มีคำถามเสมอว่าเพราะอะไรลูกชอบดื้อกับแม่คนเดียว ทีญาติคนอื่นมาบ้านอะไรๆ ก็ง่าย
คำตอบที่ผมตอบเสมอคือคนอื่นเป็นแค่ทางผ่าน คุณแม่คือตัวจริง
อธิบาย
“แม่ที่มีอยู่จริง” เป็นต้นธารของพัฒนาการทั้งสองสาย คือพัฒนาการทางจิตวิทยาและพัฒนาการทางชีววิทยา
พัฒนาการทางจิตวิทยา แม่เป็นต้นธารของการสร้าง แม่ที่มีอยู่จริง – สายสัมพันธ์ – ตัวตน ก่อนที่ตัวตนจะแยกตัวออกไปเป็นบุคคลอิสระเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ
พัฒนาการทางชีววิทยา แม่เป็นต้นธารของการสร้างวัตถุที่มีอยู่จริง (เพียเจต์เรียก object permanence มาห์เลอร์เรียก object constancy) วัตถุที่มีอยู่จริงเป็นต้นเรื่องของการสร้างวงจรประสาทโปรโตอีเอฟ (proto-EF) คือการหยุดกระทำหนึ่งเพื่อไปกระทำอีกหนึ่งที่มีประโยชน์มากกว่า (response inhibition & shifting) วงจรประสาทนี้เริ่มต้นตั้งแต่อายุประมาณ 3-8 เดือน
สมองมาก่อนจิตใจเสียอีก
เมื่อแม่เป็นต้นทางแล้ว เรานึกภาพแม่เป็นเสาหลัก คำที่ผมชอบใช้คือคำว่าเสาหลักพัฒนาการ สายสัมพันธ์เปรียบเสมือนเชือกล่ามเสาหลักเอาไว้ จากนั้นนำปลายเชือกมามัดรอบเอวตัวเองคือตัวตน ตัวตนจะเดินจากแม่ไปนับแต่บัดนี้
ดังที่เคยอธิบาย ทุกๆ ย่างก้าวที่เด็กเดินจากแม่ไป ด้วยความไม่มั่นใจและความกังวละว่าแม่จะยังอยู่ข้างหลังเขาหรือเปล่า เขาจะหันกลับไปดูแม่เป็นระยะๆ เพราะแม่เพิ่งจะมีอยู่จริงที่อายุ 6 เดือนเท่านั้นเอง ด้วยระยะทางที่ห่างขึ้นทุกที และหันกลับไปมองหาแม่น้อยลงทุกที ระหว่างกระบวนการนี้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง?
คำตอบง่ายมาก เด็กจะทดสอบเชือกที่ล่ามตนเองไว้กับแม่ว่าแข็งแรงพอหรือเปล่า ดังนั้นบางครั้งเขาจะดึงสุดแรงเพื่อทดสอบความเหนียวของเชือก บางครั้งเขากำลังทดสอบพลังของตนเองว่าจะกระชากเชือกให้ขาดจากแม่ได้หรือยัง จะได้เป็นบุคคลอิสระเสียที
นอกจากนี้ บางครั้งเขาเดินกลับมาหาแม่ แล้วเตะต่อยเสาหลักเพื่อทดสอบว่าเสาหลักแข็งแรงจริงหรือไม่ หรือเป็นไม้หลักปักขี้เลน มากกว่านี้คือเสาหลักแกร่งมากพอที่จะยังรักเขาเหมือนเดิมหรือไม่ เสาหลักจะไม่ทำร้ายเขาใช่ไหมไม่ว่าเขาจะร้ายกาจเพียงใด เสาหลักจะยังคงรักและเมตตาเหมือนวันที่อุ้มกอดแนบอกแล้วให้นมใช่หรือไม่ คือวันเวลาที่แม่ทุกบ้านไม่เคยคาดหวังอะไร ขอแค่ลูกเกิดมาครบสามสิบสองก็พอใจมากแล้ว คำว่าดื้อหรือเรียนไม่เก่งยังไม่มา
จะว่าไปคำถามที่ว่าทำไมลูกถึงร้ายกับแม่อยู่คนเดียว เป็นคำถามเดียวกันกับที่เราถามคู่สมรสว่าทำไมถึงร้ายกับเราอยู่คนเดียว คำตอบคล้ายคลึงกัน เพราะคู่สมรสควรจะเป็นคนเดียวในโลกที่ไว้ใจได้ หันหลังให้ได้โดยปลอดภัย และให้อภัยเราได้เสมอ
เหล่านี้เป็นเรื่องตอนต้นๆ ที่แม่รักลูกไม่มีเงื่อนไข เหมือนคู่แต่งงานใหม่ที่รักกันไม่มีเงื่อนไข
ครั้นเวลาผ่านไปโลกแห่งความเป็นจริงเคลื่อนตัวเข้ามา แม่ทุกคนคาดหวังลูกไม่มากก็น้อย ให้เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เรียนเก่งคิดเลขได้เร็ว ไปจนถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่นั่งดีๆ ก็เหมือนคู่สมรสที่ตื่นเช้ามาวันหนึ่งแล้วพบโลกแห่งความเป็นจริงว่าบ้านต้องเช่า รถต้องผ่อน ลูกต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ การทดสอบกันโดยไม่มีขอบเขตเริ่มก่อปัญหาเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม่ที่มีอยู่จริงสำหรับเด็ก 3 ขวบโดยส่วนใหญ่มิใช่แม่ที่คาดหวังอะไรมากมายนัก ส่วนใหญ่สามารถอดทนต่อความดื้อและการทดสอบของลูก 3 ขวบได้เรื่อยๆ แม่ๆ จะเขียนมาถามเสมอว่าเพราะอะไรลูกจึงดูเหมือนว่าจะดื้อกับแม่อยู่คนเดียว คำตอบประจำคือ “ปกติ”
แม่มี 2 ชนิด คือแม่ใจดีและแม่ใจร้าย
เมลานี ไคลน์ เขียนว่าในตอนแรกทารกรับรู้ว่าแม่ใจดีเสมอ เพราะแม่มีแต่ให้ ให้นม อุ้มกอด บอกรัก เปิดพัดลม ห่มผ้า เปิดเครื่องฟอกอากาศ ดีไปหมดทุกสิ่งอัน
จนถึงวันหนึ่งที่เครื่องฟอกอากาศทำงานมิได้เพราะค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ภายนอกอาคารสูงเกิน 600 หน่วย หรือบ้านที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ หรือไม่มีเงินจ่ายค่าไฟเครื่องปรับอากาศ บัดนี้แม่ใจร้ายแล้ว เพราะแม่คือทุกสิ่งในจักรวาล เมื่อจักรวาลร้ายความหมายคือแม่ร้าย
ทารกจะจัดการแม่ใจร้ายนี้อย่างไร เขาจะแยกแม่ใจร้ายออกจากแม่ใจดี เราเรียกกลไกนี้ว่า splitting ซึ่งถือเป็นกลไกทางจิตที่โบราณ (archaic) มากที่สุดของมนุษย์กลไกหนึ่ง แยกแม่ใจร้ายออกไปแล้วทำให้สาบสูญไปด้วยกลไกทางจิตที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
จะเห็นว่าไม่เพียงการพรากจากแม่ใน 3 ขวบปีแรก ที่มีความสำคัญ สิ่งแวดล้อมที่ร้ายกาจก็มีความสำคัญด้วย
ระดับความหงุดหงิดของแม่ขึ้นกับภาระงาน การเงิน และสิ่งแวดล้อมที่หฤโหด ด้วยความรู้จิตวิเคราะห์เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้งานวิจัยสมัยใหม่ช่วย เราก็ควรรู้ได้แล้วว่าเวลา 3 ขวบปีแรกที่มารดาจะให้แก่ลูกนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีคุณภาพ
ซึ่งจะทำได้เมื่อแม่มีเวลา
และมีเงิน
เราจึงต้องการรัฐสวัสดิการ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศของเรามีเงิน