Nightcrawler: ครูสอนว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ

maxresdefault
 เรื่อง: อารยา คงแป้น

 

โลกของ ลู

ลูอิส บลูม (เจค จิลเลนฮาล) มีบุคลิกชอบกล กล่าวคือ เขาดูลุกลี้ลุกลนและพูดรัวเร็วๆ ดวงตากลมบนใบหน้าผอมตอบก็ดูซับซ้อนด้วยความรู้สึก ทั้งรอยยิ้มยังชวนให้เสียวสันหลัง เขาทำงานเป็นช่างภาพอิสระที่คอยดักฟังวิทยุแจ้งเหตุอาชญากรรมและอุบัติเหตุของตำรวจ ทุกคืนเขานั่งฟังมันจนดึกดื่น และเมื่อวิทยุส่งเสียงว่ามีเหตุร้ายตรงจุดนั้น ถนนนี้ ‘ลู บลูม’ ก็เหยียบมิดไมล์ตามไปเก็บภาพด้วยกล้องวิดีโอ

ช่วงแรกๆ ของการทำงาน ลูไปถึงที่หมายช้าเสมอ เพราะบางครั้งตำรวจก็เคลียร์สถานที่ไปแล้ว หรือบางครั้งช่างภาพจากสำนักข่าวอื่นๆ ก็กดเก็บภาพความเสียหายเป็นฟุตเทจข่าวจนเสร็จเรียบร้อย เขาเจ็บใจทุกครั้ง สีหน้าและท่าทางเขาบอกแบบนั้น

หลังจากเห็นจุดบอดของตัวเอง ลู บลูม เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ๆ เขาประกาศรับสมัครผู้ช่วย โดยมอบหมายหน้าที่ในการขับรถให้ไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย และเป็นลูกมือช่วยถ่ายภาพเหตุการณ์วิกฤติเหล่านั้น หลังมีลูกมือ การงานของเขาก็เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น เขาสามารถถือฟุตเทจเข้าไปขายให้สำนักข่าวได้มากขึ้น ที่สำคัญเงินทองก็เข้าก็กระเป๋าของเขามากขึ้น แต่เข้ากระเป๋าลูกน้องเท่าเดิม – เจ้า ลู บลูม นี่ขี้งกใช้ได้เลย

เมื่อมีเงินมากขึ้น อุปกรณ์การทำงานต่างๆ ก็มีหน้าตาและประสิทธิภาพดีขึ้นไปด้วย จนเขาสามารถบันทึกภาพสำคัญๆ ไว้ได้หลายเหตุการณ์ ที่สำคัญ เขาเป็นคนเดียวที่เก็บภาพมาได้ ความหยิ่งผยองเข้าครอบงำ ลูกล่อลูกชนของเขากับสำนักข่าวก็แพรวพราวตามไปด้วย เป็นต้นว่า ถ้าไม่ให้ราคานี้ ฉันเอาไปขายให้เจ้าอื่นก็ได้ แล้วยังไงล่ะ สำนักข่าวก็ยอมจ่ายน่ะสิ

การเก็บฟุตเทจข่าวของ ลู บลูม ล้ำเส้นจรรยาบรรณสื่อไปเรื่อยๆ หรือพูดให้ถูกคือ เขาไม่เคยยึดถือขนบใดมาตั้งแต่ต้น เขาไปลากร่างคนถูกรถชนออกมาจากตัวรถ และจัดให้อยู่ในมุมที่เสนอภาพออกไปแล้วกระแทกใจคนดู โดยที่เขาไม่ได้หันหลังไปมองสักนิดว่าคนบาดเจ็บต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ถ่ายภาพเสร็จเขาก็ออกมาจากที่เกิดเหตุ และรีบเอาฟุตเทจไปขาย

ลูอิส บลูม และสถานีโทรทัศน์ทำงานเป็นคู่ค้ากัน คนหนึ่งบันทึก คนหนึ่งถ่ายทอด ทั้งสองเป็นผู้เผยแพร่ภาพโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมข้อใด เพราะสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังคือเม็ดเงินและเรตติ้งเท่านั้น ส่วนผู้เสียหายหรือญาติมิตรจะสะเทือนใจต่อการนำเสนอข่าวหรือไม่ พวกเขาไม่สน

ภาพข่าวเปื้อนกลิ่นคาวเลือดคือของล้ำค่า พวกคนดูข่าวก็ติดกับวังวนความรุนแรงของเนื้อหาและภาพข่าวไปโดยปริยาย

โลกของเรา

พวกเราเรียนนิเทศศาสตร์ ศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของข่าวสาร การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ เราเรียนวิชา Media Literacy หรือวิชาการรู้เท่าทันสื่อ ตอนอยู่ปี 2 มันเป็นวิชาเรียนรวม สอนโดยอาจารย์ที่ค่อนข้างเข้มงวดทั้งแนวทางการสอนหนังสือ และแนวทางการปลูกฝังให้เราไม่โง่เกินไปนักเวลาต้องออกเผชิญโลกจริงหลังเรียนจบ

แต่กว่าจะจบออกมามีงานการทำ วิชา Media Literacy ก็ทำให้เรารู้ว่าการรู้เท่าทันอะไรสักอย่างมันช่างยากเย็นเหลือเกิน ไม่เว้นแม้กระทั่งรู้เท่าทันความคิดตัวเอง

โจทย์หนึ่งของวิชานี้คือการทำงานกลุ่ม พวกเราแบ่งกันประมาณ 10 กลุ่ม กลุ่มละ 7-8 คน สมาชิกหนึ่งคนของกลุ่มต้องออกไปจับสลากว่าจะได้ทำหัวข้ออะไร (แน่ละ อาจารย์ไม่รอให้เราเสนอหัวข้อ เพราะเราเฉื่อยชาเกินกว่าจะทำเช่นนั้นได้)

ตามประสานักศึกษาสันหลังยาว พวกเราเผางานกันคืนสุดท้ายก่อนเส้นตายส่งงาน ระหว่างเอาเลือดกรุ๊ปต่างๆ ของคนในกลุ่มไปบริจาคให้ยุงที่คณะ แอคเคาท์เฟซบุ๊คปริศนาก็กดเพิ่มเพื่อนมาหาพวกเรา มันคงไม่น่าตื่นเต้น และเราคงไม่รีบกดรับคำขอเป็นเพื่อน หากแอคเคาท์นั้นไม่ตั้งชื่อประมาณว่า ‘เกลียดนิเทศ ปี 2’ พวกเรารีบกดรับอย่างฉับไว สวมวิญญาณนักเลงคีย์บอร์ดเข้าไปถล่มเฟซบุ๊คนั้นเสียยับเยิน เพื่อนบางคนถึงขนาดเอารูปตัวเหี้ยที่ถ่ายเก็บไว้สมัยไปเที่ยวอัมพวาไปแปะไว้หน้ากระดานข้อความ พร้อมกำชับว่า ‘อะ กูให้มึง’

จำไม่ได้ว่าความฉงนใจเกิดขึ้นตอนไหน แต่เพื่อนบางคนเริ่มสงสัยว่าเฟซบุ๊คประหลาดมันรู้เรื่องราวของพวกเรามากเกินไป รู้อย่างกับเป็นเพื่อนกัน – เป็นเพื่อนกัน ใช่…เจ้าของเฟซบุ๊คนั้นเป็นเพื่อนกับพวกเรา จากนั้นหยิบกุญแจมอเตอร์ไซค์ได้ก็รีบบิดตรงดิ่งไปที่บ้านเพื่อน ภาพตรงหน้ายิ่งทำให้เรามั่นใจ เพื่อนคนที่เราสงสัยว่าเป็นตัวการนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์สองตัว ตัวหนึ่งเปิดเฟซบุ๊คของมันเอง อีกตัวเปิดเซฟบุ๊คของ ‘เกลียดนิเทศ ปี 2’ มันขำหนักมากในความวู่วามและอาการคันมือของพวกเรา

บ่ายวันต่อมาในคาบเรียนวิชา Media Literacy พอถึงคิวเพื่อนพรีเซนต์งาน ภาพการระดมคำด่าของพวกเราถูกมันแคปเจอร์ไว้แล้วเอามาเสียบประจานบนจอมอนิเตอร์จอใหญ่หน้าห้องเรียน ทั้งขำทั้งขื่น ความใจร้อนเมื่อคืนเหือดหายกลายเป็นความเขินอาย พวกเราพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงต่อความโง่เง่าของตัวเอง แถมอาจารย์ยังตอกย้ำด้วยว่า เพราะพวกเธอเชื่ออะไรง่ายเกินไปไม่รู้จักกรองข่าวสารกันบ้างเลย

หาก ลูอิส บลูม ใช้ความดราม่าและคาวเลือดของภาพข่าวเป็นตัวดึงดูดคนดู เพื่อนของเราก็อาศัยความใจร้อนของพวกเราเป็นเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งมันได้ผลดีมาก แล้วเราไม่โกรธหรอกนะ ก็แค่เข็ดเท่านั้นเอง

 


 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ‘เรื่องเล็กในหนังใหญ่’
นิตยสาร WAY ฉบับที่ 88 / สิงหาคม 2558

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า