ครอบครัวข้ามรุ่นและ ศพด.: รัฐที่ส่งเด็กแรกเกิดไปให้เจ้าหน้าที่เลี้ยง แต่ไม่พัฒนาให้พ่อแม่เลี้ยงลูกเป็น

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ข้อมูลจาก Thailand.UNFPA.org ปี พ.ศ. 2556 ครอบครัวข้ามรุ่น คือบ้านมีเพียงปู่ ย่า และหลาน หรือตา ยาย และหลาน มีร้อยละ 2.1 สาเหตุใหญ่คือพ่อแม่จากบ้านไปทำงาน

ในขณะที่ข้อมูลจากรายงานการสำรวจประจำปี พ.ศ. 2560 ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวนทั้งสิ้น 133,507 ครัวเรือน พบครอบครัวลักษณะพิเศษ จำนวน 2,170 ครัวเรือน เท่ากับร้อยละ 1.63 ประกอบด้วย ครอบครัวที่ไม่มีบุตร/ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว/ครอบครัวบุตรบุญธรรม/ผู้สูงอายุเลี้ยงดูเด็กตามลำพัง/มีสมาชิกอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งครรภ์/มีบุตร/ญาติดูแลเด็ก/เด็กอยู่ตามลำพังโดยไม่มีผู้ดูแล/พ่อหรือแม่ต้องโทษจำคุก

จะเห็นว่าตัวเลขห่างกันมาก Thailand.UNFPA.org ให้ตัวเลขครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพียงอย่างเดียวก็ร้อยละ 7.1 เข้าไปแล้ว บวกครอบครัวข้ามรุ่นอีกร้อยละ 2.1 ก็เกือบจะร้อยละ 10 แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบใด คุณภาพการเลี้ยงลูกกำลังถูกตั้งคำถาม ครอบครัวพ่อแม่ลูกที่พ่อแม่จากไปทำงานทั้งสองคน ครอบครัวสามรุ่นที่มีพ่อแม่เหมือนไม่มี ครอบครัวข้ามรุ่นที่คนสูงอายุไม่มีความสามารถมากพอจะเลี้ยงหลาน ตัวช่วยสำคัญคือสถานรับเลี้ยงเด็ก สำหรับราชการคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีตัวย่อที่เห็นทีไรก็ตกใจทุกที คือ ศพด.

ว่าที่จริงเวลาเห็นคำว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีตัวย่อว่า อบต. เราควรใจดี (คำเมืองแปลว่าสบายใจ) และดีใจที่อนาคตเด็กไทยจำนวนมากอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานนี้ได้ดีกว่ารัฐบาลกลาง การกระจายอำนาจรวมทั้งการกระจายงบประมาณเป็นกลไกสำคัญ พ้นจากนี้คือเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งทั้งสองประการเป็นอนาคตที่ดับวูบของประเทศไทย ไม่มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นมานานมากกว่าห้าปีแล้ว

ประเทศไทยมีเงินมากพอที่จะจ่ายลงมาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้งมีเงินมากพอที่จะเริ่มต้นรัฐสวัสดิการ แต่ทั้งสองประการไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นเลยทั้งที่มีนักการเมืองและข้าราชการไปดูงานต่างประเทศมากมาย

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีประกาศจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขยายอายุการส่งเด็กไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลและมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่แรกเกิด เดาว่าผู้ออกคำสั่งตั้งสมมุติฐานว่าน่าจะดีกว่าปล่อยไว้ที่บ้านซึ่งอยู่ไปวันๆ โดยไม่มีคนดูแลที่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าจะเป็นความตั้งใจดีแต่ก็ดูเหมือนจะขัดใจหลายคนเพราะขัดกับหลักการที่ว่าพ่อแม่คือผู้เลี้ยงดูหลักที่ดีที่สุด กล่าวคือแทนที่จะทำรัฐสวัสดิการให้พ่อแม่ไม่ต้องปากกัดตีนถีบจากบ้านไปทำงานมากจนเกินไป มีเวลาลาคลอดและลางานได้นานโดยมีเงินสวัสดิการและคงตำแหน่งงานรอไว้อย่างเป็นระบบ แล้วพัฒนาพ่อแม่ให้เลี้ยงลูกเป็น ตอนนี้การณ์กลับกลายเป็นว่าส่งเสริมให้เอาลูกไปให้เจ้าหน้าที่เลี้ยงมากกว่าเดิม

โดยล่วงล้ำเข้ามาในเวลาวิกฤติของการเลี้ยงเด็กเล็ก คือ อายุน้อยกว่าสามขวบยิ่งกว่าเดิม

สมมุติว่าทำได้ไม่ดี เป็นไปได้ว่าเรากำลังทำลายเด็กเล็ก 0-3 ปีอย่างเป็นระบบ หลังจากที่ทำลายเด็กอนุบาล 4-6 ปีอย่างเป็นระบบด้วยนโยบายเร่งเรียนเขียนอ่านอยู่ก่อนแล้ว นี่คืออนาคตใหม่

เมื่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตั้งใจจริงที่จะรับหน้าที่ดูแลเด็กไทยแทนพ่อแม่และปู่ย่าตายาย เรื่องที่ควรทำคือพัฒนาพี่เลี้ยงเด็กและครูพี่เลี้ยงให้มีความรู้จิตวิทยาพัฒนาการอย่างดีที่สุด

แต่การพัฒนาบุคลากรมิใช่เรื่องง่ายในบ้านเรามาแต่ไหนแต่ไร เรามีการประชุมพัฒนาบุคลากรทั้งด้านวิชาการ บริหารจัดการ และจริยธรรมอยู่แล้วมากมาย มีการประชุมทำวิสัยทัศน์ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ระดมสมอง และการตรวจราชการเพื่อพัฒนาคุณภาพทุกหน่วยงานของทุกกระทรวงเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว

แต่บ่อยครั้งที่ผู้เข้าประชุมเห็นอยู่ว่าเมื่อปิดการประชุม วันรุ่งขึ้นเราก็กลับไปทำงานในรูปแบบเดิมๆ ก่อนการประชุม ความรู้ที่ได้เป็นเพียงความรู้ทางวิชาการเล็กๆ น้อยๆ ประดับกาย แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือระบบ หรือจ่ายงบประมาณที่เอื้อให้คนทำงานทำงานได้ดีที่สุดตามวิชาการที่ได้อบรมมา หรือตามวิสัยทัศน์ใหม่หรือกระบวนทัศน์ใหม่ที่ได้ทำคัทเอาต์สวยๆ ไว้หน้าหน่วยงาน

การประชุมเป็นการพักผ่อน กินกาแฟ เปลี่ยนสถานที่ พักงานประจำ ใช้งบประมาณให้หมด มีตัวชี้วัดใหม่ๆ แล้วทุกคนแยกย้ายไปทำงานแบบเดิม

ไม่นับว่าอีกหลายครั้งที่ผู้ตรวจราชการ นิเทศงาน แบบประเมินมาตรฐาน และการเร่งรัดจากส่วนกลางทำให้คนทำงานไม่สามารถทำอะไรได้มากนักภายใต้ภาระงานที่เป็นจริง แล้วเรื่องจบลงด้วยการสร้างตัวเลขผลงานส่งผู้ที่ต้องการผลงาน

บ้านเมืองของเราวนอยู่ในลูป (loop) นี้มานานมาก อย่างน้อยก็หนึ่งชั่วอายุราชการของคนหนึ่งคน

การประชุมในบ้านเรามี 4 ลักษณะ

หนึ่ง เชิญนักวิชาการจากส่วนกลางมาบรรยาย ใช้พาวเวอร์พอยต์วิชาการให้ความรู้แก่ผู้มาประชุมตรงๆ แต่ความรู้นั้นมีไว้ประดับกายมากกว่าที่จะนำไปใช้ต่อได้จริง เพราะหน้างานของเราต่างจากที่เขียนไว้ในตำราลิบลับ เจ้าหน้าที่ศูนย์เด็กเล็กหลายๆ พื้นที่รู้อยู่แก่ใจดี

สอง เชิญหัวหน้าหน่วยงานหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาให้นโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ โดยที่ไม่มีใครเข้าใจถ้อยคำบนพาวเวอร์พอยต์จริงๆ เพราะหัวหน้าหน่วยงานหรือส่วนราชการเป็นการหมุนเวียนตำแหน่งกันเสียมาก แม้แต่ระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดีก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองบรรยาย มีให้เห็นทุกปี จะมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งทำพาวเวอร์พอยต์ให้เสมอ

สาม เชิญวิทยากรด้านความดี รวมทั้งพระภิกษุมาอบรมสั่งสอนเรื่องการเป็นคนดีหรือข้าราชการที่ดี รวมทั้งมีนโยบายให้เข้าค่ายธรรม (มะ) หรือปฏิบัติธรรม (มะ) ด้วยเชื่อว่าอะไรๆ จะดีเอง บางหน่วยงานได้ตัวชี้วัดครบถ้วนเป็นใช้ได้

สี่ การประชุมระดมสมองของผู้ปฏิบัติงานด้วยการแบ่งกลุ่มย่อย มีประธานและเลขานุการกลุ่ม แยกย้ายการประชุม 2 วัน ระดมสมองใส่โพสต์อิทติดกำแพง จากนั้นรวบรวมประเด็นให้ตัวแทนขึ้นเวทีบรรยายในชั่วโมงสุดท้ายของการประชุมวันที่สองก่อนการปิดประชุม ทำกันเช่นนี้ตั้งแต่ยุคแผ่นใสจนถึงยุคคอมพิวเตอร์ แล้วตีพิมพ์รายงานออกมาในเวลา 3-6 เดือนหลังจากนั้น รายงานวางบนโต๊ะเจ้านาย ซึ่งไม่มีเวลาแม้แต่จะเปิดดู อย่าว่าแต่บริหารจัดการให้เป็นไปตามนั้น

บ้านเมืองของเราวนลูปอยู่กับการบริหารราชการเชิงเล่นละครเช่นนี้มานานแสนนาน และหากครั้งนี้ ศพด. ตั้งใจจริงจะดูแลเด็กไทยอายุ 0-3 ขวบอย่างดีที่สุด จะวนลูปอยู่เพียงเท่านี้มิได้

เราต้องการนักการเมืองรุ่นใหม่ที่พร้อมจะลงมือเปลี่ยนแปลงระบบขนานใหญ่

 

หมายเหตุ: อ่านบทความย้อนหลังของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ที่นี่

01 ครอบครัววันนี้: นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

02 ครอบครัวสามรุ่น: ตายายช่างสปอยล์ พ่อแม่มนุษย์ล่องหน และเด็กผี

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า