ไกลบ้าน: ความชิลของคนญี่ปุ่น ในวันที่ไวรัสล้อมปราสาทโอซาก้า

เช้าของญี่ปุ่น – คุณนึกถึงอะไร?

น้ำหวาน คนไทยที่เป็นโอแอล (office lady) ในประเทศญี่ปุ่นนานถึง 8 ปี บอกกับเราว่า ญี่ปุ่นในความเป็นจริงไม่ต่างจากจินตนาการของทุกคนเท่าไร

“คนญี่ปุ่นทำงานหนัก บ้างาน มีระเบียบวินัย” ภาพหนุ่มสาวชาวออฟฟิศจำนวนมากที่เดินเข้าสถานนีรถไฟเพื่อเดินทางไปทำงานในตอนเช้าจึงเป็นภาพที่ทุกคนคุ้นชิน ทว่าเช้าวันนี้ไม่เหมือนเดิม

ในช่วงเวลาที่โลกปั่นปวนจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดในญี่ปุ่นพุ่งสูงทะลุ 10,000 คน เสียชีวิตกว่า 200 แล้ว

“เราทำงานที่บ้านได้ร่วม 2 เดือนแล้ว”

ปัจจุบันน้ำหวานพักและทำงานอยู่ที่เมืองโอซาก้า เมืองทางตะวันตกของญี่ปุ่น ในช่วงแรกที่ไวรัสแพร่ระบาดใหม่ๆ ทำให้สถานการณ์ในเมืองแย่พอสมควร ตัวเลขผู้ติดเชื้อในโอซาก้าวันแรกๆ ขึ้นสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

สิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับน้ำหวานท่ามกลางความน่ากลัวของการระบาดครั้งนี้คือ ‘ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสตัวนี้ได้’ หากคุณเป็นพลเมืองญี่ปุ่น เมื่อรู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว อยากจะหาหมอขึ้นมา คุณไม่สามารถเดินเข้าโรงพยาบาลใหญ่ได้ทันทีเหมือนในประเทศไทย

ขั้นตอนการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของคนญี่ปุ่น ในกรณีทั่วไปจะเริ่มจากการรับการตรวจในคลินิกประจำท้องถิ่น หรือคลินิกละแวกบ้านของคุณ และถ้าแพทย์พิจารณาว่าอาการป่วยท่าไม่ดี แพทย์ที่คลินิกจะเป็นผู้ส่งตัวคุณไปที่โรงพยาบาลใหญ่

เช่นเดียวกับการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มทำความรู้จักกับมัน ทางการได้จัดสายด่วนโควิดให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่กังวลว่าตนเองจะเสี่ยงติดโรคหรือไม่ เพราะการเข้ารับการตรวจนั้นมีกฎเกณฑ์คัดกรองว่าใครคือผู้ที่จะได้รับการตรวจบ้าง เช่น คุณอาจจะต้องเป็นคนที่มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 4 วัน หรือนาน 2 วัน หากคุณเป็นผู้สูงวัย หรือคุณคือกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติการเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน 

ดังนั้นสถานการณ์ไวรัสระบาดครั้งนี้ น้ำหวานบอกว่าดูเหมือนจะไม่น่ากลัว แต่ก็น่ากลัว

เพราะด้วยกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน เธอไม่อาจรู้ได้เลยว่าถ้าตัวเองเกิดติดเชื้อขึ้นมาจะได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีหรือไม่

ระยะเวลา 8 ปีที่น้ำหวานอยู่ในญี่ปุ่น เธอเคยอยู่ที่เมืองเกียวโต 3 ปี โตเกียว 3 ปี ก่อนจะย้ายมาที่โอซาก้าได้ 2 ปี

ย้อนกลับไปในช่วงไวรัสระบาดใหม่ๆ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 3 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อนำสูงสุดได้แก่ ฮอกไกโด เฮียวโกะ โอซาก้า ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโอซาก้าถูกสันนิษฐานว่าติดเชื้อจากการไป live house (สถานที่แสดงดนตรีสดขนาดเล็ก) ในเมือง ที่ร้ายแรงคือการติดเชื้อในครั้งนี้พบว่าเป็นการติดเชื้อหมู่ ลูกค้าที่ป่วยนอกจากเป็นชาวโอซาก้าแล้ว ยังเป็นคนจากเกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือสุดและเมืองคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้สุดของญี่ปุ่น และผู้ป่วยบางคนยังทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อตามไปด้วย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงกระฉูดในเวลาอันรวดเร็ว และเกิดเป็นมาตรการสั่งปิด live house ทั่วเมืองโอซาก้า

แม้สถานการณ์จะดูแย่ แต่น้ำหวานกลับบอกว่าบรรยากาศโดยทั่วไป คนญี่ปุ่นยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ยังมีคนเดินออกมาหาซื้อข้าวของ และหากวันไหนอากาศดีขึ้นมาหน่อย เรายังเห็นคนออกมาเดินเล่นตามสวนสาธารณะอยู่บ้าง

one day in Osaka

ทำไมญี่ปุ่นไม่ตื่นตระหนก

พาดหัวข่าวตามเว็บไซต์ต่างๆ มักบอกว่าประชาชนญี่ปุ่นไม่ค่อยให้ความร่วมมือตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัส เรายังเห็นภาพที่เต็มไปด้วยผู้คนเดินเข้าออกตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ ร้านอาหาร-ร้านของชำยังเปิดให้บริการตามปกติ ขณะที่โรงพยาบาลต้องแบกรับผู้ป่วยจนเกินความสามารถ

“เราคิดว่าทุกประเทศก็มีคนหลายแบบ มีคนที่แพนิคมากๆ หรือคนที่รู้สึกชิลๆ เป็นเรื่องปกติ” น้ำหวานบอก

โดยปกติ การรับผิดชอบดูแลสุขภาพตัวเองคือสิ่งที่คนญี่ปุ่นทำเป็นนิสัย

เพราะช่วงประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นช่วงที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกับไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูอยู่แล้ว และนี่อาจจะเป็นต้นตอที่ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ตื่นตระหนกกับโรคใหม่ คนญี่ปุ่นใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยของตัวเองเป็นปกติ น้ำหวานบอกว่าคนญี่ปุ่นมีนิสัยชอบล้างมือ บ้วนปาก สวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย และกลายเป็นอนามัยเบื้องต้นที่ปฏิบัติกันมานานจนเป็นวัฒนธรรม จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นบางส่วนมองโคโรนาไวรัสเป็นแค่ไข้หวัดอีกชนิดหนึ่ง

บ้านคับแคบ แต่ Public Space กว้างมาก คนญี่ปุ่นจึงไม่อยู่บ้าน

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือวัฒนธรรมการใช้พื้นที่ public space ของคนญี่ปุ่น

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเนื้อที่และขนาดบ้านที่เล็กของชาวญี่ปุ่น ก็ไม่อาจขังพวกเขาไว้ในบ้านได้นานๆ

“ยิ่งในสารคดี เรามักจะเห็นว่าเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นเขาอยากจะมีบ้านที่อยู่ใกล้ตัวเมืองแต่ไม่อยากจ่ายในราคาแพง จึงเลือกอยู่บ้านในขนาดที่เล็กมากๆ แทน ซึ่งบ้านแบบนั้นไม่ได้ดีไซน์ให้มนุษย์อยู่ในนั้นทั้งวัน ทุกวัน ทั้งเดือน”

นอกจากนี้ยังพบว่าการอยู่บ้านนานๆ ทำให้อัตราหย่าร้างในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นมาก 

น้ำหวานเล่าถึงไลฟ์สไตล์คนญี่ปุ่นว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงมักจะเป็นแม่บ้านอยู่บ้าน ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ส่วนสามีจะออกไปทำงานข้างนอก จะเห็นได้ว่าชายหญิงญี่ปุ่นจะมีเวลาที่ค่อนข้างแยกขาดออกจากกันชัดเจน พอเกิดเหตุการณ์ไวรัสระบาดทำให้หลายบริษัทประกาศนโยบาย work from home 

แต่ในความเป็นจริงยังมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เนื่องจากอาศัยในอพาร์ตเมนต์คับแคบใจกลางเมือง ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว

ศูนย์ข่าวในประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัท Kasoku ทำแคมเปญมีชื่อว่า ‘โปรดปรึกษาเราก่อนหย่าร้างเพราะโคโรนาไวรัส’ (Please Consult with Us before Thinking about ‘Coronavirus Divorce’) โดยเปิดบริการให้เช่าที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับเป็นที่กักตัว ในราคา 4,400 เยน ต่อวัน (ราว 1,300 บาท) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของคนในครอบครัวที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันนานขึ้นช่วงโควิด จนอาจนำไปสู่การหย่าร้าง

ชีวิตรูทีนก่อนโรคระบาดเข้ามาทักทาย น้ำหวานมีไลฟ์สไตล์คล้ายกับมนุษย์ออฟฟิศทั่วๆ ไป ตื่นเช้าเพื่อไปขึ้นรถไฟ เข้างาน 9 โมง ทำงานเสร็จกลับถึงบ้านประมาณทุ่มหนึ่ง

ถึงแม้จะรู้สึกโชคดีที่งานด้านกฎหมายที่เธอทำอยู่ เอื้อต่อการ work from home แต่การล็อคตัวเองอยู่กับอะไรนานๆ มันก็มีความรู้สึกเบื่อ

“สำหรับเราทำงานที่บ้านมีสมาธิมากกว่า ช่วงแรกเราแอบแฮปปี้กับมันมากนะ (หัวเราะ) แต่สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าลำบากเหมือนกัน อยู่บ้านคนเดียว นั่งหน้าคอม มันก็เหงา ไม่มี work motivation เรายังเชื่อว่าการคุย face-to-face เป็นเรื่องที่ดีกว่าอยู่ดี

“อีกอย่าง ความร้ายกาจของบริษัทเรา ถึงแม้จะอนุญาตให้ work from home แต่บริษัทสามารถส่องดูได้ตลอด เขาจะรู้ทุกอย่างว่าเราใช้คอมพิวเตอร์ตอนไหน ใช้คอมทำอะไร!”

แม้น้ำหวานจะบอกว่าบ้านและลักษณะงานที่โอซาก้าในปัจจุบันเอื้อต่อการใช้ชีวิตมากกว่า เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าบ้านในโตเกียวที่เคยอยู่ แต่พออยู่บ้านนานๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน

“วันก่อนเราเพิ่งเดินไปร้าน 100 เยน เพื่อหาซื้อชั้นวางของ พบว่าคนเยอะมาก คนน่าจะอยู่บ้านนานๆ แล้วก็เบื่อกัน ไม่ใช่เราแค่คนเดียวที่รู้สึกเบื่อกับสภาพแวดล้อมในบ้านจนอยากจะแต่งบ้าน”

น้ำหวานบอกว่านี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นดูชิลและเห็นเขาออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ออกมาซื้อของแต่งบ้าน ออกมาจ่ายตลาด เบียร์ก็ยังขายอยู่ – เพราะเขาอยู่ในบ้านที่คับแคบไม่ได้นาน

ในวันที่ไวรัสล้อมปราสาทโอซาก้า

ไม่ว่าจะพลิกมองมุมไหน เราพบว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน 

“มันเริ่มล้มตั้งแต่ไวรัสตัวนี้ยังอยู่ในประเทศจีน เศรษฐกิจของญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง depend on กับประเทศจีนอยู่มาก มีโรงแรม ออนเซน หรือสถานที่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ แต่พอเริ่มมีเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนจีนมาเที่ยวญี่ปุ่นน้อยลง”

น้ำหวานบอกว่าบ้านของเธออยู่ใกล้กับปราสาทโอซาก้า ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอันดับต้นๆ ในญี่ปุ่น เธอชอบขี่จักรยานออกกำลังและผ่านปราสาทอยู่บ่อยๆ แต่วันนี้ปราสาทโอซาก้ากลับดูเงียบเหงากว่าทุกครั้ง 

“พอไม่มีนักท่องเที่ยว ตลาดหรือแหล่งย่านการค้ากลางเมืองเงียบลงเยอะ ยิ่งในช่วงเสาร์อาทิตย์ ชาวญี่ปุ่นก็เลือกอยู่แค่ละแวกบ้านของตัวเอง ไม่มีใครเข้าในเมือง เรายังเห็นภาพคุณป้าสวมแมสก์ขี่จักรยานผ่านไปมา แต่ถ้าเราขยับเข้าไปมองในเมือง ในย่านท่องเที่ยว ไม่มีคนเลย

“เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร หรือธุรกิจอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการเป็นประชาชนทำกันเอง กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็ประสบปัญหา รายได้ของเขาเกิดขึ้นวันต่อวัน สถานการณ์นี้ทำให้หยุดชะงัก ไม่มีรายได้มาจ่ายค่าเช่า จ่ายเงินเดือน มุมนี้น่าจะคล้ายๆ ประเทศไทย”

ขินโซ อาเบะ กับความนิยมที่ลดลง

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นเคยเจอทั้งเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะแผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ แต่ด้วยความเคยชินและประสบการณ์จึงทำให้ญี่ปุ่นค่อนข้างรับมือได้ดี รัฐบาลจึงสามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ สวนทางกับโรคระบาดครั้งนี้

“อาเบะมีวิธีการสื่อสารได้ไม่ดีนัก มีท่าทีลังเลไม่กล้าตัดสินใจตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์” 

น้ำหวานเล่าย้อนเหตุการณ์ช่วงสองเดือนก่อน ในญี่ปุ่นเริ่มพบผู้ติดเชื้อในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นโยบายอันดับแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญยังคงเป็นด้านการแพทย์ หัวใจหลักคือการควบคุมยอดผู้ติดเชื้อให้เพิ่มช้าที่สุด แต่หลังจากนั้นก็มีความงงๆ ในเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่รัฐบาลมีท่าทีไม่ชัดเจน เขาอยากจะป้องกันโรค แต่อีกใจก็ห่วงเศรษฐกิจ ทำให้อาเบะไปไม่สุดสักทาง

ซึ่งการสื่อสารที่คลุมเครือของอาเบะในฐานะผู้นำประเทศครั้งนี้ ทำให้ประชาชนญี่ปุ่นสับสน และไม่สามารถสร้างให้เกิดความร่วมมือเท่าที่ควร น้ำหวานคิดว่าปัจจุบันอาเบะกำลังสูญเสียคะแนนนิยม ถูกมองว่าไม่กล้าตัดสินใจ และเชื่องช้าในวิกฤติโรคระบาดนี้

เจ้าภาพโอลิมปิกกับความหวังในการผงาดในเวทีโลก

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่าทีของอาเบะดูไม่เด็ดขาด สาเหตุเป็นเพราะ ‘มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020’

ญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นในการจัดงานโอลิมปิก ญี่ปุ่นเตรียมตัวมาอย่างยาวนาน 7-8 ปี และตั้งความหวังในโอลิมปิกครั้งนี้มาก น้ำหวานยกตัวอย่างการจัดสร้างหมู่บ้านนักกีฬาในลักษณะอาคารขนาดใหญ่เรียงต่อกันรอบอ่าวโตเกียว เพื่อรองรับนักกีฬาและทีมงานประมาณหมื่นชีวิต

“คนญี่ปุ่นรู้สึกกับโอลิมปิกเยอะมากๆ เพราะโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งสุดท้ายที่เขาเป็นเจ้าภาพตอนปี 1964 มันเป็นสัญลักษณ์การกลับมาผงาดในเวทีโลกของญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 หลายภาคส่วนน่าจะหวังว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากช่วง lost decades (วิกฤติเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990) ทั้งในทางเศรษฐกิจเองและทางจิตวิทยา เพราะฉะนั้นหลังจากได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ เราว่าญี่ปุ่นพยายาม internationalize มากๆ”

มาตรการเยียวยาและการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นท่ามกลางไวรัสระบาด

“กว่าที่อาเบะจะตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉิน เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และนำมาสู่มาตรการการเยียวยาที่ชัดเจนขึ้น”

เราอาจไม่ได้เห็นภาพศิลปินดาราหรือเหล่านักแสดงบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเสียเท่าไรนัก สิ่งที่น่าสนใจและทำให้เห็นความชัดเจนของอาเบาะมากคือมาตรการแจกเงินเยียวยาให้กับประชาชนทุกคน 1 แสนเยน (ราว 30,000 บาท) 

ในมุมการยื่นมือของเอกชนจึงอยู่ในรูปแบบการประกาศ work from home ของเหล่าบริษัทต่างๆ หรือการอนุญาตให้หยุดพักงานเพื่อช่วยลดการออกไปข้างนอกมากกว่า ซึ่งน้ำหวานบอกว่าสำหรับมาตรการดังกล่าวจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนไม่รู้ – แต่อย่างน้อยเราสัมผัสได้ถึงการตระหนักและร่วมรับผิดชอบของบริษัทและภาคเอกชนต่างๆ 

“เราว่าญี่ปุ่นค่อนข้างชัดเจนในมาตรการเยียวยา รัฐมีแผนจะจ่ายให้ประชาชนเท่าไร มีวิธีการเยียวยาธุรกิจ SMEs หรือผู้ประกอบการอย่างไร ซึ่งถามว่าพอไหม – ก็อาจจะไม่พอ เพราะธุรกิจก็มี fix cost ที่ต่างกันออกไป แต่เรารู้สึกว่าประชาชนส่วนมากเข้าใจและพยายามหาวิธีการที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอดในสถานการณ์นี้ เช่น ร้านอาหารประเภทอิซากายะ (Izakaya) ที่เปิดตอนกลางคืนก็หันมาเปิดตอนกลางวันเพื่อขายอาหารเพิ่มยอดขายให้ตัวเองพ้นวิกฤตินี้

“ต้องบอกก่อนว่าเมืองไทยตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ทำให้เรามองไม่เห็นการทำงานในลักษณะกระจายอำนาจของรัฐบาลส่วนกลางชัดเจนนัก แต่ประเทศญี่ปุ่นเราจะเห็นการทำงานแบบกระจายอำนาจที่เข้มแข็ง”

น้ำหวานอธิบายถึงขั้นตอนการทำงานของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า อันดับแรกญี่ปุ่นมีการแยกอำนาจเป็นท้องถิ่นและส่วนกลาง ซึ่งการปกครองแบบท้องถิ่นช่วยสะท้อนการออกแบบมาตรการในการรับมือกับ COVID-19 ของแต่ละเมืองได้ เช่น เมื่อต้นเดือนมีนาคมฮอกไกโดมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมาก – ผู้ว่าฯ ฮอกไกโดจึงออกประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นมาได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลาง

หรือในกรณีในเฮียวโกะหรือโอซาก้าก็มีมาตรการขอความร่วมมืองดการเดินทางเข้า-ออกเมืองเพื่อป้องกันเชื้อ เป็นของตัวเองได้เช่นกัน 

รวมถึงกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในโอซาก้า ที่เขาใช้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่เป็นบ้าน พอมีเหตุการณ์โรคระบาด ผู้ว่าฯ โอซาก้าก็ประกาศขอความร่วมมือกับโรงแรมเพื่อเปิดห้องเช่าราคาถูกให้ได้เข้าไปอยู่

8 ปี จากวันนั้นจนวันนี้ ในสายตาน้ำหวาน ญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนไป น้ำหวานมาญี่ปุ่นช่วงเดียวกับที่ญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปีนี้พอดี 

“ตอนเรามาแรกๆ นายสถานีรถไฟพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่พอซักปี 2016 ทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้หมดแล้ว อย่างน้อยก็พอจะบอกทางได้ สอนซื้อตั๋วได้ ทั้งหมดนี้ก็เพราะเขาคาดหวังว่าจะมีคนมาเที่ยวบ้านเขาตอนโอลิมปิก เราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลก็อุดหนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากๆ แรงงานต่างชาติก็เยอะขึ้นด้วยเพราะต้องรับมือคนต่างชาติเยอะขึ้น ประกอบกับเป็นสังคมผู้สูงวัย จึงขาดแรงงาน แต่ปัจจุบันก็พยายามยกเลิกไอเดียการทำงานหนักๆ ทำโอทีเยอะๆ แล้ว”

นโยบายของอาเบะช่วยรณรงค์ให้คนญี่ปุ่นปฏิรูปการทำงานให้มี work-life balance และเข้ากับวิถีชีวิตของแต่ละคนมากขึ้น เช่น ให้คุณแม่เอางานกลับไปทำ telework ที่บ้านได้ ให้คุณพ่อลาเลี้ยงลูกเพื่อให้คุณแม่ไปทำงานได้ด้วย 

“แต่ในความพยายามจะเปลี่ยนแปลงนั้นมันก็ยังไม่ทันกระแสโลกอยู่ดี ลองเทียบกับประเทศข้างๆ อย่างจีนหรือเกาหลี สิบปีที่แล้วสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จีนแผ่นดินใหญ่นี่มีแต่คนบอกว่าคุณภาพต่ำ ตอนนี้จีนกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลกห้ำหั่นกับสหรัฐ เครื่องใช้ไฟฟ้าเสี่ยวมี่นี่แย่งตลาดบริษัทญี่ปุ่นไปเท่าไหร่ แถมบริษัทจีนก็มาไล่ซื้อบริษัทญี่ปุ่นชื่อใหญ่ๆ อีก

“เกาหลี เมื่อสิบปีที่แล้ววงการบันเทิงยังติดอยู่แค่ในเอเชีย แต่ตอนนี้เกาหลีไปไกลระดับโลก ทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์มี Parasite ที่เพิ่งได้รางวัล Best Picture จากเวทีออสการ์ไป แต่ค่ายบอยแบนด์ใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นเพิ่งหัดเอาคลิปตัวเองลงยูทูบเอง”

ส่วนตัวน้ำหวานแพลนไว้ว่าจะโบกมือลาจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อจัดโอลิมปิกจบ 

“แต่แอบสงสารคนญี่ปุ่นนะ เขาเตรียมทุกอย่างมาตั้ง 7-8 ปี แล้วดันมีไวรัสระบาด โอลิมปิกที่จะ boost ทั้งเศรษฐกิจและความหวังของผู้คนกลายเป็นว่าจะได้จัดไหม ไม่รู้”

ญี่ปุ่นจะอยู่อย่างไรต่อจากนี้

หากสถานการณ์เลวร้ายขึ้นและเราต้องอยู่กับภาวะเช่นนี้ไปนานจนถึงสิ้นปี น้ำหวานตอบว่า โลกอาจจะ globalized น้อยลง ในแง่ธุรกิจอาจจะเห็นความพยายามในการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้น เห็นแต่ละประเทศปกป้องธุรกิจในประเทศมากขึ้น

แต่ที่แน่ๆ ธุรกิจ SMEs อาจจะล้มและหายไปจำนวนมาก 

“เวลาเรามาเที่ยวญี่ปุ่นเรามักจะเจอร้านอาหารเล็กๆ ที่มีความญี่ปุ๊นญี่ปุ่น ร้านที่มีความมุ้งมิ้ง เป็นร้านอาหารที่เกิดจากการสืบทอดเป็นครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ธุรกิจเหล่านี้ก็อาจจะหายไป

“ซ้ำร้ายกว่านั้น ถ้าสถานการณ์ลากยาวไปถึงสิ้นปี อาจไม่ใช่เพียงธุรกิจเล็กๆ จะโดนเล่นงาน อาจจะเริ่มมีบริษัทใหญ่ที่เริ่มเอาไม่อยู่ เริ่มเลย์ออฟคนงานจำนวนมาก และเมื่อถึงจุดนั้น ญี่ปุ่นอาจจะเกิดความ disorder ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าพลเมืองญี่ปุ่นค่อนข้างอยู่ในกฎหมายพอสมควร และถ้าเราเดินไปถึงจุดที่แย่และกดดันมากๆ คนญี่ปุ่นเลือกที่จะไม่อยู่ในระเบียบ วันนั้นญี่ปุ่นอาจจะเปลี่ยนไป

“อาเบะเองก็คงต้องดีลกับภาคธุรกิจมากมาย ซึ่งตอนแรกคงไม่ยอมอ่อนข้อ เพราะแค่ quarantine เศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว ยังแย่ลงไปอีกเพราะโอลิมปิกต้องเลื่อน บวกกับความไม่มีประสบการณ์เรื่องการจัดการโรคระบาดแบบนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะจบลงอย่างไร”

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Author

น้ำหวานครึ่งแก้ว
โอแอล (office lady) ในประเทศญี่ปุ่น งานหลักคือทะเลาะกับคนญี่ปุ่นเพื่อแก้ภาษาญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นเขียน งานรองคืออยากเป็นนักเขียน บลอกเกอร์ตั่งต่าง แต่ทุกวันนี้ทำได้แค่เขียนสัญญา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า