า เราเชื่อว่าการออกนอกบ้านตอนกลางคืนเป็นเรื่องไม่ดี อันตราย และน่ากลัว แต่ถ้ามาดูบริบทกลางคืนในยุคนี้ มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ดังนั้นเราควรจะมา grounding (ปูพื้น) กันใหม่ เป็นที่มาของชื่อ Newground วริศตั้งใจจะทำ free research centre เพื่อออกจากกรอบการวิจัยเดิมๆ ด้วย เลยพยายามทำงานวิจัยที่เข้าไปหาคุณค่าชุดนี้ เกิดเป็นงานที่เราเรียกเล่นๆ ว่า ‘งานวิจัยจรวด’ เพราะ
องค์กรเอ็นจีโอบ้านเรา ถ้านึกถึงเด็กจะชอบใช้ภาพต้นไม้ ขณะที่หลายประเทศใช้รูปจรวด มันค่อนข้างบอกได้ว่าเขามองเด็กเป็นอย่างไร เช่นมองว่าเด็กต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์คือมันต้องงอกออกจาก ‘ต้นเก่า’ ด้วยใช่ไหม
แต่องค์กรที่ลงทุนกับเด็กมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณประเทศหรือในประเทศที่เจริญแล้ว เขามองเด็กเป็นจรวด มองว่าเด็ก go beyond หรือไปไกลกว่าคนรุ่นเรา
ข้อค้นพบในงานวิจัยนี้คืออะไร
ค่อนข้างละเอียด เชียร์ให้เข้าไปอ่านใน newgroundforum.com จะดีกว่า แต่หลัก ๆ คือสิ่งที่องค์กรแหล่งทุน (อันได้แก่ มูลนิธิสยามกัมมาจล, สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), วารสาร KIDSDEE ที่กระทรวงวัฒนธรรมให้ทุนเครือข่ายยุวทัศน์ทำ) สนใจกับสิ่งที่เยาวชนสนใจ มันต่างกันแบบขั้วตรงข้ามเลย
สิ่งที่แหล่งทุนสนใจ เช่นอะไรบ้าง
แหล่งทุนสนใจเรื่องพื้นที่กายภาพ เช่น ถ้าเราเป็นคนสมุทรปราการ ก็ต้องรู้จักชุมชนบางพลี รู้สึกว่าการเดินไปเคาะประตูบ้านอีกหลังหนึ่งมันโรแมนติกมากๆ ถ้าคุณเป็นคนบางพลี ทำไมถึงไม่รู้จักเพื่อนบ้าน แหล่งทุนก็จะพยายามบีบให้เราคิดแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เป็นเรื่องเข้าใจได้ในบางบริบท แต่ไม่ควรบังคับใช้ในบริบทอื่นๆ ที่เขาให้คุณค่าต่างกันไป
ขณะที่ฝั่งเด็กและเยาวชนสนใจเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เช่น นานาเป็นคนเชียงใหม่ ผมเป็นคนบางบัวทอง แต่เรามีความสนใจร่วมกัน เช่น สนใจในศิลปะร่วมกัน เราก็เป็นเพื่อนกันได้ โดยที่เราไม่ต้องเป็นคนบางบัวทองเหมือนกัน
อีกข้อหนึ่งที่รองลงมาแต่คิดว่าสำคัญคือแหล่งทุนสนใจเรื่องความดีแบบวัตถุวิสัยและสุขภาวะ เช่น ความดีที่เป็นวัตถุ คือนิ่ง สามัคคีคือพลัง อันนี้ต้องเท่ากับอันนั้นเท่านั้น การแบ่งปันคือเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เยาวชนสนใจเรื่องการรื้อสร้างมายาคติ เขาเริ่มตั้งคำถามว่า สามัคคีในแบบเดิมๆ คืออะไร
ย้อนกลับไปที่บอกว่า อยากลองทำวิจัยอีกชุดหนึ่ง วิจัยที่ยกสายตาเหล่านี้ออก และพยายามจะยกสายตาของวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมใหม่ที่ว่านี้คืออะไร
วริศเคยเล่าไว้ในรายการ Awesome ช่องไทยพีบีเอสที่เราทำว่า เราอาจเคยไปคอมเมนต์ญาติผู้ใหญ่ในเฟซบุ๊ก บอกว่า “คุณพ่อ เราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้นะ” แต่วัฒนธรรมแบบนี้มันใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง เช่น ถ้าเราไม่เห็นด้วย เราก็ต้อง “ขออนุญาตนะครับคุณพ่อ”
แต่เฟซบุ๊กที่เราอยู่และโตขึ้นมา มันไม่มีปุ่มกราบ ไม่มีปุ่มขออนุญาต เราคอมเมนต์ได้เลย บางทีเราอาจจะกดปุ่มโกรธ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีมารยาท แต่มันเป็นมารยาทใหม่ในยุคของเรา
มันคือยุคของพวกเราที่เติบโตมาในแพลทฟอร์มที่ไม่ต้องขออนุญาตก่อน เด็กคิดจะไปเข้าห้องน้ำ เขาก็ไปเข้าห้องน้ำ ถ้าเราใช้ความคิดชุดเดิม เราก็จะบอกว่านี่มันไม่มีมารยาท แต่เราลืมว่าจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ถูกต้อง’ หรือ ‘ไม่ถูกใจ’ บางทีมันเป็นเรื่องถูกต้องในยุคของเขา แต่ไม่ถูกใจเราเท่านั้นเอง
ถามแบบกวนตีน ‘การตั้งคำถาม’ เป็นวัฒนธรรมในคนยุคเราจริงๆ รึเปล่า เพราะคุณบอกว่ามันมีเยาวชนที่ conform หรือเป็นไปตามระบบอยู่
ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ที่นานาทำจะเห็นว่า คนเจเนเรชันก่อนหน้าผมนิดหน่อยเกิดมาพร้อมความอยากจะที่แตกต่าง แต่เป็นคน conform นั่นทำให้เรามี a day
เดี๋ยววว! (ทำมือเบรก)
คือถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ ยังไงมันก็ต้องสรุปแบบนั้น เรารู้สึกว่าอำนาจรัฐพึ่งไม่ได้แล้ว อยากจะอัลเทอร์เนทีฟ แต่อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ไปไฝว้กับอำนาจรัฐ ในขณะที่คนเจเนอเรชันวาย เราโตผ่านความขัดแย้ง ผมหรือคุณ (มองที่กองบรรณาธิการ) จะรู้สึกว่า การเมืองเหลืองแดง ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ เราเปิดคอมมาก็เจอ
นี่ก็เป็นประเด็นที่ทำให้สื่อออนไลน์ซึ่งใช้วิธีแบบการรื้อสร้างเติบโตได้ดิบได้ดีมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะเขาเริ่มตั้งคำถาม มีวิธีไปถึงเป้าหมายแบบรื้อสร้าง เช่น ประชาธิปไตยดีจริงรึเปล่า? สามัคคีดีจริงรึเปล่า? นี่ก็เป็นความสนใจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต่างจากแหล่งทุนมากๆ
ซึ่งจริงๆ เพื่อนๆ เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อย แม้แต่ สสส. เอง ก็รู้สึกว่าเราทำงานเด็กและเยาวชน แต่ไม่มีเด็กและเยาวชนเท่าไร คาดหวังว่าตรงนี้คงจะไปช่วยหล่อหลื่นอะไรบางอย่างในความสงสัยได้บ้าง
เคลื่อนงานมาสักพักแล้ว ค้นพบอะไรบ้าง พบการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้างไหม
ผมเคยรับทุนทำโครงการชวนเยาวชนคิดวิพากษ์และรู้เท่าทันสื่อ จนเราไปวิพากษ์สื่อของแหล่งทุน สุดท้ายเขาก็ติผมในห้องประชุม ผมว่านี่แย่มาก คุณทำงานเรื่องรู้เท่าทันสื่อ แต่ไม่ยอมให้ตรวจสอบสื่อ มันใช้ได้ที่ไหน แต่ทุกวันนี้แหล่งทุนดังกล่าวก็หันมาทำงานด้านประชาธิปไตยแล้ว ก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดี
ผมดีใจที่งานของ Newground นอกจากจะไปถึงคนรุ่นใหม่ตามแต่งบประมาณที่มีจำกัดแล้ว ก็ไปถึงกลุ่มคนทำงานด้านเยาวชนในแขนงต่างๆ ด้วยพอสมควร เห็นบางฟอรั่มนำงานของ Newground ทั้งส่วนที่เป็นบทความที่วริศเขียน ข้อเสนอ 11 ข้อของผม, งานต่างๆ ของนานา รวมถึงวิจัยชุดต่างๆ ไปอ้างอิง จนผู้ใหญ่บางคนเอ่ยปาก “ขอโทษ” ผมว่าเรามาไกลกว่าที่วางแผนไว้ในปีนี้หน่อยนะ
ปีหน้าเราคงงานที่สนับสนุนการมีอยู่ของเสียงคนรุ่นใหม่ต่อไป และอยากจะขยายผลของมันไปสู่มณฑลต่างๆ และแปลงเป็นกลไกบางอย่างให้เอาไปใช้ได้ ซึ่งก็ดีมาก ๆ เลย เพราะป้อมปืน เพื่อนผมที่ก่อตั้งนิวกราวมาด้วยกัน มีประสบการณ์ในงานแบบนี้
เป็นกลุ่มทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนที่ดุเดือดมาก ไม่สันติวิธีเลย วิธีการแบบนี้จะทำให้คนที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มที่ไม่ได้เชื่อเหมือนกัน หรือกระทั่งคนที่มีแนวร่วมแบบเดียวกับเรา แต่อาจจะไม่ได้ออกมาแอคชั่น ให้เขาเอาด้วยอย่างไร มีคำอธิบายต่อคำวิจารณ์นี้ไหม
ผมว่า เราสันติวิธีกันมากนะ เราทะเลาะ ดีเบท ขัดแย้ง วิจารณ์กันเองมาก แต่เราก็ยังทำงานด้วยกันได้ กับคนที่ไม่เห็นด้วย เรายิ่งควรต้องทำงานกับพวกเขา เรามีข้อมูลแบบนี้ เขาไม่เห็นด้วยก็ดีเบทกันได้ปกติ หรือเขาอยากให้เราอธิบายตรงไหนเพิ่มเติมก็ยินดี ผมจะบอกว่า ตั้งแต่ผลิตงานให้ Newground มาเกือบปี กลุ่มคนที่เข้ามาฟัง มาใช้ประโยชน์จากมันมากสุด คือ กลุ่มคนทำงานองค์กรแหล่งทุนเด็กและเยาวชนนี่แหละ
เราคิดว่าผู้ใหญ่ที่ทำงานเด็กเยาวชนเป็นสะพานที่สำคัญในการเชื่อมความเข้าใจวัฒนธรรมเยาวชนไปถึงผู้ใหญ่ด้วยกันเอง ทั้งในทางนโยบายและปฏิบัติ เรื่องนี้เราแยกใครออกไปไม่ได้ครับ
ถึงจะบอกว่าเป็นกลุ่มเด็กที่ไม่พอใจกับอะไรเลย แต่การทำงานทุกอย่างต้องมีธง ธงของกลุ่มคืออะไร เมื่อไรจะพอใจ อยากเห็นอะไรในเชิงรูปธรรม
หนึ่ง-เราอยากให้มีการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบกองทุนที่คนรุ่นใหม่มีอำนาจตัดสินใจและบริหารเอง สอง-เราอยากให้มีหน่วยงานวิจัยที่มองหาคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ และสาม-โดยส่วนตัว ผมอยากให้มีพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่จริงๆ เช่น จากที่เราทำโพล #บาย2017 เมื่อปลายปีก่อน หรือ 11 ข้อเสนอที่เรารวบรวมไว้ในเพจ Newground
ฝากอะไรทิ้งท้ายหน่อยค่ะ แต่ขอแบบโลกสวย อยากได้คำปลอบประโลมใจจากคำตอบสุดท้าย
ขอบคุณที่เลี้ยงเบียร์ผมครับ