จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างกว่า 1 ล้านคน นักวิจัยเดนมาร์กพบผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นมีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 80 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยโดย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) พบว่ายาเม็ดคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสติน (Progestin) หรือ (Combined pill) มีส่วนทำให้ผู้หญิงอายุ 20-34 ปีที่กินเป็นประจำเพื่อคุมกำเนิดหรือกินตามคำแนะนำของแพทย์ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค/ภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงทั่วไป 23 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายที่กินยาคุมที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงชนิดเดียว (Minipill) มีความเสี่ยงมากกว่าถึง 34 เปอร์เซ็นต์
แต่ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่กินยาคุมชนิด Combine pill มีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ได้กินถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และ 120 เปอร์เซ็นต์สำหรับหญิงสาววัยรุ่นที่กินยาคุมชนิด Minipill
ทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ศึกษาจากกลุ่มผู้หญิงอายุ 15-34 ปี จำนวน 1 ล้านคนที่อาศัยในประเทศเดนมาร์ก โดยใช้เวลานานกว่า 6 ปี พบว่ากว่า 133,000 คน เคยได้รับการจ่ายยาลดอาการซึมเศร้า และอีกกว่า 23,000 คน ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้า
ผู้หญิงและวัยรุ่น ที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยครั้งนี้ ไม่พบว่ามีประวัติการเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนที่จะได้รับการจ่ายยารักษาโรคซึมเศร้าจากแพทย์
ดร.ออดวิน ไลด์การ์ด (Ojvind Lidegaard) หัวหน้าทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นนี้ไว้ในวารสารจิตเวชศาสตร์ JAMA ใจความตอนหนึ่งระบุว่า จุดประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้มีขึ้นเพื่อรับรองว่า โรคซึมเศร้า คือผลกระทบสำคัญอันเนื่องมาจากการปรับฮอร์โมนเพื่อคุมกำเนิด
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน คือ ส่วนผสมหลักที่ส่งผลต่อธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งอาจเชื่อมโยงหรือส่งผลต่อพัฒนาการของโรคซึมเศร้า แต่การศึกษาวิจัยครั้งนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อหาหลักฐานมายืนยันว่ายาคุมกำเนิดก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า แต่นักวิจัยสรุปไว้ว่า ความเชื่อมโยงระหว่างโรคซึมเศร้ากับยาคุมกำเนิดยังต้องการการศึกษาที่ใช้เวลามากกว่านี้ ซึ่งเป็นไปตามผลการวิจัยที่ให้คำแนะนำว่า โรคซึมเศร้าเป็นผลกระทบที่มาจากการปรับฮอร์โมนเพื่อคุมกำเนิด