22 กุมภาพันธ์ 1943
โซฟี โชล เสียชีวิตวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 กิโยตินพรากชีวิตวัย 21 ของเธอจากร่างกาย คมมีดยังบั่นคอ ฮันส์ โชล พี่ชายของเธอ และ คริสตอฟ พรอบส์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้านนาซี
ตัวพวกเขาตาย แต่ความกล้าหาญคือร่องรอยที่พวกเขาทิ้งไว้
หลังการตายของสามนักศึกษาในนาม ขบวนการกุหลาบขาว (กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิค และนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบนาซี) ในค่ำวันเดียวกันนั้นกลุ่มนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิคนับพันคนร่วมกับพลเมืองชาวมิวนิคผู้คลั่งไคล้นาซีและศรัทธาท่านผู้นำ แถลงการณ์ประณามกลุ่มนักศึกษากุหลาบขาวว่าเป็น ‘คนทรยศ’
แต่..
“ลูกจะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์” คือคำพูดสุดท้ายที่ โรเบิร์ต โชล ผู้เป็นพ่อของ ฮันส์ และโซฟี โชล บอกกับสองนักโทษประหารชีวิตข้อหาแจกใบปลิวต่อต้านนาซี ซึ่งเป็นลูกของเขา
โรเบิร์ต โชล พูดถูก
เพราะในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์ได้กลับข้าง ลานจัตุรัสใกล้กับอาคารศูนย์กลางในมหาวิทยาลัยมิวนิคได้จารึกชื่อ ‘จัสตุรัสสองพี่น้องโชล’ การตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ เป็นชื่อบุคคลในขบวนการกุหลาบขาวมีใจความที่ การยืนหยัดต่อต้านความอยุติธรรม
เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า การกระทำของพวกเขาในปี 1943 และก่อนหน้านั้น – ชอบธรรม
โซฟี โชล และขบวนการกุหลาบขาวได้รับสถานะและความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ พวกเขากลายเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้กับความอยุติธรรมของสังคมและบริบทต่างๆ ทั่วโลก
แต่ในห้วงเวลานั้น ในปี 1943 โซฟี โชล และเพื่อนกุหลาบขาว เป็นเพียงส่วนน้อยที่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านนาซี ในตอนนั้นประวัติศาสตร์ยังมองไม่เห็นพื้นที่ว่างในการบรรจุเรื่องราวของพวกเขาภายใต้อำนาจเผด็จการนาซี
ความกล้าหาญที่จะยืนหยัดต่อต้านความไม่เป็นธรรม คือต้นทุนเดียวที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้มี แน่นอนกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ความกล้าหาญเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็น และประวัติศาสตร์ต้องปกปักรักษา
โรเบิร์ต โซล ผู้มีสายตากว้างไกล มองเห็นว่า คนบางคนไม่ต้องรอถึงวันพรุ่งนี้ ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกพวกเขาไปเรียบร้อยแล้ว
คนบางคนตายไปแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่
คนบางคนยังอยู่ แต่ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
19 พฤศจิกายน 2557
นักศึกษาชายห้าคน สวมเสื้อยืดสีดำ เสื้อดำแต่ละตัวสกรีนข้อความต่างกัน ดังนี้
เอา/ ไม่/ ประ/ หาร/ รัฐ
แต่เมื่อนักศึกษาทั้งห้าคน ยืนเรียงกันในตำแหน่งที่ถูกต้อง ข้อความบนเสื้อจะอ่านได้ว่า: ‘ไม่เอารัฐประหาร’
พวกเขาถูกจับกุมหลังจากลักลอบแต่งกายด้วยเสื้อยืดดังกล่าว เดินไปชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อต้านรัฐประหาร พวกเขากระทำการซึ่งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขณะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน บริเวณศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น
รายชื่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมในวันนั้น ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, วสันต์ เสตสิทธิ์, เจตษฤษติ์ นามโคตร, พายุ บุญโสภณ และ วิชชากร อนุชน
กลุ่มดาวดินแนะนำตัวต่อสังคมวงกว้างด้วยการกระทำครั้งนั้น พวกเขาเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเผยแพร่ และให้ความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมก่อนหน้านั้นหลายปี กลุ่มดาวดินดำเนินการในรูปแบบอาสาสมัครและสานต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2557 การกระทำในวันนั้นส่งผลให้พวกเขาถูกนำตัวไปปรับทัศนคติ ตามศัพท์ของรัฐบาล
ถือว่าเบา เมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในปีถัดๆ มา
บางทีไม่ใช่แค่พวกเขา แต่รวมถึงพวกเรา – สังคมไทย
18 กุมภาพันธ์ 1943
สี่วันก่อนถูกประหารชีวิต วันพฤหัสที่ 18 กุมภาพันธ์ 1943 เป็นวันที่ ฮันส์ และ โซฟี โชล ถูกจับกุมโดย เกสตาโป หลังจากลักลอบแจกจ่ายใบปลิวที่มีเนื้อหาต่อต้านระบอบนาซีภายในมหาวิทยาลัยมิวนิค ในช่วงเวลานั้นรัฐนาซีกำลังปกครองเยอรมนีด้วยแนวความคิดชาตินิยมสุดโต่ง ละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมือง รวมถึงพาเยอรมนีสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 รุกรานประเทศต่างๆ
บางส่วนของใบปลิว
ใบปลิวฉบับที่หนึ่ง ปี 1942
ทุกคนมีส่วนผิด: “นับตั้งแต่การเข้าพิชิตโปแลนด์ คนยิวในแผ่นดินนี้มากกว่าสามแสนคนถูกฆ่าล้างผลาญไปในสภาพเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน … แล้วก็อีกเช่นเคย ประชาชนเยอรมันต่างพากันนอนหลับนิ่งเฉย นอนอยู่อย่างทึ่มทื่อและโง่งั่ง ปล่อยให้บรรดาอาชญากรฟาสซิสต์เหล่านี้ มีโอกาสแสดงความมุทะลุดุดันออกอาละวาดอย่างบ้าคลั่ง … และพวกมันก็กำลังลงมือทำอยู่ตลอดเวลา … ทุกคนมีส่วนผิด … ผิด … ผิด … ผิด!”
ใบปลิวฉบับที่สี่ ปี 1942
ฮิตเลอร์คือปีศาจชั่ว: “ทุกถ้อยคำจากปากฮิตเลอร์คือความเท็จ เมื่อเขาบอกว่า สันติภาพ นั่นหมายถึงสงคราม และเมื่อใดที่เขาเอ่ยนามพระเจ้าอย่างขาดความเคารพ นั่นหมายถึงพลังแห่งปีศาจร้าย เทพตกสวรรค์ ซาตาน ปากของเขาคือปากปล่องเหม็นเน่าแห่งนรกโลกันตร์ และอำนาจของเขามาจากเบื้องลึกซึ่งได้ถูกสาปตรึงไว้ที่นั่น
“จริงอยู่ว่าเราจำต้องดิ้นรนต่อสู้กับรัฐก่อการชั่วร้ายของพรรคเนชันแนลโซเชียลิสต์ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างพร้อมสรรพ แต่ว่าใครก็ตามในวันนี้ที่ยังคงเคลือบแคลงสงสัยความเป็นจริง ความคงอยู่ของอำนาจปีศาจ ได้ล้มเหลวอย่างมากมายสุดกู่ ที่จะได้เข้าใจพื้นฐานเบื้องหลังเชิงอภิปรัชญาของสงครามครั้งนี้” –๐ “เราจะไม่เงียบเสียง เราคือมโนธรรมต่ำช้าของท่าน กุหลาบขาวจะไม่ยอมให้ท่านอยู่เป็นสุข!”
ใบปลิวฉบับที่ห้า ปี 1943
เสียงเรียกร้องต่อชาวเยอรมัน: “ชาวเยอรมันทั้งหลาย! ท่านและลูกหลานต้องการแบกรับความทุกข์สาหัสเช่นที่ได้กระทำลงต่อชาวยิวอย่างนั้นหรือ? ท่านต้องการถูกตัดสินพิพากษาด้วยมาตรฐานเดียวกันกับพวกคนที่ฉ้อฉลต่อท่านอย่างนั้นหรือ? …
“เราจะกลายเป็นประเทศซึ่งได้รับความเกลียดชังและถูกปฏิเสธโดยมวลมนุษยชาติทั้งหมดไปจนตลอดกาลหรือไร? ไม่มีทาง จงนำตนเองออกห่างจากแวดวงอาชญากรแห่งพรรคเนชันแนลโซเชียลิสต์ จงใช้การกระทำพิสูจน์ว่าท่านคิดแตกต่างไปอีกทางหนึ่ง …
“สงครามปลดแอกครั้งใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น”
ใบปลิวฉบับที่หก ปี 1943
ลุกขึ้นเถิด!: “ชื่อประเทศเยอรมนีจะต้องเสื่อมเกียรติไปชั่วกาลนาน ถ้าหากเยาวชนเยอรมันไม่ยืนหยัดลุกขึ้นมาในที่สุด จงเอาคืน จงสำนึกผิด จงทำลายผู้ทรมานทรกรรมประเทศ แล้วก่อตั้งยุโรปแบบใหม่ที่เปี่ยมจิตวิญญาณ”
ภายใต้ช่วงเวลา 1933-1943 ระบอบนาซีสร้างตัวขึ้นจากอำนาจไม่ชอบธรรม หลังจากขึ้นสู่อำนาจพวกเขาขจัดพรรคการเมืองคู่แข่ง ผู้คิดต่างจากรัฐ คนเชื้อชาติยิวและกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่างๆ สร้างมาตรการต่างๆ เช่น ค่ายกักกันพลเมืองที่กระด้างกระเดื่องต่อนาซี, การตรากฎหมายที่ไร้ความเป็นธรรมอย่างกฎหมายนูเรมเบิร์ก โดยจัดลำดับชั้นพลเมืองตามเชื้อชาติกำเนิด, โครงการที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการมีชีวิตอย่าง T4 หรือการสังหารชาวยิว
สองพี่น้องตระกูลโชลเติบโตมากับบรรยากาศสังคมแบบนี้ สังคมที่คนส่วนใหญ่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม คนที่กล้าลุกขึ้นมาส่งเสียงจะถูกกำจัดเพื่อข่มขู่ไม่ให้มีใครกล้าลุกขึ้นมาอีก พลเมืองเยอรมนีส่วนใหญ่ต่างมอบเสรีภาพและสามัญสำนึกแก่ระบอบนาซี พวกเขา ‘อยู่เป็น’ กับอำนาจที่ครอบงำสังคมเยอรมัน (และโลก) ขณะนั้น แต่ไม่ใช่กับฮันส์ โซฟี และผู้คนส่วนหนึ่ง
ครอบครัวโชลได้รับผลกระทบโดยตรงต่อความอยุติธรรมอย่างน้อยก็สองครั้ง ครั้งแรก ฮันส์ โชล พี่ชายที่ โซฟี โชล รักและนับถือ ถูกดำเนินคดีฐานรักร่วมเพศ ซึ่งถือเป็นโทษภายใต้ระบอบนาซี ครั้งที่สอง โรเบิร์ต โชล พ่อผู้มีแนวคิดประชาธิปไตยของโซฟี ถูกจับกุมฐานหลุดปากวิจารณ์ผู้นำให้เลขาฯฟัง และเธอก็แจ้งเกสตาโปจับเขา
หลังการแจกใบปลิวฉบับที่ 5 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทั้งสองถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนภายใต้รัฐนาซีที่เป็นไปในลักษณะรวบรัด ตัดตอน และปราศจากความยุติธรรม
เกสตาโปได้รับพยานหลักฐานว่า สองพี่น้องตระกูลโชลมีส่วนในการแจกใบปลิวต่อต้านรัฐนาซีสี่ฉบับก่อนหน้า และมีพยานบางคนซัดทอดไปยังสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มนักศึกษา ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ สองพี่น้องตระกูลโชลถูกนำตัวขึ้นศาลประชาชน (ศาลที่ระบอบนาซีตั้งขึ้นมาอย่างไร้ความชอบธรรม) และเป็นการพิจารณาคดีแบบลับ
ทั้งสามคน ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหา ‘ทรยศต่อชาติ ด้วยการสร้างองค์กรเพื่อลงมือกระทำทรยศช่วยเหลือ สนับสนุนข้าศึกยามสงคราม และทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพ’
ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ โซฟี โชล ตอบคำถามหัวหน้าชุดสืบสวนคดีนี้ที่ถามว่า “คุณคิดหรือไม่ว่าการกระทำของคุณเข้าข่าย ‘อาชญากรรมต่อผลประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม’ ”
โซฟีตอบ “จากจุดยืนของดิฉันไม่ใช่เช่นนั้นเลย…ดิฉันเชื่อว่าพวกเราทำสิ่งประเสริฐสุดให้แก่ประเทศชาติ ดิฉันไม่เสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป ดิฉันยินดีรับผลพวงอันเนื่องจากการกระทำของตนเอง”
17 กุมภาพันธ์ 1943
นอกจากเหตุการณ์การสอบสวนคดีของเกสตาโป ไพรัช แสนสวัสดิ์ ผู้ค้นคว้าและเขียนหนังสือเล่มนี้ พยายามจะฉายภาพในส่วนที่เป็นบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ รสนิยมทางการอ่านและศิลปะ ที่เราอาจจะนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับภาพของเด็กสาวที่ชาญฉลาด สงบนิ่ง พูดจาฉะฉาน กล้าหาญ และรักความเป็นธรรม ได้อย่างรอบคอบต่อความน่าเคลือบแคลงต่อความทะเยอทะยานในการเขียนประวัติวีรชนโดยทั่วไป
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เธอเติบโตมาในครอบครัวที่มีบิดามีหัวคิดไปทางเสรีนิยมและมารดาผู้ศรัทธาพระเจ้า
โซฟี โชล เป็นนักอ่านทั้งวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา เธอชอบฟังเพลงและเป็นนักดนตรีมือสมัครเล่น
ความอยุติธรรมของสังคมเยอรมันในช่วงนั้น คือครูที่คอยหล่อหลอมความคิดโซฟี ในวัยเด็กโซฟีโต้แย้งครูเมื่อพี่สาวของเธอถูกลดเกรดในวิชาเรียนหนึ่ง และนี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่เธอลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจ
เหตุการณ์หนึ่งที่ครูในโรงเรียนที่เธอเรียนถูกไล่ออก โซฟีลุกขึ้นมาวิจารณ์ “เขาไม่ได้ทำผิดอย่างใดแม้สักนิด เพียงเพราะเขาไม่ได้เป็นนาซีเท่านั้น ทำไมต้องถือว่านั่นเป็นอาชญากรรมด้วย”
ฮันส์ โชล พี่ชายของเธอถือเป็นเบ้าหลอมความคิดของเธอด้วย ดังในบทความชิ้นหนึ่งที่ ฮันส์ เขียนเพื่อต่อต้านโครงการ T4 หรือที่นาซีเรียกว่า การุณยฆาต แต่โดยข้อเท็จจริงก็คือการสังหารใครก็ตามที่เป็นชาวยิว
ฮันส์ตั้งคำถามกับเพื่อนร่วมสังคม “เมื่อทุกสิ่งจบสิ้นลง พวกเราจะถูกตั้งคำถามว่า เราได้ลงมือทำสิ่งใดบ้าง แล้วเราก็จะไม่มีคำตอบ”
หลังจาก โรเบิร์ต โชล พ่อของเธอถูกจำคุกฐานหมิ่นหยามท่านผู้นำเป็นเวลาสี่เดือน โซฟี โชล ตระหนักว่าโทษที่บิดาได้รับในคดีหมิ่นนี้ เป็น “พิษร้ายแห่งความอยุติธรรมในสังคมเยอรมันภายใต้อำนาจครอบงำของเผด็จการนาซี” (หน้า 193)
ค่ำคืนหนึ่ง โซฟีพาตัวเองมายืนสงบนิ่งหน้ากำแพงเรือนจำ เป่าฟลุตที่เตรียมมา บรรเลงเพลง Die Gedanken sind frei หรือ ความคิดเป็นอิสระ
โดยหวังว่า เสียงเพลงจะลอยข้ามกำแพงเรือนจำสู่โสตประสาทพ่อของเธอ
ความคิดนี้เสรี ความคิดฉันผลิบานโดยอิสระ
ความคิดนี้เสรี ความคิดฉันก่อเกิดพลัง
ผู้รู้มิอาจกำหนด ผู้ล่ามิอาจดักจับ
ไม่มีใครปฏิเสธได้: ความคิดนี้เสรี
ฉันคิดเช่นที่ต้องการ สิ่งนี้ก่อสุขสันต์
มโนธรรมกำหนด ฉันต้องให้คุณค่าต่อสิทธินี้
ความคิดฉันไม่สนองต่อเจ้านายหรือผู้เผด็จการ
ไม่มีใครปฏิเสธได้: ความคิดนี้เสรี
ถ้าทรราชจับฉันโยนเข้าคุก
ความคิดฉันจะยิ่งเบ่งกระจายเสรีเช่นพฤกษาฤดูผลิบาน
รากฐานจะพังภินท์ โครงสร้างจะล้มสลาย
เสรีชนจะตะโกนก้อง: ความคิดนี้เสรี
เนื้อเพลง Die Gedanken sind frei ฉบับแปลไทย
หนึ่งวันก่อนที่เธอและพี่ชายจะถูกจับ หนึ่งวันก่อนที่เธอจะออกไปทำภารกิจลับ วางใบปลิวต่อต้านระบบนาซีที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เธอเล่นแผ่นเสียง chamber music ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชิ้น ในบทเพลง Trout Quintest ประพันธ์โดย ฟรานซ์ ชูเบิร์ต ในจดหมายที่เธอเขียนถึงเพื่อน ระบุว่า
“ฉันเพิ่งเล่นแผ่นเสียง Trout Quintet จบลง … ท่อน andantino ของเพลงนี้ช่างทำให้ฉันอยากเป็นปลาเทราต์เสียเอง มันชวนให้ฉันแทบจะออกเผ่นโผ โลดเต้น ดีใจ หัวเราะ ไม่ว่าขณะอยู่ในอารมณ์แบบไหน … เมื่อมองเห็นมวลเมฆบนท้องฟ้า กิ่งไม้ใบไม้แกว่งไกวโอนเอน ท่ามกลางแสงสีแจ่มใส ฉันตั้งหน้ารอคอยให้ฤดูใบไม้ผลิกลับมาถึงอีกครั้ง … เพลงของชูเบิร์ตชิ้นนี้ย่อมดลบันดาลให้เรารู้สึกถึงมนตร์เสน่ห์ชัดเจน สามารถสัมผัสกลิ่นอายของสายลมพลิ้ว ได้ยินนกนานาชนิดส่งเสียงเพลงเจื้อยแจ้ว ขณะสรรพสิ่งทั้งหลายกู่ก้องร้องตะโกนอย่างสุขหรรษา”
รุ่งเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โซฟี โชล โดนจับ ก่อนจะถูกประหารชีวิตในวันที่ 22 กุมภาพันธ์
Trout Quintet จึงเป็นเพลงสุดท้ายที่เธอได้ฟัง
18 กุมภาพันธ์ 2560
18 กุมภาพันธ์ 2560 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ยังคงอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น ภายหลังจากเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซีไทยบนเฟซบุ๊คของตัวเองตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2559 จตุภัทร์ได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท ก่อนถูกศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งเพิกถอนประกัน ด้วยเหตุผลว่าจตุภัทร์โพสเฟซบุ๊คเย้ยหยันอำนาจรัฐ
จตุภัทร์ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แม้จะยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาต และทุกครั้งที่ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ศาลจะสั่งไต่สวนเรื่องการฝากขังเป็นการลับ
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลได้รับฟ้องคดีของจตุภัทร์ แต่มีการเรียกร้องให้การพิจารณาคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีแบบเปิดเผย
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายผู้ดูแลคดี เปิดเผยภายหลังที่ได้ออกมาจากห้องพิจารณาคดีกับสำนักข่าวมติชนว่า “เรายืนยันว่าคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนสมควรจะรู้ เพราะถ้อยคำที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นถ้อยคำที่หมิ่นสถาบัน แล้วถ้อยคำที่เขียนอยู่นี้มันไม่เป็นความจริง ประชาชนจะได้รู้ว่าจริงๆ ที่กล่าวมานี้มันไม่สมเหตุสมผล เราจะขอให้ศาลเปิดการพิจารณาคดีแบบเปิดเผยก็ต้องรอดูว่าศาลท่านจะรับเรื่องหรือไม่”
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นนักศึกษานิติศาสตร์ เขายังไม่ได้สอบในวิชาสุดท้าย แต่กระบวนการยุติธรรมที่เขาเผชิญด้วยตนเอง น่าจะเป็นข้อสอบที่ทรงคุณค่ากว่าการสอบตามหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ถ้า โซฟี โชล ยังมีชีวิต เธออาจจะเดินทางไปยังเรือนจำจังหวัดขอนแก่น เป่าฟลุตเพลง Die Gedanken sind frei ให้จตุภัทร์และคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกับเขาฟัง
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โซฟี โชล ตายแล้ว แต่เราสามารถส่งเพลงให้จตุภัทร์ และผู้ประสบชะตากรรมเดียวกับเขาได้
เพลงนั้นควรเป็นเพลงอะไร
การอ่านหนังสือ ‘โซฟี โชล: กุหลาบขาว และนาซี’ ของ ไพรัช แสนสวัสดิ์ ในช่วงเวลานี้ จึงมีความสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง
กรณีของโซฟี โชล และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตั้งคำถามกับเราว่า 18 กุมภาพันธ์ และถัดจากนี้ เราจะอยู่อย่างไรภายใต้สังคมอยุติธรรม
อ่านเพิ่มเติม:
พริ้ม บุญภัทรรักษา: จากครอบครัวนักปกป้องสิทธิ์ชาวบ้านสู่มารดาของผู้ต้องหา