เด็กๆ จะเป็นอย่างไรในบ้าน ‘หลายผัวหลายเมีย’

เรื่อง: พชร์ โพธิ์พุ่ม
ภาพประกอบ: Antizeptic

 

ตั้งต้นอธิบายก่อนว่า คำว่า ‘ครอบครัวหลายผัวเมีย’ ที่ว่า ไม่ใช่แบบที่เราเคยชินในละครหลังข่าว ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเมียหลวง เมียน้อย ชู้ หรือกิ๊กใดๆ ทั้งสิ้น

หากความสัมพันธ์แบบ ‘หลายผัวหลายเมีย’ หรือ (Polyamorous Families) ณ ที่นี้ คือการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือได้รับความยินยอมให้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยมีมากกว่าสองคน อาจจะเป็น คู่ชาย 2 หญิง 1 ชาย 1 หญิง 2 รวมถึงครอบครัวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ด้วย

เดือนที่แล้วในโคลัมเบีย ชาย 3 คนได้จดทะเบียนกันอย่างถูกกฎหมาย กลายเป็นครอบครัวหลายผัวหลายเมียที่ถูกกฎหมายครอบครัวแรกในโคลัมเบีย หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญของโคลัมเบียพิจารณาให้การสมรสเพศเดียวกันนั้นชอบด้วยกฎหมายเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

“พวกเราต้องการทำให้ครอบครัวของเราเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของเรา และแสดงให้เห็นว่าเราคือครอบครัวในอีกรูปแบบหนึ่ง” วิคเตอร์ ฮูโก ปราดา (Victor Hugo Prada) นักแสดงชายชาวโคลัมเบียเผยจุดประสงค์ของการจดทะเบียนกับคู่รักเพศเดียวกันอีก 2 คน คนหนึ่งคือผู้ฝึกสอนกีฬาและอีกคนคือนักหนังสือพิมพ์

ขีดเส้นใต้ให้ชัดๆ แน่นอนว่าเราต้องเคารพสิทธิในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและธรรมชาติของครอบครัวแต่ละครัวเรือน แต่สิ่งที่น่าสนใจและต้องพูดถึงคือ ผลกระทบต่อเด็กจะเป็นเช่นไร ด้วยหลักสูตรการศึกษา เครื่องแบบนักเรียนแยกชายหญิง ต่างบอกว่าครอบครัวที่ ‘ถูกต้อง’ เป็นเรื่องของคนสองเพศ และเด็กๆ ในห้องส่วนใหญ่ มีพ่อแม่เป็นชายหญิง หรือไม่ก็ ‘คู่’ รักเพศเดียวกัน และคู่ที่แปลว่า 2 คน

เอลิซาเบธ เชฟ (Elisabeth Sheff) ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวและเด็ก ศึกษาผลกระทบของเด็กในครอบครัวหลายผัวหลายเมียมามากกว่า 20 ปี การศึกษาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1996 จนถึงปัจจุบัน เธอมีหนังสือชื่อ The Polyamorists Next Door ตีพิมพ์ในปี 2014

Elisabeth Sheff ภาพ: huffingtonpost

บทความล่าสุดของเธอ Children in Polyamorous Families (เด็กๆ ในครอบครัวหลายผัวหลายเมีย) ใน Psychologytoday อธิบายว่า ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาครอบครัวหลายผัวหลายเมียเกิดขึ้นมากมายและประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากคือผลกระทบที่มีต่อตัวเด็ก เธอทำการสัมภาษณ์ลูกๆ ของครอบครัวลักษณะนี้กว่า 37 คน โดยจะแบ่งการสัมภาษณ์ออกจำนวนสี่ครั้งตามช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กจนจบมหาวิทยาลัย

อายุ 0-8 ปี

เด็กวัยนี้จะไม่มีการเปรียบเทียบครอบครัวตัวเองกับครอบครัวอื่น ทุกอย่างที่เรียนรู้ในครอบครัวถือเป็นพื้นฐาน เป็นกรอบความคิดของพวกเขา ตัวอย่างเช่น จากการสัมภาษณ์เด็กวัยสามขวบจาก Polyamorous Families พวกเขารู้สึกประหลาดใจมากที่เพื่อนมีพ่อแม่เพียงแค่ 2 คน

แต่การเรียนรู้ความแตกต่างของครอบครัวจะเริ่มขึ้นเมื่อเข้าโรงเรียนประถม และเพราะพวกเขายังไม่เข้าใจความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เด็กวัยนี้จะรับรู้ว่าครอบครัวของเขามีพ่อแม่มากกว่า 2 คน และได้รับประโยชน์จากการมีผู้ใหญ่ดูแลในจำนวนที่มากกว่าเด็กทั่วไป

อายุ 9-12 ปี

เมื่อเริ่มโตขึ้น เด็กๆ ต้องเข้าสู่สังคมที่กว้างขึ้นนอกเหนือจากบ้านและพื้นที่ในครอบครัว ในวัยนี้พวกเขาเริ่มมีพัฒนาการความสงสัยในรูปแบบของครอบครัวและการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ถึงแม้ว่ายังไม่เข้าใจในรายละเอียดนัก พวกเขาจะตระหนักว่าครอบครัวตัวเองต่างจากครอบครัวอื่นๆ แต่การรับรู้นั้นยังไม่ส่งผลต่อพวกเขา เพราะวัยนี้เด็กๆ ยังจะไม่จดจ่อกับสิ่งใดนานนักและเปลี่ยนแปลงความสนใจได้ง่าย

อายุ 13-17 ปี

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะมีความเข้าใจทางสังคมที่ซับซ้อนขึ้นมากกว่าตอนเด็ก พวกเขารู้แน่ชัดว่า ครอบครัวตัวเองต่างจากครอบครัวอื่นและไม่สามารถปกปิดมันจากสังคมเพื่อนและโรงเรียน พวกเขาต้องยอมรับรูปแบบครอบครัวเช่นนี้ และนั่นอาจจะส่งให้พวกเขามีความสับสนเล็กน้อยในการเลือกบทบาททางเพศรวมถึงเพศวิถีของตนเอง แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่นจึงไม่ได้สนใจความสัมพันธ์ในครอบครัวมากนัก ชีวิตของพวกเขาอยู่นอกบ้าน การไปเผชิญโลกนอกบ้านเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อพวกเขามากกว่า

อายุ 18-25 ปี

วัยรุ่นจากครอบครัวหลายผัวหลายเมียเติบโตเหมือนเด็กทั่วไป พวกเขาจะเรียนรู้ความเป็นผู้ใหญ่ สร้างสังคมและพื้นที่ของตัวเอง พื้นฐานของครอบครัวที่แตกต่างไม่ได้มีผลอะไรเลยกับชีวิตของพวกเขา

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาจะมีการปรับตัวเรื่องความสัมพันธ์ได้ง่ายกว่า ยอมรับความสัมพันธ์หลากหลาย และจะไม่นิยามคำศัพท์เรื่องความสัมพันธ์มากกว่าคนทั่วไป

เชฟกล่าวปิดท้ายบทความของเธอว่า ครอบครัวหลายผัวหลายเมียมักจะเลี้ยงลูกออกมาได้ดี รับผิดชอบตัวเองได้ ประสบความสำเร็จ ฉลาด และมีความคิด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะครอบครัวที่ทำการวิจัยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและมีการศึกษาสูง เด็กๆ ได้รับความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่เพียงพอ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่นเงินจากพ่อแม่ที่มีมากกว่า 2 คนอย่างเพียงพอ


ที่มา: psychologytoday.com
telegraph.co.uk

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า