โลกทั้งใบเริ่มต้นที่ ‘เต้านม’

หลังจากเกริ่นนำชื่อ เมลานี ไคลน์ มา 2 ครั้งเพื่อให้คุ้นชื่อคุ้นหู วันนี้จะคุยเรื่องงานของ เมลานี ไคลน์ (Melanie Klein, 1882-1960)  ซึ่งเป็นงานจิตวิเคราะห์ที่ยึดโยงกับสิ่งที่ฟรอยด์เขียนไว้มาก และลงหลักปักฐานในอังกฤษอย่างแน่นหนา

กติกาเหมือนเดิม ท่านที่ไม่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษสามารถอ่านโดยไม่ต้องสนใจคำในวงเล็บ

เมลานี ไคลน์ เริ่มด้วยประเด็นจิตวิทยาของอิด (Id psychology) คือความอยาก ความต้องการ หรือสัญชาตญาณ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกแรกเกิด

ทารกเกิดมาต้องดูดนม นมแม่และตัวแม่เป็นวัตถุเป้าหมายชิ้นแรก ทารกจะทำอะไรกับวัตถุเป้าหมายชิ้นแรก คำตอบคืออิจฉา ตะกละตะกลาม และเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ (envy, greed, jealous)

ทารกอิจฉาเต้านมที่มีความสามารถหลั่งน้ำนมซึ่งเขาทำไม่ได้ ตะกละตะกลามดูดน้ำนมอย่างมูมมามไม่บันยะบันยัง ตามด้วยหึงหวงไปจนถึงต้องการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของเต้านมแต่ผู้เดียว เหล่านี้เป็นจิตใต้สำนึกของทารก (เวลาอ่านงานจิตวิเคราะห์ อย่าถามว่าคนเขียนคือ เมลานี ไคลน์ รู้ได้อย่างไร แต่ถ้าต้องการคำตอบจริงๆ คำตอบคือรู้จากการดูผู้ป่วยด้วยกลวิธีของจิตวิเคราะห์)

เมลานี ไคลน์ เขียนอีกด้วยว่าจิตใต้สำนึกที่ดึกดำบรรพ์มากเรื่องหนึ่งของมนุษย์คือเรื่องกินเนื้อคน (cannibalism) ทารกมิได้เพียงต้องการดูดนม เขาต้องการ ‘กิน’ เต้านมด้วย

เต้านมเป็นวัตถุแรกที่ให้ความสุขแก่ทารก การสัมผัส การแนบ ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นจะฝังลงไปในจิตใต้สำนึกตลอดกาล เป็นจุดเริ่มต้นของสัญชาตญาณที่จะมีชีวิต (life instinct) เราจะต้องไม่สูญเสียวัตถุที่ดีแสนดีนี้ตลอดไป

วิธีรักษาวัตถุชิ้นนี้ให้อยู่ตลอดไป ทำได้ด้วยการสวาปามเข้ามาในตนเองเสียตั้งแต่แรกเพื่อมิให้ใครแย่งเอาไปได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของจิตใจหรืออีโก้ (ego) ตามแนวคิดของไคลน์ คนเราสร้างจิตใจตนเองขึ้นมาด้วยวิธีนี้ (แต่นักจิตวิเคราะห์คนอื่นจะเขียนอีกแบบหนึ่ง)

ถึงตรงนี้ ลองนึกภาพเด็กที่ไม่มีแม่ (เต้านมหมายถึงขวดนมและหมายถึงแม่ในยุคสมัยต่อมา) ถ้าเมลานีถูก พวกเขาไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอีโก้หรือจิตใจ ว่างเปล่ากลวงโบ๋ตั้งแต่แรก

กลไกทางจิตเพื่อนำเข้าเต้านม (introjection) เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการโยนเต้านมออกไปนอกร่างกายเพื่อฝากฝังไว้กับโลกด้วย (projection) ด้วยวิธีนี้ความดีงามของเต้านมจึงมีส่วนหนึ่งที่ทารกฝากไว้นอกร่างกายของตนเอง คือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่าความไว้วางใจ (trust) เมื่อเขาไว้ใจโลกได้ โลกทั้งใบจะเหมือนเต้านม เป็นสถานที่ดีๆ ที่เขาจะฝากฝังชีวิตต่อไป

อีกครั้งหนึ่ง ลองนึกภาพเด็กที่ไม่มีแม่ ก็จะไม่มีความไว้ใจใคร จะเข้าใจง่ายขึ้นเมื่อนึกถึงเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างกองขยะให้มดกัด หรือถูกทิ้งไว้ตามสถานเลี้ยงเด็กที่ไม่มีคุณภาพ (ถ้ามีคุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

เมื่อความไว้วางใจถูกสร้างขึ้นแล้วที่โลกภายนอก บัดนี้ทารกไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะสูญเสียเต้านมไปอีกแล้วเพราะจะไม่มีใครขโมยเต้านมไปได้อีก ทารกจึงจะลดความอิจฉา ตะกละตะกลาม และเป็นเจ้าเข้าเจ้าของลง

ด้วยแนวคิดนี้อาการหวาดระแวง (paranoid) จึงเริ่มต้นได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรกของชีวิต และโรคจิตเภท (schizophrenia) สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ขวบปีแรกของชีวิต อย่างไรก็ตามความรู้นี้มิได้รับการยอมรับอีกต่อไปแล้ว เมื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่พิสูจน์ได้ว่าโรคจิตเภทเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม มิใช่โรคที่เกิดจากการเลี้ยงดู

“ไม่มีใครเลี้ยงลูกให้เป็นบ้าได้หรอก หากมิใช่เขาบ้ามาก่อนแล้ว”

ไม่มีใครเลี้ยงลูกให้เป็นบ้าได้หรอก แต่เลี้ยงให้ใกล้บ้านั้นพอทำได้

โรคจิตเภทเป็นกลุ่มอาการเฉพาะที่ผู้ป่วยเสียสติหรือเกือบเสียสติโดยสมบูรณ์ สามารถตรวจสภาพจิตพบได้ด้วยวิธีการเฉพาะ สามารถสาธิตให้เห็นการทำงานที่ผิดพลาดของเนื้อสมองในห้องปฏิบัติการ ไปจนถึงการผ่าศพดูพยาธิสภาพของสมองหลังการตาย (เฉพาะที่ป่วยเรื้อรังนานนับสิบปี) โรคนี้มิได้เกิดจากการเลี้ยงดูแน่ อย่างไรก็ตามยังคงมีคำถามได้เสมอว่าการเลี้ยงดูสามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นให้พันธุกรรมแสดงออกหรือไม่

หาก เมลานี ไคลน์ ถูก ความสำคัญของการเลี้ยงลูกไม่ใช่เวลาวิกฤติของ 3 ขวบปีแรกเสียแล้ว แต่เริ่มตั้งแต่วัยทารก 6 เดือนแรก

เราจึงควรตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าการลาเลี้ยงลูกได้ 3 เดือนเพียงพอหรือไม่ และถ้าการเลี้ยงลูกนาน 6 เดือนเป็นความเครียดอย่างยิ่งที่สามารถทำให้แม่มือใหม่บางคนใกล้บ้าได้ เราควรอนุญาตให้พ่อได้ลางานมาช่วยหารสองงานของแม่หรือไม่ และลานานเท่าไร

โดยมีเงื่อนไขว่าทั้งพ่อและแม่ยังคงได้เงินเดือนเต็มระหว่างลางานเพื่อเลี้ยงลูก และงานที่ลามานั้นยังต้องรออยู่ จะเห็นว่านี่เป็นเงื่อนไขที่พ้นความสามารถต่อรองของประชาชนรวมทั้งคนเป็นพ่อแม่ เป็นหน้าที่ของระดับสูงกว่านั้น เราจึงไม่สามารถพูดเรื่องการเลี้ยงลูกให้ได้ดีได้โดยไม่แตะต้องรัฐ

อีกทั้งเราจำเป็นต้องข้ามวาทกรรมประเภท “ประเทศเราไม่มีเงิน” และ “ให้พ่อลางานได้มันก็กินแต่เหล้า”

เคยมีการประชุมครั้งหนึ่ง ประธานที่ประชุม ซึ่งไม่บอกก็ควรเดาได้ว่าเป็นผู้ชาย ปฏิเสธข้อเสนอเรื่องให้คุณพ่อลางานได้ ด้วยคำพูดว่า “พ่อไม่มีเต้านม ขืนให้ลาก็ไปดูดนมแทน”

จะเห็นว่าอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาของบ้านเรานั้นฝังรากล้ำลึกอย่างเหลือเชื่อ มิใช่แค่ลูกผู้ชายไม่มีหน้าที่เลี้ยงลูกแต่ลงไปต่ำกว่านั้นมาก และอยู่ในจิตใจผู้บริหารระดับสูงด้วย

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า