จอร์จ เพลล์ คาร์ดินัลจอมอนาจาร กับปัญหาเรื้อรังของศาสนจักร

พระคาร์ดินัลชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่วาติกันระดับอาวุโสสูงสุดที่เคยถูกไต่สวนคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์ถูกคณะลุกขุนในศาลแห่งเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ลงมติเอกฉันท์ว่ามีความผิดฐานทำละเมิดต่อนักร้องประสานเสียงอายุ 13 ปีสองคนที่โบสถ์แห่งหนึ่ง ในสังฆมณฑลที่เขาเคยปกครองอยู่นานห้าปีระหว่างทศวรรษ 1990

ศาลแขวงแห่งเมลเบิร์นเพิ่งถอนคำสั่งห้ามเผยแพร่ผลมติของคณะลูกขุนเมื่อวันอังคารนี้ หลังจากการลงมติเอกฉันท์เมื่อ 11 ธันวาคม 2018 ว่า คาร์ดินัล จอร์จ เพลล์ (George Pell) มีความผิดตามฟ้องคดีล่วงละเมิดทางเพศ มีข่าวตามมาด้วยว่าสำนักข่าวและนักข่าวจำนวนหนึ่งอาจถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล หลังจากออกข่าวฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของศาลเมื่อก่อนหน้านี้

คาร์ดินัล จอร์จ เพลล์

สำนักวาติกันแถลงถึงผลของการพิจารณาคดีครั้งแรกตามข่าวในวันอังคารว่าเป็น ‘ความเจ็บปวด’ และระบุว่าคาร์ดินัลเพลล์กำลังจะอุทธรณ์คำตัดสิน สำนักวาติกันกล่าวว่า คาร์ดินัลเพลล์อยู่ภายใต้คำสั่ง ‘ต้องระมัดระวัง’ ให้หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้เยาว์ และไม่สามารถประกอบพิธีสงฆ์ต่อสาธารณะได้ วาติกันแจ้งว่ามาตรการเหล่านั้นยังคงมีผลอยู่ในขณะที่รอ ‘การประเมินที่ชัดเจนของข้อเท็จจริงทั้งหลาย’

ก่อนเดินทางกลับถึงออสเตรเลียเพื่อเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาทั้งหมด คาร์ดินัลเพลล์ได้ขออนุญาตลาพักจากตำแหน่งที่สำนักวาติกันในฐานะเหรัญญิกของวาติกัน หรือเทียบเท่ารัฐมนตรีคลังผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งในวงการถือว่ามีอาวุโสเป็นอันดับสามในระดับของการปกครองแห่งศาสนจักรคาทอลิก เขาได้ผ่านการคัดเลือกกำหนดตัวตนโดยเฉพาะจากระดับสูงของวาติกันให้เข้าควบคุมกลไกด้านการเงินการคลังและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

“เรารอผลของกระบวนการอุทธรณ์โดยระลึกว่าคาร์ดินัลเพลล์ยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์และมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองจนกว่าจะถึงขั้นอุทธรณ์สุดท้าย” เจ้าหน้าที่แห่งสำนักวาติกันกล่าว

ก่อนหน้านี้มีการพิจารณาคำฟ้องในห้าข้อหาแบบเดียวกันซึ่งเริ่มในเดือนสิงหาคม แต่คณะลูกขุนไม่สามารถลงมติได้จึงต้องพิจารณาใหม่อีกครั้ง เมื่อมีการลงมติของลูกขุนในข้อหาละเมิดทางเพศอันร้ายแรงครั้งนี้แล้วอัยการจึงถอนคดีประพฤติผิดอื่นต่อผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 16 ปีระหว่างทศวรรษ 1970 ออกไป ความผิดตามคำฟ้องนี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 1996 และต้นปี 1997 ที่อาสนวิหาร เซนต์ แพทริค หลังจากเพลล์ ฉลองการเข้ารับตำแหน่งพระอัครสังฆราชแห่งเมลเบิร์น

คำขอประกันตัวของคาร์ดินัลเพลล์ถูกศาลเพิกถอนเมื่อวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ เขาถูกควบคุมตัวเข้าสู่ที่จองจำโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หลังจากการประกันตัวของเขาถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ เพลล์จะถูกพิพากษาตัดสินโทษในวันที่ 13 มีนาคม ก่อนนี้เขาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวตั้งแต่ลูกขุนมีมติออกมา และอยู่ระหว่างพักฟื้นจากการผ่าตัดหัวเข่า

พระสันตะปาปาฟรานซิสยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างใดต่อสาธารณชน ก่อนหน้านี้ท่านเคยกล่าวยกย่องเพลล์สำหรับความซื่อสัตย์และปฏิกิริยาตอบสนองต่อกรณีล่วงละเมิดทางเพศเด็กรายอื่น แต่เพียงสองวันหลังจากการลงมติตัดสินที่ยังไม่ได้รายงานเป็นทางการในเดือนธันวาคม สำนักวาติกันก็ได้ประกาศว่าเพลล์และคาร์ดินัลอีกสองรูปถูกปลดออกจากคณะที่ปรึกษาของสำนักสันตะปาปาแล้ว

กรณีที่คาร์ดินัลเพลล์ถูกพิพากษาและลงโทษจำคุกน่าจะก่อให้เกิดคลื่นความตระหนกครั้งใหญ่ในบรรดามวลมหาสัตบุรุษคาทอลิกทั่วโลก และอาจเกิดแรงกระทบต่อความพยายามของโป๊ปฟรานซิสที่จะเข้ามาจัดการกับการละเมิดทางเพศในแวดวงนักบวช การลงมติของคณะลูกขุนครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากการประชุมสุดยอดพระคาร์ดินัลและบาทหลวงอาวุโสที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อหน้าพระสันตะปาปาที่นครวาติกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งสัญญาณว่าประเด็นนี้ได้มาถึงจุดหักเหของปัญหาที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้วงการนักบวชเสียหายไปอย่างมากมาย รวมทั้งสั่นคลอนตำแหน่งและสถานะขององค์ประมุขแห่งศาสนจักร

หลังจากหัวหน้าผู้พิพากษาศาลแขวง ปีเตอร์ คิดด์ (Peter Kidd) ประกาศถอนคำสั่งปิดกั้นการรายงานข่าวเมื่อเช้าวันอังคาร คาร์ดินัลเพลล์เดินออกจากศาลไปขึ้นรถยนต์ที่รออยู่ท่ามกลางกำลังตำรวจและกองทัพผู้สื่อข่าว มวลชนจำนวนหนึ่งซึ่งรวมทั้งผู้เสียหายจากการละเมิดทางเพศกับบรรดาญาติพี่น้องพากันส่งเสียงโห่ร้องสาปแช่งนักบวชผู้เสื่อมเกียรติ

ชายคนหนึ่งตะโกน “ไปลงนรกซะเถิด ลงไปเผาไหม้ในนรกเลย เพลล์”

คาร์ดินัลปิดปากเงียบโดยไม่ตอบโต้หรือออกแถลงการณ์อย่างใด แต่ทนายความที่ปรึกษาของจำเลย พอล แกลบอลลี (Paul Galbally) กล่าวต่อนักข่าวว่า “ท่านคาร์ดินัลยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของท่านมาโดยตลอด และจะยังคนยืนยันต่อไป”

เขาเสริมว่า “ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อคำตัดสินนี้ไปแล้ว และตอนนี้เรากำลังรอให้เป็นไปตามกระบวนการอุทธรณ์”

หนึ่งในชายผู้เสียหายศูนย์กลางแห่งคดีที่ได้ร้องเรียนจนเกิดการพิจารณา ซึ่งไม่สามารถระบุชื่อได้ตามกฎหมายออสเตรเลีย เปิดปากร้องขอความเป็นส่วนตัวเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการปิดกั้นข่าวโดยกล่าวว่าเขาเป็น “คนปกติธรรมดาที่ทำงานเพื่อสนับสนุนและปกป้องครอบครัวของผมให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“เช่นเดียวกับผู้เสียหายที่ยังมีชีวิตอีกหลายคน ผมได้รับความอับอาย ความเหงาอ้างว้าง ความซึมเศร้า และต้องพยายามดิ้นรน” เขากล่าวในแถลงการณ์ “และเช่นเดียวกับผู้ยังรอดชีวิตอยู่จำนวนมาก ผมต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดกับชีวิตของผม…บางขณะเราตระหนักว่าเราเชื่อใจคนที่เราควรต้องกลัว และเรากลัวความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับเราควรเชื่อถือ ผมขอขอบคุณครอบครัวของผมทั้งที่อยู่ใกล้และไกล ผู้ที่ให้การสนับสนุนผมและช่วยเหลือกันและกัน”

พวกผู้เสียหายจากการละเมิดทางเพศกลุ่มอื่นต่างออกแถลงแสดงความยินดีต่อมติของลูกขุนในคดีนี้

สภาพภายในศาลวันที่ลูกขุนมีมติคำตัดสิน หลังจากการพิจารณาสี่สัปดาห์ เพลล์ยืนอยู่ในคอกจำเลยโดยไม่แสดงปฏิกิริยา จ้องมองตรงไปข้างหน้า ภายในห้องนั้นเงียบกริบขณะหัวหน้าคณะลูกขุนอ่านผลการลงมติของสมาชิกคณะลูกขุนต่อศาลตัดสินว่าจำเลยผู้เป็นพระคาร์ดินัลมีความผิดในทุกข้อหา

ค่อนข้างแน่ชัดว่าต่อไปเพลล์จะต้องเผชิญกับโทษจำคุก

คาร์ดินัล จอร์จ เพลล์ วัย 77 ปี ในวันพิจารณาคดี

คณะลูกขุนพบว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคม 1996 ขณะดำรงตำแหน่งอัครสังฆราชแห่งเมลเบิร์น เพลล์แอบเข้าหานักร้องประสานเสียงอายุ 13 สองคนหลังจากประกอบพิธีบูชามิสซาศักดิ์สิทธิ์วันอาทิตย์ ที่อาสนวิหาร เซนต์ แพทริค และลงมือล่วงละเมิดทางเพศต่อวัยรุ่นทั้งสอง

ผู้ร้องในคดีซึ่งบัดนี้มีอายุ 35 ปี กล่าวว่า เขากับนักร้องประสานเสียงอีกคนหนึ่งแยกตัวออกจากกลุ่มเด็กขับร้องขณะทั้งหมดทยอยเดินออกจากอาคารโบสถ์ คำฟ้องของอัยการโจทก์ยึดเอาคำให้การนี้เป็นหลักฐานสำคัญเนื่องจากเหยื่ออีกรายเสียชีวิตไปในปี 2014 หลังจากใช้เฮโรอีนจนเกินขนาด เหยื่อทั้งสองไม่ได้บอกใครเกี่ยวกับการล่วงละเมิดในเวลานั้น

หลังจากออกจากขบวนแล้วผู้ร้องเรียนกล่าวว่า เขาและเด็กชายอีกคนแอบย่องเข้าไปในทางเดินของคริสตจักร และเข้าไปในห้องห้องศาสนภัณฑ์สำหรับเตรียมเครื่องศักดิ์สิทธิ์ของบาทหลวง ที่ซึ่งทั้งสองรู้ดัวว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกควร พวกเขานำเอาเหล้าองุ่นศักดิ์สิทธิ์ออกมาและเริ่มดื่ม ผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่าคาร์ดินัลเพลล์เดินเข้ามาหาทั้งคู่และบอกว่า เด็กทั้งสองคนกำลังเจอกับปัญหาขนาดหนัก

ผู้ร้องให้การต่อศาลว่า เพลล์จัดแจงเสื้อคลุมเพื่อเปิดอวัยวะเพศของเขาออกมา เขาก้าวเข้าถึงร่างเด็กชายอีกคนแล้วโอบรัดด้านหลังศีรษะของเขาไว้ และกดบังคับให้ศีรษะของเด็กชายก้มลงเข้าสู่อวัยวะเพศของเขา

หลังจากนั้นเพลล์ก็ทำแบบเดียวกันกับผู้ร้อง ข่มขืนเขาทางปาก เมื่อทำเสร็จแล้วเขาสั่งให้ผู้ร้องถอดกางเกงออกแล้วลูบขยำอวัยวะเพศของผู้ร้อง พลางสำเร็จความใคร่ให้แก่ตนเอง ผู้ร้องกล่าวว่า การบังคับละเมิดเหล่านั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แล้วเด็กชายทั้งสองก็ออกจากห้องไปถอดเสื้อคลุมนักร้องแขวนไว้และกลับบ้าน

การเข้าเป็นสมาชิกคณะนักร้องประสานเสียงของผู้ร้องเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการรับทุนการศึกษาเพื่อเข้าเรียนที่ วิทยาลัย เซนต์ เควิน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนชั้นยอดในย่านทูแร็คที่มั่งคั่งร่ำรวยชานเมืองเมลเบิร์น

“ผมรู้ดีว่าผมอาจจะยังคงได้รับทุนการศึกษาหรืออาจจะถูกถอดถอนไปตอนไหนก็ได้แม้ในวัยที่โตขนาดนั้นแล้ว” ผู้ร้องให้การต่อศาล “ผมไม่ต้องการสูญเสียสิ่งนั้น ทุนมีความหมายมากสำหรับผม และผมจะทำอย่างไรได้หากผมพูดแพร่งพรายถึงพระอัครสังฆราชด้วยเรื่องแบบนี้? มันเป็นอะไรบางสิ่งที่ติดตัวผมมาจนตลอดชีวิต”

ผู้ร้องกล่าวหาว่าอาจเป็นปลายปี 1996 นั้น หรือต้นปี 1997 เพลล์ก็ล่วงละเมิดเขาอีกครั้ง เขาบอกว่าเขากำลังเดินตามทางระเบียงไปยังห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของคณะนักร้องประสานเสียงหลังจากร้องเพลงที่โบสถ์ในพิธีศักดิ์สิทธิ์วันอาทิตย์ เขากล่าวหาว่าเพลล์เข้ามาถึงตัว ผลักร่างเขาติดกับผนัง เอามือบีบเคล้นอวัยวะเพศเขาจากภายนอกเสื้อคลุม แล้วก็เดินจากไป

ผู้ร้องเรียนแจ้งต่อศาลว่า หลังจากถูกโจมตี เขาไม่สามารถเข้าใจได้ถ่องแท้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง เขาจึงจัดการกับความรู้สึกนั้นด้วยการผลักดันมันไปที่ “ซอกมุมอันมืดมิดที่สุดในความคิดคำนึง”

ในคำแถลงของตำรวจ ผู้ร้องกล่าวว่าเขาจำได้ว่าเพลล์ “คืออำนาจสำคัญในสถานที่แห่งนั้น”

“เขามีลักษณะท่าทีของคนที่มีอำนาจใหญ่โต” เขากล่าว “ผมต้องดิ้นรนกับเรื่องนี้โดยตลอดมานานแล้ว…แม้กระทั่งกว่าจะสามารถมาถึงจุดนี้ได้ เพราะผมเข้าใจว่าเพลล์ทำให้ผมหวาดหวั่นมาทั้งชีวิต…เขามีตำแหน่ง (ภายหลัง) ในวาติกัน  เขาเป็นคนมีอำนาจอิทธิพลสูงในตำแหน่งประธานคณะและมีสายสัมพันธ์มากมาย”

ในการแถลงปิดคดี มาร์ค กิบสัน (Mark Gibson) อัยการสูงสุดของรัฐแจ้งต่อคณะลูกขุนให้ตัดสินใจว่าพวกเขาเชื่อหรือไม่ว่าคำให้การของผู้ร้องเป็นจริงโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร ลูกขุนน่าจะเห็นได้ชัดว่าผู้ร้องเป็นพยานที่ซื่อตรงตามความจริงดังที่ได้ปรากฏในคำแถลงฟ้องคดี

เพลล์ให้การปฏิเสธความผิดตั้งแต่ต้น เขาถูกสัมภาษณ์โดยตำรวจแห่งรัฐวิคตอเรีย คริสโตเฟอร์ รีด (Christopher Reed) ในกรุงโรมเมื่อตุลาคม 2016 และวิดีโอการสัมภาษณ์นั้นถูกนำมาเปิดแสดงต่อศาล ในการสัมภาษณ์เพลล์อธิบายข้อกล่าวหาว่าเป็น “เศษขยะและความเท็จทั้งสิ้น”

เมื่อรีดกล่าวว่าการละเมิดตามที่ถูกกล่าวหาครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากพิธีมิสซาวันอาทิตย์ เพลล์ตอบว่า “นั่นยิ่งดีสำหรับผม เพราะมันทำให้เป็นไปไม่ได้กันใหญ่แบบสุดอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก”

ทีมต่อสู้ทางกฎหมายของเพลล์บอกกับคณะลูกขุนว่า มีความเป็นไปไม่ได้หลายประการในคำฟ้องของอัยการ และพวกเขาควรสรุปได้เองว่าการกระทำผิดเช่นนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ทนายบอกว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่เด็กชายสองคนจะผละออกจากขบวนนักร้องโดยไม่มีใครสังเกตเห็น หรือว่าห้องศาสนภัณฑ์นั้นจะไม่มีใครอยู่หรือไม่ได้ปิดล็อคไว้ได้อย่างไร เสื้อคลุมของนักร้องถูกนำเข้าไปแสดงในศาลเพื่อให้ลูกขุนดู

ทนายความยังได้ใช้โปรแกรมนำเสนอ PowerPoint ในการดำเนินคดีครั้งหลังระหว่างเขาแถลงปิดคดีต่อคณะลูกขุน ซึ่งเขาไม่ได้ทำเช่นนี้ในครั้งแรก หนึ่งในแผ่นสไลด์มีความว่า “มีเพียงคนเสียสติเท่านั้นที่จะพยายามข่มขืนเด็กชายสองคนในห้องเตรียมศาสนภัณฑ์ของนักบวชทันทีหลังจากพิธีมิสซาศักดิ์สิทธิ์วันอาทิตย์”

ผู้พิพากษาคิดด์แถลงคำแนะนำต่อคณะลูกขุนว่าการพิจารณาคดีจะต้องไม่ถูกใช้ให้เป็นโอกาสที่จะทำให้เพลล์กลายเป็นแพะรับบาปสำหรับความล้มเหลวของศาสนจักรคาทอลิก

คณะลูกขุนใช้เวลาไม่ถึงสี่วันในการวิเคราะห์ปรึกษาและตัดสินลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์

นอกจากนั้น นักข่าวจำนวนมากประมาณ 100 คนยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งห้ามรายงานข่าวของศาลด้วยข้อหาหมิ่นศาลและอาจถึงกับถูกจำคุกได้ สำนักข่าวหลายแห่งที่ตีพิมพ์หรือออกอากาศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีส่งจดหมายแจ้งไปยังนักข่าวของตน รวมถึง News Corp, Nine Entertainment และ Australian Broadcasting Corporation ระหว่างหลายวันที่ผ่านมา

เหตุผลของศาลในการออกคำสั่งอย่างเข้มงวดคือ จำเลยเพลล์ต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีครั้งที่สองเกี่ยวกับความผิดในอดีตอันเป็นข้อกล่าวหาแยกต่างหาก ผลของการพิจารณาครั้งแรกถูกศาลออกคำสั่งปิดกั้นชั่วคราวเพื่อให้ข้อมูลมีโอกาสน้อยที่จะส่งอิทธิพลต่อคณะลูกขุนในครั้งที่สอง คำสั่งปิดกั้นการเสนอข่าวไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติในกรณีเช่นนี้

แต่ตอนนี้ ผู้พิพากษาคิดด์สั่งให้ยกเลิกข้อจำกัดการรายงานแล้ว หลังจากอัยการฟ้องข้อหาที่สอง แล้วศาลตัดสินว่าหลักฐานสำคัญไม่เพียงพอให้ศาลสามารถยอมรับได้ ทำให้คำฟ้องคดีของอัยการด้อยน้ำหนักลงอย่างมาก

อาร์คบิชอป มาร์ค โคเลอริดจ์ (Mark Coleridge) ประธานสภาพระสังฆราชแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ผลของคดีดังกล่าวก่อความตระหนกแก่คริสต์ศาสนิกชนจำนวนมหาศาลทั่วทั้งออสเตรเลียและทั่วโลก “รวมถึงบรรดานักบวชระดับนำในศาสนจักรคาทอลิกแห่งออสเตรเลียทั้งหมด

“บรรดาสังฆราชเห็นด้วยว่าทุกคนควรมีสถานะเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเราเคารพระบบกฎหมายของออสเตรเลีย ระบบกฎหมายเดียวกันกับที่ได้ออกคำพิพากษาครั้งนี้ก็จะเป็นผู้พิจารณาคำอุทธรณ์ซึ่งทีมกฎหมายของท่านคาร์ดินัลได้ยื่นคำร้องไปแล้ว

“ตลอดเวลาเรามีความหวังว่ากระบวนการนี้จะดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม”

สำหรับภาพที่กว้างขึ้น ก่อนทศวรรษ 1970 อาชญากรรมโดยการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและผู้เยาว์ที่เกิดขึ้นในแวดวงศาสนจักรคาทอลิกนั้นไม่ค่อยได้มีการเอ่ยถึงในที่สาธารณะ ซึ่งต่อมาภายหลังหลายปีจึงรู้กันในวงกว้างว่ามีหลายกรณีถูกกดดันให้ปิดบังเอาไว้ แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมแบบนั้นเมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษ 1980 ที่ได้เกิดหลายกรณีปรากฏขึ้นระลอกแรกในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาว่าด้วยเรื่องนักบวชกระทำผิดต่อเด็กและเยาวชนด้วยการก่อปัญหาโอ้โลมปฏิโลมทางเพศ ทำอนาจาร หรือถึงขั้นข่มขืน

อีกหลายทศวรรษต่อมามีหลักฐานว่าการละเมิดหลายรูปแบบโดยนักบวชได้เกิดขึ้นทั่วโลก การไต่สวนอย่างเป็นทางการในออสเตรเลียแสดงผลว่า 7 เปอร์เซ็นต์ของนักบวชคาทอลิกในประเทศเคยก่อเหตุทำร้ายเด็กด้วยลักษณะของการละเมิดดังกล่าว

นับตั้งแต่เมืองเล็กในชนบทของออสเตรเลียไปจนถึงโรงเรียนในไอร์แลนด์ และจนถึงเมืองใหญ่น้อยทั่วสหรัฐอเมริกา ศาสนจักรคาทอลิกบัดนี้ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กนับจำนวนมากมายมหาศาลระหว่างหลายทศวรรษที่ผ่านมา

หลายกรณีที่อื้อฉาวโด่งดังเกี่ยวข้องกับบุคคลระดับสมณศักดิ์สูงล้ำ รวมถึงคำให้การและพยานหลักฐานในหลายคดีความแบบเชือดเฉือนจิตใจระหว่างการซักถามเพื่อเป็นข้อมูลสาธารณะ ได้กลายเป็นข่าวพาดหัวครั้งสำคัญอย่างต่อเนื่องมาแล้วตลอดหลายปี

อดีตพระคาร์ดินัล ธีโอดอร์ แมคคาร์ริค

ธีโอดอร์ แมคคาร์ริค (Theodore McCarrick) อายุ 88 ปี อดีตพระคาร์ดินัลแห่ง วอชิงตัน ดี.ซี. ในสหรัฐอเมริกา นับจากปี 2001 ถึง 2006 เพิ่งจะโดนไล่ให้สึกออกจากความเป็นพระสงฆ์ เนื่องจากถูกกล่าวหาในการทำละเมิดทางเพศเมื่อเพียง 10 วันก่อนหน้านี้ – ทำให้เขาเป็นนักบวชคาทอลิกอาวุโสสูงสุดที่โดนถอดถอนฐานะสงฆ์ในยุคปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ประเด็นการช่วยปกปิดผู้ถูกกล่าวหายังคงก่อปัญหาเรื้อรังให้แก่แวดวงศาสนจักร กลุ่มผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากโวยวายว่าสำนักวาติกันยังไม่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างเพียงพอ ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ เมื่อไม่นานสันตะปาปาฟรานซิสได้จัดให้มีการประชุมสุดยอดที่ไม่เคยมีมาก่อนเกี่ยวกับการกระทำลามกอนาจารในวงการนักบวชแห่งศาสนจักร

แม้ว่าข้อกล่าวหาของบางกรณีย้อนกลับไปได้จนถึงทศวรรษ 1950 การละเมิดทางเพศโดยนักบวชที่ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างมีนัยสำคัญเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในทศวรรษ 1990 ปัญหาคล้ายกันเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นโดยมีอีกหลายกรณีเกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ชิลี และประเทศอื่น ในปี 1995 อาร์คบิชอปแห่ง เวียนนา, ออสเตรีย ลาออก ท่ามกลางข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงศาสนจักรที่นั่น

ระหว่างทศวรรษนั้นมีการเปิดเผยเรื่องราวเริ่มต้นจากกรณีการละเมิดแต่ครั้งเก่าก่อนในไอร์แลนด์อย่างกว้างขวาง ช่วงต้นทศวรรษ 2000 การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักบวชของศาสนจักรกลายมาเป็นเรื่องอื้อฉาวระดับโลก

ในสหรัฐอเมริกา บทความรายงานพิเศษของหนังสือพิมพ์ Boston Globe (ตามที่ถูกบันทึกไว้ในภาพยนตร์ Spotlight ปี 2015) เป็นการเปิดเผยถึงการล่วงละเมิดอย่างกว้างขวาง และรวมถึงวิธีการที่นักบวชจอมอนาจารถูกย้ายไปมาในตำแหน่งต่างสถานที่โดยผู้นำศาสนจักรแทนที่จะให้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับข้อหาในคดีความที่ได้กระทำผิด ได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนที่เคยตกเป็นเหยื่อก้าวออกมาแสดงตัวตนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

รายงานของทางการศาสนจักรเองเมื่อปี 2004 แสดงว่านักบวชโรมันคาทอลิกในสหรัฐอเมริกากว่า 4,000 คนได้เผชิญกับข้อกล่าวหาการล่วงละเมิดทางเพศระหว่าง 50 ปีที่ผ่านมาในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเด็กมากกว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย

สันตะปาปาฟรานซิสได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อหาหนทางจัดการกับการละเมิดทางเพศ ในไม่กี่วันที่ผ่านมาท่านได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลงมือ ‘กระทำการอย่างเป็นรูปธรรม’ พร้อมกับออกคำประณามด้วยว่า การกระทำละเมิดทางเพศโดยนักบวชถือว่าเป็น ‘เครื่องมือของซาตาน’

แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า สันตะปาปาน่าจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นเพื่อต่อสู้กับบรรดาเฒ่าหัวงูรวมถึงผู้ที่ช่วยปกปิดการล่วงละเมิดเหล่านั้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
Reuters
The Guardian
BBC
Washington Post

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า