เพราะผู้นำที่ดีไม่เคยแม้แต่เผยรอยยิ้ม ความสุภาพ/สำรวมจึงอยู่เหนือการหัวเราะ

การบอกว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นการประเมินเชิงคุณค่า (value judgement) ซึ่งจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ในสถานการณ์หนึ่งๆ การหัวเราะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ความสำรวมเป็นสิ่งพึงประสงค์ 

ภายใต้ชุดวิธีคิดที่บอกว่า ความสำรวมเป็นพฤติกรรมสูงส่ง และการหัวเราะเป็นความประพฤติเสื่อมเสีย ย่อมหมายความว่า พฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งสัมพันธ์กับสถาบันหนึ่งๆ และพฤติกรรมหนึ่งใด (โดยตัวมันเอง) สามารถเป็นได้ทั้งการบั่นทอนหรือส่งเสริมอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน ตามนัยนี้ การหัวเราะและความสำรวมจึงไม่ได้มีคุณหรือโทษในตัวเอง แต่คุณหรือโทษของมันขึ้นอยู่กับ ‘ผลลัพธ์’ ที่มีต่อสถาบัน การหัวเราะจึงไม่ได้เป็นพฤติกรรมเสื่อมเสียเสมอไป มันอาจเป็นเรื่องดีงามก็ได้ หากไปส่งเสริมอำนาจของสถาบัน และในทำนองเดียวกัน ความสำรวมก็อาจไม่ใช่พฤติกรรมสูงส่ง หากมันไปบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน กล่าวได้ว่า ความเหมาะสมของพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘เหตุ’ หรือตัวการกระทำ แต่เป็นเรื่องของ ‘ผล’ ของการกระทำที่กระทบต่อสถาบัน หรือผู้ที่อิงแอบอยู่กับสถาบัน

การหัวเราะจึงจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมันแสดงถึงการต่อต้านและไม่ยอมอยู่ภายใต้การควบคุมของโครงสร้างอำนาจ เมื่อการหัวเราะแสดงถึงการต่อต้านอำนาจ ความสำรวมจึงกลายเป็นจักรกลที่จะทำให้เกิดการนอบน้อมและอยู่ภายใต้อาณัติอย่างสดุดี

ปัญหาเรื่องความเจริญและความเสื่อมจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวพฤติกรรม แต่อยู่ที่ว่า พฤติกรรมนั้น เป็นการ ‘เชื่อฟัง/ส่งเสริมอำนาจ’ หรือ ‘ต่อต้าน/บั่นทอนอำนาจ’ 

It Only Hurts When I Laugh

ในแง่หนึ่ง การหัวเราะสะท้อนถึงสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจากตนเองหรือโครงสร้างอำนาจ (ทางการเมืองหรือศาสนา) ทั้งนี้ ปัญหาของการหัวเราะดูจะเป็นปัญหากับโครงสร้างอำนาจมากกว่าจะเป็นปัญหาต่อตนเอง เพราะมันเผยให้เห็นว่าอำนาจไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการกระทำ อำนาจจึงเกลียดกลัวการหัวเราะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการหัวเราะนั้นพุ่งเป้ามาที่ผู้มีอำนาจ เพราะการหัวเราะเป็นได้ทั้งการดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือลดทอน เกียรติยศและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันให้กลายเป็นเพียงเรื่องตลกขบขัน ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การหัวเราะ แต่อยู่ที่การสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจ

เมื่อการหัวเราะไปลดทอนอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ มันจึงแปรรูปเป็นพฤติกรรม ‘ชั้นต่ำ’ ไปโดยปริยาย ความเป็นชั้นต่ำในที่นี้ ก็เป็นการประเมินจาก ‘ชั้นสูง’ โดยภายในโครงสร้างที่มีลำดับต่ำสูงนี้ ย่อมประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า สารัตถะ (essence) ของ ‘ความเป็นของสูง/ชั้นสูง’ คือ การดำรงอยู่ของ ‘ความเป็นของต่ำ/ชั้นต่ำ’ เพราะหากขาดฐานต่ำรองรับ ยอดสูงก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้ จึงไม่แปลกที่คนชนชั้นสูง (ในที่นี้หมายรวมถึงชนชั้นกลางในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งเหนือจากชนชั้นล่างด้วย) มักจะทำ ‘ความดี’ ไม่ว่าจะเป็นการกุศล การทำจิตอาสา หรืออะไรก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อค้ำยันโครงสร้างต่ำสูงนี้ไว้ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่) เพราะหากโครงสร้างนี้พังทลายลง ความสูงของตนก็ย่อมพังทลายตามไปด้วย

ศีลธรรมในฐานะที่เกี่ยวกับเรื่อง ‘ความดี/ความชั่ว’ จึงเป็นไปในทำนองเดียวกับ ‘การหัวเราะ/ความสำรวม’ ที่ไม่ได้มีคุณค่าหรือความหมายในตัวมันเอง แต่เป็นคุณค่าที่ถูกกำหนดจากชนชั้นหนึ่งๆ ดังนั้น การบอกว่าอะไรดี อะไรชั่ว จึงขึ้นอยู่กับว่ามันส่งผลดีต่อสถาบันหรือโครงสร้างอำนาจหรือไม่ ตามนัยนี้ อะไรที่ดูเหมือนว่าเลวร้ายก็อาจเป็นความดีได้ หากมันเป็นไปเพื่อสถาบัน เช่น การใช้ความรุนแรงเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจ หรือการทำสงครามเพื่อปกป้องชาติจากภัยคุกคาม เป็นต้น ในแง่นี้ ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งค้ำประกันความดี โดยที่การกระทำความดีก็จะนำพา ‘ชาติ’ ไปสู่ความเจริญ

วัฒนธรรมแห่งรัฐประชาชาติ (ที่เพิ่งสร้าง)

แนวคิดที่ว่า เมื่อทำความดีก็จะนำไปสู่ความเจริญ หรือ ‘ทำดีได้ดี’ ปรากฏชัดเจนผ่านคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่เกิดจากคำว่า ‘วัฒน’ แปลว่า ความเจริญ งอกงาม กับคำว่า ‘ธรรม’ ที่แปลว่า การกระทำ ข้อปฏิบัติ หรือความดี ดังนั้น วัฒนธรรมตามความหมายนี้จึงหมายถึง การกระทำที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงาม (อีกคำหนึ่งที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันคือคำว่า ‘พฤฒิธรรม’ ซึ่งต่างก็แปลจากคำว่า ‘culture’ ในภาษาอังกฤษ โดยทั้งสองคำนี้ล้วนเป็นการบัญญัติศัพท์ผ่านฝีมือของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ พระองค์วรรณฯ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ก่อนหน้านี้ สังคมไทย/สยาม ไม่ว่าจะชนชั้นล่างหรือชนชั้นสูง ต่างก็ไม่รู้จักการมีวัฒนธรรม เพราะคำว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เพิ่งสร้าง) 

เมื่อวัฒนธรรมหมายถึง ‘การทำความดี’ (ที่นำไปสู่ความเจริญ) จึงหลีกเลี่ยงการประเมินเชิงคุณค่าไปไม่พ้น ดังนั้น การบอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นวัฒนธรรมจึงเป็นการประเมินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีไปในตัว นั่นนำมาสู่คำถามสำคัญว่า ใครเป็นผู้ประเมิน? ใครเป็นผู้กำหนดว่าอะไรเป็นวัฒนธรรม อะไรเป็นความดี? 

สำหรับยุคสมัยใหม่ (modernity) ที่รัฐได้เสริมความอมตะผ่านการผูกตนเองเข้ากับชาติ จนเกิดเป็น ‘รัฐประชาชาติ’ (nation-state) ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องใช้เกณฑ์ของรัฐเป็นมาตรฐาน รัฐจึงเป็นผู้กำหนดว่าสิ่งใดคือวัฒนธรรมอันดีงาม ทั้งนี้ แม้รัฐจะออกตัวเป็นภาพแทน (representation) ของชาติ แต่ตามกรอบคิดมาร์กซิสม์ (Marxism) รัฐก็เป็นเพียงเครื่องมือทางชนชั้น วัฒนธรรมในฐานะสิ่งที่ถูกกำกับโดยรัฐ จึงเป็นเพียงแค่วัฒนธรรมของชนชั้นปกครอง ซึ่งหากตีความวัฒนธรรมไทยผ่านอาคารรัฐสภา ในฐานะที่น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนศิลปวัฒนธรรมได้ดีที่สุด ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ถอดองค์ประกอบของ ‘ความเป็นไทย’ (ในที่นี้จะอนุโลมให้หมายรวมถึงวัฒนธรรมไทยด้วย) ไว้ 3 ประการ คือ 1) ต้องเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา 2) มีความเป็นชนชั้นสูง 3) สะท้อนถึงวัฒนธรรมของภาคกลาง เพราะฉะนั้น หาก ‘ศิลปินแห่งชาติ’ มีความประพฤติ ‘หมิ่นเหม่’ ต่อความเป็นไทยเหล่านี้ ก็ไม่สมควรได้รับการยกย่องชูเกียรติให้เป็นศิลปินตัวอย่างของชาติอีกต่อไป 

ในแง่นี้ วัฒนธรรมไทยจึงเป็นเรื่องของพุทธศาสนาและวิถีชีวิตของชนชั้นสูง (ในภาคกลาง) อะไรที่เป็นวิถีชีวิตของชนชั้นต่ำ จึงไม่ใช่วัฒนธรรมในสายตารัฐ แม้จะมีการปฏิบัติต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ การเสพกระท่อม หรือการสูบกัญชา

ความสำรวมและความสุภาพ ในฐานะเครื่องมือของพวกหลงตัวเอง

วัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องของการแสดงสถานะที่เหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไป การสูบกัญชาจึงไม่ใช่ความดี (ความงาม และความจริง) เพราะไม่ได้นำชนชั้นสูงไปสู่ความเจริญงอกงาม การหัวเราะจากฤทธิ์ของกัญชาเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเสเพล เกียจคร้าน และขาดวินัย (อย่างไรก็ดี ในแง่หนึ่งมันก็แสดงความเป็นพวกเขา/พวกเรา ในทำนอง มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน) อะไรเหล่านี้ต่างเป็นอุปสรรคต่อความเจริญของชนชั้นสูงและรัฐ ซ้ำร้ายยังขัดต่อศีลธรรมของศาสนา การหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง (ไม่ว่าจะมาจากการสูบกัญชาหรือไม่) จึงสะท้อนถึงชีวิตของชนชั้นล่าง อันเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูง หรือกระทั่งชนชั้นนักบวช ไม่พึงปฏิบัติตาม ดังนั้น ความสำรวม/ความสุภาพจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้บ่งบอกความเหนือกว่าทางชนชั้น ในทำนองเดียวกับ ‘สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล’ ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนค่านิยมของชนชั้นสูง คือ ‘การไม่ยิ้มเห็นฟัน’ ซึ่งปรากฏชัดผ่านศิลปะที่ครอบงำโดยชนชั้นสูงยุโรปในศตวรรษที่ 17 เพราะนั่นเป็นตัวบ่งบอกถึงพฤติกรรมของชนชั้นต่ำ

Portrait of Isabella Brant by Peter Paul Rubens

ทั้งนี้จารีตการวาดภาพยิ้มไม่เห็นฟัน ก็ถูกทำลายโดยพวกดัตช์ (Dutch) ที่เปลี่ยนมาวาดภาพวิถีชีวิตของคนธรรมดาๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้อุปถัมภ์ (patron) ศิลปะได้เปลี่ยนจากผู้มีอำนาจทางการเมือง อย่าง กษัตริย์หรือราชวงศ์ กลายเป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือ ‘ทุน’ 

ความสุภาพ ความสำรวม หรือมารยาททางสังคม ดูเป็นสิ่งที่มีไว้ใช้ต่อรองกับผู้อื่น มากกว่าจะเป็นการแสดงตัวตนภายใน อะไรเหล่านี้ปรากฏชัดเจนมากในวัฒนธรรมพ่อค้าที่ต้องกระทำตัวหรือพูดจาน่ารัก เพื่อโน้มน้าวให้อีกฝ่ายยอมรับข้อเสนอที่ตนต้องการ ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ การประชุมรัฐสภา (ซึ่งเป็นผลพวงของการเมืองแบบพ่อค้า/กระฎุมพี ที่เน้นการพูดคุยถกเถียงมากกว่าจะใช้กำลัง) ที่มักเริ่มต้นด้วยการ “กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ” เพื่อพูดหรือสื่อความไปยังคนที่ตนดูจะไม่ค่อยเคารพเท่าใดนัก

สำหรับ แบร์นาร์ด เดอ มองเดอวิลล์ (Bernard de Mandeville) ความสุภาพมีพื้นฐานอยู่บนความหยิ่งยโสที่ต้องการยกตนข่มท่าน และเป็นกลไกอำนาจที่ชนชั้นหนึ่งใช้ต่อชนชั้นอื่น มองเดอวิลล์เห็นว่า ในพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสุภาพมีหน้าที่สองด้าน คือ เป็นการตอบสนองความนิยมต่อตนเอง ในด้านหนึ่ง และแฝงไว้ด้วยความรู้สึกว่าตนเป็นบุคคลที่น่ายกย่องและควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ในอีกด้านหนึ่ง ในแง่นี้ การให้ความสำคัญกับความสุภาพจึงเป็นประเด็นของพวกหลงตัวเอง (narcissism) เท่านั้น

Bernard de Mandeville

ความสุภาพในฐานะที่ไปด้วยกันกับความสำรวม จึงเป็นกลไกทางชนชั้นที่ใช้แสดงความเหนือกว่า และปนเปื้อนกับแรงปรารถนาที่ต้องการให้ผู้อื่นต้องเอาตนเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งนี้ ความต้องการให้ชนชั้นอื่นเลียนแบบตนนั้น ก็คงจำกัดอยู่แค่ในระดับแรงปรารถนา ไม่ใช่ในระดับการปฏิบัติ เพราะหากชนชั้นอื่นเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นอย่างตนได้สำเร็จ ก็ย่อมทำให้ ‘ความพิเศษ’ หรือความเป็น ‘ข้อยกเว้น’ ของตนหายไป

ความพิเศษของชนชั้นนำเป็นสิ่งพึงปรารถนา แต่ไม่ใช่สิ่งพึงปฏิบัติ เพราะอย่างน้อยการปฏิบัติชีวิตแบบชนชั้นสูงก็ต้องอาศัยทุนจำนวนมาก ทุนกับชนชั้นสูง ทุนกับศักดินา จึงไปด้วยกันได้ การปรับตัวให้เข้ากับทุนของชนชั้นสูงก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในประวัติศาสตร์ เมื่อต้องการทุน หรือทำการค้าแบบกระฎุมพี ความสุภาพจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ 

ความสำรวม/ความสุภาพ จึงเป็นข้อยกเว้นที่ชนชั้นผู้พิเศษพึงมี เพราะมันแสดงถึงสิ่งที่ผู้ไร้วัฒนธรรมอย่างชนชั้นต่ำขาด นั่นคือ ความสามารถในการควบคุมตนเอง ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะผู้นำ เพราะเมื่อควบคุมตนเองได้ ก็ควบคุมคนอื่นได้ กล่าวให้ชัดขึ้นคือ เมื่อชนชั้นนำรู้จักที่จะปกครองตนเอง ก็ย่อมปกครองชนชั้นต่ำได้ นอกจากนั้น การปกครองจะยิ่งแข็งแรงขึ้นไปอีกเมื่อมีความชอบธรรม ที่แสดงผ่านการใช้เหตุผลและไม่ปล่อยตัวเองไปตามอารมณ์ (แบบชนชั้นต่ำ) การใช้อารมณ์ในการปกครองจึงอาจเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ไม่ใช่สิ่งพึงกระทำ ผู้นำที่ดีไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือศาสนา จึงไม่ควรแสดงอารมณ์ความรู้สึก ผู้นำที่ดีย่อมไม่เคยเผยรอยยิ้มและระเบิดเสียงหัวเราะ

อ้างอิง

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า