ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ปมวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ว่าจะสิ้นสุดตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ ล่าสุดวันนี้ (7 กันยายน 2565) มีรายงานว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานตุลากรศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำชี้แจงของพยานทั้ง 3 ปากเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยเอกสารคำชี้แจงจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง และยังได้รับคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รวมถึงคำชี้แจงของนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขานุการ กรธ. ในฐานะพยานที่ศาลขอความเห็น
ทว่าเอกสารความเห็นของนายมีชัยที่หลุดออกมาทางโซเชียลมีเดียวานนี้ (6 กันยายน 2565) ก่อให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้าง โดยนายมีชัยเห็นว่าควรพิจารณาวาระตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และให้นับวันดำรงตำแน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“3. อย่างไรก็ตามการที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่…” โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ
“4. โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป”
อย่างไรก็ตาม นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมวาระพิเศษในวันที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณาคดีวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงกรณีเอกสารของนายมีชัยด้วยเช่นกัน
นายเชาวนะกล่าวว่า ผลที่ออกมาในการประชุมพิเศษพรุ่งนี้จะยังไม่ถึงขั้นที่จะทราบว่ามติจะเป็นเช่นไร เพราะเป็นเพียงการนำข้อมูล พยานหลักฐานที่ศาลขอจากทุกฝ่ายมาพิจารณา แล้วจึงนำไปสู่การวินิจฉัย ทั้งนี้ การนัดหมายในวันที่ 8 กันยายน เป็นไปตามกระบวนการ ไม่ได้เร่งหรือทำให้ช้าลงแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่เอกสารของนายมีชัยหลุดไปในโซเชียลมีเดีย นายเชาวนะกล่าวว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องตรวจสอบถึงที่มาที่ไป เพราะมีเหตุวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นในเอกสารดังกล่าว ประธานศาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยให้มีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเป็นเรื่องที่กระทบต่อผู้ให้ความเห็น ทั้งยังเรียนสื่อด้วยว่า ข่าวสารดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่มีข้อสรุป
“เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการพิจารณา เนื่องจากคดียังไม่เสร็จสิ้น หากมีเหตุใดๆ ระหว่างการพิจารณา มีข่าวว่าเอกสารรั่วไหล เหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงต้องระมัดระวัง เพิ่มการรอบคอบในการดำเนินการ แม้ไม่ทราบว่าจะมาจากไหน หลุดจากไหน แต่เป็นสิ่งที่ศาลพึงให้ความสำคัญ และเพิ่มมาตรการให้รัดกุมมากขึ้น” นายเชาวนะกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เอกสารความเห็นของนายมีชัยที่หลุดในโซเชียลมีเดียเป็นของจริงหรือไม่ นายเชาวนะตอบว่า ยังยืนยันไม่ได้ เพราะเห็นแบบเดียวกับที่สื่อเห็นในโซเชียล
โดยวันเดียวกันนี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้แสดงความกังวลต่อปมเอกสารของนายมีชัยว่า
“เอกสารหลุดอาจจะเป็นการโยนหินถามทาง และอาจจะต้องมองในมิติทางการเมืองเรื่องความสัมพันธ์ภายในรัฐบาล เอกสารที่หลุดมานั้นอาจจะเป็นการให้กำลังใจองคาพยพของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าอาจจะได้กลับมามีอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มั่นใจว่าเป็นเอกสารความเห็นของนายมีชัยจริงหรือไม่ อาจจะเป็นเอกสารที่ทำขึ้นมาเองก็ได้ แต่หากเป็นเอกสารจริง ก็ไม่สอดคล้องกับที่นายมีชัยเคยให้ความเห็นไว้ในที่ประชุม กรธ.”
นายรังสิมันต์ โรม ยังให้ความเห็นว่า หากตีความให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนับจากการเริ่มบังคับใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน 2560 จะเป็นการตีความขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ วิกฤตการเมืองอาจจะเกิดขึ้นจากตรงนี้
อ้างอิง
- ปธ.ศาล รธน.กังวล-สั่งสอบปมความเห็น “มีชัย” หลุด-ลุ้นประชุมวาระพิเศษ 8 ก.ย.
- ชัดเจนแล้ว! เปิดเอกสาร ‘มีชัย’ ส่งถึงศาลรธน. ให้ความเห็นปม 8 ปีนายกฯ
- เปิดคำชี้แจง นายกฯ ครบ 8 ปี “มีชัย ฤชุพันธุ์” ส่งถึงศาลรธน.นับ 6 เม.ย. 60
- “โรม” กังวลเอกสาร “มีชัย” หลุด อาจชี้นำการวินิจฉัยศาล รธน.ปมนายกฯ 8 ปี