ถัดจากเรื่องสงคราม หลายคนอาจไม่รู้ว่าปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าปลูกมะกอกได้ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ เพราะน้ำมันมะกอกถือเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในครัวเรือน ถูกนำไปใช้กับตะเกียง นำไปใช้ในการปรุงอาหาร นำไปใช้ในการทำสบู่ และผสมกับยา
แต่จากความไม่สงบที่ลุกลามไปทั่วดินแดน สร้างอุปสรรคทั้งในการเพาะปลูกและขายน้ำมันมะกอกให้ชาวปาเลสไตน์ไม่น้อย โดยเฉพาะส่งออกไปขายยังต่างประเทศ แต่มีผู้ประกอบการต่างชาติรายหนึ่งที่ทำงานมาเป็นสิบปีเพื่อสร้างตลาดยั่งยืนให้แก่พวกเขา
นั่นคือ บริษัท Zaytoun ที่ก่อตั้งโดยคาธี พอว์สัน (Cathi Pawson) กับฮีเธอร์ มาซุด (Heather Masoud) ทั้งคู่เป็นชาวอังกฤษที่แนะนำให้ผู้บริโภคเมืองผู้ดีได้รู้จักน้ำมันมะกอกออแกนิกส์จากปาเลสไตน์ที่ผลิตและค้าขายภายใต้ระบบแฟร์เทรด (Fairtrade) เป็นครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน
Fair Trade คือความพยายามในการส่งเสริมการค้าแบบยุติธรรม โดยเน้นสินค้าและบริการจากประเทศโลกที่สามและโลกที่สองไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง จุดประสงค์หลักๆ คือเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศผู้ผลิตให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านการประกันราคาสินค้า รวมไปถึงการขจัดปัญหาผู้ผลิตรายย่อยถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
“ชาวอังกฤษสนใจและห่วงใยชาวปาเลสไตน์ แต่มันเป็นสถานการณ์ที่ลำบากพอสมควรหากใครสักคนจะเริ่มพูดเรื่องนี้ น้ำมันมะกอกจึงเป็นวิธีบอกเล่าเรื่องราวเกษตรกร ภูมิประเทศที่อยู่ และ ชีวิตของผู้คนในดินแดนนั้นได้ดีที่สุด”
คริสมาสต์ที่ผ่านมา ยอดขายของบริษัท Zaytoun ขึ้นอันดับ 10 เพราะผู้บริโภคให้ความสนใจและอยากอุดหนุนบริษัทที่สนับสนุนเกษตรกรปาเลสไตน์กว่า 2,000 คนมานานกว่า 10 ปี ผ่านเม็ดเงินกว่า 3.5 ล้านปอนด์ และปลูกต้นมะกอกขึ้นใหม่กว่า 8,000 ต้น
จากปาเลสไตน์สู่อังกฤษ
พอว์สันสนใจเรื่องราวของปาเลสไตน์มายาวนาน เธอจบปริญญาตรีด้านอิสลามและอารบิกศึกษาจากมหาวิทยาลัย Exeter และได้เดินทางไปที่นั่นในฐานะส่วนหนึ่งของการศึกษา จนเรียนจบเธอก็ไม่ได้มีโอกาสกลับไปที่นั่นอีกเลยจนปี 2004
“ฉันรู้ เมื่อได้กลับไปอีกครั้งตอนนั้น ฉันรู้สึกผูกพันอย่างมาก เมื่อเห็นผู้คนเดินผ่านไปมา ฉันต้องการช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ”
เมื่อเดินทางกลับมาอังกฤษ พอว์สันได้ทำงานเป็นผู้ประสานงานระดับภูมิภาคให้ แคโรลีน ลูคัส(Caroline Lucas) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ที่ต่อมาได้เป็นสมาชิกสภายุโรปและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ดูแลงานด้านความสัมพันธ์กับสภานิติบัญญัติของปาเลสไตน์ โดยตอนนันลูคัสและพอว์สันได้หารือกันเรื่องหาทางให้คนอังกฤษตระหนักในสถานการณ์ความไม่สงบของดินแดนปาเลสไตน์
ความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาของทั้งสอง คือหาช่องทางการขายน้ำมันมะกอกของเกษตรกรปาเลสไตน์ ให้ได้ในวงกว้างโดย พอว์สันเน้นจุดขายของน้ำมันมะกอกไปที่ คุณภาพในการผลิต
พอว์สันไม่ได้คิดแบบนี้คนเดียว ด้วยความโชคดี พอว์สันได้พบกับฮีเธอร์ มาซุด หลังจากนั้นสุภาพสตรี 2 คนนี้ก็ได้เดินทางไปปาเลสไตน์และคิดที่จะนำเข้าน้ำมันมะกอกจากปาเลสไตน์มาวางขายในอังกฤษ
“มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก” พอว์สันเผย “เรานั่งในร้านกาแฟและคุยกันและนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Zaytoun” ซึ่งต่อมาเป็นชื่อบริษัทที่ทั้งสองร่วมก่อตั้ง
ครั้งแรกของการไปเยือนปาเลสไตน์ พอว์สันได้พบกับเกษตรกรและไปเยี่ยมชมสวนมะกอก และชวนให้ทำสัญญากับ Zaytoun ที่ทำหน้าที่ประสานกับเกษตรกรและช่วยจัดระบบขนส่งข้ามประเทศ
จากนั้นทั้งคู่ก็อีเมล์ไปถึงเพื่อนๆ ครอบครัวและคนรู้จักพร้อมบอกเล่าไอเดียนี้ และได้รับอีเมล์ตอบกลับมาพร้อมยอดซื้อในระดับอบอุ่น
คริสมาสต์ครั้งแรกของ Zaytoun ยุ่งเหยิงและวุ่นวายมาก ทั้งพอว์สันและมาซุดไม่มีเงินและคนช่วยในการระดมทุนสำหรับจ่ายค่าผลิตภัณฑ์ (น้ำมันมะกอก) ล่วงหน้า
“ต่อจากนั้นเราก็เจอปัญหารนะบบโลจิสติกส์และการขนส่งที่ไปไม่ทันเวลาในช่วงคริสมาสต์” พอว์สันเล่า
โชคยังดี ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังอดทนรอจนสินค้าส่งถึงมือในที่สุด จากคุณภาพน้ำมันที่ยอดเยี่ยมทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่สั่งซื้อซ้ำ และเพื่อผลักให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไป พอว์สันและมาซุดยอมทำงานแบบไม่มีค่าตอบแทน และ เมื่อธุรกิจเริ่มต้นทั้ง 2 คนยังจัดหาทุนเอง โดยติดต่อกู้ธนาคาร 50,000 ปอนด์ หรือประมาณ 2,427,480 บาท
“ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพยอดเยี่ยมมากแต่เราจำเป็นต้องพัฒนาขั้นตอนการควบคุมคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ เรายังคิดอีกด้วยว่าแฟร์เทรด จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคชาวอังกฤษต้องการ และจะช่วยรับประกันว่าเรามีพื้นที่ขายบนเชลฟ์แน่ๆ” พอว์สันเล่าต่อ
จากนั้น Zaytoun จึงตัดสินใจเปลี่ยนซัพพลายเออร์ และ ผลักดันสินค้าให้เข้าไปอยู่ใน Canaan Fair Trade บริษัทที่รับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรหลายพันคนและเป็นหนึ่งในสมาชิก Palestine Fair Trade Association หรือ PFTA
ซึ่ง PETA สนับสนุนให้เกษตรกรได้รับประกาศนียบัตรและสามารถรับประกันคุณภาพได้ว่า ดีเพียงพอสำหรับความต้องการของตลาดส่งออก
เดือนมีนาคม ปี 2009 น้ำมันมะกอกออแกนิกส์แฟร์เทรดซึ่งผลิตโดยเกษตรกรชาวปาเลสไตน์ วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษ
บุกไร่มะกอก
สำหรับริซิค อาบู นาซเซอร์ เกษตรกรและคุณพ่อลูกสามที่อาศัยในตำบลซัลฟิท (Salfit) ในเขตเวสต์แบงค์ ปาเลสไตน์ บอกว่านี่เป็นโอกาสสร้างรายได้เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน
“กระบวนการทำให้น้ำมันมะกอกเข้าสู่ระบบแฟร์เทรดสอนให้ผมมองโลกในแง่ดี” นาซเซอร์บอกอีกว่า ในหมู่เกษตรกรปาเลสไตน์เผชิญปัญหาค่อนข้างซับซ้อน แต่แฟร์เทรด มีทางออกสำหรับทุกๆ ปัญหาของเกษตรกร
หลังจากน้ำมันมะกอกออแกนิกส์เพิ่งเปิดตัวไปไม่กี่เดือน ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ แต่โลกก็ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงกลางปี 2009 เกษตรกรชาวปาเลสไตน์ก็กังวลว่าจะขาย น้ำมันมะกอก 250 มิลลิลิตรราคา 6.95 ปอนด์หรือประมาณ 337 บาท ต่อไปได้อย่างไร เมื่อผู้คนขาดกำลังซื้อ หลังจากพวกเขาเคยเผชิญภาวะความเสียหายของไร่มะกอกมาแล้วในปี 2008
และสำหรับเกษตรกรในตลาดแฟร์ดเทรดกลับลอยตัวเหนือปัญหา เพราะโดยกลไกได้ตั้งราคาในระดับผลิตผลในระบบที่ทำให้เกษตรกรเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าผลิตผลจะย่ำแย่แค่ไหนหรือราคาในตลาดจะผันผวนอย่างไร
สิ่งที่พอว์สันและมาซุดทำตลอดมาคือ นำชาวอังกฤษเดินทางไปปาเลสไตน์ จุดหมายปลายทางคือไร่มะกอกและนำผู้คนจากปาเลสไตน์อย่างนาซเซอร์ ไปยังอังกฤษเพื่อไปร่วมงานมหกรรมแฟร์เทรด Fairtrade Fortnight ทุกปี เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้งและแลกเปลี่ยนช่วงเวลาอันมีค่าซึ่งกันและกัน
ถัดจากงานค้าขาย สิ่งที่บริษัท Zaytoun ทำคือการบอกว่า ทุกครั้งที่เปิดขวดน้ำมันมะกอก นอกจากคุณภาพ เรายังได้เรียนรู้ชีวิต บทเพลงต่างๆ ของชาวปาเลสไตน์
“การอุดหนุนผลิตภัณฑ์ก็เท่ากับช่วยเหลือให้พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงและทำให้ชาวปาเลสไตน์รู้สึกว่าไม่เป็นคนที่ถูกลืม” พอว์สันทิ้งท้าย
***********************************
(ที่มา : theguardian.com)