ภาพประกอบ: Shhhh
Ganesh Rakh / กาเนช รัค
ที่ห้องคลอดในบางพื้นที่ของอินเดีย หากทารกที่เกิดใหม่เป็นเพศชาย ญาติพี่น้องจะพากันมาห้อมล้อมมากมาย ทั้งยังมีการเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ แต่กับทารกเพศหญิงอาจไม่เป็นเช่นนั้น นพ.กาเนช รัค บอกว่า สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับหมอที่อินเดีย ไม่ใช่การบอกญาติพี่น้องให้รับรู้ถึงการวายชนม์ของผู้ป่วย แต่เป็นการบอกพ่อแม่ของเด็กว่า ทารกที่จะลืมตามาดูโลกเป็นเด็กผู้หญิง
ตามค่านิยมของอินเดีย ไม่ใช่แค่ปฏิเสธสิทธิสตรี กับเด็กหญิงก็มีสถานะไม่ต่างกัน ทำให้ผู้เป็นแม่ในอินเดียรู้สึกเป็นกังวลกับอนาคตลูกในครรภ์ หากมีการตรวจเพศของทารกแล้วพบว่าเป็นหญิง แม่จำนวนไม่น้อยจะตัดสินใจกำจัดทารกในครรภ์ของตัวเอง ด้วยการทำแท้งวิธีต่างๆ ทำให้อัตราส่วนของเด็กหญิงต่อเด็กชายลดลงจาก 976 คน เหลือเพียง 914 ต่อเด็กชาย 1,000 คน
นพ.รัค จากโรงพยาบาล Hadapsar’s Medicare Hospital ในเมืองปูเน เริ่มโครงการช่วยเหลือทารกเพศหญิงในปี 2012 เขาได้เสนอทางเลือกใหม่เพื่อต่อสู้กับแนวคิดเดิมด้วยการทำคลอดให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดงานเฉลิมฉลองให้กับการมาถึงของสมาชิกในครอบครัวคนใหม่ มีทั้งการจัดดอกไม้ เลี้ยงขนมหวาน และร้องเพลง
เพราะเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน นพ.รัค เข้าใจว่าการทำคลอดในโรงพยาบาลคือรายจ่ายราคาแพงของหลายครอบครัว ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวของเขาช่วยชีวิตเด็กหญิงไว้ได้ถึง 464 คน
เมื่อข่าวนี้แพร่ไปตามสื่อต่างๆ แนวคิดการช่วยชีวิตทารกหญิงจากการทำลายครรภ์ได้ขยายตัวไปยังชุมชนและกลุ่มแพทย์นับร้อยในโรงพยาบาลต่างๆ มีการให้รางวัลแก่ผู้ให้ความช่วยเหลือและชี้เบาะแสการทำแท้ง รวมถึงภาครัฐที่เริ่มกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงการเปลี่ยนค่านิยมบางอย่าง
แต่ด้วยปัญหาเรื่องสภาพเศรษฐกิจระยะยาวของโรงพยาบาล ซึ่งรวมถึงรายรับของเขาและครอบครัว นพ.รัคหวังว่าโครงการทำคลอดฟรีจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในระยะสั้น ด้วยเหตุผลว่า แนวคิดนี้คือการเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน หมอ และสังคม ซึ่งเมื่อทุกฝ่ายให้การยอมรับทารกเพศหญิงแล้ว เขาก็จะกลับมาคิดค่าบริการทำคลอดอีกครั้ง