สำรวจภูมิทัศน์การเมืองภาคประชาชนไทยร่วมสมัย ทิศทางการเคลื่อนไหวที่ต้องทบทวน

“ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวประชาชน” วรรคทองของ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เพียงสะท้อนการเชื่อมโยงประเด็นปัญหาของชาวบ้านเข้ากับประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดทิศทางการศึกษา ‘การเมืองภาคประชาชน’ ในแวดวงวิชาการไทย

สถานการณ์การเมืองภาคประชาชนร่วมสมัยในของบริบทประเทศไทยมีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือ ความขัดแย้งในอุดมการณ์เสื้อสีตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา กอปรกับการมาถึงของยุคออนไลน์ที่เปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ต่างออกไป

ในโลกที่ประเด็นทางสังคมถูกโอบอุ้มด้วยเทคโนโลยี มีลักษณะการเคลื่อนไหวบนภูมิทัศน์ที่หลากเลื่อน ผลสำเร็จและการหาทฤษฎีเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ ล้วนเป็นโจทย์ตั้งต้นสำหรับนักวิชาการสายการเมืองภาคประชาชน และน่าสนใจว่า ทิศทางของการเมืองภาคประชาชนจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร

19 มกราคม 2566 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เรื่อง ‘ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองภาคประชาชนไทยร่วมสมัย’ ในวาระพิเศษการเกษียณอายุ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ณ ห้องสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากการปาฐกถานำโดย รศ.ดร.ประภาส ในหัวข้อ ‘ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองภาคประชาชนไทยร่วมสมัย’ ภายในงานยังมีวงเสวนาอีก 2 เวที ได้แก่

1) บทวิเคราะห์ ‘สถานการณ์การเมืองภาคประชาชน 8 ปี หลังรัฐประหาร 2557’ โดย ผศ.ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.อุเชนทร์ เชียงเสน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน

2) บทวิเคราะห์ ‘สถานการณ์การเมืองภาคประชาชน: กรณีศึกษาและพื้นที่ในระดับภูมิภาค’ โดย ‘Eleven Finger’ ธนายุทธ ณ อยุธยา แร็ปเปอร์คลองเตย ดร.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค มหาวิทยาลัยนเรศวร

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

องค์ความรู้และการประเมินผลของ ‘การเมืองภาคประชาชน’ หลังรัฐประหาร 2557

ในมุมมองของนักวิชาการ เอกพลณัฐเท้าความถึงองค์ความรู้การเคลื่อนไหวทางสังคมระดับสากลที่มาจากทฤษฎีสำนักอเมริกา เช่น แนวคิด Political Process, Framing Process ในช่วงทศวรรษ 1970 ที่ขยับขยายจากทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์และมาร์กซิสต์

ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวทางสังคมแพร่สู่พื้นที่ออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้มีการต่อยอดแนวคิดสาย Logic of cognitive action หรือตรรกะการประสานเชื่อมโยง เช่นทฤษฎี Nonviolent Action (สันติวิธีหรือการเคลื่อนไหวที่ปราศจากความรุนแรง) 

เอกพลณัฐ กล่าวว่า ในตำราโลกวิชาการภาษาอังกฤษ คนที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดคือ ชาร์ลส์ ทิลลี่ (Charles Tilly) ซึ่งเป็นนักวิชาการกระแสหลักในกลุ่มทฤษฎีสำนักอเมริกา ขณะที่ชื่อของประภาส ถูกอ้างอิงเสมอในการศึกษาสาย New social movement ในไทย

“ในกรอบวิธีคิดเดิม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมถูกมองในมิติที่ประชาชนไม่ได้ตื่นตัวทางการเมือง การออกมาเคลื่อนไหวจึงต้องถูกจัดการควบคุม แต่หลังจากงานศึกษาของอาจารย์ประภาสออกมา ก็มีทฤษฎีต่างๆ ให้เลือกใช้มากขึ้น สิ่งนี้คือหมุดหมายสำคัญของการศึกษาของไทย”

ถึงอย่างไร งานศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในไทยกลับติดหล่มทฤษฎีการเคลื่อนไหวยุคหลังทศวรรษ 2530 รวมถึงการศึกษา ‘ดิน น้ำ ป่า’ ของอาจารย์ประภาสที่อาจไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในยุคออนไลน์

งานศึกษาล่าสุดของเอกพลณัฐแสดงให้เห็นว่า ในปี 2563 การมีส่วนร่วมบนเฟซบุ๊กของคนไทยสัมพันธ์กับจำนวนการลงถนน เช่น การปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูง บริเวณแยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่มีผู้ชุมนุมหลักแสนคน ขณะที่ 17 สิงหาคม 2564 แม้จะมีผู้มีส่วนร่วมบนโลกออนไลน์จำนวนเท่ากัน แต่จำนวนคนลงถนนในม็อบทะลุฟ้ากลับถดถอยไปที่หลักพันคน ด้วยปัจจัยทางกฎหมายและมาตรการการรับมือของรัฐที่เข้มข้นขึ้น

“การเอาตัวเองไปอยู่ในโลกออนไลน์ ทำให้เรากลายเป็นเพียงปัจเจก แต่เวลาเราพูดถึงส่วนรวม เราต้องปรับ ‘me’ ให้เป็น ‘we’” เอกพลณัฐกล่าวต่อไปว่า “ถึงที่สุด เราไม่สามารถเอาอารมณ์โกรธเกรี้ยวของเราบนพื้นที่ออนไลน์ไปใช้งานได้โดยตลอด”

ผศ.ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์

ขณะที่ อุเชนทร์เผยว่า ประเด็นข้อเรียกร้องหรือกิจกรรมอันหลากหลายของผู้เคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษา ล้วนบอกความสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวคณะราษฎร 2563 ในตัวเอง สิ่งที่อุเชนทร์สนใจคือ การประเมินผลสำเร็จของการเคลื่อนไหว ซึ่งในภาพรวมต้องยอมรับว่าไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ปัจจัยที่ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ประสบความสำเร็จคือ องค์กรร่วมหรือกลุ่มต่างๆ ลดบทบาทลง ไม่มีการตอบสนองเชิงนโยบายจากข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน รวมถึงสังคมไทยกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง แต่หากประเมินแบบใหม่ เราอาจเห็นพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหวในมิติที่น่าสนใจ

อันดับแรก แม้การดำเนินคดีแกนนำ ข่มขู่คุกคาม และกดปราบด้วยความรุนแรงจะทำให้การเคลื่อนไหวอ่อนแอลง แต่ในปี 2564 มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 1,516 ครั้ง และในปี 2565 ยังปรากฏกิจกรรมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมยืนหยุดขัง หรือม็อบราษฎรหยุดเอเปค 2022 สิ่งนี้สะท้อนว่า ภายใต้ปีกของการเคลื่อนไหว ผู้ชุมนุมมีความยืดหยุ่นคงทนต่อมาตรการของรัฐและคงจิตสำนึกร่วมของเครือข่ายไว้ได้

ถัดมา ในมิติของโครงสร้างโอกาสทางการเมือง อุเชนทร์มองว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันได้รับพื้นที่สื่อมากขึ้นและสื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อการรายงานข่าวการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง มากไปกว่านั้น พื้นที่ทางการเมืองยังตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหว เช่น พรรคก้าวไกลมีนโยบายสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และยังเคยอภิปรายงบสถาบันกษัตริย์เมื่อครั้งสมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ และแม้พรรคอื่นจะยังไม่มีจุดยืนแน่ชัด แต่เวทีดีเบทหาเสียงย่อมต้องพูดถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ขณะที่มิติของปฏิบัติการแย่งชิงความหมายในพื้นที่สาธารณะ อาจเห็นได้จากกรณี ปฏิเสธการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง หรือการยกเลิกกิจกรรมรับน้องในหลายมหาวิทยาลัย กล่าวคือ แบบแผนที่ผูกติดกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมกำลังถูกสั่งคลอนและมองข้ามอย่างไม่ไยดี

หากมองใน 3 มิติข้างต้น อุเชนทร์สรุปว่า “คุณไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงสถาบันการเมืองได้หรอก ถ้าวัฒนธรรมมันไม่เปลี่ยน และต่อให้คุณเปลี่ยนได้ มันก็มีโอกาสกลับคืนมาได้ สิ่งนี้คือการปฏิวัติทางวัฒนธรรมที่รองรับการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันในอนาคต” 

อ.อุเชนทร์ เชียงเสน

ทิศทางของขบวนการแรงงาน คือทิศทางของขบวนการภาคประชาชน

“ขบวนการภาคประชาชนในบ้านเราต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานค่อนข้างเยอะ” ศักดินากล่าว “สิ่งที่ขาดไปในบ้านเราก็คือ การทำให้ขบวนการภาคประชาชนกับขบวนการแรงงานหลอมรวมเป็นขบวนการเดียวกัน”

ในฐานะนักวิชาการที่คร่ำหวอดประเด็นแรงงานอย่างยาวนาน ศักดินาเปรียบเทียบว่า ในประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการเรียกร้องประชาธิปไตยและมีความเสมอภาคเท่าเทียม ล้วนเป็นประเทศที่ขบวนการภาคประชาชนเข้มแข็ง ซึ่งมีขบวนการแรงงานเป็นตัวละครหลัก หากแต่ในประเทศไทย ขบวนการภาคประชาชนมีลักษณะกระจัดกระจายและเรียกร้องประเด็นเฉพาะกิจ

ศักดินาตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาที่สังคมไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองและเป็นประชาธิปไตยสูง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ขบวนการภาคประชาชนมีกลุ่มแรงงานร่วมอยู่ด้วย อาทิ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มสหอาชีวะกรรมกร มีบทบาทสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ จนสามารถก่อตั้งพรรคการเมืองได้ หรือการเติบโตของขบวนการแรงงานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นต้น

กระนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา จบลงไม่นาน รัฐบาลออก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่เสมือนการคุมกำเนิดไม่ให้กลุ่มแรงงานเติบโต โดยตีกรอบสหภาพแรงงานไว้ภายในขอบเขตรั้วแรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานมีสมาชิกเพียงร้อยละ 1.5 ของคนทำงานทั้งหมด และภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขบวนการแรงงานก็ถอยร่นไปตามตะเข็บสังคมพร้อมกับขบวนการภาคประชาชน

สหภาพแรงงานกลับมากระเตื้องอีกครั้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และเป็นยุคทองของขบวนการภาคประชาชน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งเหลือง-แดง ที่ส่งผลสะเทือนต่อขบวนการภาคประชาชน ขบวนการแรงงานที่มีคนน้อยเป็นทุนเดิม จึงถูกกระแส ‘รักเจ้า’ พัดพาเข้าสู่ฝั่งของฝ่ายขวาตามกลุ่มคนเสื้อเหลือง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหาร 2557 

ศักดินามองว่า ยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) คือจุดตกต่ำที่สุดยุคหนึ่งของขบวนการแรงงานที่เคยต่อสู้เคียงข้างฝั่งประชาธิปไตยมาตลอด

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

“ขบวนการแรงงานในระยะหลังๆ เข้าไปอยู่ในฟากขวาจัด มีเพียงส่วนน้อยที่ยืนหยัดต้านรัฐประหาร เมื่อคณะราษฎรเกิดใหม่ คนกลุ่มนี้เข้าไปแตะมือ เชื่อมประสาน เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับซากเดน คสช.

“ประเด็นเรื่องสหภาพแรงงานถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในกลุ่มคนหนุ่มสาว นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรแรงงานรูปแบบใหม่และมีท่าทีชัดเจน เช่น สหภาพคนทำงาน สหภาพไรเดอร์ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ สหภาพบาริสต้าในเชียงใหม่”

ศักดินาขยายความว่า สหภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกรับรองตามกฎหมาย แต่มีความพยายามเชื่อมร้อยหลอมรวมให้ขบวนการภาคประชาชนแบบใหม่มีความยั่งยืนกว่าที่เป็นมา 

“อำนาจไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่การรวมตัวกัน” ศักดินาสรุปว่า “ขบวนการประชาธิปไตยต้องตระหนักว่า การต่อสู้แบบเดิมเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ไปต่อไม่ได้ ต้องหาองค์กรที่ยั่งยืนมั่นคงกว่า แล้วองค์กรที่ว่านั้น ถูกพิสูจน์แล้วในหลายประเทศก็คือ สหภาพแรงงาน”

คลองเตยและอุบลราชธานี: ตัวอย่างสถานการณ์การเมืองภาคประชาชน

ธันวาคม 2564 ชุมชนชาวคลองเตยรวมตัวกันคัดค้านข้อเสนอเวนคืนที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 3 ประการคือ 1) ให้ชาวชุมชนย้ายไปอยู่ Smart Community 2) ให้ชาวชุมชนย้ายไปอยู่ในพื้นที่หนองจอก และ 3) ให้ชาวชุมชนย้ายกลับไปภูมิลำเนาเดิม ซึ่งการท่าเรือฯ จะให้เงิน 500,000 บาท แต่ถ้าไปอยู่ห้องชุดจะไม่ได้เงิน

ในฐานะชาวคลองเตยคนหนึ่ง ‘Eleven Finger’ ธนายุทธ ณ อยุธยา เล่าว่า คลองเตยคือพื้นที่ทำเลทองที่ภาคเอกชนจ้องตาเป็นมัน เพราะสามารถเชื่อมกับย่านสุขุมวิท เอกมัย รัชดา ทองหล่อ กล่าวคือ เอื้อต่อการเดินทางทั่วกรุงเทพฯ

“หลังจากที่คุณบอกว่าจะทำให้ที่นี่เจริญขึ้น จริงๆ แล้วชาวคลองเตยได้อะไรหลังจากนั้นบ้าง

“เสียงสะท้อนของผู้คนที่สะท้อนออกไปมันเบามากๆ จนคนที่มีอำนาจตัดสินใจแทบจะไม่ได้ยินเลย”

นอกเหนือจากประเด็นเวนคืนที่ดิน ปัญหาเรื้อรังอย่างยาเสพติดก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งสัมพันธ์กับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ธนายุทธขยายความว่า ผู้ค้ายาเสพติดในคลองเตยล้วนอยากประกอบอาชีพสุจริตและไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจข่มขู่ว่า หากยกเลิกการจ่ายส่วยหรือเงินใต้โต๊ะ ก็จะจับข้อหาค้ายาเสพติดทันที สิ่งนี้เสมือนการเลี้ยงไข้ปัญหายาเสพติดในชุมชน

“ในคลองเตย เราเห็นการชกต่อยกัน เห็นการทะเลาะกัน เห็นพ่อแม่ด่าลูก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ทั้งที่มันไม่ควรเป็นเรื่องปกติ หากสังเกตดู ไม่มีครอบครัวไหนในคลองเตยที่มีความสุขได้อย่างเต็มร้อย

“ปัญหาการกดทับทางสังคมมันส่งผลแรงมากกับผู้คนชนชั้นล่าง คนรากหญ้า คนชายขอบ ซึ่งสภาพครอบครัวยิ่งส่งผลเลวร้ายเข้าไปอีก

“ตัวผมเองหรือตัวพวกเขาเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่เราไม่รู้ว่าการต่อสู้ที่ connect กันได้คืออะไร คนในคลองเตยก็อยากลงถนน ฟังปราศรัย ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เห็นกันในโซเชียล แต่พวกเขาไม่มีช่องทาง การกดทับของพวกเขามันรุนแรงเหลือเกิน”

ดังนั้น ภาพความรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ดินแดงเมื่อปี 2564 จึงเป็นผลพวงจากโครงสร้างรัฐ สังคม และครอบครัวที่ฝังรากลึก การมุ่งพัฒนาจัดระเบียบเมืองเพื่อความสวยงามเป็นเพียงการกดทับปัญหาของชาวชุมชนให้กลายเป็นเพียงความเงียบงันตามซอกหลืบเมืองหลวง สำหรับธนายุทธแล้ว ภาคประชาชนควรโอบรับและฟังเสียงของคลองเตยมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะผู้มีอำนาจคร้านที่จะฟังเสียงของพวกเขาแล้ว

“คนในชุมชนคลองเตยยอมทำงานที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำ เช่น คนกวาดขยะ แม่บ้าน คนเข็นผักในตลาด เพื่อให้กรุงเทพฯ มีลมหายใจต่อไปได้ แต่คนส่วนใหญ่กลับมองไม่เห็นว่าพวกเขามีคุณค่าขนาดไหน

“คุณค่าความเป็นคนไม่ควรถูกลดทอนลง เพียงเพราะที่อยู่อาศัยของพวกเขาคือสลัม” ธนายุทธทิ้งท้าย

‘Eleven Finger’ ธนายุทธ ณ อยุธยา

เช่นเดียวกับชุมชนคลองเตย แต่คนจนเมืองในอุบลราชธานีมีปัญหาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

“คนจนในอุบลฯ ไม่แตกต่างจากคนจนในที่อื่น คือถูกมองว่าไม่น่าเข้าใกล้”

กิ่งกาญจน์กล่าวว่า ในอดีตคนจนเมืองอุบลฯ ประกอบอาชีพลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน คนถีบสามล้อ คนหาบน้ำ นักมวย และช่างตัดผม แต่ในปัจจุบันคนจนเมืองอุบลฯ คือผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

อุบลราชธานีเผชิญเหตุการณ์ไฟไหม้ 2 ครั้งใหญ่ ได้แก่ ปี 2503 และปี 2513 (รวมถึงคดีเผาศาลากลางปี 2553) โดยคนจนเมืองยุคแรกเป็นแรงงานที่อพยพเข้ามาเพื่อสร้างเมืองหลังเหตุการณ์ไฟไหม้แต่ละครั้ง แต่ใครเล่าจะคิดว่า พวกเขาจะถูกเมืองที่ตนสร้างดีดกระเด็นออกมา

กล่าวให้ชัดคือ ในปี 2520 คำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 16 ว่าด้วยบทบัญญัติและอัตราภาษี ระบุว่า ใครก็ตามที่ยกที่ดินให้รัฐใช้ประโยชน์ จะได้รับการยกเว้นภาษี ลูกหลานเจ้าเมืองคนเก่าซึ่งถือกรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชนวังสงัดหรือพื้นที่สีเทา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนอพยพ เกษตรกร บ้านเช่าเมียฝรั่ง และคนด้อยโอกาส ได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้รัฐสร้างศาลากลางเมืองและเปลี่ยนเป็นย่านเศรษฐกิจของอุบลราชธานี 

กระบวนการจากภาครัฐจึงร่วมสังฆกรรมตัวตนใหม่ให้คนจนเมืองอุบลฯ ผ่านการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ในชื่อชุมชนวังสว่าง ชุมชนวังแดง และชุมชนโพธิ์ทอง ซึ่งในกรณีชุมชนวังสว่าง ยังเผชิญการไล่รื้อในปี 2530 จนต้องถอยร่นไปยังพื้นที่รับน้ำของเมืองอุบลราชธานีในปี 2532

การเคลื่อนไหวของคนจนเมืองในอุบลฯ มีท่าทีชัดเจนในปี 2541 สอดคล้องกับภาพใหญ่ของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ทว่าเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองปะทุขึ้นในปลายทศวรรษ 2549 ประกอบกับหลังปี 2557 คสช. ดำเนินการชะลอโฉนดชุมชนและ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน รวมถึงออกมาตรการควบคุมการรวมกลุ่มกิจกรรม ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อที่อยู่อาศัยของเครือข่ายภาคประชาชนในอุบลฯ อ่อนแอลง 

กิ่งกาญจน์สรุปว่า ขบวนการของภาคประชาชนในอุบลฯ แตกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มต่อต้าน คสช. และพยายามเสนอประเด็นที่ดินผ่านพรรคการเมือง 2) กลุ่มที่ใช้นโยบายของรัฐบาลชุดนี้เพื่อเคลื่อนไหวปฏิรูปที่ดิน เช่น นโยบายโคกหนองนา และ 3) เครือข่ายเดิมที่เคลื่อนไหวภายใต้กลุ่มพันธมิตร

“เราไม่ปฏิเสธว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มันเฟื่องฟูมาก” กิ่งกาญจน์กล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนเสื้อแดงทั้งเฉดพรรคการเมืองและเฉดประชาธิปไตยก็สนับสนุนคนรุ่นใหม่ โดยการชูประเด็นของคนจนเมือง กระนั้น กิ่งกาญจน์ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งนี้อาจเป็นทั้งโอกาสและข้อจำกัดของประเด็นคนจนเมืองในอุบลราชธานี

“ที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นพรรคไหนชูเรื่องคนจนเป็นนโยบายหาเสียง แต่การเลือกตั้งเทศบาลนครและ อบจ. หนล่าสุด ไม่ว่าจะพรรคสีส้มหรือพรรคบ้านใหญ่ ล้วนใช้ประเด็นคนจนเข้ามาเป็นนโยบายหาเสียง” กิ่งกาญจน์แสดงความคิดเห็นว่า “ถ้ามองเป็นโอกาส ก็เป็นโอกาสที่ขบวนการคนจนเมืองในอุบลฯ ต้องร่วมมือกับท้องถิ่นและทำให้เป็นรูปธรรม แต่ถ้ามองเป็นข้อจำกัด มันก็จะกลายเป็นเพียงสินค้าเชิงนโยบายของนักการเมืองท้องถิ่นเท่านั้น”

ดร.กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น

การเคลื่อนไหวเพื่อหล่อเลี้ยงประเด็นทางสังคม ย่อมประเมินไม่ได้จากชัยชนะแบบปัจจุบันทันด่วน

เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก วีระเล่าว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) แนวโน้มของสถานการณ์การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลก็ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยมา ซึ่งข้อเรียกร้องกว่า 1,500 รายการ คือประเด็นความล้มเหลวของระบบการเมืองตัวแทน รองลงมาคือนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายรัดเข็มขัด สิ่งสำคัญคือ ชัยชนะหรือความสำเร็จแบบปัจจุบันทันด่วนมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับการเคลื่อนไหวที่ร้อนระอุ

“เวลาเราวัดความสำเร็จในระดับโครงสร้าง เราไม่สามารถวัดได้จากช่วงระยะเวลาสั้นๆ” วีระกล่าวต่อไปว่า “เราต่อสู้เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ยังอยู่ในบริบทของสังคม ซึ่งอาจไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใน ณ เวลานั้นได้”

วีระชวนตั้งคำถามว่า เมื่อเราศึกษาการเคลื่อนไหวทางสังคม เรามักคิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าถึงประชาธิปไตย แต่ยอดผู้ใช้ TikTok ในปี 2565 กลับเผยว่า 5 ประเทศที่มีอัตราส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สูงที่สุด ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี คูเวต ไทย และกาตาร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบอำนาจนิยม ดังนั้น โลกออนไลน์และความเป็นประชาธิปไตยจึงอาจไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน

มากไปกว่านั้น งานศึกษาการต่อสู้ทางการเมืองในโลกออนไลน์และออฟไลน์ กรณีขบวนการร่มในฮ่องกง พบว่า คนที่เรียกร้องบนโลกออนไลน์บริจาคเงินให้กองทุนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ในระดับที่ใกล้เคียงกับคนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย

ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค

วีระจึงชวนมองถึงงานของอาจารย์ประภาสในช่วงปี 2557-2559 ที่ตั้งคำถามว่า เราควรมองขบวนการภาคประชาชน 5 ประการ ได้แก่

  • ศึกษาการเมืองของคนชั้นล่างผ่านการศึกษาข้ามศาสตร์ และหาพื้นที่ใหม่ในการต่อสู้ต่อรองทางการเมือง
  • ศึกษาการเมืองของคนชั้นล่างที่เชื่อมโยงกับการเมืองภาพใหญ่สู่กระบวนการเคลื่อนไหว
  • ศึกษาเรื่องเล่าของคนชั้นล่าง
  • ศึกษาเรื่องระบอบการปกครองสู่การเมืองของคนชั้นล่าง
  • ศึกษาขบวนการโต้กลับของภาครัฐ รวมถึงเงื่อนไขในการต่อสู้กับขบวนการดังกล่าว

ปิดท้ายด้วยความเห็นจาก ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอย่างน่าสนใจในช่วงท้ายของงานเสวนาว่า เราจะเข้าใจรัฐไม่ได้ หากไม่เข้าใจสังคม ซึ่งงานศึกษาของประภาสเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงนี้ และกล่าวถึง ‘ที่ยืน’ ของรัฐศาตร์ที่ควรไปไกลกว่า ‘Blame Game’

“ไม่ใช่เอาไอ้นั่น ไม่เอาไอ้นี่ แต่เป็นเรื่องที่ว่า ‘รัฐศาสตร์’ มีที่ยืนในการทำความเข้าใจสังคมที่เราอยู่ พร้อมกับสาธารณชนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างไร”

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า