3 มีนาคม 2544 เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ของการบินไทย เที่ยวบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระเบิดขึ้นในเวลาเพียงไม่นานก่อนที่ พลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กำลังจะโดยสารเครื่องบินลำนี้เพื่อเดินทางกลับบ้านเกิดที่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเครื่องบินลำดังกล่าวเสียหายทั้งลำ และมีผู้เสียชีวิต 1 คน
ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ รอง ผบ.ตร. ในเวลานั้น ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าว จนในอีก 2 วันต่อมา พล.ต.อ.สันต์ ได้ยืนยันเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็นการวางระเบิดอย่างแน่นอน โดยคาดว่าเป็นระเบิดชนิดซีโฟร์ เนื่องจากพบสาร RDX ที่เป็นส่วนประกอบของระเบิดชนิดนี้บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นจำนวนมาก
ทางสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้น ก็ได้ตั้งคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณเหตุการณ์ดังกล่าวควบคู่ไปด้วย นำโดย พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส. อ่างทอง พรรคชาติไทย เป็นประธาน กมธ. ซึ่งในเวลาต่อมาได้สรุปว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะเป็นอุบัติเหตุ
ในมุมมองของหลายฝ่าย เหตุการณ์เครื่องบินระเบิดเป็นเพียงการสร้างกระแส เพื่อกลบข่าวกรณีซุกหุ้น บางฝ่ายก็มองว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีเจตนาเพื่อสังหารตน โดยระบุว่า “เป็นการปองร้าย ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่ทราบว่าปองร้ายใคร ส่วนคนที่ทำนั้นสิ้นคิด ไม่ต้องทำกับนายกรัฐมนตรี ทำกับใคร ประเทศชาติก็เสียหาย”
อีกแง่หนึ่งมีการวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความพยายามครั้งแรกของการพยายามลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากทั้งหมด 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 เป็นความพยายามลอบสังหารตลอดช่วงการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดในช่วงปี 2546 ซึ่งมีการปล่อยข่าว ‘กลุ่มว้าแดง’ ตั้งค่าหัวนายกรัฐมนตรีไว้ที่ 80 ล้านบาท ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเวลานั้นต้องใช้รถตู้หุ้มเกราะเพื่อความปลอดภัย ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2549 คือเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า ‘คาร์บอมบ์-คาร์บ๊อง’ โดยเจ้าหน้าที่ตรวจพบรถยนต์บรรทุกระเบิดจอดอยู่บริเวณใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเดินทางผ่าน และเหตุการณ์สุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศ ในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่นานก็รีบเดินทางออกนอกประเทศและไม่กลับมาอีกเลย เพราะเชื่อว่ามีความพยายามลอบสังหารด้วยพลแม่นปืน
ทั้งหมดนี้ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าลอบสังหารมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มากกว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถูกลอบสังหารถึง 3 ครั้งเสียอีก
อ้างอิง
4เหตุการณ์ลอบสังหาร “ทักษิณ ชินวัตร” เจ้าตัวรู้ใครสั่งฆ่า แต่ไม่กล้าพูด