เรื่องดีๆ อยู่ที่ปลายทาง (4): บ้านเมืองและส่วนรวมจะดี เมื่อเด็กมีทักษะศตวรรษที่ 21

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ผ่านไปสามตอนแล้ว อุดมคติ จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อพื้นที่สาธารณะ ทั้งสามประการนี้อยู่ที่ปลายสุดของเส้นกราฟพัฒนาการ ซึ่งกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะได้มา ชีวิตก็ต้องล่วงเลยมาถึงประมาณวัยทีนและวัยรุ่นคืออายุ 13-18 ปี ตามตำราจิตวิทยาพัฒนาการทุกสมัย

ไม่มีข้อยกเว้น นักวิชาการทุกสาขานั่งดูมาหลายร้อยปีแล้ว ถ้าจะมีคำว่าปัญหาวัยรุ่น เราพบว่าปัญหาวัยรุ่นเหมือนกันทุกยุคสมัย อาจจะมีข้อแตกต่างหนึ่งข้อคือสมัยโบราณไม่มีวัยรุ่น มีแต่วัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ เด็กคนหนึ่งเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่ด้วยพิธีกรรมบางอย่างในวันเดียว หลังจากนั้นต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ใหญ่ สามารถแต่งงานแล้วมีลูกได้เลย ไม่มีคำว่าตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและไม่มีการขอเงินพ่อแม่ใช้อีก เป็นเช่นนี้ทุกเผ่าพันธุ์

โครงร่างของจิตวิทยาพัฒนาการมีหลายสำนัก ฟรอยด์, มาห์เลอร์, ไคลน์, จุง, อีริคสัน, เพียเจต์, ไวก๊อตสกี, โคห์ลเบิร์ก, ซัลลิแวน, เฟนิเกล ฯลฯ ตามด้วยจิตวิทยาเชิงบวกและ Executive Function (EF) นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านสมองและพันธุกรรม เหล่านี้มีข้อที่ไม่เหมือนกันเป็นบางส่วนแต่หลักใหญ่ใจความแล้วไม่มีเรื่องใหญ่ที่ขัดแย้งกัน

เราสามารถเขียนเป็นเส้นกราฟพัฒนาการเส้นที่ 4 ซึ่งผมตั้งชื่อให้ว่า ‘บันได 7 ขั้นสู่ศตวรรษที่ 21’ เพื่อให้ทำความเข้าใจง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่มิได้เรียนพื้นฐานของนักคิดสายจิตวิทยาแต่ละท่านมาก่อน

เราเริ่มต้นด้วย ‘แม่’

ขั้นที่ 1 สร้างแม่ที่มีอยู่จริง ทารกเกิดใหม่ไม่รับรู้ว่ามีแม่ แม่ไม่มีอยู่จริง เขาใช้เวลา 6 เดือนแรกสร้างแม่ที่มีอยู่จริงก่อน เป็นเสาหลักของพัฒนาการทั้งชีวิตที่เหลือ

ขั้นที่ 2 สร้างสายสัมพันธ์ ครั้งที่ทารกอยู่ในครรภ์ แม่-ลูกมีสายสัมพันธ์ด้วยสายรกที่มองเห็นและจับต้องได้  เมื่อทารกคลอดสายรกถูกตัดขาด มนุษย์สร้างสายรกเส้นใหม่ที่มองไม่เห็นด้วยตาและจับมิได้ด้วยมือแต่สัมผัสได้ด้วยใจ คือสายสัมพันธ์

ขั้นที่ 3 สร้างตัวตน ตัวตนเกิดขึ้นที่ปลายเชือกที่เรียกว่าสายสัมพันธ์ แต่เป็นเชือกที่มองไม่เห็น ทอดยาวไปได้รอบโลก อยู่เหนือกาลเวลา ตัวตนเป็นประธานของประโยค ใช้เดินทางต่อไปในอนาคต

ขั้นที่ 4 สร้าง self esteem ตัวตนไปข้างหน้าด้วยพลังของเซลฟ์เอสตีม คือความสามารถที่จะรับรู้ว่าตนเองทำอะไรได้บ้างและทำได้มากแค่ไหน ทำได้เซลฟ์เอสตีมดีจึงจะพัฒนาต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่

ขั้นที่ 5 คือมีการควบคุมตนเอง เรียกว่าเซลฟ์คอนโทรล (self control) ใช้เป็นแบริเออร์กั้นพัฒนาการมิให้ไปเร็วเกินไป มากเกินไปหรือออกนอกเส้นทาง แบริเออร์ไม่ควรมาจากภายนอกและไม่ควรมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ควรเกิดขึ้นภายในจิตใจและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นเครื่องมือที่เด็กใช้กำกับตัวเอง บางตำราใช้คำว่าเซลฟ์เรกูเลชั่น (self regulation)

ขั้นที่ 6 คือมี EF มาจากคำว่า Executive Function หมายถึงความสามารถที่จะควบคุมตนเองไปให้ถึงเป้าหมาย ตนเองประกอบด้วยความคิด อารมณ์และการกระทำ โดยเด็กเป็นผู้กำหนดเป้าหมายด้วยตัวเอง มิใช่พ่อแม่กำหนดให้ เด็กควรมีความสามารถกำหนดเป้าหมายตามความถนัดและความหลงใหล

ขั้นที่ 7 คือมีทักษะศตวรรษที่ 21 ได้แก่ 

  • ทักษะเรียนรู้ คือ มีความคิดเชิงวิพากษ์และสามารถเรียนรู้จากทุกสถานที่ทุกเวลา 
  • ทักษะชีวิต คือ มีความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน กล้าตัดสินใจ กล้าลงมือทำ มีความรับผิดรับชอบ กล้าประเมินผล และคิดยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนมุมมอง ปรับเป้าหมาย แผน วิธีทำงาน ตัวชี้วัด ตัวแปร และกระบวนทัศน์ 
  • ทักษะไอที คือมีความสามารถในการเสพสื่อ วิเคราะห์สื่อ ใช้เครื่องมือไอทีสมัยใหม่ และรับมือกับ disruption ที่มาถึงด้วยความเร็วที่มากกว่าคนสมัยก่อน

บันไดขั้นที่ 1-3 สร้างมาจากบ้านและครอบครัวเสียมาก อย่างไรก็ตาม สังคม การเมือง และโครงสร้างที่ดีจะช่วยให้บ้านและครอบครัว คุณพ่อและคุณแม่ ทำงานงานนี้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีความสุขมากขึ้น แทนที่เราต้องปากกัดตีนถีบหาเงินเลี้ยงลูก แต่สวัสดิการรัฐด้านแม่และเด็กที่ดีจะผ่อนงานของทุกคนไปได้มากมาย ผลลัพธ์ที่ได้คือเด็กไทยมีฐานพัฒนาการ 3 ขั้นแรกที่แข็งแรงถ้วนหน้า

ดีออก

บันได้ขั้นที่ 4-7 สร้างมาจากระบบการศึกษาเสียมาก การศึกษาแบบท่อง จำ ติว สอบ และตัวใครตัวมัน ตัดตอนสติปัญญาเด็กมาก และทำลายเด็กเรียนไม่เก่งตามมาตรฐานมานักต่อนัก ระบบการศึกษาที่ดีกว่าคือการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากการทำงานดังที่เรียกว่า active learning ด้วยโจทย์ปัญหาเป็นฐานเรียกว่า Problem-Based Learning, PBL ด้วยกลไกนี้เด็กไทยจึงจะคิดเป็นทำเป็น ทำได้ด้วยการพาเด็กออกนอกห้องเรียน เรียนด้วยการลงมือทำงานจริงในโลกที่เป็นจริง ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อมีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาออกจากระทรวงศึกษาธิการไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงภาคประชาชนในแต่ละท้องถิ่น

กระจายเงินด้วย

หากเราทำโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้บ้านและครอบครัวสามารถเลี้ยงลูกโดยสะดวก แล้วทำโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนและครูสามารถจัดการศึกษาสมัยใหม่ได้ด้วยตนเอง เด็กไทยจะคิดเป็นทำเป็น เป็นเรื่องดีสำหรับทุกๆ คน

พัฒนาการใดๆ ควรมีการกำกับ แต่การกำกับควรมาจากภายในคือ internal control ซึ่งสร้างได้ด้วยการศึกษาปฐมวัยหรือชั้นอนุบาลที่เหมาะสม ไม่ควรมาจากภายนอกคือ external control คืออำนาจและสิ่งกีดขวางซึ่งมีแต่จะทำร้ายและทำลายพัฒนาการ

เมื่อเด็กคนหนึ่งมีทักษะศตวรรษที่ 21 เขาจะพัฒนาอุดมการณ์ จริยธรรม และพื้นที่สาธารณะด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง ไม่คับแคบ ดีต่อส่วนรวมและดีต่อบ้านเมือง

ดีออก


อ่าน ‘เรื่องดีๆ อยู่ที่ปลายทาง’ ย้อนหลัง

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า