จะเป็นอย่างไรหากโลกใบนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์อีกต่อไป แม้กระทั่งหยาดฝนที่โปรยปรายสู่พื้นโลกก็ไม่สามารถจะดื่มหรือใช้ได้อีกตลอดกาล เพราะถูกสารเคมีปนเปื้อนจนเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์
จากรายงานที่ถูกตีพิมพ์บนวารสาร Environmental Science & Technology เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสต็อกโฮม (Stockholm University) และสถาบันชีวธรณีเคมีและการเปลี่ยนแปลงมลพิษ (IBP) สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (ETH Zürich) เผยว่า ปริมาณสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำฝนทั่วโลกสูงกว่าระดับค่ามาตรฐานความปลอดภัย และทำให้มนุษย์ไม่สามารถดื่มน้ำฝนได้อีกต่อไป โดยสารเคมีดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่ม PFAS (Perfluoroalkyl and Polyfluoroalkyl Substances) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สารเคมีตลอดกาล’ (forever chemical)
สารเคมี PFAS เป็นกลุ่มสารเคมีที่สามารถแบ่งออกได้ 3 ชนิดหลักๆ คือ PFAS, PFOA และ PFOS ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องครัว พรม เบาะรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกาย ของใช้ส่วนตัวบางประเภท ฯลฯ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำ (waterproof) กันคราบ (stain-resistant) ให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (United States Environmental Protection Agency: EPA) รายงานว่า จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดชี้ให้เห็นว่า สารเคมี PFAS ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งอัตราความเสี่ยงของมะเร็งเพิ่มขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันและการตอบสนองต่อวัคซีนของร่างกายลดลง รวมไปถึงทำให้พัฒนาการของเด็กล่าช้าอีกด้วย
แม้ว่ากลุ่มบริษัทผู้ใช้สารเคมี PFAS จะมีเป้าหมายหยุดผลิตและหยุดใช้สารเคมีชนิดดังกล่าวภายในสิ้นปี 2025 เพื่อตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่นักวิจัยจากมหาแคลิฟอร์เนีย ซานฟราซิสโก (University of California, San Francisco) ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Annals of Global Health ว่าแท้จริงแล้ว บรรดากลุ่มบริษัทผู้ผลิตและใช้สารเคมี PFAS ต่างรู้อยู่แล้วถึงข้อเท็จจริงที่สารเคมีเหล่านี้จะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ที่มา:
- “Forever Chemicals” in Rainwater a Global Threat to Human Health
- PFAS: The Forever Chemicals
- Our Current Understanding of the Human Health and Environmental Risks of PFAS