ย้อนอ่าน ‘ตุลาการภิวัตน์’ ประชาธิปัตย์รอดทุกข้อกล่าวหา ครบรอบ 15 ปี คดียุบพรรคไทยรักไทย

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ด้วยมติเอกฉันท์ ๙ ต่อ ๐ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ทั้ง ๓ พรรค รวม ๑๑๑ คน เป็นเวลา ๕ ปี ด้วยมติ ๖ ต่อ ๓ เสียง

การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคยังมีผลให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในระยะเวลาดังกล่าวไม่ได้ จุดกำเนิดของ ‘บ้านเลขที่ ๑๑๑’ เป็นผลพวงมาจากบรรยากาศทางการเมืองในช่วงปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ ซึ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นและดุเดือด พรรคไทยรักไทย (ทรท.) ซึ่งเป็นรัฐบาลขณะนั้น เคยชนะการเลือกตั้งมาแล้วในปี ๒๕๔๔ โดยได้คะแนนอันดับหนึ่ง ส่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ ๔ ปี ครั้นเมื่อลงเลือกตั้งอีกครั้งในปี ๒๕๔๘ ก็ได้รับชัยชนะถล่มทลาย เป็นรัฐบาลพรรคเดียว มีที่นั่งในสภามากถึง ๓๗๗ จาก ๕๐๐ ที่นั่ง 

อย่างไรก็ตาม เกิดกระแสต่อต้านที่มองว่ารัฐบาลทักษิณมีอำนาจมากเกินไป จนอาจเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ โดยเฉพาะจากฝ่ายค้าน ซึ่งใช้คำว่า ‘สภาผัวเมีย’ มาโจมตีว่า สมาชิกวุฒิสภามีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองอย่างแนบแน่น และองค์กรอิสระทั้งหลายก็ถูกกล่าวหาว่าถูกทักษิณซื้อไว้หมดแล้ว พร้อมกันนั้นยังมีการชุมนุมประท้วงนอกสภากดดัน กระทั่งรัฐบาลต้องยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙

แต่การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนั้นกลับถูกพรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน คว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งชนิดที่เรียกว่า ‘แลนด์สไลด์’ ได้คะแนนกว่า ๑๖ ล้านเสียง 

แต่ในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง ๒ เมษายน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น ทว่ายังไม่ทันได้เลือกตั้ง ก็เกิดการรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เสียก่อน

หลังรัฐประหาร คปค. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าต้องลงจากตำแหน่งด้วย คปค. จึงแต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ จำนวน ๙ คน อาทิ จรัญ ภักดีธนากุล ขณะเดียวกันได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ กำหนดให้ พ.ร.บ. พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป หมายความว่าในกรณีที่มีการยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน ๕ ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค

มหากาพย์ฟ้องร้องยุบพรรคการเมืองเริ่มขึ้นเมื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าพรรคไทยรักไทยโกงการเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ โดยจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย ในคำร้องระบุว่า พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับพรรคไทยรักไทย เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ร้อยละ ๒๐ ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง และปลอมแปลงประวัติของผู้สมัครพรรคเล็กเหล่านั้นซึ่งยังเป็นสมาชิกไม่ครบ ๙๐ วัน ให้ถึงกำหนด ๙๐ วัน 

ในขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกฟ้องร้องกลับเช่นกัน ใน ๔ ข้อกล่าวหา ได้แก่ ๑) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยใส่ร้ายที่ท้องสนามหลวงด้วยข้อความเท็จว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ทำลายประชาธิปไตย แทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมโหฬาร 

๒) นายทักษะนัย กี่สุ้น ผู้ช่วยนายสาทิตย์ วงหนองเตย กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นำคนสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แล้วไปลงสมัคร ส.ส. ที่จังหวัดตรัง โดยใช้เอกสารเท็จว่าเป็นสมาชิกครบ ๙๐ วัน แล้วใส่ร้ายว่ากรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเป็นผู้จ้างวานให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 

๓) นายไทกร พลสุวรรณ ตัวแทนนายสุเทพว่าจ้างให้ นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่า แถลงข่าวใส่ร้าย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างสมาชิกพรรคชีวิตที่ดีกว่าลงสมัครรับเลือกตั้ง 

และ ๔) สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันขัดขวางการสมัคร ส.ส. ที่จังหวัดสงขลา

เมื่อ กกต. เห็นว่ามีมูลความผิดตามมาตรา ๖๖ ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑* จึงส่งสำนวนต่อ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

อนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระราชดำรัสแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล ว่า ขอให้ศาลซึ่งยังมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรู้เพราะได้ร่ำเรียนกฎหมายมา พิจารณาคดีอย่างรอบคอบ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้

และในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ยังได้รับสั่งกับ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมคณะตุลาการศาลปกครองและข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง จำนวน ๒๐ คน ในพิธีถวายเสื้อครุยตุลาการศาลปกครองว่า ขอให้ผู้พิพากษาตีความให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองก็พัง “ฉะนั้น ท่านมีความรับผิดชอบที่จะทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม หรือตักเตือนประชาชนที่มีความรู้ให้มีความรู้มากขึ้น และแม้แต่ประชาชนที่ไม่มีความรู้ให้เกิดความรู้ขึ้นมาว่าบ้านเมืองควรจะไปทางไหน ท่านทำได้ ท่านพูดได้ ท่านคิดได้ เพราะท่านมีความรู้ เพราะฉะนั้นขอร้องให้ท่านพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่อไป เพราะว่าสถานการณ์ปีนี้ไม่ดีเลย”

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ส่วนพรรคที่เหลือมีความผิดจริง จนถูกตัดสินให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค โดย ‘บ้านเลขที่ ๑๑๑’ ที่มีชื่อเสียง อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ นายเนวิน ชิดชอบ นายภูมิธรรม เวชยชัย ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายวีระ มุสิกพงศ์ นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสนธยา คุณปลื้ม นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นต้น

หลังการตัดสินคดีมีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ อธิบายว่าการตัดสินดังกล่าวเป็น ‘ตุลาการภิวัตน์’ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ (power of judicial review) เนื่องจากในขณะนั้นกลุ่มทุนเข้ามามีอำนาจเหนือรัฐ เพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รัฐสภาถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแนะนำให้ทั้ง ๓ ศาล เข้ามาช่วยแก้ไข ธีรยุทธกล่าวว่าเป็นเพราะ “อำนาจตุลาการซึ่งถือเป็นสถาบันที่มีเกียรติภูมิ มีความเป็นอิสระ และโดยฐานะชนชั้นก็เป็นกลุ่มที่อยู่ห่างไกลจากผลประโยชน์ทางธุรกิจและอำนาจการเมืองมากที่สุด”

สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยจะมองว่า การใช้อำนาจของตุลาการเพื่อยุบพรรคการเมือง

เป็นความพยายามแทรกแซงกระบวนการการเมืองปกติ ซึ่งขัดหรือแย้งกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ นี่จึงไม่ใช่การตีความตัวบทก้าวหน้า หากแต่เป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับกฎหมายที่มีอยู่เดิม

แต่ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร กระบวนการตุลาการภิวัตน์ก็ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ถูกยุบไปแล้วตั้งแต่ ๑๕ ปีก่อน

*พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑หมวด ๔ การเลิกหรือยุบพรรคการเมือง มาตรา ๖๖ เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง (๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ (๓) กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หมวด ๔ การเลิกหรือยุบพรรคการเมือง มาตรา ๖๙ ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะไม่ดำเนินการตามมาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๖๒ หรือกระทำการตามมาตรา ๖๖ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรค การเมืองขึ้นใหม่ตามมาตรา ๘ อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พรรค การเมืองนั้นต้องยุบไป
ที่มา:
อ้างอิง:

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า