“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง 5 ครั้ง และทุกครั้งที่เปลี่ยน เราต้องทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งนั้นใหม่ทั้งหมด”
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี กล่าวถึงปัญหาของระบบการเลือกตั้งไทยที่มักสร้างความสับสนและงุนงงแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่เสมอ
หลังปิดหีบเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 มีนาคม 2562 คนไทยก็ต้องสับสนอีกครั้ง เมื่อเจอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปัญหาการรายงานผลคะแนน หรือกลไก ส.ว. 250 เสียง ที่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2560 จนกลายเป็นข้อถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคม ตลอดวาระ 4 ปี ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งอลเวงครั้งนั้น
แม้ไม่สามารถคาดการณ์ผลการเลือกตั้งปี 2566 แต่เราคาดหวังการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและโปร่งใสได้ โดยร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้
วันที่ 11 มกราคม 2566 iLaw, We Watch, Act Lab และทะลุฟ้า จัดเสวนาวิชาการ ‘เข้าคูหา จับตา การเลือกตั้ง 2566 Protect Our Vote’ ณ ห้องเอนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ร่วมเสวนาโดย 1) รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 3) พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย และ 4) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วงเสวนานี้อาจช่วยให้เราถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งในอดีต แล้วก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน เพราะสถาบันการเลือกตั้งย่อมแยกไม่ขาดจากภาคประชาชน
2562 : ระบบเลือกตั้งที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เริ่มต้นการเสวนาว่า การเลือกตั้ง 2566 จะกลับไปใช้ระบบบัตร 2 ใบ คือ บัตรเลือกผู้แทนของเขตและบัตรเลือกพรรคการเมือง เนื่องจากระบบบัตรใบเดียวที่ใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 มีปัญหาหลายประการ ประกอบกับ ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง ล้วนเป็นกลไกที่ผิดเพี้ยนของระบบการเมืองตั้งแต่ต้น
ไม่เพียงจะกลับไปใช้บัตร 2 ใบ เหมือนปี 2544 การเลือกตั้งในปัจจุบันยังมีฉากทัศน์และโฉมหน้าของผู้เล่นต่างออกไป ปริญญาสรุปปัญหาการเลือกตั้ง 2562 ไว้ 2 ประการ ได้แก่
หนึ่ง-ปัญหาระดับการออกแบบ ‘สูตรบัตรใบเดียวหาร 500’ ทำให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมาก ในปี 2562 มีผู้สมัครเฉลี่ยเขตละ 28 คน จากเดิมที่เคยมีเพียงเขตละ 7-8 คน เพราะทุกคะแนนของบัตรแบ่งเขตจะถูกนำมาคำนวณ ส.ส.พึงมี แต่ละพรรคจึงส่งผู้สมัครมากขึ้น โดยไม่คาดหวังชัยชนะในเขต แต่หวังให้หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของบัญชีรายชื่อได้เป็น ส.ส.
การเลือกตั้งปี 2562 มีผู้สมัครแบบแบ่งเขต 11,228 คน เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตทั้งสิ้น 2,400 คน จะเห็นว่า จำนวนผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ปริญญาเห็นว่านี่คือสาเหตุที่บัตรเลือกตั้งมีรายละเอียดน้อยลง เพราะต้องบรรจุรายชื่อผู้สมัครมากขึ้น กกต. จึงมีข้อผิดพลาดในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครอย่างถี่ถ้วนตามไปด้วย
สอง-ปัญหาระดับรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ปี 2540 รัฐธรรมนูญระบุหลักการของการเลือกตั้งอย่างโปร่งใสว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น เป็นกรรมการประจำหน่วยหรือเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมธิการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ยกเลิกการมีส่วนร่วมของประชาชน และยกเลิก กกต.ประจำจังหวัด แล้วแทนที่ด้วย ‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’ จำนวน 600 คน
ปริญญาเห็นว่าวิธีคิดดังกล่าวเป็นมุมมองของราชการที่เชื่อใจราชการด้วยกันเองเท่านั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านความโปร่งใส พร้อมอธิบายว่า ในฐานะหน่วยงานหลักของสถาบันการเลือกตั้ง กกต. เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
“กกต. เพิ่มจาก 5 คน เป็น 7 คน ไม่ได้เพิ่มแค่จำนวน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ กกต. ของอาจารย์มีชัย มีลักษณะเป็นบอร์ด เน้นประชุมและออกมติ ไม่เหมือน กกต. ชุดก่อนที่แบ่งเป็นฝ่ายการเลือกตั้ง ฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย ฝ่ายการมีส่วนร่วม และฝ่ายพรรคการเมือง หรือก็คือทำงานปฏิบัติ แต่ กกต. ชุดนี้ ท่านไม่ได้ปฏิบัติ ท่านประชุมเพียงอย่างเดียว” ปริญญาขยายความ
“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง 5 ครั้ง และทุกครั้งที่เปลี่ยน เราต้องทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งนั้นใหม่ทั้งหมด”
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อธิบายต่อว่า ประเทศไทยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ‘หนึ่งเขต สามคน’ หมายถึง 1 พรรคส่งผู้สมัครใน 1 เขต ได้ 3 ชื่อ แต่ระบบนี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองภายในพรรค จึงยกเลิกและเปลี่ยนเป็น ‘ระบบเลือกตั้งคู่ขนาน’ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และนำมาใช้ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ซึ่งคล้ายกับการเลือกตั้งปี 2566 ที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง และ ส.ส.เขต 400 ที่นั่ง แต่ต่างกันตรงที่ ปี 2544 และ 2548 มีเกณฑ์ขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ละเขตมีผู้ชนะได้เพียงพรรคเดียว และคะแนนของผู้แพ้จะไม่ถูกนับ
ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้จึงถูกมองว่า เป็นระบบที่เอื้อให้พรรคใหญ่ และเป็นข้ออ้างให้เกิดการรัฐประหารปี 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ มีจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 480 คน และแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด เพื่อไม่ให้ใครอ้างได้ว่า ได้รับเลือกจากคนทั้งประเทศ
ต่อในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งอีกครั้ง โดยเพิ่มจำนวน ส.ส. ในสภาเป็น 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ส.ส.เขต 375 คน และไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่เมื่อจัดเลือกตั้งปี 2554 ก็เกิดรัฐประหารปี 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่หันมาใช้ระบบเลือกตั้ง ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ในปี 2562
“ขออนุญาตไม่เรียกระบบเลือกตั้ง 2562 ว่า ระบบเลือกตั้ง แต่เป็นเทคนิคเลือกตั้ง” สิริพรรณอธิบายที่มาของนิยามข้างต้นไว้ 3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง-ระบบเลือกตั้ง 2562 ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ การเลือกตั้งบัตรใบเดียว เป็นการเลือก ส.ส.เขต ไม่ว่าจะสอบได้หรือสอบตก คะแนนทั้งหมดจะถูกนำไปคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ระบบเช่นนี้ทำให้การเมืองบ้านใหญ่ หรือเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นได้รับความนิยมอีกครั้ง และก่อให้เกิดกรณีย้ายพรรคอย่างไร้ยางอาย
สอง-ระบบเลือกตั้ง 2562 ลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองต้องเน้นตัวบุคคลในแต่ละเขต ไม่เน้นนโยบายพรรค ถ้าใช้ระบบนี้ไปเรื่อยๆ การแข่งขันเชิงนโยบายจะถูกลดความสำคัญลง
สาม-ระบบเลือกตั้ง 2562 ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค หมายความว่า ในเชิงหลักการ หากพรรคมีศักยภาพการแข่งขันในระบบเขตน้อย ส.ส. เขต ก็จะต้องการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อในพรรคตัวเองมากขึ้น
สิริพรรณย้ำว่า ระบบการเลือกตั้ง 2562 ทำลายความเป็นประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด เพราะเป็นกลไกที่ทำให้มีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรค ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีปัญหาด้านการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นแปลว่า การที่รัฐบาลยังอยู่รอดจนครบวาระน่าจะเกิดจากการแลกเปลี่ยนและต่อรองผลประโยชน์ ไม่ใช่จากผลงานการบริหารประเทศ
“ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเป็นผลพวงของระบบเลือกตั้ง ซึ่งสำคัญในฐานะเครื่องมือแรกในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ถ้าระบบเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นอีกแบบ อย่างน้อยหน้าตาของรัฐบาลก็จะเปลี่ยนด้วย
“การเมืองไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ เลือกตั้งปี 2544 และ 2548 พรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ปี 2549 เกิดรัฐประหาร และ ปี 2550 มีรัฐบาลคุณสมัคร จากนั้นก็เกิดการชุมนุมทางการเมือง เปลี่ยนเป็นรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ และแม้จะมีรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในปี 2554 แต่ก็มีรัฐประหารปี 2557
“สิ่งที่กังวลใจมากที่สุดคือ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ขั้วการเมืองเก่าจะยอมให้พรรคหรือขั้วการเมืองที่ได้รับเสียงจากประชาชนมากที่สุด จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถ้าไม่ยอมหรือใช้ ส.ว. 250 เสียง จะเกิดปัญหาใหญ่แน่
“ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มีความรู้สึกละอาย ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่คำนึงถึงความชอบธรรมใดๆ คำถามคือ แล้วประชาชนจะทำอย่างไร เราพร้อมที่จะรับความไม่สงบใดๆ หลังจากนี้หรือเปล่า” สิริพรรณตั้งคำถาม
การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสต้องถูกแก้ไขด้วยการมีส่วนร่วม
พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน อธิบายว่า รากเหง้าของปัญหาการเลือกตั้งมี 2 ระดับ หนึ่ง-ปัญหาโครงสร้างหรือข้อกฎหมายที่สร้างกฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรม สอง-วัฒนธรรมทางความคิดของคนในสังคม โดยเฉพาะคนที่ทำงานในองค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง
ปัญหาการเลือกตั้งปี 2562 ยังครอบคลุมถึงการจัดการหลังเลือกตั้ง ในฐานะผู้ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหลายประเทศ พงษ์ศักดิ์ชี้ว่า นอกจากจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน กกต. ยังไม่ประกาศผลคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้ง และผลคะแนนที่ประกาศก็ไม่ใช่ผลคะแนนแบบเรียลไทม์ พงษ์ศักดิ์ยกตัวอย่างเลือกตั้งฟิลิปปินส์ ปี 2565 ที่แม้จะมีระบบนับคะแนนแบบอัตโนมัติและตรวจสอบได้ แต่ประชาชนก็ยังมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ
“ฟิลิปปินส์สามารถระดมอาสาสมัครผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งได้กว่า 550,000 คน ในหน่วยการเลือกตั้ง 72,000 หน่วย เขาส่งผู้สังเกตการณ์ที่เป็นเยาวชนไปทุกหน่วย เพื่อเปรียบเทียบผลคะแนนประจำหน่วยกับตัวเลขของ กกต.
“ไม่ว่ารัฐบาลประเทศใดสร้างเครื่องมือถ่วงดุลหรือกลไกอะไรก็ตาม แต่ถ้าประชาชนวางใจ ละเลย หรือเชื่อมั่นในกลไกนั้น โดยปราศจากการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ คุณเชื่อไหมว่าหายนะจะมาเยือนสังคมนั้น
“ในอินโดนีเซีย หลังจากซูฮาร์โตครองอำนาจกว่า 30 ปี ประชาชนและพรรคฝ่ายค้านเขาถอดบทเรียนว่า จะไม่ยอมให้ทหารแทรกแซงทางการเมืองอีกต่อไป ผลปรากฏว่า ตามกฎหมายแล้ว ตำรวจและทหารอินโดนีเซียไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
“ถ้าเราไม่สร้างวัฒนธรรมในการตรวจสอบ สุดท้ายคุณจะโดนลงโทษ” พงษศักดิ์กล่าวย้ำ
ถัดมา ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวว่า ยังมีเครื่องมือและกลไกจำนวนมากภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายรัฐบาลยังไม่ใช้เครื่องมือเหล่านั้น หรือหากใช้ ก็ใช้อย่างแนบเนียน เช่น การตั้งชื่อพรรคให้สอดคล้องกับนโยบาย บัตรเขย่งที่สามารถเปลี่ยนผลเลือกตั้งโดยรวมได้ หรือกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ สิ่งเหล่านี้คือบริบทการเลือกตั้งปี 2562
อย่างไรก็ดี ยิ่งชีพมองว่า มีสัญญาณเชิงบวกของประชาชนอย่างน้อย 3 ปัจจัย หนึ่ง-อำนาจเต็มมือของ คสช. อย่างมาตรา 44 จางหายลง ไม่สามารถควบคุมเสียงในสภาได้เบ็ดเสร็จ สอง-พล.อ.ประยุทธ์เสียความนิยมจากฐานเสียงของตน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤตโควิด-19 และ สาม-ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (new voter) มีมากขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า คนรุ่นใหม่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แและพรรคพวกอีกแล้ว ฐานเสียงของรัฐบาลจึงมีสัดส่วนน้อยลง
“ถ้าคะแนนเอนเอียงไปฝั่งไม่เอาประยุทธ์มากๆ วิธีการตีเนียนก็จะไม่ได้ผลอีกต่อไป” ยิ่งชีพกล่าวต่อว่า “สิ่งที่น่าคับแค้นคือ ประธาน กกต. เพราะเลือกตั้งคราวที่แล้ว แถลงผลช่วง 3 ทุ่ม บอกว่า ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 65 เปอร์เซ็นต์ แต่ผ่านไป 4 วัน เมื่อนับคะแนนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่า ประชาชนมาใช้สิทธิจริงๆ 75 เปอร์เซ็นต์ คุณเป็นประธาน กกต. คุณผิดตั้ง 10 เปอร์เซ็นต์ได้อย่างไร”
มากไปกว่านั้น ผลคะแนนเรียลไทม์ของแต่ละหน่วยการเลือกตั้ง นับเฉพาะผู้สมัครที่ได้คะแนน 1-3 อันดับแรก แปลว่าคะแนนทั้งหมดจากกรรมการประจำหน่วยจะถูกส่งไปยังที่ใดที่หนึ่งก่อน แล้วจึงคัด 3 อันดับแรก ออกมารายงานในเวลา 09.30 น. วันถัดมาจึงประกาศนับคะแนน 94 เปอร์เซ็นต์ตามกฎหมาย และต้องรออีก 4 วัน ผลการนับคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์จึงจะถูกรายงาน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ ส.ส.เขตคนหนึ่งลองคำนวณคะแนน ปรากฏว่าตนต้องเป็นผู้ชนะ ทว่า กกต. กลับชี้แจงว่า มีคะแนนบางส่วนจากคนไทยนอกราชอาณาจักรที่ไม่ได้นำมารวม คำถามคือ เขตอื่นมีคะแนนส่วนนี้ที่ถูกเพิ่มหรือถูกลดไปกี่มากน้อย
ยิ่งชีพจึงชวนมองว่า การนับคะแนนของ กกต. ที่มีปัญหามากมาย ควรถูกจับจ้อง ตรวจสอบ และประเมินจากผู้สังเกตการณ์ที่เป็นประชาชน และย้ำว่า การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญบนหนทางของการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม
สิริพรรณเสนอแนะว่า กกต. ควรออกหนังสือหรือหลักการคำนวณก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ รับรู้อย่างถ้วนหน้า สิริพรรณยังเห็นว่า
“เรายังไม่ต้องพูดหรอกว่า ระบบที่จะใช้ในปี 2566 เป็นระบบที่ดีหรือเปล่า เพราะคำถามใหญ่คือ ถ้าดี มันดีสำหรับใคร มันอาจจะยังไม่กลมกล่อม แต่ก็ดีกว่าคราวที่แล้ว”
ด้านปริญญาย้อนถึง ‘ปมถวายสัตย์’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า การถวายสัตย์เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ในสมการของสิ่งที่ทหารต้องพิทักษ์ปกป้องมานานแล้ว นั่นหมายความว่า เราไม่ควรต่อต้านตัวบุคคล แต่ต้องต่อต้านระบบรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนาจให้บุคคลเช่นนี้ขึ้นสู่ตำแหน่งได้
“ไม่ใช่แค่สังเกตการณ์ ไม่ใช่แค่จับตาการเลือกตั้ง แต่เราต้องคิดถึงอนาคตว่า เราจะเสนอ วิพากษ์ และพัฒนากฎหมายเลือกตั้งอย่างไร” พงษ์ศักดิ์กล่าว
“งานของเราคือทำให้เครื่องมือตีเนียน ทำงานไม่ได้ แล้วบีบให้เขาใช้เครื่องมือที่ต้นทุนสูง ถึงตอนนั้น จะเห็นได้ชัดว่าประเทศนี้ผิดปกติยังไง” ยิ่งชีพกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่า กกต. จะคิดหรือนับคะแนนอย่างไร ประชาชนสามารถนับเองได้ และหากมีผู้สังเกตการณ์ครบ 90,000 หน่วยเลือกตั้ง นอกจากสะท้อนชัยชนะแล้ว ยังเป็นการกดดันให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ หลังงานเสวนา มีกิจกรรมจำลองการเข้าคูหาและการร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://vote62.com/