‘People Go’ ฉากที่ 1 คืนอำนาจให้ประชาชน

go1

การรวมตัวครั้งใหม่ของเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายองค์กร ในนาม ‘People Go Network Forum’ ได้ศึกษารวบรวมสาระสำคัญที่ต้องจับตาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 และประเด็นปัญหาของประชาชนที่ถูกทำให้เลือนหาย ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และรัฐสวัสดิการ

สองมือและสองเท้าของประชาชนพร้อมเดินหน้ากิจกรรม ‘People Go: ก้าวไปด้วยกัน’ เพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. นับจากวันนี้ไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง

go1-icon

สาระสำคัญที่ควรจับตา

ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว (จัดสรรปันส่วนผสม)

การเลือกตั้งแบบ ‘บัตรใบเดียว’ กาครั้งเดียวเลือกทั้ง สส.แบบแบ่งเขต และ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่งผลให้ได้รัฐบาลผสมจากหลายพรรค การบริหารไร้เสถียรภาพ พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากไม่อาจขับเคลื่อนนโยบายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการแข่งขันกันที่ตัวบุคคลมากกว่านโยบาย และปิดโอกาสพรรคการเมืองขนาดเล็ก

เปิดช่องนายกฯ คนนอก

การสืบทอดอำนาจของ คสช. ถูกซุกไว้หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ ‘นายกฯ คนนอก’ เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบใหม่เอื้อให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค โดยในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งแรก สส. และ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเคยเสนอได้

ที่มา สว.

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดแรก 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช. โดย สว. ชุดนี้มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีบทบาทควบคุมทิศทางการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช. วางไว้

อำนาจมิติที่ 4 โดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ

เดิมอำนาจอธิปไตย ได้แก่ บริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เพิ่มอำนาจมิติที่ 4 ให้กับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่กำกับอำนาจที่มาจากตัวแทนประชาชน และมีอำนาจควบคุมรัฐบาลมากขึ้น

รธน. ร่างง่าย แก้ยาก

การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระที่สาม นอกจากนี้ต้องมี สส. จากพรรคฝ่ายค้าน ประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค และบางหมวดหากจะแก้ไขต้องไปออกเสียงประชามติก่อน

กฎหมายที่เกี่ยวเนื่อง

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกฎหมายเกี่ยวเนื่องที่ต้องจับตาอย่างน้อย 15 ฉบับ เช่น ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิรูปประเทศโดย คสช. โดยมีผลผูกพันให้รัฐบาลชุดต่อไปที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำเนินนโยบายตาม

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ อาทิ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ประชาชนยังต้องเผชิญต่อไปคือ ประกาศและคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ รวมแล้ว 323 ฉบับ เช่น การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ห้ามชุมนุมทางการเมือง การรุกไล่พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. (มาตรา 44) อีกอย่างน้อย 115 ฉบับ และกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างน้อย 195 ฉบับ เช่น ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิตอล พ.ร.บ.คอมฯ กระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอล กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายแร่ เป็นต้น

go1-icon

สิ่งที่ คสช. ทำ

ประชาธิปไตย = เผด็จการซ่อนรูป

รัฐบาล คสช. สัญญาว่าจะเร่งเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็น ‘เผด็จการซ่อนรูป’ ทั้งการเปิดช่องให้มี ‘นายกฯ คนนอก’ การใช้อำนาจแต่งตั้ง สว. 250 คน เพื่อกำกับควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 44 ที่ทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตย เป็นช่องทางให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ

สิทธิเสรีภาพ = ภาพลวงตา

แม้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญจะมีข้อบัญญัติว่าด้วย ‘สิทธิเสรีภาพ’ แต่โดยเนื้อแท้ยังถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไขความมั่นคงของรัฐ และข้อความทิ้งท้ายว่า “ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนด” อีกทั้งถูกกดทับด้วยประกาศ/คำสั่ง คสช. หลายฉบับ อาทิ

  • รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยคำสั่งนี้ถูกใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธมาแล้วอย่างน้อย 175 คน
  • รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น แต่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ห้ามสื่อเชิญบุคคลมาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม ฯลฯ
  • รัฐธรรมนูญ มาตรา 78 ระบุว่า รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ แต่ สนช. ได้ออกกฎหมายอย่างน้อย 195 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 อย่างน้อย 115 ฉบับ ซึ่งไม่เคยถามประชาชน
  • รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ระบุว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แต่ในยุครัฐบาล คสช. มีการจับกุมประชาชนจำนวนมากโดยใช้กฎอัยการศึกและคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่มีการควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

go1-icon

สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

รัฐธรรมนูญ

  • สถาบันทางการเมืองต้องยึดโยงกับประชาชน
  • มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ
  • มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • รัฐบาลที่มาจากประชาชนสามารถบริหารประเทศโดยไร้การแทรกแซง
  • สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

ตุลาการ

  • หยุดกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน
  • ไม่ใช้สถานะของตนเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายผู้เห็นต่าง
  • ไม่ใช้สถานะของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
  • มีระบบตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

กองทัพ

  • เลิกยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนแตกแยกโดยอ้างวาทกรรมความมั่นคง
  • เลิกแทรกแซงการเมือง กิจการพลเรือน และความมั่นคงภายใน
  • อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเรือน
  • เปิดให้มีการตรวจสอบได้เช่นเดียวกับข้าราชการการเมือง
  • ไม่เป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจใดๆ
  • หยุดการคอร์รัปชัน
  • ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

peoplego-logo

ที่มา: People Go Network Forum

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า