สำนักข่าว The Guardian ออกมาอ้างว่า แอพพลิเคชั่นแชร์วิดีโอเจ้าใหญ่สัญชาติจีนอย่าง TikTok ได้ทำการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เป็นประเด็นอ่อนไหวต่อพรรครัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 การต่อสู้เรียกร้องเอกราชของทิเบต และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มลัทธิฝ่าหลุนกง
The Guardian รายงานถึงคู่มือสำหรับผู้ดูแลระบบซึ่งมีการระบุว่า ให้แบนและเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรครัฐบาลจีน โดยการค้นพบของสำนักข่าวอังกฤษเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกงปะทุขึ้นและถูกเซ็นเซอร์จาก TikTok ด้วยเหตุผลความอ่อนไหวทางการเมือง
The Guardian เล่าต่อไปอีกว่า คู่มือสำหรับผู้ดูแลเนื้อหาที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในแอพฯ มีประเด็นกว้างมาก ทั้งการควบคุมเนื้อหาที่แสดงออกถึงความรุนแรง ซึ่ง TikTok มีสิทธิที่จะลบออกได้ รวมถึงนโยบาย ‘เห็นได้เฉพาะตัวเอง’ (visible to self) ทำให้บางเนื้อหาสามารถอัพขึ้นในแอพฯ ได้ แต่จำกัดการมองเห็น
นอกจากนี้ คู่มือฉบับที่ว่าได้ระบุให้ ‘จีน’ อยู่ในหมวดของ hate speech และศาสนา
โดยเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมนิยมของประเทศจีนจะถูกแบนเหมือนกับนโยบายที่บังคับใช้กับเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ประเทศอื่นๆ และการแบนนี้ครอบคลุมถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงในประเด็นท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ
ตัวอย่างของเนื้อหาที่อยู่ภายใต้การ ‘แบน’ เช่น กรณีของลัทธิฝ่าหลุนกง ที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมฝึกวิชาที่ทางการจีนมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงก็อยู่ในหมวดความรุนแรงอย่างชัดเจน การพูดถึงเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน การเรียกร้องเอกราชในทิเบต การเรียกร้องเอกราชของไต้หวัน อยู่ในหมวดความขัดแย้งทางศาสนา โดยประเด็นเหล่านี้หากมีการโพสต์ก็จะขึ้นโหมด ‘เห็นได้เฉพาะตัวเอง’ (visible to self)
แน่นอนว่า ทาง Bytedance บริษัทแม่ของ TikTok ได้ตอบโต้ The Guardian ว่า คู่มือที่ The Guardian นำมารายงานนั้นเป็นคู่มือฉบับเก่าซึ่งเลิกใช้ไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
“ในแอพฯ ของเรา พวกเราพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเนื้อหาที่สร้างความขัดแย้งบนแพลตฟอร์มของเรา และคู่มือของผู้ควบคุมระบบจะเป็นตัวอนุญาตให้นำเนื้อหาออกไปหรือยังคงเนื้อหาไว้ โดยพิจารณาจากประเด็นด้านความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์” บริษัทแม่ของ TikTok ให้ข้อมูลแก่ BBC
“ตอนนี้ TikTok กำลังเตรียมตัวทะยานเข้าสู่การแข่งขันครั้งใหม่ แน่นอนว่าการเข้าไปลบๆ แก้ๆ เนื้อหาที่คิดว่าจะสร้างความขัดแย้งนั้นไม่ถูกเสียทีเดียว ทางเราก็เลยเริ่มจากการสร้างทีมในระดับท้องถิ่น เพื่อดูแลเนื้อหาอย่างเหมาะสม ขณะที่บริษัทเติบโตไม่หยุด เราก็ต้องพยายามหาวิธีการเข้าถึงเนื้อหาในฐานรากด้วย
“คู่มือเดิมที่ถูกตั้งคำถามเราได้เลิกใช้ไปแล้ว ทุกวันนี้เราก็พยายามจะใช้การเข้าถึงเนื้อหาในระดับฐานรากที่ว่าผ่านผู้ดูแลในแต่ละท้องที่ เนื้อหาของแต่ละท้องที่ และนโยบายการควบคุมของแต่ละที่ รวมถึงนโยบายระดับโลกที่ค่อนข้างละเอียดด้วย เราได้ขอคำปรึกษาจากทีมให้คำปรึกษาภายนอกเข้ามาช่วยดูแลอีกทาง แต่ทางเราก็เข้าใจว่ามันอาจจะต้องการอีกหลายๆ อย่างเพื่อให้มีวิธีที่เหมาะสมที่สุด”
และก็ดูเหมือนว่า TikTok เตรียมตั้งคณะกรรมการอิสระขององค์กร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือและดูแลด้านนโยบายนี้โดยเฉพาะ
แอพพลิเคชั่น TikTok ถูกปล่อยออกมาครั้งแรกในจีนเมื่อปี 2016 ภายใต้ชื่อ โต้วอิน (Douyin) และเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 100 ล้านบัญชี และในปี 2017 โต้วอินถูกควบรวมกิจการจากแอพพลิเคชั่นผู้ให้บริการด้านวิดีโอและเพลง จนกลายเป็น TikTok ทำให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบัญชี
และในช่วงต้นปีนี้ TikTok มีบัญชีที่ใช้งานอยู่ระดับพันล้านบัญชี โดย 40 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ใช้งานนอกประเทศจีน โดยลักษณะเด่นของ TikTok คือ วิดีโอที่สร้างและโพสต์ในแอพฯ จะยาวไม่เกิน 15 วินาที สามารถตัดแต่งเอฟเฟ็คต์ได้ด้วยตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก: bbc.com |