รัฐประหารเชิงสัญญา (Promissory Coups) คือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในการยึดอำนาจหลังยุคสงครามเย็น คณะรัฐประหารมักมีข้ออ้างถึงเหตุในการทำรัฐประหาร ก่อนจะให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนว่าจะมอบประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์กลับคืนให้ประเทศ แต่สุดท้ายก็เหมือนจะว่างเปล่า และประชาชนก็รอต่อไปอย่างมีความหวังซึ่งไม่รู้อีกนานเท่าไร
กองบรรณาธิการ WAY ชวนทุกคนสำรวจข้ออ้างและคำมั่นสัญญาจากกองทัพผู้ทำรัฐประหาร เป็นการสัญญาในลักษณะที่คู่สัญญาไม่ยินยอม คู่สัญญาที่ว่าคือประชาชน
ไทย
ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล หลังเกิดวิกฤติทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2556 “ตกลงว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไปผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง เชิญ กกต. และ สว. ออกนอกห้องประชุม” พลเอกประยุทธ์กล่าวในที่ประชุมเจรจา และในเวลา 16.30 น. พลเอกประยุทธ์ พร้อมด้วยคณะ คสช. แถลงประกาศ คสช. ฉบับที่ 1 เรื่อง การคุมอำนาจ และนับตั้งแต่วินาทีนั้นคือการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของคนไทย
อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ได้กล่าวในรายการ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ ที่จัดทำโดย คสช. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ว่า
ผมคิดว่าคนไทยทุกคนเหมือนผม ไม่มีความสุขมาประมาณ 9 ปีแล้ว ขณะนี้ทุกคนอยู่ในความสุขสงบมาก ตั้งแต่ 20 และ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คสช. ไม่ต้องการก้าวเข้าสู่อำนาจ ไม่ต้องการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์เลย
“คสช. เข้าใจความรู้สึกของชาวต่างประเทศ เราเข้าใจดีถึงกฎเกณฑ์ของสังคมโลกในปัจจุบัน เป็นโลกของประชาธิปไตย แต่ขอให้เวลาเราในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และอะไรอีกหลายอย่าง เพื่อแก้ประชาธิปไตยของไทยให้เป็นสากล ถูกต้อง ชอบธรรม รับผิดชอบ เสียสละ นึกถึงประโยชน์ของประชาชน ทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทุกพื้นที่ ทั้งประชาชนเสียงข้างมากข้างน้อย ต้องได้รับความพึงพอใจอย่างทั่วถึงกัน หากทุกคนร่วมมือกัน จะนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่าง มั่นคงปลอดภัยยั่งยืน ทุกอย่างก็จะผ่อนคลายไปตามลำดับ เราเข้าใจว่า ทุกคนคงต้องเลือกประเทศชาติก่อนประชาธิปไตย ที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงนั้น จะประมาณระยะเวลาที่ไม่นานนัก”
นี่คือคำมั่นสัญญาของคณะ คสช. ว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจใดๆ เลย แต่พลเอกประยุทธ์กลับกลืนน้ำลายตัวเองภายหลังการประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัวในระหว่างลงพื้นที่ที่จังหวัดบึงกาฬ และอยู่ในช่วงที่มีการปลดล็อคการเลือกตั้ง
เมียนมา
กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของนายพลมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการทำรัฐประหารในรอบ 59 ปีของเมียนมา
ภายหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งและส่งมอบอำนาจให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อครบกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ในแถลงการณ์ระบุว่า
เราจะดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยความสมดุลและเป็นธรรม และจะถ่ายโอนอำนาจหลังจากจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเสรีและเป็นธรรม หลังจากระยะเวลาการประกาศภาวะฉุกเฉินเสร็จสมบูรณ์
การรัฐประหารครั้งนี้มีสาเหตุจากรัฐบาลใหม่ของพรรค NLD นำโดยนางอองซานซูจี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีก่อนด้วยคะแนนเสียงอย่างล้นหลามกว่า 83 เปอร์เซ็นต์ คะแนนเหนือพรรคการเมืองที่กองทัพให้การสนับสนุน แต่กองทัพกล่าวอ้างว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการโกงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงให้เลื่อนเปิดประชุมสภาออกไป เมื่อรัฐบาลปฏิเสธคำขอของกองทัพ ทำให้กองทัพเข้าควบคุมตัวนางอองซานซูจี หัวหน้าพรรค NLD และสมาชิกพรรคพร้อมทั้งยึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามนักวิชาการและสื่อต่างๆ ในพม่าคาดการณ์ว่าการรัฐประหารครั้งนี้อาจกินเวลามากกว่า 1 ปีอย่างแน่นอน
มาลี
คณะกรรมการเพื่อความอยู่รอดของประชาชนแห่งชาติ รวมกลุ่มทหารยึดอำนาจประธานาธิบดีอิบราฮิม โบบาการ์ คีตา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ซ้ำยังประกาศจุดยืนว่านี่ไม่ใช่การแสวงหาอำนาจ แต่เป็นการรัฐประหารเพื่อความสงบ โปร่งใส และมั่นคงของประเทศมาลี
คณะรัฐประหารอ้างถึงการคอร์รัปชันของรัฐบาล การบริหารประเทศที่ล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจฝืดเคือง และความขัดแย้งในเรื่องการแบ่งเขตดินแดน รวมถึงการปล่อยให้ทหารฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในบ้านเมืองของตัวเอง
แถลงการณ์คำมั่นสัญญาจากกองทัพ ระบุว่า “พวกเราคือกองกำลังผู้รักชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการเพื่อความอยู่รอดของประชาชนแห่งชาติ ตัดสินใจเข้าถือครองความรับผิดชอบประเทศต่อหน้าประชาชนและประวัติศาสตร์ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่อย่างโปร่งใส น่าเชื่อถือ ภายในระยะเวลาอันเหมาะสม”
แม้สภาพปัญหาภายในประเทศมาลีจะถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจครั้งนี้ แต่ก็มีองค์กรนานาชาติหลายแห่งที่มองว่าการรัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้น และคว่ำบาตรมาลี เช่น สหภาพแอฟริกาประกาศระงับสถานะการเป็นสมาชิกของมาลีและเรียกร้องให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีคีตาจากการคุมขัง เช่นเดียวกับสหประชาชาติที่ออกมาประณามการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม โดยการจับกุมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของรัฐบาลที่แล้ว โดยไม่มีใครรับรู้ชะตากรรม
ปัจจุบันประเทศมาลียังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเนื่องจากกองทัพขอใช้เวลาจัดการกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งคำสัญญาเรื่องเวลายังไม่มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นภายในเร็ววัน และความเหมาะสมที่ว่านี้ใครจะเป็นคนตัดสินใจกันนะ
อียิปต์
พลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี เป็นผู้นำรัฐประหารในอียิปต์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ด้วยเหตุว่าประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี พยายามผลักดันให้อียิปต์กลายเป็นรัฐอิสลาม ด้วยการรวบรวมอำนาจเพื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิม นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างล้มเหลว และใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม แสดงให้เห็นถึงความเป็นเผด็จการของประธานาธิบดีมอร์ซี จนประชาชนอียิปต์ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงจำนวนกว่าล้านคน
หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร ชาวอียิปต์พร้อมใจกันออกมาฉลองด้วยการโห่ร้อง จุดพลุ โบกธงชาติสะบัดพลิ้วไปตามความรู้สึกดีใจที่จัตุรัสตอห์รีร์ เสมือนเทศกาลกีฬาโลกเลยทีเดียว นี่เป็นหนึ่งในหน้าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง
ข้ออ้างจากกองทัพบอกว่ามันไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เป็นการทำตามเจตนารมณ์ของชาวอียิปต์ เพื่อการเลือกตั้งผู้นำประเทศคนใหม่ ทำให้ครั้งนี้ทหารถูกมองว่าเป็นฮีโร่ ทำเพื่อชาติ เพื่อประชาชน
แผนสันติภาพเพื่ออนาคตของอียิปต์ถูกประกาศใช้จากพลเอกอับดุล โดยแถลงการณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ว่า “กองทัพปฏิบัติการยุบสภาและระงับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ทั้งนี้จะเข้าควบคุมการบริหารประเทศเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยให้ อดิล แมนซูร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด เข้ารักษาการประธานาธิบดีในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ ก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายหลัง”
คำสัญญาในครั้งนี้ก็สัมฤทธิ์ผล อียิปต์ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในช่วงกลางปี 2557 ทว่าพลเอกอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี กลับมาเป็นตัวเต็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ด้วย การปูทางที่ดูเหมือนจะใสสะอาด แต่ก็แอบได้ฐานเสียงจากประชาชนไปแล้วส่วนหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการสืบทอดอำนาจที่แฝงตัวในเสื้อคลุมประชาธิปไตยของอียิปต์
ปากีสถาน
พลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ เข้ายึดอำนาจจาก นาวาซ ชารีฟ ประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้ง เมื่อ 12 ตุลาคม 2542 สืบเนื่องจากความขัดแย้งคาร์กิล (ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ณ หมู่บ้านคาร์กิลในแคชเมียร์ พฤษภาคม 2542) จึงเป็นช่องโหว่ในการทำรัฐประหารของ พลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ
การทำรัฐประหารครั้งนี้ถูกกล่าวอ้างว่า “เพื่อให้อำนาจต่อสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation) เข้ามามีบทบาทและทำงานอย่างเต็มศักยภาพในการแก้ไขข้อพิพาทพื้นที่ความขัดแย้งแคชเมียร์ เพราะไม่อยากให้ต่างประเทศคิดว่าปากีสถานได้รับอำนาจมากกว่าประเทศอื่นๆ เราจะจับมือกับนายกรัฐมนตรีวัจปายี (นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย) เพื่อแสดงความจริงใจและเดินหน้าสร้างสันติภาพความสามัคคี ความก้าวหน้าของเอเชียใต้”
ในปี 2544 พลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และลาออกเมื่อปี 2551 เหตุเพราะเดือนพฤษภาคม 2550 พลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ ได้ประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญและบังคับใช้กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นเหตุก่อให้เกิดการประท้วงอย่างหนัก และท้ายที่สุดพลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งภายในปี 2551
ครั้นประเทศปากีสถานหลุดจากระบบกองทัพ ได้มีการเลือกตั้งอีกครั้งและเริ่มไต่สวนคดีกบฏพลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ และตัดสินว่ามีความผิดข้อหากบฏ มีโทษประหารชีวิต โดยพลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ ได้หลบหนีออกนอกประเทศ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าต่อศาลอยู่หลายครั้ง
ทว่าก่อนหน้านี้ประเทศปากีสถานได้ปกครองด้วยผู้บัญชาการกองทัพบกหลายครั้ง แต่คดีของพลเอกเปอร์เวซ มูชาราฟ มีความร้ายแรงและพยายามแทรกแซงนโยบายของรัฐบาลพลเรือน จึงนับว่าคดีก่อกบฏครั้งนี้นับว่าเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อไป
ฟิจิ
ฟิจิเป็นหนึ่งในประเทศที่ถือว่าถูกปกครองด้วยกองทัพอย่างยาวนานเมื่อนายพลแฟรงค์ ไบนิมารามา เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนนำโดย นายเลซามี เคเรส ซึ่งการทำรัฐประหารครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน ทว่านายพลแฟรงค์ ไบนิมารามา อ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารครั้งนี้สืบเนื่องจาก ต้องการให้ประเทศนั้นกลับมามีความมั่นคง และนำความเป็นปกติกลับคืนสู่ชีวิตประชาชนทุกคน พร้อมทั้งกล่าวว่ารัฐบาลนายเลซามี เคเรส ทุจริตคอร์รัปชั่น
ทว่าตลอดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเลซามี เคเรส มักถูกผู้นำกองทัพอย่าง นายพลแฟรงค์ ไบนิมารามา พร้อมแทรกแซงและแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำงาน รวมถึงข่มขู่พร้อมล้มรัฐบาลนายเลซามี เคเรส อยู่บ่อยครั้ง
คำกล่าวของผู้นำกองทัพนายพลแฟรงค์ ไบนิมารามา ในการยึดอำนาจครั้งนี้ คือ “เรามั่นใจว่าชาวฟิจิไม่สนับสนุนการถอดถอนประธานาธิบดี แต่ด้วยความจำเป็นในเรื่องความมั่นคง ความเป็นปกติสุขกลับคืนมา ตอนนี้เรากำลังสื่อสารและบอกกับทหารทุกคนว่าไม่จำเป็นต้องจับคณะรัฐมนตรีเป็นตัวประกันและหลังจากนี้พวกเราจะทำหน้าที่รัฐบาลแทน”
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผลให้ตั้งแต่ปี 2549-2557 ประเทศฟิจิได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพทหาร ท่ามกลางการประณามของสหภาพยุโรปและกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ในปี 2557 ได้มีประกาศเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ท่ามกลางปัญหารอบด้านทั้งเศรษฐกิจ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทว่าการเลือกตั้งในปี 2557 ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดการณ์ของหลายประเทศ เหตุเพราะนายพลแฟรงก์ ไบนิมารามา ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งและนำมาสู่การสืบทอดอำนาจ เช่นเดียวกับประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ประเทศฟิจิจึงปกครองด้วยกองทัพทหารนานจนนับว่าเป็น ‘วัฒนธรรมของการปฏิวัติรัฐประหาร’ อีกทั้งยังนำมาสู่การขาดความเชื่อมั่น โอกาส และความช่วยเหลือจากหลายประเทศ