‘People Go’ ฉากที่ 3 การศึกษานอกกะลา

peoplego3

เครือข่ายภาคประชาชนในนาม ‘People Go Network Forum’ กระเทาะเปลือกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ให้เห็นถึงเนื้อในของทิศทางการศึกษาไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. พร้อมจัดทำข้อเสนอภาคประชาชน เรียกร้องสิทธิพื้นฐานทางการศึกษาและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยหวังว่าอนาคตของเด็กและเยาวชนไทยไม่ควรถูกกดทับด้วยระบบการศึกษาแบบอำนาจนิยม

สาระสำคัญที่ควรจับตา

แม้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปการศึกษา แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ไม่มีการระบุถึงแนวทางการปรับปรุงระบบการศึกษา การวิจัย และพัฒนาสาขาวิชาต่างๆ ที่น่าจะเป็นไปได้ในทางรูปธรรมแต่อย่างใด

สิ่งที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนคือ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้ ‘เป็นคนดี-มีวินัย-ภูมิใจในชาติ’ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของผู้เรียน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อันเป็นการวางกรอบการศึกษาที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550

ทั้งนี้ รายละเอียดการปฏิรูปการศึกษาในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาทิ

  • สร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
  • ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง โดยการปฏิรูปโครงสร้างและระบบบริหารจัดการการศึกษา
  • จัดโครงสร้างการจัดการศึกษาใหม่เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์
  • ปฏิรูประบบการคลังด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา โดยการจัดสรรงบประมาณตรงสู่ผู้เรียน
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนในการจัดการศึกษา
  • ปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูผู้สอน
  • พัฒนาระบบการประเมินและรับรองคุณภาพที่เน้นผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียน
  • ปฏิรูประบบการเรียนรู้ โดยมุ่งจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะกำลังคนทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • การวิจัยและการใช้เทคโนโลยีและสื่อเพื่อการเรียนรู้

peoplego1-tab

สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ

ลดสิทธิการเรียนฟรีเหลือแค่การศึกษาภาคบังคับ (ม.3)

มาตรา 54 วรรค 1 เขียนว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

กองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์

มาตรา 54 วรรค 6 เขียนว่า “ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด…”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าการทำงานของกองทุนเป็นอย่างไร จะซ้ำซ้อนกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่มีอยู่แล้วหรือไม่

ลดสิทธิและบทบาทของระบบการศึกษาทางเลือก

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 49 วรรค 3 เขียนว่า “การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตัวเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ”

แต่ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 มาตรา 54 วรรค 3 เขียนเพียงว่า “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล”

คนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ

มาตรา 54 วรรค 4 เขียนว่า “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”

peoplego1-tab

สิ่งที่ คสช. ทำ

ประกาศมาตรา 44 เรียนฟรี 15 ปี

เมื่อเกิดข้อถกเถียงกรณี มาตรา 54 วรรค 1 เขียนว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” จึงมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ประกาศเมื่อ 15 มิถุนายน 2559

กำหนดค่านิยม 12 ประการ

11 กรกฎาคม 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำหนด ‘ค่านิยมหลักของคนไทย’ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง ได้แก่ มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์ กตัญญู ใฝ่หาความรู้ เคารพกฎหมาย มีศีลธรรม รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

เขย่าโครงสร้างศึกษาธิการจังหวัด

  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2559 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค
  • คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 38/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2559 และ 11/2559

สาระสำคัญคือ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) และกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อดูแลกิจกรรมต่างๆ ของครูและบุคลากรการศึกษาประจำจังหวัดนั้นๆ

อกศจ. ทำหน้าที่ช่วยเหลือหรือกลั่นกรองงานเกี่ยวกับการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย ดำเนินการทางวินัย กำหนดวิทยฐานะ หรือกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดแก่ กศจ.

ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

โครงการ ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขับเคลื่อนจากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ให้โรงเรียนเลิกเรียนเวลา 14.30 น. จากนั้นให้ผู้เรียนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ โดยเวลาโรงเรียนเลิกยังเป็นไปตามกำหนดเดิมของแต่ละโรงเรียน

เริ่มดำเนินการในโรงเรียนนำร่องร้อยละ 10 ช่วงต้นภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 และดำเนินการในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2559

โครงการนี้นักการศึกษาบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากการรวบรวมองค์ความรู้ หรือใช้กระบวนการทางปัญญาเท่าที่ควรจะเป็น

peoplego1-tab

สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

การศึกษาและการเรียนรู้ต้องจัดการได้ตามความต้องการของผู้เรียน ประชาชนคือคนตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการการเรียนรู้อะไรและอย่างไร รัฐบาลและทีมยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่รับฟังและต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับความต้องการที่แท้จริง

เน้นย้ำถึงสิทธิของนักเรียนและภาคส่วนอื่นๆ ในการศึกษา

เสียงของนักเรียนนักศึกษา คือส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้มากที่สุด ครูผู้สอนก็เป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ สิทธิและเสียงของทุกภาคส่วนนั้นควรค่าและต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย

พัฒนาระบบสวัสดิการการศึกษาแบบถ้วนหน้า

การจัดการศึกษาของไทยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยเท่าเทียม ไม่เฉพาะผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ต้องได้รับการสนับสนุน แต่รวมถึงการศึกษาทางเลือก และการศึกษาด้วยตัวเองของประชาชนในทุกช่วงวัย คือสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ

ส่งเสริมการเคารพและความภูมิใจในความเป็นมนุษย์

หลักในการจัดการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ ‘เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ’ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอาจยังไม่เพียงพอ การศึกษานั้นควรส่งเสริมให้เคารพในความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นเลยคือ การลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่คิดเห็นหรือแสดงออกต่างจากเรา


peoplego-logo

ที่มา: People Go Network Forum

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า