ดูแผนภูมินี้ประกอบการอ่าน
เริ่มต้นที่มุมซ้ายของรูป เด็กทุกคนเริ่มต้นด้วยการเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง ในระดับจิตสำนึก (conscious) เราใช้คำว่าเซลฟ์เซ็นเตอร์ (self-centered) ในระดับจิตใต้สำนึก (unconscious) เราเรียกว่าอีโก้เซ็นตริค (egocentric) สองระดับนี้มีความต่างกัน
ดูเส้นที่หนึ่งคือเส้นตั้งฉาก เป็นพัฒนาการด้านวิธีคิด ภาษาอังกฤษเรียกว่า cognition พัฒนาการของวิธีคิดเรียกว่า cognitive development บุคคลสำคัญที่เขียนเรื่องพัฒนาการของวิธีคิดที่มีชื่อเสียงและยังมีอิทธิพลมากที่สุดคือ ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) แม้ว่าหลังๆ จะมีนักจิตวิทยาสมัยใหม่และงานวิจัยสมัยใหม่บางชิ้นบอกว่าท่านเขียนถูกแต่อธิบายผิดเป็นบางเรื่อง
พัฒนาของวิธีคิดที่เพียเจต์เขียนแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ อายุ 0-2 ขวบพัฒนาระบบสัมผัสและกล้ามเนื้อ 3-7 ขวบเตรียมความพร้อม 8-12 ขวบพัฒนาวิธีคิดเชิงรูปธรรม 13-18 ปีพัฒนาวิธีคิดเชิงตรรกะหรือลอจิค (logic)
ตัวเลขที่ให้เป็นตัวเลขประมาณการ ผมปรับตัวเลขของเพียเจต์เล็กน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาส่วนใหญ่ของโลก กล่าวคือสองขวบปีแรกอยู่บ้านไม่ต้องไปไหน อย่างมากก็ไปเนิร์สเซอรี เมื่อเป็นเด็กเล็กให้เตรียมความพร้อม ถ้าจำเป็นต้องไปโรงเรียนควรไปโรงเรียนที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อม เมื่อเป็นเด็กโตจึงอ่านเขียนเรียนเลขตอนชั้นประถม จากนั้นเมื่อเป็นวัยรุ่นจึงเรียนชั้นมัธยม ภาษาอังกฤษที่เพียเจต์ใช้เรียกพัฒนาการทั้ง 4 ขั้นตอนนี้คือ sensori-motor, preoperation, concrete operation และ formal operation ตามลำดับ
หากจะรวบเรื่องที่เพียเจต์เขียนให้เหลือประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียว ประโยคนั้นน่าจะเป็น ‘งานของเด็กคือการเล่น’ เพราะการเล่นจะพัฒนาวิธีคิดทั้ง 4 ขั้นตอนให้แก่เด็กเอง โดยพัฒนาการและโดยธรรมชาติ เด็กที่มิได้เล่น หรือเล่นไม่มากพอ หรือเล่นกลางแจ้งในสนามไม่มากพอจึงเกิดปัญหาทางพฤติกรรม ปัญหาทางพฤติกรรมนั้นมิได้เกิดจากนิสัยที่ไม่ดีแต่อย่างใด แต่เกิดจากพัฒนาการของวิธีคิดที่ติดขัด สะดุด บกพร่อง ไม่เต็ม แล้วเสียสมดุล
เราเรียกว่าเด็กด้อยโอกาส คือด้อยโอกาสที่จะได้เล่นสมวัย
ดูที่จุดสูงสุดของพัฒนาการ คืออุดมคติ (ideal)
เราจะไปถึงจุดสูงสุดได้จำเป็นต้องผ่านพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่าคุณค่า (value) ถ้าไม่มีคำว่าคุณค่า จะไม่มีคำว่าอุดมคติติดตามมา เราอยากให้ลูกวัยรุ่นของเรามีสิ่งที่เรียกว่าอุดมคติ เพราะอุดมคติเป็นเรื่องดีมากกว่าเรื่องไม่ดี แม้ว่าเขาอาจจะมีอุดมคติทางลบบ้างก็ตาม
กล่าวคืออุดมคติคือจุดสูงสุดที่เขาจะไปได้ และไปให้ไกลที่สุดก่อนที่วัยผู้ใหญ่จะมาถึง เพราะหลังจากนี้ทุกอย่างจะเริ่มหยุดชะงักแล้วลดระดับลง เราจะทำงานเพื่อตนเองมากขึ้นแล้วเราจะทำงานเพื่อส่วนรวมน้อยลง
ส่วนเรื่องอุดมคติทางลบนั้นไม่ควรกังวลมากจนเกินไป เพราะมันก็จะดาวน์ลงมาเองเมื่อถึงเวลา นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ
แต่การจะไปให้ถึงสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าไม่มีทางลัด เราจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้เล่น เพราะการเล่นคืองานของเด็ก และงานย่อมสร้างคุณค่าเสมอ การเล่นจะช่วยให้สองขวบปีแรกของเด็กมีประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อที่ดีที่สุดก่อนเข้าสู่ระยะก่อนปฏิบัติการหรือระยะเตรียมความพร้อมที่อายุ 3-7 ขวบ พัฒนาการของประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อนี้เริ่มต้นที่แม่ ยกตัวอย่างเดียว เด็กรู้จักมอง (คือประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น) ต่อเมื่อเขารู้จัก 1.มองตาแม่ 2.มองตามแม่
ที่ระยะก่อนปฏิบัติการหรือเตรียมความพร้อม คือวัยอนุบาล ซึ่งโดยทฤษฎีท่านจะมีหรือไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโรงเรียนอนุบาลก็ได้ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กทุกคนวิ่งเล่นเองได้ เดิน วิ่ง คลาน กระโดด ปีน ขว้าง กำ ต่อย เตะ ถีบ โรงเรียนอนุบาลค่าเล่าเรียนฟรีของรัฐ หรือโรงเรียนอนุบาลเตรียมความพร้อมปีละสองแสน หรือเล่นอยู่กับบ้าน เด็กคนหนึ่งเดิน วิ่ง คลาน กระโดด ปีน ขว้าง กำ ต่อย เตะ ถีบ ได้เท่าๆ กัน
ยกเว้นข้อเดียว คือท่านไม่อนุญาต นอกจากไม่อนุญาตยังตบเด็กคว่ำได้อีกต่างหาก
การเล่นคืองานของเด็ก เพราะการเล่นจะสร้างความสามารถดังต่อไปนี้ให้แก่เด็ก คือ
Animism
Egocentricism
Magical thinking
Phenomenalistic causality
Placement & Displacement
Space & Time
Grouping
Ordering
Hierrachy classification
Seriation
Centration & Decentration
Conservation
Spatial relation
รวม 13 คำ
ความสามารถ 13 คำนี้มีมากกว่า ‘การอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น’ ที่วัยอนุบาลนี้มาก
อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็นที่วัยอนุบาลนี้ส่งผลให้เด็กไปได้ไกลอย่างมากที่สุดเมื่อจบปริญญาตรี แล้วไปต่อไม่ค่อยจะได้เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปริญญาตรี-โท-เอก-ตำแหน่งงานที่ดี มิใช่ตัวชี้วัดที่ดีอีกต่อไปแล้วในวันนี้
ในทางตรงข้าม ความสามารถ 13 คำนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่ (ไม่) ดี 6 ตัวในอนาคตคือวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน ได้แก่ อัตราการเจ็บป่วยทางกาย อัตราการเจ็บป่วยทางจิต อัตราการว่างงาน อัตราการใช้ยาเสพติด อัตราการก่อคดี และความยากจน กล่าวคือเราเตรียมความพร้อมลูกดีที่สุด ตัวเลขเหล่านี้ต่ำที่สุด
มีงานวิจัยจากยุโรปจากบางประเทศที่ชี้ว่าเด็กที่ไปโรงเรียนช้าที่สุดหรือเด็กที่มีอายุมากที่สุดในช่วงวัยอนุบาล มีตัวชี้วัดเหล่านี้ดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ในห้อง
เพราะการเล่นคืองานของเด็ก