ประภาส ปิ่นตบแต่ง: การเมืองในรัฐสภาต้องกระทุ้งด้วยสองตีนของขบวนการชาวบ้าน

บ่ายวันจันทร์ ท่ามกลางลมหนาวและแสงไฟสลัว WAY นั่งคุยกับ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ในห้องพักอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือกองพะเนินกระจัดกระจายในห้องบ่งบอกถึงสถานะนักวิชาการผู้รอบรู้ได้เป็นอย่างดี แต่งานของประภาสไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียน เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่กรำศึกการเมืองบนท้องถนนมาไม่น้อย

ย้อนไปในปี 2540 ขณะเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ประภาสเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองของขบวนการชาวบ้านด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ก่อนจะถูกพัฒนาเป็นหนังสือ การเมืองบนท้องถนน: 99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย (2541) ซึ่งไม่เพียงเป็นงานศึกษาชิ้นสำคัญของวงการรัฐศาสตร์ไทย แต่ยังเป็นหมุดหมายหลักในเส้นทางอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย จวบจนเกษียณอายุราชการในปี 2565 

ก่อนเริ่มอาชีพอาจารย์ ประภาสเคยทำงานสาย NGO มาก่อน จึงผ่านการคลุกคลีและสัมผัสกับกลุ่มคนด้อยโอกาสและด้อยอำนาจในสังคมไทย ประจวบเหมาะกับทศวรรษ 2540 เป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนพุ่งสู่กระแสสูง คำถามที่ก่อเกิดขึ้นในใจประภาสคือ การเมืองนอกสถาบัน (non-institutional politic) ในบริบทประเทศไทยมีลักษณะอย่างไร และเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 

ประภาสได้ข้อสรุปว่า การเมืองในระบบและการเมืองนอกระบบไม่สามารถแยกขาดจากกัน และนักการเมืองในรัฐสภาจำเป็นต้องถูกกระทุ้งจากการเมืองบนท้องถนนอยู่เนืองๆ

รัฐไทยมีกลไกควบคุมคนเห็นต่างเสมอมา นับตั้งแต่ 2540 จวบจนปัจจุบัน หากแต่ประภาสเห็นว่า กลไกควบคุมทวีความรุนแรงขึ้นในยุคที่เรียกว่า ‘ระบอบหลัง 2557’ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนและตั้งคำถามต่อทิศทางการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอีกครั้ง

WAY คุยกับประภาส ปิ่นตบแต่ง ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ และผู้ยืนปักหลักอย่างแข็งขันท่ามกลางโครงสร้างการเมืองที่ผันแปรตลอดช่วงชีวิตการทำงานของเขา ตลอดจนมุมมองต่อประเด็นการเมืองภาคประชาชน ชาวนา การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ และชีวิตของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

ภาค 1 การเคลื่อนไหวภาคประชาชน: พลวัตทางความคิดและยุคสมัย

ในบริบทของสังคมไทย การเคลื่อนไหวภาคประชาชนมีนิยาม ปฏิบัติการ และเป้าหมายอย่างไร และนับตั้งแต่งาน การเมืองบนท้องถนน: 99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย ที่เขียนในทศวรรษ 2540 โจทย์ของการทำงานภาคประชาชนเปลี่ยนแปลงกี่มากน้อยในปัจจุบัน

การเคลื่อนไหวภาคประชาชนเปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน ผมมักพูดกับเพื่อนและลูกศิษย์ว่า เอางานเก่าๆ ของผมไปเผาทิ้งได้แล้ว ทั้งเรื่อง การเมืองบนท้องถนน และ กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคมฯ (2552)

ขยายความก็คือ ถ้าเรามองการเมืองภาคประชาชนตามนิยามของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่หมายถึงการรวมกันของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสและคนด้อยอำนาจ เพื่อต่อรองอำนาจในการจัดการชีวิตของตนเอง และเพื่อถ่ายโอนอำนาจสู่คนข้างล่างบ้าง โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทยที่อยู่ในสภาวะ ‘หนึ่งรัฐ สองสังคม’ ในแง่นี้ การต่อสู้ของกลุ่มคนเหล่านี้ยังดำรงอยู่และอาจแหลมคมกว่าเดิมด้วยซ้ำ

สำหรับผมมองว่า การเมืองภาคประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะมาก เช่น ประเด็นปัญหาและข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่นการรวมกลุ่มก้อนของเยาวชนและคนรุ่นใหม่อาจมีประเด็นปัญหาแตกต่างจากกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มคนด้อยโอกาสพอสมควร เพราะเขาชูประเด็นอัตลักษณ์ การกดทับ และอุดมการณ์ อย่างกลุ่มนักเรียนเลว หรือกลุ่มคณะราษฎร ล้วนชูปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่โตและเป็นผลพวงมาจากรัฐประหาร 2557

ที่สำคัญ ฉากทัศน์และยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวก็เปลี่ยนไปมาก สมัยที่ผมศึกษาสมัชชาคนจนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่ทุกวันนี้เป็นยุคแห่งการเคลื่อนไหวทางสังคมบนโลกอินเทอร์เน็ต แล้วเราก็เห็นว่า ประเด็นมันเกี่ยวพันกับความไม่เป็นประชาธิปไตยและความเป็นเผด็จการอย่างชัดแจ้งกว่าช่วงทศวรรษ 2540 

บริบทของสมัยนั้นคือ ประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐานในไทย เรามีรัฐธรรมนูญปี 2540 การต่อสู้ต่อรองจึงเป็นเรื่องของปากท้อง หรือผลกระทบของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มีการแสดงความเห็นว่าโครงการเหล่านั้นคุ้มทุนหรือเปล่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า รวมถึงมีการเรียกร้องให้ขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ เช่น การทำ EIA (Environmental Impact Assessment) และการทำประชาพิจารณ์ แต่ปัจจุบันโจทย์ของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเปลี่ยนไป เพราะมีปัญหาคนละอย่าง

หลังการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเบ่งบาน จนมาถึงยุค กปปส. (2556-2557) ที่ทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน ‘นักการเมืองเลว’ คำถามคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน เช่น ม็อบราษฎร 2563 ก้าวพ้นการต่อต้าน ‘อัปรีย์ชน’ หรือการเรียกหา ‘คนดี’ แล้วหรือยัง

ต้องถามกลับนะ ที่บอกว่าก้าวพ้นแล้ว หมายถึงใคร ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับทัศนะและจุดยืนของแต่ละฝ่าย แม้แต่นิยามของการเมืองภาคประชาชนก็ยังเถียงกันไม่จบเลยว่ามันคืออะไร

จากประสบการณ์ของผม การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทประชาธิปไตยเต็มใบในยุครัฐบาลชาติชาย (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) แต่ลำพังการหย่อนบัตรเลือกตั้งมันไม่พอ มีแต่องค์การขนาดใหญ่ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม 

เพราะฉะนั้น ต้นน้ำของการเมืองภาคประชาชนในสังคมไทยจึงมาจากคนชายขอบกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการจะต่อรองและมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ช่วงหลังกลุ่มพันธมิตร (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ก็มาทางประชาธิปไตยนะ เขาเคยด่าผมบนเวทีด้วยซ้ำ เพราะผมวิจารณ์เขาว่า เป็นขบวนการภาคประชาชนผีกระสือ มีแต่หัว ตัวไม่มี 

ประเด็นคือ เขาบอกว่าการเมืองภาคประชาชนที่ผมนิยามไม่ใช่ของจริง ต้องขับไล่ทักษิณและสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง แบบ 70:30 อย่างที่ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย (อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เขียนไว้ นั่นคือเลือกตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ ก็พอ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ คือลากตั้ง จึงจะได้คนดีเข้ามา

ฉะนั้น เวลาพูดถึงการเมืองภาคประชาชน เราต้องเข้าใจว่ามันมีลักษณะเป็นแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ คือมีคนนิยามและให้ความหมายตามทัศนะและจุดยืนในการมองปัญหาสังคมการเมืองหรือสังคมการเมืองในอุดมคติของตน กลุ่มพันธมิตรเขาไม่สนใจที่จะถ่ายโอนอำนาจไปสู่คนข้างล่างแบบสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นคนที่อยู่ต้นน้ำและสัมผัสปัญหาจริงๆ

ถามว่าก้าวข้ามหรือยัง ผมคิดว่า นักวิชาการ NGO อาวุโสที่เคยอยู่บนเวทีพันธมิตร เขายังเรียกร้องหรือเห็นดีเห็นงามกับนิยามการเมืองภาคประชาชนแบบคนดี มีคุณธรรม มีคุณวุฒิ และเชื่อว่าจะให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปทั้งหมดไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะได้คนแบบทักษิณ ผีทักษิณยังหลอกหลอนคนกลุ่มนี้อยู่ ดังนั้นระบบการเมืองที่พวกเขาเสนอก็สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนดังกล่าวก้าวพ้นการเมืองคนดีแล้วหรือยัง

ส่วนกลุ่มคนที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตย หลังรัฐประหาร 2557 คนเหล่านี้ก้าวข้ามการเมืองคนดีไปไกลแล้ว แบบข้ามหัวคนกลุ่มแรก ในขณะที่คนพวกนั้นยังท่องคาถาไล่ผีทักษิณอยู่เลย ฉะนั้นผมคิดว่า คำถามว่าใครก้าวข้ามหรือเปล่า ต้องมองที่จุดยืน

ชาวบ้านเองก็ก้าวข้าม เขาเห็นว่าการเลือกตั้งสำคัญกับเขาอย่างไร เขารู้จักคำนวณว่า พรรคไหนดีกว่าพรรคไหน แต่เขาก็ตระหนักว่า ลำพังการเมืองแบบหย่อนบัตรมันไม่พอ ยิ่งไปกว่านั้นคือ เขาต้องการสร้างระบอบที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดลำดับทางสังคมแบบใหม่ หรือต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลย ไม่ใช่ระบอบคนดีหรือลากตั้งแบบที่เป็นอยู่

กลไกการรับมือการเคลื่อนไหวภาคประชาชนของรัฐไทยเปลี่ยนไปเพราะประเด็นข้อเรียกร้องที่แหลมคมขึ้นด้วยหรือเปล่า

คำตอบก็คงจะใช่ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เราเปลี่ยนระบอบ แล้วระบอบนี้ก็เป็นระบอบอำนาจนิยม ทำให้มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพต่างๆ ตั้งแต่สิทธิในการจัดการชีวิตสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นของคนรุ่นใหม่ในเมือง ตลอดจนการกดทับทางการเมือง

แต่ไม่เพียงเท่านั้น มันมีเรื่องของงบประมาณและการใช้ทรัพยากรของสังคมด้วย เพราะระบอบและการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ พยายามรื้อฟื้นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการขยายพระราชอำนาจหลายมิติ จนแทบจะกลายเป็นสถาบันทางการเมืองสถาบันหนึ่งแล้ว 

ดังนั้น เมื่อพูดถึงปัญหาของระบอบอำนาจนิยม มันก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกมิติ ตั้งแต่อัตลักษณ์ของชนชั้นกลาง หรือสิทธิเสรีภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัย มันก็กระทบไม่ต่างกัน แต่ระบอบนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะคนชนชั้นกลางหรือเยาวชน แต่ยังกระทบต่อชีวิตของคนระดับล่าง เช่น สมัชชาคนจนซึ่งเคลื่อนไหวให้แก้กฎหมายอย่างแหลมคมมากที่สุด ชัดเจนที่สุด พี่น้องบางกลอย และพี่น้องในเครือข่ายป่าไม้ที่ต้องอพยพจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนากลายเป็นระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน (ปี 2562 รัฐออกกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าชุมชน และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) 

เมื่อเป็นแบบนี้ การเรียกร้องเพื่อปฏิรูปการเมืองก็ต้องพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะใจกลางของระบอบที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน และกระทบต่อนโยบายสาธารณะ ประเด็นที่อยากพูดก็คือ ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นร่วมของขบวนการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะของคนชั้นกลางในเมืองหรือเยาวชนเท่านั้น

แน่นอนว่า มีการปราบปรามเกิดขึ้น และมีการนำมาตรา 112 มาใช้ หลังจากนี้ ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ชาวบ้านในเขตป่าจะต้องออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่กฎหมาย 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับที่ดินทำกินไม่ได้กระทบเฉพาะพวกเขา แต่จะกระทบภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมด้วย ดังนั้นก็คาดการณ์ได้ว่าจะมีคนออกมามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้จะมีบางคนได้รับประโยชน์จากระบอบนี้ แต่คนส่วนใหญ่เขาเดือดร้อนจากการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การปฏิรูปทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้น เพื่อจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมเสียใหม่ และจัดลำดับความสำคัญไม่ให้สถาบันใดสถาบันหนึ่งใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้คน 

นับตั้งแต่ปี 2548 เราพบว่ามีหลายกลุ่ม NGO ยังผูกติดอยู่กับแนวคิดการเมืองคนดี ทั้งที่น่าจะมองออกแล้วว่านี่ไม่ใช่การต่อสู้ปกติ

ผมก็ไม่เข้าใจ พยายามคุยกับเพื่อนๆ แล้วก็คิดว่าไม่มีคำตอบ แต่ถ้าจะให้ตอบคือ คนพวกนี้ผ่านความเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์หรือพวกสังคมนิยมที่คิดว่า ต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจึงจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะฉะนั้น ต้องไล่ทักษิณและการยึดอำนาจรัฐเสียก่อน จึงจะใช้อำนาจนั้นในการปฏิรูปได้ แต่พวกเขาคงลืมว่า การปฏิรูปท่ามกลางเครือข่ายอำนาจที่ตนเองไม่มีพลังต่อรองอะไรเลย มันน่าสมเพชแค่ไหน อีกส่วนก็คงเป็นเรื่องคดีความที่ผู้มีอำนาจสัญญาว่าจะไม่ดำเนินการด้วย

ในช่วงนั้น กรณีนายกฯ พระราชทาน ตามมาตรา 7 คือจุดพลิกผันสำคัญที่วัดว่าใครอยู่ฝั่งอนุรักษนิยมหรือเปล่า

ผมคิดว่า มันเริ่มมีร่องรอยความคิดของประชาธิปไตยที่ไม่เอาการเลือกตั้ง และมองเห็นนักการเมืองเป็นอัปรีย์ชน คำเหล่านี้จะได้ยินบ่อยๆ ในเวทีพันธมิตร เขาชอบพูดถึงคนดี และพูดถึงชาวบ้านว่า ต่อให้มีการเลือกตั้งคนเหล่านี้ก็ขายเสียงให้นักการเมืองชั่วอยู่ดี บางคนถึงขนาดปราศรัยใช้คำว่า ‘ประชาหมา’ แทนประชาชนแต่มาตรา 7 คือจุดตัดที่ชัดเจนและเป็นจุดแตกหักที่สำคัญ

มุมมองแบบไหนที่จะขับเน้นหรือห่อหุ้มทิศทางการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่มีประเด็นหลากหลายมากๆ ในปัจจุบัน

ระบอบอำนาจนิยมหลัง 2557 ทำให้การเมืองภาคประชาชนที่เคยรุ่งเรือง ตกต่ำและถดถอย ผลคือมันกระทบต่อชีวิตคนทุกกลุ่ม ยกเว้นคนที่ได้ประโยชน์ 

หลายคนเริ่มเห็นปรากฏการณ์ว่า วิกฤตที่เรากำลังเผชิญคือวิกฤตร่วมกัน ทั้งเรื่องการกดทับทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เยาวชน หรือคนที่อยู่ในเมือง แม้พี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน พี่น้องชาวเล พี่น้องที่ถูกขับไล่ออกจากป่าจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ จะเห็นพ้องกัน แต่ก็ยังติดหล่มใหญ่อย่างประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าต้องเน้นย้ำคือ ความเชื่อมโยงของประเด็นต่างๆ การมองให้ออกว่า ปัญหาร่วมนี้มีที่มาจากไหน และอะไรคือวิธีแก้ไขสถาบันต่างๆ ให้อยู่ในร่องรอยตามระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสรีภาพของผู้คน

ปัญหาคือระบอบมันเปลี่ยนยาก ไม่มีทางที่ชนชั้นนำจะเปลี่ยนแปลงระบอบที่ตนได้เปรียบอยู่แล้ว ภาคประชาชนต้องสร้างพลังต่อรอง โดยเริ่มจากแนวร่วมของคนที่ได้รับผลกระทบจากต้นตอปัญหาเดียวกัน ทำให้ผู้คนเห็นปัญหา สาเหตุ และวิธีการ รวมทั้งสังคมการเมืองในอุดมคติ นั่นคือเราต้องปฏิรูประบอบการเมือง ซึ่งก็เริ่มเห็นความพยายามแล้วล่ะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเปลี่ยน เพราะมันก็มีกลไกควบคุมที่รุนแรง ทั้งกฎหมาย กองกำลัง หรือหน่วยงานต่างๆ

ภาค 2 ชาวนา: ผู้ถูกแช่แข็งในนิทานสองนครา

เมื่อชาวนาส่วนหนึ่งในต่างจังหวัดผันตัวเป็นผู้ประกอบการ หรือไม่ได้ทำนาเพียงอาชีพเดียว มุมมองของส่วนกลางที่มักแช่แข็งหรือ romanticize ชนบท เปลี่ยนไปมากน้อยอย่างไร

ปัจจุบัน รายได้จากการทำนาต่ำมาก ถ้าพูดถึงชาวนาภาคกลางที่ปลูกข้าวเป็นหลัก หรือทำนาอย่างเดียว ไม่มีทางอยู่รอดได้หรอก ค่าเฉลี่ยที่บอกว่าชาวนาแต่ละรายมีที่นาของตนเอง 20 ไร่ ไม่จริงเลย โดยเฉพาะชาวนาภาคกลางและภาคเหนือ เฉลี่ยแล้วมีประมาณ 5 ไร่เอง ซึ่งไม่มีทางอยู่รอดได้เลย

ดังนั้น เราจะเห็นชาวนาที่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำนาอย่างเดียวน้อยลง คือคนที่ทำแบบนั้นได้อาจมีอยู่บ้าง แต่ต้องมีที่นาสัก 50 ไร่ หรือมีเครื่องจักรเครื่องสีของตน แต่ชาวนาทั่วไปไม่ได้มีที่นาหรือต้นทุนมากขนาดนั้น ทุกวันนี้ชาวนาเองก็ไม่ได้ต่างจากพวกเรา เขาต้องใช้มือถือและส่งลูกเรียนหนังสือ ซึ่งค่าขนมและค่าเทอมก็สูงมาก ค่าใช้จ่ายในการอุปโภคด้านอื่นๆ ก็ขยายกว้างขึ้น เอาง่ายๆ สมัยก่อนแถวบ้านผม อาจตกปลามากินได้ แต่เดี๋ยวนี้ชลประทานปิดประตูระบายน้ำ ทำให้น้ำไม่ท่วมทุ่ง หรือมีน้ำเน่าเสียเต็มลำคลอง นั่นคือค่าใช้จ่ายด้านอาหารจะเพิ่มขึ้นแน่ๆ เพราะหาวัตถุดิบท้องถิ่นไม่ได้

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อธิบายว่า สังคมชาวนาปรับตัวกลายเป็นสังคมผู้ประกอบการไปแล้ว เพราะไม่มีทางที่ชาวนาจะมีรายได้จากการทำนาอย่างเดียว ด้วยเงื่อนไขจำนวนพื้นที่นา ชาวนาเช่ายิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะยิ่งมีนาน้อยยิ่งไม่พอทำกิน ปัจจุบันเราจึงเห็นการแบ่งที่นาส่วนหนึ่งไปปลูกพืชโตเร็ว เช่น ผักชีฝรั่ง ผักบุ้ง ผักกระเฉด หรือไม่ก็ทำขนมขายหรือขายของในเมือง ชีวิตทางเศรษฐกิจของชาวนาจึงมีหลายด้านหลายมิติ ใครมีทุนมากหน่อยก็สามารถปรับตัวเป็นผู้ประกอบการได้ไว

งานศึกษาของแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ (Andrew Walker) ชี้ว่า นอกจากชาวนาต้องจัดการชีวิตตัวเองแล้ว ยังต้องต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐและท้องถิ่น หมายความว่า ชาวนาต้องเป็นคนที่เข้าใจการเมืองด้วย ขณะเดียวกัน คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการ กลับบ่นว่าคนพวกนี้ไม่เข้าใจการเมืองเลย ทำไมถึงมีภาพจำของ ‘สองนครา’ ที่แตกต่างกันเช่นนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือทั้งม็อบ กปปส. และม็อบเสื้อแดง ต่างก็มีชาวนาจำนวนมากเข้าร่วม

ผมเห็นด้วยนะ จริงๆ งานของวอล์กเกอร์ เป็นงานบุกเบิกที่ทำให้เราเข้าใจการเมืองการต่อรองในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง ถามว่าทำไมคนเมืองมองแบบนั้น ในความเห็นของผม การด่าชาวนาว่าเป็นเศษหญ้าเศษฟางของทักษิณเป็นเรื่องง่าย เพราะฝั่งตรงข้ามเลือกตั้งทีไรก็แพ้ เขาเลยด่าชาวนาเป็นอัปรีย์ชนผู้หย่อนบัตรโดยไม่มีสำนึกทางการเมือง แล้วก็สร้างการเมืองของคนดีที่ลากตั้งวุฒิสมาชิกสับปะรังเค พูดจาไม่รู้เรื่องเข้ามา

การเมืองแบบคนดีจึงดำรงอยู่ เพราะทำให้พวกเขาหาเหตุผลอธิบายแก่ตัวเองได้ และหาความชอบธรรมในการเข้าไปอยู่ในเครือข่ายชนชั้นนำ หรืออยู่ในวงสายสิญจน์ของผู้มีอำนาจ แต่หารู้ไม่ว่าชาวบ้านวงนอกเขาก่นด่ายังไงบ้าง เขาไม่รู้กระทั่งสภาพสังคมและการเมืองไทยที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ

ทำไมวาทกรรมจำนำข้าวยังวนเวียนในกระแสสังคม ทั้งๆ ที่คดีจบไปตั้งแต่ปี 2557 

เพราะการด่าผีทักษิณเป็นเรื่องง่าย ความเลวร้ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณยังคงส่งผลและทำให้ชาวนายากจน แต่เขาลืมไปแล้วว่า นโยบายหลายอย่างของรัฐบาลปัจจุบันก็แทบไม่ต่างจากยุคนั้น ถ้าคำนวณดีๆ อาจพบว่าใช้ทรัพยากรมากกว่าโครงการจำนำข้าวเสียอีก

การตีตราใครสักคนเป็นผีหรือจำเลยนั้นง่าย แต่จะประกาศว่านโยบายหรือการบริหารของตนดีกว่านั้นไม่ง่ายนะครับ เพราะเหตุนี้ชาวบ้านจึงยังเลือกพรรคเพื่อไทย เลือกตั้งทีไรก็ชนะ จนต้องเอา ส.ว. ลากตั้ง มาคานอำนาจ 

ชาวบ้านเขารู้ว่า นโยบายของพรรคไหนเป็นประโยชน์กับตน แม้จะมีคนบอกว่านโยบายของทักษิณมีลักษณะประชานิยมสูง แต่ความคิดและชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการพูดถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค หรือสวัสดิการถ้วนหน้า จึงสอดคล้องกับบริบทปัญหาชีวิตผู้คน เพราะชาวนาเข้ามาหาเงินในเมืองเยอะขึ้น จะชอบหรือไม่ก็ตามใจ แต่นโยบายของพรรคการเมืองฟากนี้เขาตระหนักถึงปัญหาในชีวิตของประชาชน จะมาบอกว่า พี่น้องต้องพอเพียง กินน้อยๆ จุดตะเกียงอ่านหนังสือ มันไม่สอดคล้องกับชีวิตชาวบ้านแล้ว

ตัวอย่างเช่นยุทธศาสตร์ชาติที่พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ผมว่าก็คงมีคนได้รับประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณก้อนนี้แหละ แต่มันกระจุกอยู่ในบางเครือข่าย ชีวิตของชาวบ้านจริงๆ ต่างจากยุทธศาสตร์ที่เน้นความพอเพียงมาก เขาต้องดิ้นรนให้มีรายได้เพียงพอ เพราะต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ซื้อโทรศัพท์มือถือ จ่ายค่าไฟหรือค่าอะไรต่างๆ จะให้เขาใช้ชีวิตพอเพียง แต่ฝ่ายบริหารดันใช้ทรัพยากรไม่สอดคล้องหรือเอื้ออำนวยให้ชีวิตของเขาง่ายขึ้น ผมบอกเลยว่าเขาไม่มีทางอยู่ได้ เงื่อนไขชีวิตของชาวบ้านหนักหนาสาหัสขึ้นจากวิกฤตต่างๆ หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือต้นทุนทางการเกษตร ทุกอย่างขึ้นราคาหมด ราคาปุ๋ยยูเรียล่าสุดกระสอบละ 1,700-1,800 บาท 

นี่คือสภาพปัจจุบันของชาวนาไทย บางคนเรียกว่ากึ่งชาวนากึ่งคนงาน แต่ผมว่ามันยิ่งกว่านั้น พวกเขาไม่ใช่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่ต้องทำงานสารพัด ต้องประกอบกิจการหลายด้านเพื่อให้มีรายได้พอจ่ายในชีวิต สภาพที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ยังเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาของชาวนาในหลายมิติ ไม่ใช่แค่ปัญหาหนี้สิน แต่ต้องรวมถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ จะทำยังไงให้เขาไม่ถูกขูดรีดค่าแรงหากเข้ามาทำงานในเมือง หรือไม่ถูกเทศกิจไล่จับหากค้าขายหาบเร่ริมทาง 

เราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ชีวิตชาวนาไม่ได้โรแมนติก ต้องปลูกข้าวหรือเอาสวิงช้อนปลา ของแบบนั้นไม่มีแล้ว เหลือแต่ชีวิตผู้ประกอบการที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง และมีความเปราะบางในทุกมิติ

‘ม็อบชาวนา’ ที่เรียกร้องการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ตรงไหนของคลื่นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในปัจจุบัน และเหตุใดภาครัฐประวิงการแก้ไขปัญหาชาวนากลุ่มนี้ แม้มติ ครม. จะประกาศใช้ตั้งแต่มีนาคม 2565

จริงๆ มีชาวนาอีกหลายกลุ่มนะ พูดจากประสบการณ์ตนเอง ผมเห็นว่าชาวนาหลายคนเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง โครงสร้างอำนาจที่นำมาสู่นโยบาย รวมทั้งการควบคุมปราบปรามไม่ให้เขาเคลื่อนไหว แต่อย่าลืมว่าชีวิตของเขาใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายระดับ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ หรือฝ่ายความมั่นคงสามารถเข้าถึงตัวเขาได้ทันที ดังนั้น การเคลื่อนไหวหรือการหยิบประเด็นมาพูดของพี่น้องชาวนาจึงมุ่งเน้นไปเรื่องการเมืองของปากท้อง นี่คือสาเหตุที่ผมมองว่า ทำไมพี่น้องชาวบ้านถึงไม่ค่อยพูดประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือการจัดสัมพันธ์ทางอำนาจที่เราเห็นว่าสำคัญ

ส่วนม็อบชาวนาที่พูดถึง คือกลุ่มชาวนาที่เรียกร้องเรื่องหนี้สิน ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2542 และผลักดันให้รัฐแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อหนี้ชาวนาไปเป็นหนี้กองทุนของรัฐ แล้วค่อยๆ ฟื้นฟูด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต แต่ที่ผ่านมา พ.ร.บ.กองทุนฯ หรือกฎหมายลักษณะนี้มีปัญหาคล้ายๆ กัน ซึ่งสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตร) เรียกว่า องค์กรสับปะรังเค 

ขยายความคือว่า พี่น้องในกองทุนฟื้นฟูจะมีหนี้สินแน่นอน หากรวมหนี้นอกระบบก็น่าจะมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เป้าหมายการเคลื่อนไหวคือให้รัฐเอาเงินมาใส่กองทุน แล้วไปซื้อหนี้จากชาวนา ซึ่งจะค่อยๆ ผ่อนส่ง 20 ปี โดยคิดดอกเบี้ยตามตัวเลข ร้อยละบาทต่อปีอะไรอย่างนี้

แต่ปัญหาคือรัฐบาลไม่ใส่เงินในกองทุนฟื้นฟูการเกษตรฯ ถึงใส่ก็ไม่กี่ร้อยล้านบาท ด้วยอัตราเร่งเท่านี้ น่าจะใช้เวลาอีก 70,000 ปี ถึงจะแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาได้

ผมพยายามตอบคำถามว่า ทำไมถึงปัญหาหนี้สินชาวนาที่หนักหนาสาหัส จึงถูกแก้ไขด้วย พ.ร.บ. ฉบับเดียว รัฐบาลคิดว่าจะใส่เงินในกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน แต่ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจำนองที่ดินที่นา หรือปัญหาการไม่มีที่ทำกินของตัวเองกลับถูกละเลย ไม่แก้ไข

ส่วนเรื่องจำนำข้าว แม้นโยบายจำนำข้าวจะถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2557 แต่สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำอยู่ก็แทบไม่ต่างกันเท่าไร จากจำนำยุ้งฉางเปลี่ยนเป็นประกันรายได้ เดชรัต สุขกำเนิด (อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ชี้ให้เห็นว่า ภายใน 1 ปี รัฐบาลใช้เงินประกันพืชผล 1.7 แสนล้านบาท แต่ก็ยังต้องช่วยชาวนาด้วยการให้ส่วนต่างในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพข้าว ผมเคยคำนวณว่า ต่อให้มีที่นาเป็นของตนเอง 20 ไร่ ทำนาปีละ 2 ครั้ง ได้ข้าวไร่ละ 1 ตัน ชาวนาก็จะมีกำไรตกประมาณเดือนละ 3,333 บาท ในขณะที่ต้นทุนอื่นๆ สูงขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีลูก 4-5 คน แล้วต้องส่งเรียน เงินจะไม่พอแน่นอน ชาวนาจึงต้องไปหารายได้ทางอื่น

พี่น้องชาวนาที่นอนประท้วงอยู่ 8 เดือน ต้องการให้รัฐบาลเอาเงินใส่กองทุนเพื่อซื้อหนี้ ซึ่งสำคัญมาก แก้หนี้ไม่ได้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย หนี้ ธ.ก.ส. ร้อยละ 12 ต่อปี มันพอกไปเรื่อยๆ แต่รัฐบาลแก้ไขทีละทีละน้อย ปัญหาของชาวนามันหนักหนาสาหัสกว่านั้น

กลางปี 2565 ปรากฏร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NPO bill) ที่ควบคุมการทำงานของ NGO โดยเฉพาะ เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ส่งผลต่อชาวนา รวมถึงการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมากน้อยแค่ไหน 

จริงๆ พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจมีที่มาจากเจตนาดีของ NGO อาวุโสที่เข้าไปทำงานกับรัฐบาล แล้วเห็นช่องทางที่จะทำให้รัฐบาลยอมรับการทำงานของ NGO และสนับสนุนด้านทรัพยากร แต่สุดท้ายก็ออกมาอย่างที่เห็น แทนที่จะให้ทรัพยากร กลับเป็นการควบคุมการทำงาน จึงมีการคัดค้านกันทั่วประเทศ ตอนนี้ผมเข้าใจว่ารัฐบาลคงหยุดไว้ก่อน 

ผมอยากจะชวนมองให้กว้างกว่าตัว พ.ร.บ. ถ้าเรามองภาพใหญ่ ผมอยากจะเรียกระบอบนี้ว่า ‘ระบอบหลัง 2557’ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างการปกครอง บางคนเรียกประชาธิปไตยแบบจารีตประเพณี หรือประชาธิปไตยกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้จะมีหลายชื่อ แต่ผมคิดว่า เนื้อหาของมันคือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่

ภายใต้ระบอบใหม่ เราเห็นปรากฏการณ์ควบคุมการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง ถ้าเทียบกับสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก่อนรัฐประหาร สิทธิในการเคลื่อนไหวของผู้คนยังได้รับการคุ้มครองมากกว่านี้ แม้รัฐธรรมนูญขณะนั้นก็ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยมากนัก แต่ในรัฐบาลชาติชายยังยอมรับและคุ้มครองการชุมนุมของผู้คนมากกว่ารัฐบาลปัจจุบัน

การควบคุมการเคลื่อนไหวของรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้กระทำผ่าน พ.ร.บ. เท่านั้น ถ้าดูดีๆ จะเห็นการใช้กลไกต่างๆ มากมาย กรณีการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มเยาวชนจะยิ่งเห็นชัด เพราะรัฐใช้การปราบปรามหลายรูปแบบ แต่ยิ่งกว่านั้น เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญในการรับมือการชุมนุมประท้วง เช่น ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่เป็นกลไกใหม่ หรือมีการสอดส่องและคุกคาม เด็กและผู้นำชาวบ้านที่ผมรู้จักหลายคนบอกว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามตัวไปทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นกระทั่งบ้าน นี่คือสิ่งที่รัฐไทยกำลังทำ

นอกจากนี้ ยังมีมิติเรื่องความมั่นคง ก็มีการแก้ พ.ร.บ. ในช่วงหลังรัฐประหารก็ขยายนิยามของ ‘ความมั่นคง’ ทำให้ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ทำงานครอบจักรวาลเลย ทำงานครอบคลุมถึงป่าของชาวบ้านด้วย กระทั่งเกษตรยั่งยืนก็ทำ รวมถึงงานอนุรักษ์ ซึ่งในกรณีชาวบ้านบางกลอย เราก็จะเห็นบทบาทของ กอ.รมน. 

โอเค หลายคนอาจบอกว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันเขียนเรื่องสิทธิการชุมนุมไว้ แต่มันก็ระบุกรณียกเว้นเอาไว้เช่นกัน โดยเฉพาะการชุมนุมที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชาติ รัฐมีอำนาจยกเลิกสิทธิการชุมนุมเหล่านี้ 

ไม่เพียงเท่านั้น ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีคำอย่าง NGO ภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชนสักคำ แสดงว่าเขาไม่ให้ความสำคัญ แต่กลับมีการรวมศูนย์อำนาจบริหาร ดึงอำนาจจากท้องถิ่นและอำนาจประชาสังคมกลับเข้าระบบราชการ หรือต่อให้มีภาคประชาสังคมก็เป็นแบบรัฐส่งเสริม จัดตั้งขึ้น แล้วควบคุมกำกับ พ.ร.บ.ประชาสังคมเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการควบคุมจากรัฐเท่านั้น ผมว่า NGO อาวุโสน่าจะอกหักนิดหน่อย อุตส่าห์ยอมเอาตัวทำงานรับใช้เขา ทั้งๆ ที่ควรมองออกได้ไม่ยาก 

ภาค 3 นักวิชาการ: ผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐไทย

อาจารย์มองบทบาทของนักวิชาการในขบวนการเคลื่อนไหวในยุค 2540 อย่างไร

ทศวรรษ 2540 เป็นช่วงที่การเมืองภาคประชาชนกำลังก่อร่างอย่างเป็นรูปธรรม คนอย่างอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ทำสมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็มีบทบาทสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และทำให้ความเดือดร้อนของชาวบ้านกลายเป็นประเด็นสาธารณะ นักวิชาการหลายคนก็ช่วยทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน และพยายามผลักดันให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

ตัวอย่างเช่นในสมัชชาคนจน นักวิชาการก็มีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา เพราะต่อให้ร่วมเดินขบวน มันก็เพิ่มจำนวนคนไม่มากนัก สู้ทำงานขยายองค์ความรู้ไม่ได้ เช่น งานวิจัยไทบ้านที่ศึกษาชาวบ้านแล้วสร้างองค์ความรู้ในหลากหลายศาสตร์ ตั้งแต่รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิชุมชน ทรัพยากร หรือสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่านี่คือบทบาทสำคัญของนักวิชาการ ซึ่งนอกจากจะเป็นพี่เลี้ยงแล้ว อีกส่วนก็ขับเคลื่อนให้ปัญหาชาวบ้านกลายเป็นประเด็นสาธารณะและพัฒนาเป็นความรู้เชิงสถาบัน

นักวิชาการจำเป็นต้องติดดินขนาดไหน จึงจะเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน

ผมเห็นใจนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ มากนะ เขาต้องทำงานวิจัยเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ พร้อมๆ กับทำงานบริการสังคมและงานสอน แค่นั้นก็หมดเวลาแล้ว ถ้าขอตำแหน่งไม่ได้ภายใน 3 ปี ก็ถูกเลิกจ้างอีก นี่คือข้อจำกัดของนักวิชาการรุ่นใหม่ 

ผมคิดว่า เราต้องมองภาพใหญ่ว่า อะไรคือสิ่งที่มีค่า และทิศทางของงานวิชาการควรไปทางไหน แล้วส่วนที่เหลือจะขยับตามไปเอง ทุกวันนี้มีทุนวิจัยที่เกี่ยวกับนวัตกรรมเยอะมาก ลองไปดูในมหาวิทยาลัยภูมิภาค แต่คำถามคือเอาไปทำอะไรบ้าง สร้างรายได้ให้ชุมชนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เรามีงบเยอะ แต่ใช้ไม่ถูกทิศถูกทาง ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จนไม่เกิดประโยชน์กับพี่น้องที่กำลังเผชิญปัญหา ผมว่าน่าเสียดาย แต่คำถามที่สำคัญคือ นักวิชาการเราจะอยู่ตรงไหนได้บ้าง

ปัจจุบัน ผมเองแทบไม่มีบทบาทเลย ไม่ได้พิมพ์งานใหม่ๆ เพราะมันล้า ประกอบกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้อ่าน แต่โชคดีที่มีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ เขาแปลเอาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว อีกอย่างคือ ผมไม่ได้ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านแล้ว ทำให้ไม่มีข้อมูลและตามทฤษฎีใหม่ๆ ไม่ทัน สิ่งที่พอจะยินดีได้คือ การเป็นหลักให้นักวิชาการรุ่นหลังเหยียบบ่าขึ้นไป และเท่าที่ทราบ หลายคนก็เข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อชาวบ้านเหมือนกัน

ในหลายกรณี เราเห็นชาวบ้านหรือ NGO สวมบทบาทนักวิชาการด้วย นี่คือทิศทางของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนหรือเปล่า

ผมคิดว่า ปัจจุบัน NGO หรือชาวบ้านพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น หลายคนสามารถอธิบายผลกระทบจากเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าได้ อธิบายความสัมพันธ์ของคนกับป่า และการอนุรักษ์ป่าพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากป่า เขามีนวัตกรรมชุมชนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและอนุรักษ์ทรัพยากร ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็มีหลายหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยแก่ชาวบ้าน เช่น งาน CBR (Community-Based Research) ของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปัจจุบันคือ สกสว.)

ในแง่พัฒนาการ สถาบันการศึกษาสามารถทำงานร่วมกับชาวบ้านได้มากขึ้น แต่ผมเห็นด้วยว่า ชาวบ้านเองก็สามารถทำงานสร้างความรู้ได้ ผมคิดว่าเราจะได้ประโยชน์มากที่สุด หากสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ รวมถึงนักพัฒนาจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อให้ความรู้มีที่มาจากพื้นที่และตอบโจทย์ชาวบ้านได้จริง 

นักวิจัยและนักพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทำงานอยู่แต่ในห้องแล็บ แม้มีความรู้เยอะ แต่พอทำออกมาแล้วก็โยนของสำเร็จรูปไปให้ชาวบ้าน ซึ่งของบางอย่างใช้งานยาก ขณะเดียวกันชาวบ้านบางคนเขาสามารถทำงานวิจัยเองได้นะ แต่ติดขัดด้านทรัพยากรที่ใช้งบมหาศาล ผมจึงบอกว่าเขาต้องร่วมมือกันทำ

อุปสรรคร่วมของนักวิชาการ ชาวบ้าน และคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐมีเพียงเรื่องงบประมาณเท่านั้นหรือ

พูดให้ตรงที่สุดคือ นโยบายภาครัฐอย่างยุทธศาสตร์ชาติและเศรษฐกิจฐานราก มันไปจำกัดกิจกรรมลงพื้นที่สนับสนุนชุมชน ทิศทางนโยบายเหล่านี้ใช้งบประมาณมหาศาล แต่กลับกระจายงบประมาณอย่างจำกัดมาก มันผิดทิศผิดทางไปหมด ไม่สร้างรายได้แล้วยังไม่สอดคล้องกับชีวิตของชาวบ้าน ตัวอย่างเช่นงบประมาณช่วงโควิด-19 เขาเอาไปทำอะไรบ้างเหรอ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เรื่องนี้ต้องกระทุ้งกันแรงๆ 

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละครั้งก็ค่อนข้างเดือด แต่ก็ยังเป็นแรงกระทุ้งที่ไม่มากพอ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะขาดแรงหนุนจากการเมืองบนท้องถนนหรือเปล่า

มันขึ้นอยู่กับการต่อรอง ผมเคยใช้คำแรงๆ บนเวทีที่รัฐสภาจัด ถ้าเรายังแก้ปัญหาแบบสอพลอ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ คนที่เคลื่อนไหวเรื่องเหล่านี้ควรนำไปสู่ภาคปฏิบัติด้วย

อะไรคือการแก้ปัญหาแบบสอพลอ

อย่างบางมหาวิทยาลัยทำวิจัยแบบสอพลอและเน้นปริมาณ ซึ่งไม่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน อย่างน้อยก็ควรใช้งบประมาณให้คุ้มค่า และมีคุณภาพหน่อย ไม่ใช่ทำงานวิจัยเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจไปวันๆ โดยเฉพาะงานวิจัยประเภทเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็คงมีคนได้ประโยชน์จากงานวิจัยแบบนี้ แต่ถามว่ามันสอดคล้องกับชีวิตชาวบ้านหรือเปล่าล่ะ 

เงื่อนไขในการทำตามเศรษฐกิจพอเพียง หรือปรับที่ดินให้เป็นโคกหนองนา คือคุณต้องมีที่ดินของตัวเอง เช่าที่เขาก็ไม่ได้ และให้งบตำบลละ 1 แห่งเท่านั้น แล้วชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เหลือล่ะ จะเห็นว่าคนที่ได้ประโยชน์มันวงแคบมาก

ตัวอย่างคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ตอนทำวิจัย เขาก็ไปอบรมชาวบ้าน ไปให้ความรู้โดยมีมุมมองว่า นักวิชาการรู้ดีกว่าชาวบ้าน ไปบอกเขาว่าควรทำโน่นทำนี่ แต่สรุปแล้วโครงการก็ไม่เกิดขึ้น งบประมาณเราหมดไปกับอะไรแบบนี้เยอะมาก

ผมคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมีปัญหา มันสอพลอตั้งแต่นโยบายจนถึงงานวิจัย นักวิชาการควรสร้างโจทย์ร่วมกับชาวบ้าน แบบที่เราเรียกว่างาน CBR โจทย์วิจัยต้องมาจากปัญหาของคนจริงๆ แต่จากที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ปัญหาใหญ่คือ นักวิชาการหลายคนทำงานมักง่าย พอเขาตั้งโจทย์ว่าเศรษฐกิจพอเพียง เวลาทำงานเขาก็ทำแค่เพียงอบรมชาวบ้านให้รู้จักวิถีชีวิตแบบพอเพียง หรือบอกว่าควรผลิตสินค้าอะไร ทำอยู่แค่นี้ ไม่ได้นำไปสู่การสร้างอะไร ทั้งๆ ที่ชีวิตของชาวบ้านมีโจทย์อีกเยอะแยะ และไปไกลกว่าคำว่าพอเพียงตั้งนานแล้ว

มองในมุมนโยบาย คงเข้าใจได้ไม่ยาก อะไรๆ ก็รวมเข้าไปในยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เว้นแม้แต่งบกระทรวง สิ้นปีงบประมาณก็บอกว่า เราได้ทำตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้แล้วนะ แต่สิ่งที่ทำตอบโจทย์ชีวิตชาวบ้านหรือเปล่าล่ะ อาจตอบแค่ชาวบ้านที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจคุณไง พวกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ญาติ หรือกลุ่มเครือข่ายที่จัดตั้ง ซึ่งแคบมาก

ถ้า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะทั้งหลาย พยายามควบคุมการเคลื่อนไหวภาคประชาชน กับระเบียบจริยธรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งออกเมื่อไม่นานนานมานี้ ก็คือความพยายามกักขังอาจารย์ให้อยู่แต่ในมหาวิทยาลัยหรือเปล่า

ผมว่าความตั้งใจของคนจัดทำระเบียบนี้ต้องการเสนอระบบราชาธิปไตยอย่างชัดเจน ระเบียบนี้มุ่งควบคุมและกำกับการเคลื่อนไหวของอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะมันเขียนให้ตีความได้กว้างมาก หากอยู่ในมือของผู้บริหารที่ยอมจำนนต่ออำนาจ ก็จะยิ่งตีความแบบผิดๆ ต่อไปอาจารย์จะออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ยากมาก

ที่ผ่านมาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า นักวิชาการถูกขังในมหาวิทยาลัยด้วยหลายๆ มาตรการ เช่น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏจะเคลื่อนไหวได้ยากมาก เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจรับใช้ผู้มีอำนาจและจ้องจับผิด อีกส่วนคือการควบคุมด้วยผลงานวิชาการ ตัวอย่างคลาสสิกคือ สมชาย ปรีชาศิลปกุล (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ขอตำแหน่งศาสตราจารย์ไปตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ยังไม่ได้สักที 

ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยควรจะมีอิสระกว่านี้ แต่มหาวิทยาลัยไทยกลับยิ่งทำตัวรับใช้อำนาจมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา น่าเป็นห่วงแทนนักวิชาการรุ่นใหม่ ลำพังทำงานวิชาการก็ยากลำบากอยู่แล้ว ผมคิดว่านักวิชาการที่ยังมีอายุไม่มากกำลังใช้ชีวิตอย่างขมขื่นภายใต้ระบบมหาวิทยาลัย

ตัดเกรดนโยบายสิทธิชุมชนของแต่ละรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2540 หน่อย

ให้คะแนนยาก เรื่องพวกนี้มันล่อแหลม

ย้อนไปสมัยรัฐบาลชาติชาย พรรคชาติพัฒนา แม้รัฐธรรมนูญจะยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ก็มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง ประมาณ 162 ครั้งต่อปี แล้วรัฐบาลไม่ได้ทุบตีประชาชน แต่กลับให้สิทธิเสรีภาพด้วยซ้ำ ถ้าจะให้ตัดเกรดต้องมองมิตินี้ด้วย แม้การแก้ไขปัญหาชาวบ้านอาจยังไม่เด่นชัด แต่เขาก็ไม่มีนโยบายที่ทำลายขบวนการชาวนา

ต่อมา ช่วง รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) เป็นเผด็จการช่วงสั้นๆ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน การเคลื่อนไหวเรื่องดิน น้ำ ป่า ก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่เคย แต่หลังรัฐบาลสุจินดา (พล.อ.สุจินดา คราประยูร) รัฐธรรมนูญ 2540 ให้สิทธิประชาชนมากขึ้น รัฐบาลที่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงพยายามปฏิบัติต่อประชาชนอย่างดี อย่างเช่นรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ถูกเรียกว่า ปลัดประเทศ หรือกระทั่งรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ก็ไม่ต่างกัน 

ทศวรรษ 2540 กระแสปฏิรูปการเมืองกำลังคึกคัก อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเหล่านี้ก็ให้สิทธิเสรีภาพและพื้นที่ในการแสดงออก ยกเว้นคุณชวนที่ปล่อยหมาไปกัดม็อบนะ (หัวเราะ) รัฐบาลทักษิณก็เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งพยายามให้สิทธิเสรีภาพ และยอมเจรจาต่อรองกับการเคลื่อนไหวของประชาชน รวมทั้งมีนโยบายประชานิยมที่สร้างประโยชน์ให้คนรากหญ้า ผมคงให้คะแนนเขาสูงได้

แต่ช่วงท้ายๆ ทักษิณเกิดทะเลาะกับ NGO คือพอเขาลงหลักปักฐาน ผ่านช่วงซื้อขายหุ้น เขาก็เริ่มถีบหัวส่ง NGO แล้วมีนโยบายตรงลงไปยังชาวบ้านเอง ไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งก็ไม่ได้ผิด แต่ไม่ได้ให้พื้นที่ NGO ทำให้ปลายปี 2548 เหล่า NGO กลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับไล่ทักษิณ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่รู้จะให้คะแนนยังไง เพราะช่วงปลายเรามองทักษิณไม่ดี

แต่ในภาพรวม หลังรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างน้อยเรามีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง หาเสียงด้วยนโยบายและเอามาดำเนินการจริงหลังเป็นรัฐบาล รัฐบาลแบบนี้ต้องได้เครดิต ไม่ว่านายกฯ จะชื่อทักษิณ หรืออะไรก็แล้วแต่

พอช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ก็ไม่ได้เลวร้ายมาก รัฐธรรมนูญ 2550 ยังให้พื้นที่กับการเมืองภาคประชาชนและการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน แต่ก็มีข้อจำกัด ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมไม่ค่อยได้ติดตาม

ผมว่าเรื่องที่เป็นรอยด่างอาจเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปราบปรามคนเสื้อแดง แต่เขาก็รับนโยบายป่าไม้ ที่ดิน และโฉนดชุมชน อย่างน้อยก็คือรับข้อเสนอของขบวนเคลื่อนไหวไปพิจารณาและผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐ

ถ้าจะให้สรุป รัฐบาลทักษิณทำให้ระบบราชการเล็กลง เกิดการต่อรองและกระจายทรัพยากรไปถึงชาวบ้านได้ง่ายขึ้น นโยบายหลายอย่างก็ให้ประโยชน์โดยตรงกับผู้คนซึ่งมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป พอถึงช่วง ‘รัฐบาลคนดี’ ทั้งหลาย เรากลับเห็นว่า พื้นที่ต่างๆ หดแคบลง อำนาจถูกรวมศูนย์ไปยังระบบราชการ และเนื้อหาของนโยบายก็ถูกตีกรอบอยู่แค่เศรษฐกิจพอเพียง การต่อรองแทบไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยท่ามกลางบริบทที่มีการควบคุมการชุมนุมเคลื่อนไหว

การเลือกตั้งปี 2566 จะส่งผลต่อทิศทางของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไร

ที่ผ่านมา เราเห็นข้อเรียกร้องในประเด็นที่หลากหลาย ตั้งแต่สมัชชาคนจน เยาวชนปลดแอก LGBTQ+ การศึกษาหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วพรรคการเมืองใหม่ๆ ก็รับไม้ต่อ มันแสดงให้เห็นว่าการเมืองบนท้องถนนกับการเมืองในรัฐสภาไม่ได้แยกออกจากกัน

ตัวอย่างคือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งผลักดันประเด็นของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้าสู่นโยบายพรรค และหยิบไปเคลื่อนไหวในสภา เราต้องไม่ลืมว่า ในรัฐสมัยใหม่ ข้อเรียกร้องเรื่องกระจายอำนาจหรือการปฏิรูปสถาบัน ต้องถูกทำให้เป็นกฎหมายหรือนโยบายที่ผ่านการรับรอง มันถึงจะมีผลในทางปฏิบัติ

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เราเห็นคือ เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งก็เข้าไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ในพรรคก้าวไกลก็น่าจะเกิน 20 คน ในยุโรปมีพรรคกรีน ในลาตินอเมริกาเราก็เห็นตัวอย่างจำนวนมาก นี่คือมิติใหม่ของการเคลื่อนไหวทางสังคม ส่วนภาคประชาสังคมก็ต้องฟังนโยบาย แล้วร่วมโหวตพรรคที่มีทิศทางเดียวกับขบวนการเคลื่อนไหว 

สิ่งเหล่านี้ต้องไม่แยกออกจากกัน การเข้าไปทำงานการเมืองเป็นเรื่องที่ดี มันหมดยุคของการมองว่าการเมืองเลวแล้วครับ การเมืองคือการเอาประเด็นและข้อเรียกร้องของผู้คนเข้าสู่สภาเพื่อให้มันก่อเกิดผลลัพธ์จริงๆ แต่แน่นอนว่ามันยังไม่พอหรอก ก็ต้องต่อสู้กันต่อไป

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า