คฝ. ในโลกอารยะ เมื่อเผชิญหน้ากับประชาชน

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 มาจนถึงปัจจุบัน การชุมนุมขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความคับแค้นและความไม่พอใจในการบริหารประเทศที่ล้มเหลวของรัฐบาล จนนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) อย่างต่อเนื่อง เสียงกระสุนยางและควันจากแก๊สน้ำตาดูจะกลายเป็นความรุนแรงอันปกติในสังคมไทย

ท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุม เกิดคำถามถึงความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังคงยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเท่าที่จำเป็น ใช้กำลังน้อยกว่าในต่างประเทศ และเป็นไปตามหลักการควบคุมฝูงชนสากลทุกประการ จึงทำให้ใครหลายคนถึงกับต้องพลิกตำราว่าด้วยการควบคุมฝูงชนรอบโลกกันใหม่อีกครั้ง ว่าระหว่างหลักการสากลกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยนั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด 

การชุมนุมประท้วงหรือส่งเสียงเรียกร้องใดๆ ล้วนเป็นธรรมชาติของมนุษย์มาช้านาน พอๆ กับการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังของชนชั้นปกครอง แต่เมื่อโลกเคลื่อนมาสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว จำเป็นต้องมีหลักปฏิบัติและระเบียบวิธีในการควบคุมฝูงชนอันเป็นที่ยอมรับ ดังเช่นกรณีศึกษาที่น่าสนใจรอบโลกที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้จำแนกว่าอะไรคือความเป็น ‘สากล’ และการกระทำใด ‘ไม่เป็นสากล’ 

คู่มือควบคุมฝูงชนแบบแคลิฟอร์เนีย

ดินแดนแห่งเสรีภาพที่กำเนิดมาจากการต่อต้านการปกครองอย่างสหรัฐอเมริกา ย่อมเป็นธรรมดาที่ตำรวจและผู้ชุมนุมต่างเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอดประวัติศาสตร์การสร้างชาติ อย่างไรก็ตาม การสลายการชุมนุมและวิธีการควบคุมฝูงชนเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพหรือหลักการในรัฐธรรมนูญได้ถูกเขียนเอาไว้เป็น ‘คู่มือ’ ตามแต่กฎหมายแต่ละรัฐ โดยเฉพาะคู่มือการควบคุมฝูงชนจากเมืองซาคราเมนโต (Sacramento) เมืองหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งดูจะสะท้อนวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ตามคู่มือการควบคุมฝูงชนและการควบคุมการจลาจลโดยกรมตำรวจแห่งเมืองซาคราเมนโต มีทั้งหมด 8 บทใหญ่ โดยระบุรายละเอียดยิบย่อยเพื่อเป็นแนวทางให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ชั้นผู้น้อยไปจนถึงระดับคุมกำลังว่าควรปฏิบัติการอย่างไร ไปจนถึงขั้นตอนและวิธีคิดในการจัดวางรูปขบวนแถวที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

คู่มือนี้ดูจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างมาก ขณะเดียวกัน ประชาชนเองก็ไม่ได้ถูกกีดกันออกจากคู่มือนี้แต่อย่างใด เพราะคู่มือดังกล่าวเป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่งในการพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของประชาชนควบคู่กันไปด้วย สาระสำคัญที่น่าสนใจของการสลายการชุมนุมตามที่ระบุเอาไว้ในคู่มือนี้ สรุปได้ 5 ข้อ คือ

  1. เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องประกาศคำสั่งการสลายการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมได้ยินจากรอบด้านด้วยเครื่องกระจายเสียง ต้องเข้าไปประกาศให้ใกล้กับผู้ชุมนุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอาศัยอำนาจในนามของประชาชนแห่งรัฐ
  2. เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องให้เวลาผู้ชุมนุมอย่างสมเหตุสมผลในการยุติการชุมนุม รวมถึงเปิดเส้นทางการออกจากพื้นที่ชุมนุมที่รวดเร็วและปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมด้วย
  3. เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามกระทำการใดตามอำเภอใจหรือเป็นไปอย่างปัจเจก ยกเว้นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกายหรือชีวิตเท่านั้น
  4. การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ชุมนุมว่าเป็นเยาวชน วัยรุ่น เด็ก หรือคนชรา รวมไปถึงหากใช้สารเคมีในการสลายการชุมนุมก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเส้นทางการหลบหนีให้แก่ประชาชนด้วย
  5. เจ้าหน้าที่จะต้องใช้กำลังตามความเหมาะสมแก่ผู้ขัดขืนเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องใช้การเจรจาและเหตุผลกับผู้ที่เจรจาด้วย

จากสาระสำคัญทั้ง 5 ข้อ จึงทำให้ประชาชนชาวแคลิฟอร์เนียดูจะมีความปลอดภัยในการชุมนุมประท้วงมากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องกระทำตามขั้นตอน ตั้งแต่การประกาศข้อกฎหมาย การให้เวลาออกจากพื้นที่ ไปจนถึงหากมีการปะทะก็จำเป็นต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสลายตัวได้ นอกจากนี้ยังมีกฎข้อห้ามว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องปฏิบัติการอย่างเป็นหมู่คณะ ไม่สามารถทำตามอำเภอใจใดๆ ได้ 

ขณะเดียวกัน วิธีคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้สื่อข่าวก็ดูจะแตกต่างออกไปจากบางประเทศ จากบทความ 10 Crowd Control Myths: Both the Public and Cops have many Misconceptions about Police Crowd Control ของ ร้อยโทแดน มาร์คู (Lt.Dan Marcou, 2020) บนเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลในวงการตำรวจของสหรัฐ อย่างเว็บ Police1.com ได้ระบุเอาไว้ว่า สื่อและช่างภาพไม่ใช่ศัตรูสำหรับการปฏิบัติงานควบคุมฝูงชนของตำรวจสหรัฐ โดยพวกเขามองในทิศทางกลับกันว่า การเข้ามาของสื่อและกล้องต่างหากที่จะช่วยฉายภาพความเป็น ‘มืออาชีพ’ ที่ผ่านการฝึกฝนอย่างดีมาแล้วให้คนทั่วโลกได้รับชม ดังนั้นการขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่ปะทะ หรือขั้นเลวร้ายที่สุดคือการจงใจใช้กำลังใส่สื่อมวลชนนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายในสหรัฐด้วยเช่นเดียวกัน

สหประชาชาติกับหลักการพื้นฐานในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

หนึ่งในเป้าหมายของสหประชาชาติคือเพื่อธำรงสันติภาพ สนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชน และลดความรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก ตามปกติแล้วเรามักเห็นบทบาทขององค์การนี้ในเรื่องข้อพิพาทหรือความรุนแรงระหว่างประเทศ แต่ประเด็นความรุนแรงภายในชาติโดยเฉพาะการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมทางการเมืองก็ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกละเลยไปจากภารกิจแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ. 1990 หลักการพื้นฐานของการใช้กำลังและอาวุธโดยผู้รักษากฎหมาย (Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ถูกบรรจุเอาไว้เป็นหลักการของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดกฎหมายครั้งที่ 8 ณ เมืองฮาวานา ประเทศคิวบา ซึ่งได้บรรจุกฎเหล็กที่เป็นแนวทางในการสลายการชุมนุมทั่วโลกในเวลาต่อมา โดยเฉพาะข้อห้ามและข้อพึงระวังของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์การชุมนุม

กฎสำคัญข้อแรกระบุว่า การใช้ ‘อาวุธความรุนแรงต่ำ’ หรือ ‘อาวุธไม่ถึงตาย’ (non-lethal weapon) ต้องจำกัดการใช้งานให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง การใช้อาวุธต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ต้องถูกกำกับควบคุมอย่างเข้มงวด ด้วยหลักการนี้จึงทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในระดับสากลไม่สามารถยิงกระสุนยางขึ้นไปยังบ้านเรือนของประชาชนบริเวณจุดชุมนุมได้ตามอำเภอใจ

กฎที่สำคัญอีกหนึ่งข้อระบุเอาไว้ว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนทุกคนจะต้องใช้ทุกวิธีที่ไม่มีความรุนแรงในการทำงานก่อนเสมอ การใช้กำลังหรืออาวุธจำพวกปืนและเครื่องยิงต่างๆ จะถูกนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อวิธีอื่นไม่เป็นผล หรือไม่มีวี่แววว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ หลักการนี้จึงเป็นเสมือนการใช้ยุทธวิธีรับมือกับผู้ชุมนุมจากเบาไปหาหนัก กว่าเจ้าหน้าที่จะได้หวดกระบองหรือเหนี่ยวไกปืนจะต้องผ่านกระบวนการเจรจา การพูดคุย หรือการทำข้อตกลงต่างๆ กับผู้ชุมก่อนแล้วอย่างมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่เผชิญหน้ากันแล้วจะสามารถเหนี่ยวไกได้ในทันที

ประการสำคัญสุดท้ายที่ถูกอธิบายเอาไว้ในหัวข้อใหญ่อย่าง ‘การใช้กำลังเมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผล’ นั้น ดูเหมือนจะบรรจุหลักการสำคัญที่เป็นคุณแก่ประชาชน (รวมไปถึงศักดิ์ศรีของเจ้าหน้าที่) เอาไว้ด้วย โดยระบุว่าการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ตามความเหมาะสมอย่างเป็นสัดส่วน หรือใช้ตามความรุนแรงของอันตรายที่เจ้าหน้าที่กำลังเผชิญอยู่ (ยังไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ในระดับสากลมองว่าควรโต้ตอบการยิงพลุของผู้ชุมนุมด้วยกระสุนยางหรือไม่) ต่อให้จำเป็นต้องใช้กำลังก็ยังต้องจำกัดขอบเขตของความรุนแรงและการบาดเจ็บ คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ และจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานด้านการแพทย์คอยเข้ามาดูแลรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อีกด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดในหลักการข้อตกลงของสหประชาชาติคือ ข้อที่ 8 ในหมวดบทบัญญัติทั่วไปได้กล่าวเอาไว้ว่า “กรณีพิเศษอย่างความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในหรือเรื่องฉุกเฉินทางสาธารณะอื่นๆ จะไม่ใช่ข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานทั้งหมดเหล่านี้” กฎข้อนี้จึงเป็นเหมือนการปิดประตูไม่ให้รัฐบาลอ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม

เรื่องการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธปืนนี้ยังถูกขยายความเอาไว้ในบทบัญญัติพิเศษอีกด้วยว่า เจ้าหน้าที่จะต้องไม่ใช้อาวุธปืนกับบุคคล นอกเสียจากเพื่อป้องกันตนเองหรือผู้อื่นในกรณีเป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิต การยกปืนขึ้นประทับบ่าของเจ้าหน้าที่ในโลกสากลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องเลือกระหว่างความเป็นความตายเพียงเท่านั้นที่อนุญาตให้เขาลั่นไกได้

แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง บนถนนช็องเซลีเซส์กับขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง

ย้อนกลับไปในช่วงพฤศจิกายนและธันวาคม 2018 ณ ดินแดนที่ร่ำรวยไปด้วยงานศิลป์และไฟแห่งการลุกฮือมาตลอดอย่างประเทศฝรั่งเศส ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้คนจำนวนมหาศาลได้เดินตบเท้าเต็มถนนช็องเซลีเซส์ (Champs-Élysées) ของกรุงปารีส พร้อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมเสื้อกั๊กสีเหลืองในการประท้วง (mouvement des gilets jaunes) จนนำมาสู่เหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

เหตุปะทะดังกล่าวจบลงด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา จากการสังเกตการณ์ขององค์การ Human Rights Watch ได้อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ใช้ยุทธวิธีที่ผิดพลาดในการนำรูปแบบควบคุมฝูงชนสำหรับการประท้วงที่รุนแรงมาใช้กับการชุมนุมอย่างสันติ จนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งผู้ร่วมชุมนุม ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงผู้สื่อข่าว

ปัจจัยที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐของฝรั่งเศสถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้นมีสาเหตุมาจากการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วน อุปกรณ์ที่ถึงแม้จะเป็น ‘non-lethal’ แต่ก็จัดได้ว่าเป็น ‘heavy-handed tactics’ อย่างกระสุนยางและแก๊สน้ำตาที่ถูกนำมาใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการของสหประชาชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธดังกล่าวทั้งที่ยังไม่เกิดภัยอันตรายโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่เสียด้วยซ้ำ

การเพิ่มกำลังของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้น ทำให้ไม่อาจเลี่ยงได้ที่จะเกิดการปะทะ เพราะการทำเช่นนั้นเป็นประหนึ่งการเติมฟืนในกองไฟ สุดท้ายในช่วงเดือนธันวาคม 2018 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่มากถึง 1,407 ราย โดยมี 46 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส และที่น่าสลดที่สุดคือมีผู้เสียชีวิต 6 ราย จากการสลายการชุมนุม 

Yellow Vests Protest in Paris, France

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักกฎหมายในฐานะตัวแทนของผู้ชุมนุมฟ้องร้องต่อรัฐบาลฝรั่งเศส เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางและแก๊สน้ำตาจำนวนมาก คณะกรรมการปกป้องสิทธิ (The Defender of Rights) อันเป็นองค์การตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสจึงได้ทำการสอบสวนกรณีการได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม และออกรายงานเป็นการทั่วไปเพื่อแนะนำให้รัฐบาลยุติการใช้เครื่องยิงลูกกระสุนต่างๆ ในการสลายการชุมนุม จำกัดการใช้อาวุธระดับกลางอย่างเครื่องยิงกระสุนแก๊สน้ำตา การส่งเสริมหลักการพูดคุยสื่อสารเพื่อรักษาความสงบ และจัดให้มีการศึกษาหลักการวิธีลดความรุนแรง (de-escalation of violence) ในทันที

บทเรียนที่เห็นได้ชัดจากกรณีความรุนแรงบนถนนช็องเซลีเซส์และพื้นที่โดยรอบ คือการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักการสากลและสิทธิมนุษยชน ประชาชนรวมไปถึงนักกฎหมายมีสิทธิที่จะยื่นฟ้องได้ว่าขัดต่อหลักการใดบ้าง ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ของหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เห็นได้จากการที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสไม่นิ่งเฉยต่อการใช้อำนาจอันเกินขอบเขตและไม่เหมาะสมของรัฐบาล ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะได้รับการปกป้องจากความรุนแรงโดยรัฐ (State violence) มากยิ่งขึ้น

Paris 08/12/2018

จากราชดำเนินสู่ดินแดง ประกายแสงจากปากกระบอกปืน

หลังจากทัวร์ม็อบรอบโลกแล้ว สำรวจหลักการสากลและกรณีตัวอย่างการแก้ไขปัญหาของนานาประเทศที่มีอารยะกันแล้ว เราอาจต้องย้อนกลับมาทบทวนหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐไทยอีกครั้ง จากคำสัมภาษณ์ของผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ เพื่อจะตามหาหลักการสากลว่ามีอยู่จริงแท้แค่ไหน

การชุมนุมเมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 จบลงด้วยการเปิดฉากยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจากมุมสูงเมื่อเวลาประมาณ 17.10 น. ส่งผลให้ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ‘ไฮโซลูกนัท’ ต้องสูญเสียดวงตาข้างขวา จึงกล่าวได้ว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. ดำเนินการผิดไปจากหลักการของสหประชาชาติ ซ้ำร้ายยังไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้ามาช่วยเหลือประชาชนเหมือนในกรณีฝรั่งเศสแต่อย่างใด

วันที่ 15 สิงหาคม 2564 กิจกรรม Car Mob นำโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดำเนินการชุมนุมอย่างสันติ แต่เมื่อผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งไปรวมตัวกันที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง โดย คฝ. ระดมยิงแก๊สน้ำตาและเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อตอบโต้พลุดอกไม้ไฟและประทัดของผู้ชุมนุม การตอบโต้นี้อาจเรียกได้ว่าผิดสัดส่วน เนื่องจากการใช้ยุทธวิธีดังกล่าวควรเริ่มนำมาใช้ต่อเมื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงต่อเจ้าหน้าที่หรือส่วนรวมเท่านั้น การสลายการชุมนุมวันที่ 15 สิงหาคม จึงนับได้ว่าตำรวจไทยก็ยัง ‘ไม่สากล’ เพียงพอ

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ก็เฉกเช่นเดียวกับวันอื่นๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ คฝ. เลือกใช้วิธีรุนแรงมากกว่าหลักการเจรจาหรือพูดคุย อาการติดลบด้านจิตวิทยามวลชนดังกล่าวส่งผลให้แก๊สน้ำตาและเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงถูกนำมาใช้งานอีกครั้ง ภายหลังเมื่อผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมและถอยร่นสู่แยกนางเลิ้งแล้ว เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยังเร่งกระชับพื้นที่จากถนนพิษณุโลกเข้าสู่แยกนางเลิ้ง จนผู้ชุมนุมเหลือหนทางหนีเพียงทางเดียว และผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม การใช้กำลังของ คฝ. ในครั้งนี้จึงอาจถูกมองได้ว่า ไม่มีการให้เวลาที่เหมาะสมในการยุติการชุมนุมและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง

จากเหตุการณ์ชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาในรอบเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของไทยไม่ได้ดำเนินการสลายการชุมนุมตามหลักสากลแต่อย่างใด แต่ยังคงเป็นการใช้กำลังตามอำเภอใจและขาดหลักปฏิบัติที่เหมาะสม เช่นนี้แล้วจึงเป็นการยากที่รัฐจะอ้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชนบนท้องถนน

ที่มา:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า