บทความชิ้นนี้จะอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคม ที่ผู้เขียนขอจำกัดให้แคบลงไปหมายถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนว “การเมืองบนท้องถนน” (ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541) ที่มีคุณูปการต่อการจรรโลงหรือยกระดับความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย คือการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย บนพื้นฐานของการถกเถียงด้วยข้อมูลและเหตุผล ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่าเกิด ‘สังคมเจรจา’
ทว่าต่อมา การเคลื่อนไหวและการชุมนุมประท้วงทางการเมือง กลับเคลื่อนห่างจากการเจรจา กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่มุ่งบรรลุความต้องการของตนฝ่ายเดียว ไม่เน้นการเอาชนะด้วยข้อมูลและเหตุผล จนท้ายที่สุดกลายเป็นการปะทะกันด้วยความรุนแรง ผู้เขียนขอเรียกสภาวะไร้อารยะนี้ว่า ‘สังคมสหบาทา’ ดังนั้น หากประชาสังคมไทยจะกลับมามีบทบาทในการจรรโลงประชาธิปไตย จำเป็นต้องกลับไปหาการสร้างวัฒนธรรมให้เกิดสังคมบนฐานของการเจรจาด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง
ข้อมูลที่ผู้เขียนใช้ในบทความนี้มาจากสองแหล่งใหญ่
หนึ่ง – จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่เคยทำงานใกล้ชิดอยู่ในกองเลขาฯ สมัชชาคนจน ช่วงปี 2539-2540 และต่อมาร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค (2540-2546) จากนั้นจึงเป็นที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ จนถึงปัจจุบัน
สอง – ข้อมูลจากการติดตามข่าวสารการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง
ส่วนแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ ‘สังคมอารยะ’ (civil society) ส่วนใหญ่มาจากความรู้ที่ผู้เขียนได้รับมาจากช่วงเป็นผู้ช่วยวิจัย อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ทำวิจัยและเขียนหนังสือ ประชาสังคม (ธีรยุทธ 2547) เป็นกรอบในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์
สังคมอารยะ – สังคมเจรจา
ก่อนอื่นผู้เขียนเห็นคล้อยตามอาจารย์ธีรยุทธว่า เราจะทำความเข้าใจแนวคิด civil society ได้ดีกว่า หากแปลเป็นภาษาไทยด้วยคำว่า ‘สังคมอารยะ’ (ธีรยุทธ 2547:29) แทนที่จะใช้คำว่า ‘ประชาสังคม’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป ความหมายตรงตัวของคำว่า civil society หรือ สังคมอารยะ แสดงให้เห็นถึงการมีสังคมที่อารยะ (civil)
นักวิชาการต่างประเทศที่สนใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของ civil society หลายคนชี้ว่า กระบวนการเกิดขึ้นของสังคมอารยะ ใช้เวลาบ่มเพาะยาวนานหลายร้อยปี ก่อนจะมาเผยตัวเป็นรูปเป็นร่างราวศตวรรษที่ 18-19 เกิดสังคมที่ผู้คนถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างมีอารยะ ไม่ว่าจะเป็นในร้านกาแฟ สโมสร ห้องรับแขก ในบริบทสังคมไทย เราอาจจะนึกถึง ‘สภากาแฟ’ คนมากินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ แล้วพูดคุยกันเรื่องข่าวสารการบ้านการเมือง
การเกิดขึ้นของสังคมอารยะในยุโรปใช้เวลานาน เป็นผลมาจากหลายกระแส เช่น การเสื่อมถอยของการครอบงำความรู้ของศาสนจักร ทำให้เกิดการแสวงหาความรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เกิดปรัชญาที่เน้นเหตุผล การโต้แย้งเพื่อสรรค์สร้างความรู้ใหม่ การเปลี่ยนจากสังคมยุคศักดินามาสู่สังคมทุนนิยม อุตสาหกรรม แต่คุณลักษณะสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สังคมสมัยใหม่แยกจากสังคมยุคกลางก็คือ การปลดหรือลดการใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา
ในอดีต สังคมศักดินาหรือราชสำนักไม่ได้เป็นสังคมที่ถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ พิธีกรรม เป็นสำคัญ หากมีความขัดแย้ง ก็ตัดสินกันด้วยความรุนแรง การท้าดวล สงคราม หรือลอบทำร้าย (ธีรยุทธ 2547: 79-80) ดังนั้น หากจะนิยามการเกิดขึ้นของสังคมอารยะก็คือ การเกิดขึ้นของสังคมที่โต้แย้งกันด้วยข้อมูลเหตุผลอย่างมีอารยะนั่นเอง
นักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยคนสำคัญอย่าง เจอร์เกน ฮาเบอร์มัส (Jurgen Habermas) ถึงกับชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสังคมสมัยใหม่ก็คือ การเกิดขึ้นของสังคมสื่อสาร (communicative society) ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานสำคัญว่า มนุษย์มีคุณธรรมในการสื่อสารการสนทนา รับฟังเหตุผล การถกเถียงทางสาธารณะทำให้เกิดความเห็นสาธารณะ
นอกจากนี้ ฮาเบอร์มัสยังพูดถึงหลักควรปฏิบัติที่เขาเรียกว่า “เป็นสภาวะอุดมคติของการสนทนา” เช่น คนในสังคมมีโอกาสเท่าเทียมกันในการสนทนา การเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม การไม่ถูกปิดกั้นโดยอำนาจทางเศรษฐกิจหรือการเมือง (ธีรยุทธ 2547: 167-180)
อย่างไรก็ดี สภาวะอุดมคติที่คนทุกคนจะมีโอกาส มีพื้นที่ในการสื่อสารเท่าเทียมกันนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเล็กคนน้อยไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว สิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวการเมืองบนท้องถนนทำก็คือ การเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดพื้นที่ในการสื่อสาร การต่อรอง การเจรจา ไม่ใช่แค่การชุมนุมการเดินขบวนการเรียกร้องแล้วหยุด แต่เป้าหมายของการเคลื่อนไหวคือ การเจรจา
สิ่งเหล่านี้พัฒนาขึ้นจากบทเรียนของการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาว่า ลำพังยื่นจดหมายร้องเรียนแล้ว กลับไปนอนรอที่บ้านไม่ได้ผล คนจนต้องการได้รับผลการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่คนจนก็ตระหนักว่า ข้อเสนอข้อเรียกร้องของเขา อาจจะได้หรือไม่ได้ตามข้อเรียกร้องทุกประการ ดังนั้นขั้นตอนสำคัญของการเคลื่อนไหวไม่ได้อยู่แค่ท้องถนนแต่อยู่บนโต๊ะเจรจา
ดังที่ สุธี ประศาสน์เศรษฐ เขียนถึงสมัชชาคนจนว่า “การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน เพื่อเรียกร้องต่อรัฐหรือคณะผู้กำหนดนโยบายฝ่ายรัฐ นับเป็นกิจกรรมทางการเมืองโดยตรง… การพุ่งเป้าการเจรจาไปสู่ผู้กุมอำนาจรัฐระดับนโยบาย เป็นการเสนอรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนขึ้นใหม่” (เน้นโดยผู้เขียน) (สุธี 2540: 95)
ทำนองเดียวกัน ประภาส ปิ่นตบแต่ง ก็ชี้ว่า การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ต้องการให้เปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางอำนาจในโครงสร้างเดิมที่ไม่มีพื้นที่ให้กับคนจน และอ้างถึงคำพูดของ ชาวบ้านที่พวกเขาตระหนักว่า “พวกเราไม่มีเงิน ไม่มีเกียรติ ไม่มีอำนาจ พวกเรามีแต่เท้า…” (ประภาส 2541: (9) ) สะท้อนการใช้เท้าเดินขบวนเป็นการสร้างพื้นที่ให้คนจนได้มีเวที มีปากมีเสียงให้คนในสังคมต้องรับฟัง
แต่อย่าเข้าใจผิดว่าคนจนคิดเพียงการกดดัน โดยไม่ใช้สติปัญญา อาจารย์ประภาสเขียนว่า “คนจนถึงเรียกร้องให้ผู้คนในสังคมมาร่วมเรียนรู้ถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้และสติปัญญาในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ (ประภาส 2541: (10) )
ประเด็นที่ผู้เขียนจะย้ำก็คือ การเคลื่อนไหวเดินขบวนที่ผ่านมา ตระหนักว่าท้ายที่สุดต้องไปต่อรองบนโต๊ะเจรจา การสร้างบรรทัดฐานให้เกิดการต่อรองด้วยข้อมูลและเหตุผล คือคุณูปการสำคัญมากที่ขบวนการเคลื่อนไหวได้สร้างไว้ การตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไม่ได้ผูกขาดอยู่ในมือของฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว แต่มีประชาชนมาร่วมตัดสินใจด้วย ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวหลายกลุ่มต่างก็เรียกร้องเพื่อนำไปสู่การเจรจา ไม่ว่าจะเป็นคนสลัมเจรจาขอยืดเวลาไล่รื้อ ขอต่อรองหาที่ดินรองรับ ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการพัฒนา ก็ขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อยากต่อสู้บนฐานของข้อมูล หรือเร็วๆ นี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่ค้าหาบเร่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ กทม. ความต้องการเบื้องต้นก็คือ “ต้องการเจรจา”
หลังจากนั้น เราจะเห็นการเกิดกลไกอื่นๆ ที่เสริมการเจรจาต่อรองที่ประชาชนมีส่วนร่วมออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมชุดต่างๆ การตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาข้อเท็จจริง ในด้านหนึ่ง กลไกเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นกลไกในการถ่วงเวลา แต่อีกด้าน มันคือพัฒนาการของการต่อสู้ซึ่งท้ายที่สุดต้องตัดสินกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงและเหตุผล
หากกล่าวในภาษาของแนวคิด civil society คุณูปการสำคัญที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มีส่วนสร้างสรรค์ให้เกิดก็คือ การสร้างสังคมอารยะบนฐานของการเจรจาต่อรองด้วยข้อมูลและเหตุผล
แน่นอนว่าสังคมภาคส่วนอื่นๆ ก็มีส่วนในการสร้างความเป็นอารยะให้กับสังคมไทยด้วย โดยเฉพาะสื่อมวลชน ที่เห็นได้ชัดคือ ช่วงพฤษภาคม 2535 สังคมไทยมีรายการดีๆ และสร้างสรรค์มาก อย่างรายการ ‘มองต่างมุม’ เป็นการสร้างวัฒนธรรมให้คนเห็นแตกต่างกันมาแลกเปลี่ยนถกเถียง แม้คนมากมายจะมองต่างมุมกันได้ แต่เราก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่ต้องทะเลาะ ไม่ต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน รายการเสวนาอื่นๆ อย่าง เนชั่นนิวส์ทอล์ค ที่เชิญคนเห็นต่างมาถกเถียงกัน ก็ควรกล่าวถึงเช่นกัน
จาก ‘สังคมเจรจา’ สู่ ‘สังคมสหบาทา’
เป็นที่น่าเสียใจว่าความเป็นสังคมอารยะในสังคมไทยกลับเดินถอยหลัง เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ใช่แค่เพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้เกิดการเจรจา แต่กลายเป็นการเดินขบวนบนท้องถนน ต้องการบรรลุเป้าหมายที่ตนเองต้องการทั้งหมดโดยไม่ยอมรับการเจรจา มากกว่านั้นกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ปะทะกันด้วยความรุนแรง
ผู้เขียนอยากจะชี้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าสีใด หากปฏิเสธการเจรจา การต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล แต่ต้องการกดดันเพื่อให้ผลเรียกร้องตามที่ต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์ มีส่วนในการทำให้สังคมอารยะถดถอยและผลักสังคมไปสู่ทางตัน ตัวอย่างเช่น เราต่างจำเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งจบลงด้วยการใช้ทหารหลายกองพันล้อมปราบประชาชน ตีวงกว้างจากสวนลุมพินี ดินแดง ประตูน้ำ สู่ใจกลางการชุมนุมที่ราชประสงค์
มีชั่วขณะหนึ่งของการชุมนุมอย่างตึงเครียด ที่มีความหวังว่าจะเห็นความเป็นอารยะ คือเกิดการเจรจาต่อรองระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กับแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง จะเห็นว่า จากคู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแกนนำผู้ชุมนุม ที่ดูเหมือนจะไม่อาจสนทนากันได้ แต่เมื่อมีการเจรจา มีการถ่ายทอดสด สังคมจะจับจ้องเองว่า การเรียกร้องนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร จนสุดท้าย การเจรจาดูเหมือนเกือบจะมีทางออก เพราะเห็นต่างกันแค่ว่าจะให้เวลารัฐบาลอยู่ต่ออีกกี่เดือนจึงจะยุบสภา นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเจรจากำลังจะทำให้ความขัดแย้งหาข้อยุติที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับกันได้
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า อยู่ๆ ก็มีการล้มโต๊ะเจรจา ผู้เขียนไม่ทราบเบื้องหลังเบื้องลึกว่า ทำไมจึงเกิดการล้มโต๊ะเจรจา การไม่เจรจาทำให้ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น และท้ายที่สุด การปราบปรามก็เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อการปราบปรามกลางเมืองเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้เกิดบาดแผลและความแตกแยกร้าวลึกในสังคมไทย คนที่เห็นใจคนเสื้อแดงก็ยิ่งโกรธแค้นรัฐบาลและฝั่งอำมาตย์ ส่วนฝ่ายที่ไม่ชอบเสื้อแดงก็รู้สึกพอใจ กลายเป็นแต่ละฝ่ายยิ่งยืนอยู่ในจุดที่มองจากคนละมุมกันมากขึ้น
อีกสถานการณ์หนึ่งก็คือ การเคลื่อนไหวของ กปปส. ยิ่งเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวที่ความเป็นอารยะลดลง เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ประสงค์จะต่อรอง แต่ต้องการผลักให้ไปสู่ทางตัน เช่น เมื่อรัฐบาลยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วยังไม่ยอมรับ แต่ต้องการลาออกจากรัฐบาลรักษาการเพื่อให้เกิดสุญญากาศ แล้วก็มีคำแปลกๆ เกิดขึ้น เช่น ใครคือรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อถูกตั้งคำถามว่า กระบวนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นักวิชาการของฝั่งผู้ชุมนุมก็ตอบรายละเอียดไม่ได้ แถมยังบอกอีกว่า คำถามเหล่านี้เก็บไว้ก่อน อย่าถามตอนนี้ เป็นการตีรวน เป็นการสกัดการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และการเคลื่อนไหวก็ถอยห่างจากความเป็นอารยะ คือการละเมิดสิทธิของคนอื่น อย่างการปิดกั้นการเลือกตั้ง
ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตถึงการถอยห่างจากการเจรจาในสองประเด็น
หนึ่ง – กลุ่มหรือฝ่ายที่ปฏิเสธการเจรจา มักจะเป็นฝ่ายที่รู้ตัวอยู่ในใจลึกๆ ว่า ถ้าถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลแล้วแพ้ จึงมักจะปฏิเสธการเจรจา ยกตัวอย่างเช่น “อย่าไปเถียงกับพวกเสื้อแดงเลย เถียงไปก็ไม่ชนะพวกนี้หรอก พวกนี้อ้างหลักการเก่ง ประชาธิปไตยมันถูกล่ะ ดังนั้นอย่าเถียงเลย” / “พูดกับพวกคุณไม่รู้เรื่อง พวกคุณเห็นแก่ตัว ผมไม่คุยด้วยแล้ว”
สอง – มีความเสื่อมถอยของวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนกับคนที่เห็นแตกต่างเกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของสื่อฝ่ายใครฝ่ายมัน ทำให้กลายเป็นแนวทางว่าถ้าชอบเสื้อแดงก็ดูทีวีดาวเทียมช่องนี้ ถ้าชอบเสื้อเหลืองก็ดูทีวีช่องนี้ แม้แต่พรรคการเมืองก็ยังมีทีวีของตัวเอง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้ผู้ชมถนัดแต่การรับสารข้างเดียว รับมุมมองฝ่ายเดียว ด้านโทรทัศน์กระแสหลัก ก็ปรากฏว่ารายการประเภทเชิญคนเห็นแตกต่าง ถูกมองว่าส่งเสริมความขัดแย้ง และก็มีจำนวนน้อยลง จนกลายเป็นเสนอทัศนะด้านเดียว
รายการที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ รายการตอนหกโมงเย็นของทุกวัน และตอนสองทุ่มวันศุกร์ ที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียว และบังคับให้ทุกช่องต้องถ่ายทอด
ท้ายที่สุด จึงเกิดสังคมที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘สังคมสหบาทา’ ซึ่งคืออาการเสื่อมถอยขั้นสุดของการไร้อารยะ เป็นการย้อนกลับไปสู่สังคมก่อนสมัยใหม่ แพ้-ชนะ ถูก-ผิด ชี้วัดกันด้วยการใช้กำลัง แทนข้อมูลและเหตุผล สังคมสหบาทาเกิดขึ้นมา เมื่อผู้คนถูกกล่อมเกลาด้วยข้อมูลด้านเดียว จนมองคนเห็นต่างเป็นศัตรู และก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับกลุ่มทางการเมืองทั้งสองสีเสื้อ เช่น ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ปี 2550 และมีประเด็นเขาพระวิหาร กลุ่มพันธมิตรที่จะเดินทางไปที่เขาพระวิหาร กลับถูกดักตี หรือการพังเวทีคนเสื้อเหลืองที่ชุมนุมที่จังหวัดขอนแก่น ทำนองว่าที่นั่นเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองห้ามเปิดเวที การแสดงออกในลักษณะนี้ ไม่เป็นผลดีกับประชาธิปไตย มีแต่สร้างความอนารยะในสังคม
ด้านฝั่งพันธมิตรหรือที่ต่อมาเป็น กปปส. ก็มีลักษณะเดียวกัน การทำร้ายคนที่เห็นแตกต่าง คนที่อยากไปเลือกตั้ง กลายเป็นความผิดร้ายแรงขึ้นมาทันที หรือการชุมนุมปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ ละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็ส่งผลร้ายต่อประชาธิปไตย และผลักสังคมถอยหลังไปสู่สังคมที่ใช้กำลัง
การที่ขบวนการเคลื่อนไหวเดินขบวนนำไปสู่การปะทะกันด้วยความรุนแรง ยังส่งผลเสียต่อกลุ่มชาวบ้านที่เคยใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจต่อรองอย่างมีอารยะ ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะการชุมนุมถูกให้ความหมายว่าเท่ากับความวุ่นวาย ทั้งๆ ที่ในอดีตการชุมนุมของคนจนนั้นอารยะมากกว่าการชุมนุมทางการเมืองเสียอีก
ร่วมพาสังคมไทยกลับไปสู่สังคมเจรจา: วิถีทางการกอบกู้ประชาธิปไตย
สังคมไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งอย่างช้าภายในเดือนพฤษภาคม 2562 อย่างน้อย ก็พอจะส่งผลดีกับประชาธิปไตยดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ดังที่เราต่างได้ทราบแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้วางกลไกสืบทอดอำนาจให้ คสช. ไว้มาก ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตั้ง สว. การมี พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องทำตาม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยากมาก ดังนั้น จึงไม่น่าสงสัยว่า หลังการเลือกตั้ง ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมไทย ระหว่างผู้ที่ต้องการแก้ไข กับผู้ที่ต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่คนแต่ละกลุ่มในสังคมจะเห็นขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติ
เมื่อความขัดแย้งย่อมมีอยู่ในสังคมเป็นเรื่องปกติ วิธีการรับมือจึงไม่ใช่การเก็บกดปิดกั้นความขัดแย้ง แต่ต้องจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ โดยพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ ชวนคนเห็นแตกต่างมาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกัน (ไม่ใช่คิดแบบ คสช. ที่คิดว่าความคิดตัวเองถูกฝ่ายเดียว แล้วอยากจะเปลี่ยนทัศนะคนอื่นข้างเดียว แต่ตัวเองไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติ) สื่อมวลชน สถาบันวิชาการก็ต้องช่วยกันส่งเสริมวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ผู้เขียนเห็นสัญญาณที่ดีในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นการอภิปรายของญาติวีรชนพฤษภา เชิญ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ไปอภิปรายเวทีเดียวกันกับตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์
ถ้ารายการโทรทัศน์เชิญผู้เห็นต่างมาถกเถียง วัฒนธรรมการรับฟังคนที่แตกต่างก็จะได้กลับคืนมา สถาบันทางวิชาการก็เช่นกัน และจะเป็นการดีมาก หาก คสช. หรือรัฐบาล จะมีตัวแทนมาร่วมเวทีอภิปราย ถ้าฝ่ายรัฐไม่อยากมาขึ้นเวที ก็ขอให้กลับไปอ่านข้อสังเกตข้อที่หนึ่งที่ผู้เขียนให้ไว้ก็คือ กลุ่มหรือฝ่ายที่ปฏิเสธการเจรจา มักจะเป็นฝ่ายที่รู้ตัวอยู่ในใจลึกๆ ว่า ถ้าถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลแล้วแพ้ จึงมักจะปฏิเสธการเจรจา
ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนจะอภิปรายเพื่อเชื่อมโยงกับ ‘สังคมอารยะ’ หรือ ประชาสังคม คือประเด็น คุณธรรมอารยะ (civic virtue) การที่สังคมจะอารยะ ผู้คนในสังคมก็ต้องมีคุณธรรมค่านิยมบางอย่างที่จำเป็นในสังคมอารยะซึ่งมีหลายประการ แต่ผู้เขียนขอเน้นประการเดียว คือความอดกลั้น (tolerance) คือ การอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง เวทีอภิปรายอย่างอารยะเกิดขึ้นไม่ได้ ใน “สังคมคนเชียร์มวย” (สำนวน อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว) คือถ้าพวกเราพูดถูกใจก็ปรบมือเสียงดังๆ ถ้าพวกคนอื่นพูดไม่ถูกใจก็โห่ฮา
กล่าวโดยสรุป วิถีทางการกอบกู้ประชาธิปไตยไทย ก็ด้วยการพาสังคมไทยกลับไปสู่สังคมเจรจา ผู้คนรับฟังข้อมูลเหตุผลจากคนที่เห็นแตกต่าง โดยมีคุณธรรมสำคัญคือ การอดทนอดกลั้นต่อทัศนะที่เห็นแตกต่าง ซึ่งแสดงถึงการมีวุฒิภาวะในสังคมอารยะ ไม่ใช่การใช้อารมณ์ “ปั๊ดโท่” เหมือนผู้นำบางประเทศ เมื่อถูกซักถามแล้วตอบไม่ได้.
บรรณานุกรม
Walzer, M. (1974). Civility and civic virtue in contemporary America. Social Research, 593-611. ธีรยุทธ บุญมี. (2547). ประชาสังคม (Civil Soceity). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2541). การเมืองบนท้องถนน: 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก. สุธี ประศาสน์เศรษฐ. 2540. แปดญัตติสมัชชาคนจน. วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 1: 94-100. บทความ ‘ภาคประชาสังคมกับการสร้างสังคมเจรจา’ เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนา ‘การสร้างและจรรโลง ประชาธิปไตย บทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาสังคม’ จัดโดย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 19 กันยายน 2561. |