On this day: ครบรอบ 2 ปี เหตุกราดยิงโคราช กองทัพยังไม่แสดงความรับผิดชอบ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์สังหารหมู่โดยบุคลากรกองทัพบกที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2563 หรือนับเป็นระยะเวลาครบรอบ 2 ปีที่ไม่มีการออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือการปฏิรูปภายในค่ายทหารให้มีความปลอดภัยมากขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ทหารชั้นผู้น้อยยศจ่าสิบเอกรายหนึ่งมีปัญหาขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาเรื่องการซื้อบ้านพักในโครงการสวัสดิการทหารที่ตำบลโคกกรวด มูลค่ากว่า 1,500,000 บาท ต่อมามีปัญหาเรื่องการส่งคืนเงินค่าส่วนต่างจำนวนกว่า 500,000 บาท จากการตกแต่งบ้านที่ นางอนงค์ มิตรจันทร์ ผู้จัดการเอกสาร กลับส่งเงินก้อนนี้ไปให้นายหน้าไม่ใช่จ่าสิบเอก จนทำให้เกิดปากเสียงกัน กรณีข้อขัดแย้งดังกล่าวมีความเป็นไปได้ถึงความไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้บังคับบัญชาที่จัดการเรื่องนี้อย่าง พันเอกอนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ มีความสัมพันธ์กับนางอนงค์ในฐานะลูกเขยกับแม่ยาย

ผลจากการมีปากเสียงกันในครั้งนั้น ทำให้จ่าสิบเอกตัดสินใจยิงพันเอกอนันต์ฐโรจน์และนางอนงค์จนถึงแก่ความตาย ก่อนที่จ่าสิบเอกจะบุกเข้าชิงอาวุธสงครามจากคลังอาวุธ กองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล การบุกครั้งนี้ส่งผลให้มีพลทหารบาดเจ็บอีก 1 นาย และเสียชีวิตอีก 1 นาย

จากนั้นจ่าสิบเอกผู้นี้จึงออกเดินทางไปยังวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล เพื่อหมายจะฆาตกรรมภรรยาของพันเอกอนันต์ฐโรจน์ที่กำลังออกไปทำบุญ และระหว่างทางก็ทำการกราดยิงผู้คนโดยรอบจนมีผู้เสียชีวิตอีก 9 ศพ ต่อมาจึงบุกไปยังห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช และทำการกราดยิงผู้คนต่อเนื่องตลอดทาง เนื่องด้วยทักษะการยิงปืนระยะไกลที่แม่นยำ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบุกเข้าไปควบคุมสถานการณ์ได้ยากลำบาก ก่อนที่จะถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ และปิดคดีสังหารหมู่ที่สะเทือนขวัญที่สุดคดีหนึ่งของประเทศไทยไว้ที่จำนวนผู้เสียชีวิตถึง 31 ศพ (รวมคนร้าย)

จากกรณีดังกล่าว กลายเป็นที่ครหาในสังคมเป็นอย่างมากถึงความล่าช้าในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล ความไม่ชอบมาพากลของโครงการภายในกองทัพที่กลายเป็นมูลเหตุของการสังหารหมู่แบบไม่เลือกหน้า ความหละหลวมของกองทัพในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการแสดงความรับผิดชอบของกองทัพบกต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 มีเพียงการออกมาแถลงของ ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ เท่านั้น แต่กลับยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงวาทกรรมเหวี่ยงงูให้พ้นคอ ดังคำกล่าวตอนหนึ่งว่า ณ วินาทีที่ผู้ก่อเหตุได้ลั่นไกสังหารคู่กรณี ณ วันนั้น ณ นาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว 

การหลั่งน้ำตาของ พลเอกอภิรัชต์ แต่กลับไม่แสดงท่าทีรับผิดชอบด้วยการลาออก ณ ขณะนั้น คำอธิบายเดียวของผู้บัญชาการทหารบกมีเพียง

“อะไรที่สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำ ผมรับผิดชอบ แต่ผมไม่สามารถที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดจากเหตุการณ์ส่วนตัว กระทำผิดกฎหมายอาชญากรรม”

ปัจจุบันนอกจากกองทัพจะช่วยจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว แต่คำมั่นสัญญาที่จะเกิดการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ก็ยังมิได้เกิดขึ้น และกินเวลายาวนานถึง 2 ปีที่สังคมยังไม่สามารถไว้ใจถึงความโปร่งใสภายในกองทัพ ความปลอดภัย ไปจนถึงความพร้อมจะ ‘รับผิด’ ให้มากกว่า ‘รับชอบ’ ของกองทัพไทย

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า