No Impact Man ชายผู้ไม่รกโลก

no_impact_man_ver2

เรื่อง: ศุทธวีร์ ตันติวงศ์ชัย

 

 

หากวันใดวันหนึ่งเราทุกคนต้องอาศัยอยู่โดยปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมากมายอย่างในปัจจุบัน มนุษย์เราจะอยู่ได้หรือไม่ คำตอบที่คาดว่าจะออกมาจากปากคนส่วนใหญ่ในแทบจะทันทีคือคำว่า “ไม่ได้” แต่สำหรับ คอลิน บีแวน นักเขียน Non-fiction บล็อกเกอร์ และครูสอนธรรมะ เลือกที่จะท้าทายกับสิ่งเหล่านี้

แต่ใช่ว่าเขาจะทำโปรเจคต์นี้เดียวดาย บีแวนพ่วงภรรยาผู้จ่ายหนักชนิดที่เรียกได้ว่านี่แหละตัวแม่ผู้อยู่ในกระแสทุนนิยม นอกจากนั้น ยังชวนลูกสาววัยกระเตาะมาร่วมรักโลกอีกด้วย – จากโปรเจคต์ ‘ชายผู้ไม่รกโลก’ เปลี่ยนเป็น ‘ครอบครัวผู้ไม่รกโลก’ ทันที

 

No Impact Man Project

No Impact Man Project ในปี 2009 คือโปรเจคต์ที่ว่าด้วยการทำตัวให้ ‘ไม่รกโลก’ ตามแบบฉบับของคอลิน บีแวน โดยมีความคิดเก๋ๆ คือการอาศัยโดยทำร้ายโลกให้น้อยที่สุด แล้วไอ้การไม่ทำร้ายโลกตามแบบฉบับของคอลินเป็นอย่างไร?

คอลินบอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำให้เกิดโลกร้อนและหนึ่งในสาเหตุที่โลกร้อนก็เพราะการบริโภค เราบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีต้นทุนทำร้ายโลก มีการเลี้ยงดูที่ต้องพึ่งพาสารเคมี การขนส่งอาหารจากต่างถิ่น แต่ใช่ว่าจะหมายถึงเนื้อสัตว์อย่างเดียว ผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างนม ชีส รวมไปถึงพืชผักผลไม้ เมื่อรู้แบบนี้แล้วสิ่งที่เขาทำคือ…ไม่บริโภคสิ่งเหล่านั้นและเลือกบริโภคเฉพาะผลผลิตจากท้องถิ่น ที่กล่าวมาอาจไม่ค่อย ‘อิมแพ็ค’ สมชื่อเท่าไหร่ หากสิ่งที่เขาทำเกิดขึ้นที่อื่นที่ไม่ใช่มหานครนิวยอร์ก

นอกจากอาหารการกินแล้วยังมีอีกหลากหลายวิธีไม่ทำร้ายโลก เช่น เลิกซื้อเสื้อผ้าใหม่ ไม่ขึ้นลิฟต์แม้ห้องพักจะอยู่บนชั้น 9 ไม่เดินทางโดยรถยนต์และเครื่องบิน ยกเว้นรถไฟที่ใช้บ้างในบางครั้ง ไม่ใช้กระดาษชำระและผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้ง ลดปริมาณขยะ บริโภคอาหารมังสวิรัติที่เขาให้เหตุผลว่ามันหาได้ง่ายและเหลือเป็นขยะน้อย แปลงขยะเป็นปุ๋ยและดินเพื่อนำไปใช้ปลูกผัก ลดละเลิกการใช้สารเคมีจนถึงขั้นใช้สารธรรมชาติมาทำความสะอาด หักดิบอย่างบ้าคลั่งด้วยการไม่ใช้ไฟฟ้ากว่า 6 เดือน และอื่นๆ อีกมาก – ช่างเป็นโปรเจคต์ที่หักดิบความสะดวกสบายของมนุษย์ในยุคนี้โดยแท้

 

No-Impact-Man-1

 

ทดลองรักโลก

คนจำนวนมากต่างค่อนขอดกับโปรเจคต์ขวางโลกของคอลิน และปรามาสเขาต่างๆ นานาเพราะคงไม่มีคนสติดีที่ไหนคิดได้แบบนี้…คนสติไม่ดีที่รักโลกอย่างสุดหัวใจ

โปรเจคต์ของเขาคือการแสดงให้เห็นว่าการจะรักโลกเหมือนที่ใครๆ อยากรักนั้นทำได้ง่ายดายมากเพียงแค่เริ่มต้นที่ตนเองและยังเป็นการตั้งคำถามตบหน้ากลุ่มคนที่ปากก็บอกว่ารักโลกแต่กลับบริโภคกันแบบไม่มีลิมิต – ในเมื่อคนอื่นเอาแต่พูดและไม่มีใครเริ่ม เขาจึงเริ่มมันด้วยตัวเอง

ขยะเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลก และตัวการของขยะเหล่านั้นล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ การลดขยะของครอบครัวหนึ่งๆ ให้เหลือน้อยที่สุดหรือเปลี่ยนไปเป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติย่อมเป็นหนึ่งในวิธีดูแลโลกที่ทำได้ง่ายที่สุดอย่างหนึ่ง

อีกหนึ่งวิธีแสดงความรักต่อโลกในแบบคอลิน คือการงดใช้กระดาษชำระ แม้มันจะสามารถย่อยสลายได้ง่าย แต่ต้นทางมาจากการทำลายต้นไม้ที่คอลินรับไม่ได้เอาเสียเลย เพราะเขาถือว่าต้นไม้คือเครื่องมือดูแลโลกตามธรรมชาติ

ยังมีอีกหลากหลายวิธีรักโลกที่คอลินทดลองให้เห็นว่าทำได้จริง แต่การหักดิบเลิกใช้อย่างปัจจุบันทันด่วนอาจสร้างปัญหาใหม่ให้กับผู้คนในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีนี้แทน

 

รักโลกแบบพอดีๆ

การหักดิบของคอลินส่งผลเสียต่อตัวเขาและครอบครัวไม่น้อย อย่างอื่นอาจแก้ปัญหาได้ แต่การหักดิบไม่ใช้ไฟฟ้าก็อาจเป็นวิธีรักโลกที่เถรตรงเกินไป จนท้ายที่สุดแผนการหักดิบไม่ใช้ไฟฟ้าของเขาก็…เดินเข้าสู่ทางสายกลางที่ยั่งยืน

การไม่ใช้ไฟฟ้าคือการดูแลโลกอย่างหนึ่ง แต่สำหรับมนุษย์แล้วเมื่อขาดไฟฟ้าคือความลำบาก และการทำเช่นนี้ไม่ได้เป็น ‘การมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน’ ตามแบบฉบับของคอลิน ในที่สุดเขาและครอบครัวเลือกที่จะใช้ไฟฟ้าแต่เป็นไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขาพบว่าการตัดขาดหลายสิ่งหลายอย่างไปเลยอาจเป็นทางเลือกที่ไม่เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตนัก ทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคอลินคือการค่อยๆ ปรับตัวเขาและทางแก้เข้าหากัน

 

มีผลกระทบเล็กน้อยคงดีกว่า…

 

หากให้เลือกหนึ่งอย่างเพื่อไม่ให้เป็นการทำตัวเป็นภาระกับโลก ผมแนะนำให้เลือกที่จะเข้ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะนั่นจะทำให้คุณมีสังคมที่คอยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

– คอลิน บีแวน ได้กล่าวเอาไว้

 

ท้ายที่สุดโปรเจคต์ไม่รกโลกของคอลินคือการทำเพื่อตัวเองล้วนๆ แต่ไม่ได้หมายความในแง่ลบอย่างการสนองอีโก้เป็นที่ตั้ง แต่เป็นการทรมานความสุขส่วนตัวบ้างเพื่อหาหนทางไปสู่การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนบนโลกใบนี้

ที่โลกเป็นเช่นนี้เพราะคนเราสนใจแต่ตนเอง เราทิ้งขยะโดยไม่คำนึงว่าเมื่อขยะถูกทิ้งไปแล้ว ชุมชนที่เราอาศัยอยู่จะเป็นอย่างไร เราทิ้งสารเคมีลงในแหล่งน้ำ เราผลิตสารพิษออกมามากมาย ไอพิษที่เกิดจากการเผาไหม้จะส่งผลถึงบุตรหลานของเราหรือผู้อื่นในชุมชนอย่างไร

การกระทำสุดโต่งของคอลินและครอบครัวตลอด 1 ปี อาจต้องการบอกเราว่า การรักโลกไม่จำเป็นต้องมองในสเกลขนาดใหญ่เสมอไป เราอาจต้องหันกลับมาลงมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างจริงจังก่อนดีไหมเพื่อทำให้ตัวเราและชุมชนสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างยั่งยืน…ก่อนที่จะขยายขนาดเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า