กรณีบ้านพักทหารของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากเกษียณอายุมานานกว่า 6 ปี หรือรู้จักกันในชื่อ บ้านพักหลวง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์และครอบครัว เข้าพักบ้านพักทหาร หมายเลข 253/54 ในกรมทหารราบที่ 1 ตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ เมื่อปี 2553 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว
ย้อนรอยอดีต จุดประเด็นปฏิรูปกองทัพจากเหตุกราดยิงโคราช
เราอาจจะเริ่มมองเห็นกระแสการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้สวัสดิการของรัฐนี้ ได้จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อต้นปี โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 63 จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี สังกัดกรมสรรพาวุธกระสุนที่ 22 บชร.2 ได้ก่อเหตุยิง พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส อายุ 48 ปี และนางอนงค์ มิตรจันทร์ อายุ 65 ปี ระหว่างทางคนร้ายได้ใช้อาวุธกราดยิงประชาชนและตำรวจที่เข้าระงับเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ก่อนหลบหนีไปซ่อนตัวที่ห้างเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมาพร้อมตัวประกัน จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งมีต้นเหตุมาจาก ‘ขบวนการเงินทอน’
‘ขบวนการเงินทอน’ คำที่ใช้เรียกกันโดยทั่วไปจากธุรกิจโครงการบ้านจัดสรรที่เกิดขึ้นจากความไม่โปร่งใสของกองทุนสวัสดิการทหารบกและกลุ่มนายหน้าธุรกิจที่อาศัยช่องโหว่เงื่อนไขการกู้เงินของทหาร นายทหารสัญญาบัตรรับบทเป็นนายหน้าสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองแล้วขายให้กับทหารที่อยากมีบ้านสักหลัง และกัดกินเงินกำไรจากเงินทอนหรือ ‘ส่วนต่าง’
ชนวนเหตุเงินทอนหรือ ‘ส่วนต่าง’ ประมาณห้าหมื่นบาท ส่งไปไม่ถึงมือ จ.ส.อ.จักรพันธ์ จากข้ออ้างที่ว่านายหน้าของโครงการบ้านจัดสรรได้นำไปใช้ในทางส่วนตัวจนหมด อาจฟังไม่ขึ้นสำหรับคนที่ต้องดำเนินการใช้หนี้จากเงินกู้ดังกล่าว
นอกจากความไม่โปร่งใสในการคืนเงินทอนแล้วยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติของข้าราชการระดับหัวหน้า ซึ่งดำเนินธุรกิจโครงการบ้านจัดสรรอย่างง่ายดายในราคาสูงกว่าตลาด
หากประเมินราคาบ้าน 40 ตารางวาของนายทหาร ในข้อเท็จจริงราคาการซื้อขายน่าจะอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าบาท แต่กลับเสนอราคาในจำนวนเงิน 1 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบโครงสร้างราชการกองทัพ เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมจนเชื่อมโยงมาถึงการตรวจสอบเรื่องราวฉ้อฉลภายในกองทัพในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายกรณี เช่น กรณีนายทหารชั้นผู้น้อยออกมาเปิดโปงการทุจริตเบี้ยเลี้ยงทหาร มาจนถึงการที่สภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันเพื่อ ให้มีการตรวจสอบกรณีการพักบ้านหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจจะเข้าหลักการผลประโยชน์ขัดกัน และขัดกับจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
บ้านพักหลวง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านตั้งคำถามว่า การกระทำดังกล่าวอาจผิดต่อข้อกฎหมายอย่างน้อย 2 ข้อ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมตามหลักประชาธิปไตย
หนึ่ง ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560
มาตรา 170 ประกอบมาตรา 184 และมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญ ห้าม ส.ส. ส.ว. หรือ รมต. รับเงิน หรือ “ประโยชน์ใด ๆ” จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกจากที่หน่วยงานเหล่านั้นปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ
สอง ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2561
มาตรา 128 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สิน หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท
ข้อแก้ต่างฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์
เหล่ากองทัพบกยื่นจดหมายแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงถึงการเข้าพักของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นไปตามระเบียบกองทัพว่าด้วยการเข้าพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำปี 2553 โดยมีข้อกำหนดไว้ว่า ข้าราชการประจำการ หรือลูกจ้างประจำในสังกัดกองทัพบก ที่ไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือของคู่สมรส และไม่ได้รับการสงเคราะห์จากทางราชการให้มีอาคารหรือบ้านพัก สามารถมีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักของราชการได้
อีกทั้งยังมีระเบียบกองทัพการเข้าพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำกองทัพบกปี 2548 โดยมีใจความสำคัญว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพบก และประเทศชาติ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกได้
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบกไทย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม ปี 2553 และเกษีณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน ปี 2557
ขณะดำรงตำแหน่งได้พักอาศัยที่บ้านพักอาคารหมายเลข 253/54 ตั้งอยู่กรมทหารราบที่1 ซึ่งได้มีการปรับโอนให้มีสถานะเป็นบ้านพักรับรองกองทัพบก ในปี 2555 เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะอดีตผบ.ทบ. และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพบกและประเทศชาติ สามารถพักอาศัยภายในบ้านพักหลวงได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบของกองทัพบกว่าด้วยการอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ปี 2548 ข้อ 5.2 ที่ว่าอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกมา โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการห้อยท้ายไว้ว่ากองทัพบกสามารถกำหนดขึ้นในภายหลังให้เป็นบ้านพักรับรองของผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพและอดีตผู้บังคับบัญชาได้
ในขณะที่ประชาชนยังคงตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมของระเบียบกองทัพที่ถูกนำมาใช้ว่าเป็นการครองอำนาจ และเอื้อประโยชน์ต่อนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริงหรือไม่
อ้างอิง