การทูตสาธารณะของไทย กับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

เรื่อง: ศุภมิตร ปิติพัฒน์
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศในระยะทศวรรษ 2500 นั้น แนวคิดเรื่อง soft power ยังไม่ได้รับการบัญญัติขึ้นมา ส่วนคำว่า public diplomacy ในความหมายปัจจุบันเพิ่งเริ่มใช้กันในระยะใกล้เคียงกันนั้นเอง

แต่การปฏิบัติพระราชกรณียกิจระหว่างเสด็จฯ เยือนต่างประเทศแต่ละแห่ง สะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักตลอดเวลาในความสำคัญของ public diplomacy หรือ การทูตสาธารณะ ที่ต้องคำนึงถึงมิติหลายด้านพร้อมกัน ไม่เฉพาะแต่การเสด็จฯ เพื่อพบบุคคลและเยือนสถานที่ต่างๆ ตามกำหนดการที่ทางการของต่างประเทศจัดถวาย

ตัวอย่างเช่น การมีพระราชดำรัสต่อประชุมชน ทั้งที่เป็นทางการ เช่น ในรัฐสภา และในวงอื่นๆ หรือการพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ไม่ได้หมายความว่าผู้ฟังจะมีแต่กลุ่มบุคคลในที่นั้น คำถามของนักข่าวหรือท่าทีของผู้ฟังในที่ประชุมมีความสำคัญมากแน่นอน แต่การจะทรงตอบหรือจะทรงตอบสนองอย่างไรต่อคำถามหรือต่อท่าทีเหล่านั้นของผู้ถามผู้ฟังจะมิได้จบลงเพียงแค่นั้น เท่านั้น

เมื่อพิจารณาในทางการทูตสาธารณะ นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือรัฐบาลต่อรัฐบาล การตอบหรือตอบสนองอย่างไรยังทรงต้องคำนึงถึงหลักการและขนบธรรมเนียมสากลระหว่างประเทศ ความคิดและมติมหาชนระหว่างประเทศในบรรยากาศของสงครามเย็น และความมากน้อยหนักเบาในความหมายความเข้าใจที่จะเกิดขึ้นในทางการทูต และในทางส่วนพระองค์เอง ในสายตาของประชาชนของประเทศที่เสด็จฯ เยือน ของมิตรประเทศอื่นๆ ของรัฐบาลของประเทศหรือขบวนการฝ่ายตรงข้ามกับไทยในเวลานั้น และของประชาชนคนไทย ที่รับฟังหรือติดตามข่าวและผลที่เกิดขึ้นตามมาด้วยความคาดหมายต่างกันอยู่

กล่าวได้ว่า การเสด็จฯ เยือนนานาประเทศในระยะนั้น นอกเหนือจากผลทางด้านกระชับสัมพันธไมตรีและการทำให้ประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์ในเวทีนานาชาติแล้ว ความสำเร็จสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นผลตามมาจากการทรงเป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยเสด็จฯ ไปสานสัมพันธ์กับนานาประเทศ คือการเพิ่มพูนความหมายให้แก่บทบาทประมุขของรัฐในทางการเมืองการปกครองของพระมหากษัตริย์ และน้ำหนักความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมือง

ในกาลข้างหน้า เมื่อรัฐบาลไทยถือเป็นนโยบายที่จะนำแนวคิดและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายแห่งรัฐ รวมทั้งการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ฝ่ายราชการที่รับผิดชอบการสานสัมพันธ์กับภายนอกย่อมต้องน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้มาใช้ดำเนินการในทางการทูต

ส่วนที่เหมาะสมที่สุดในการปรับใช้แนวพระราชดำริเรื่องนี้ในทางการต่างประเทศน่าจะได้แก่ ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการทูตสาธารณะ อันเป็นการทูตที่ดำเนินเพื่อสานสร้างความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีของประชาชนในประเทศต่างๆ ต่อประเทศไทย คนไทย และต่อแนวนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยเอื้อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ในประเด็นต่างๆ กับประเทศเหล่านั้นได้อย่างราบรื่น

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต สร้างศูนย์เพาะพันธุ์ปลานิลไทย-โมซัมบิก นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการดำเนินการทูตสาธารณะตามแนวคิดและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ควรแก่การชื่นชม ท่านผู้อ่านเข้าไปชมการดำเนินโครงการดังกล่าวได้ที่นี่ 

หรือตามรายงานข่าวนี้ แม้ว่าอรรถรสที่ได้อาจจะน้อยกว่าการรับชมจากลิงค์ข้างต้น

ในเวลาต่อไป ถ้าการดำเนินโครงการร่วมมือเพื่อการพัฒนาผสานกับการทูตสาธารณะผ่านแนวพระราชดำริด้านเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยปูทางให้ไทยประสบผลสำเร็จในเป้าหมายที่เป็นสารัตถะทางยุทธศาสตร์ได้จริง ก็เท่ากับว่าแบบแผนการทูตของไทยในด้านนี้ที่จะเกิดขึ้นจากการปรับแนวพระราชดำริมาใช้อย่างสร้างสรรค์ จะเป็นหนทางสำคัญด้านหนึ่งในการรักษาความทรงจำรำลึกถึงพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ผู้ทรงเคยช่วยประเทศชาติเจริญสัมพันธไมตรีและสร้างความเชื่อมั่นในนานาประเทศ ที่ยังผลสำเร็จเป็นอเนกประการให้แก่ความมั่นคงของรัฐ และการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในยุคเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมาแล้ว

เหตุผลดังกล่าวทำให้เราต้องถามต่อไปว่า แนวคิดและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริเหมาะอย่างไรที่จะนำมาใช้ดำเนินการทูตสาธารณะ นั่นคือ การตอบคำถามว่า แนวคิดและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยงานด้านการทูตสาธารณะของไทยในเวลาต่อไปได้อย่างไร ในแง่ใดบ้าง

เมื่อนำโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทย-โมซัมบิกข้างต้น มาพิจารณาร่วมกับแนวคิดการทูตสาธารณะและ soft power ทำให้ได้ข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับการปรับใช้แนวคิดและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในการดำเนินการทูตสาธารณะ

ลำดับแรกสุด ควรเข้าใจวัตถุประสงค์โดยทั่วไปของการทูตสาธารณะก่อน ว่าไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อกำหนดความคิดของประชากรกลุ่มเป้าหมายด้วยการกล่อมให้เขารับสารในความหมายความเข้าใจจำกัดตามที่เราต้องการบีบให้เขาเชื่อ แต่เป็นการดำเนินการโดยมีจุดมุ่งหมายหลายขั้น เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาที่จะเกิดขึ้นต่อๆ ไป มีรากฐานของการมองกันและกัน ด้วยความเข้าใจมุ่งหมายต่อกันในทางที่ดี และเมื่อมีรากฐานของความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเครื่องสนับสนุนแล้ว ต่อไปเมื่อต้องเจอกับปัญหายากลำบากอะไรก็ตาม ประเทศทั้งสองย่อมจะสามารถร่วมมือกันเพื่อหาทางบรรลุผลประโยชน์ที่ต้องการ หรือร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขปัญหาอย่างได้ผลดียิ่งขึ้น

จุดมุ่งหมายในขั้นแรกของการทูตสาธารณะจึงได้แก่ การทำให้ประชาชนผู้คนของเขากับประเทศของเราที่อาจจะยังแปลกหน้าไม่รู้จักกันมาก่อน หรือมีอคติต่อกันจากประสบการณ์ความสัมพันธ์ที่ผ่านมา ให้มีช่องทางที่จะวิสาสะทำความเข้าใจกันผ่านการทูตสาธารณะในทางที่เอื้อให้เขาเปิดใจรับ และลดระยะห่างที่เกิดจากความแปลกหน้าหรือจากอคติที่กั้นขวางมาแต่ก่อนลงไป

ขั้นต่อมาคือการสร้างความคุ้นเคยวางใจ ให้แต่ละฝ่ายมองเห็นกันในทางที่ดีจากความหมายที่ก่อตัวขึ้นมาในปฏิสัมพันธ์ที่เรากับเขาดำเนินต่อกัน จากนั้นการทูตสาธารณะจะขยับขึ้นไปอีกระดับสู่การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของแต่ละฝ่ายให้มีการติดต่อสัมพันธ์กันและเรียนรู้แลกเปลี่ยนจากกันและกันมากขึ้น สุดท้ายคือการผสานการทูตสาธารณะกับการดำเนินการผลักดันเป้าหมายของการทูตปกติเพื่อบรรลุผลประโยชน์ด้านต่างๆ ร่วมกัน

ในขณะที่ไทยกับเพื่อนบ้านอาจมีปัญหาอคติต่อกันที่ต้องอาศัยการทูตสาธารณะมาช่วยแก้ไข ไทยกับโมซัมบิกมีระยะห่างอันเกิดจากการที่แต่ละฝ่ายไม่เคยติดต่อสัมพันธ์กันมาก่อน ภารกิจของการทูตสาธารณะในเงื่อนไขแบบหลังนี้ จึงต้องตั้งต้นที่การหาทางทำความรู้จักกันโดยหาประเด็น dialogue ที่จะก่อให้เกิดการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความเข้าใจ และตามมาด้วยการลงมือทำอะไรด้วยกันร่วมกัน เพื่อทำให้ประชาชนโมซัมบิกรู้จักประเทศไทย และเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเรียนรู้ความคิดและความต้องการของประชาชนที่นั่น คำถามในขั้นนี้จึงเป็นว่าเราจะนำด้านไหนของ ‘ไทย’ ไปให้เขารู้จัก และจะให้คนที่นั่นรู้จักเราในความหมายไหน

หลายคนคิดว่าการทำความรู้จักเริ่มต้นได้ไม่ยากจากการมีปฏิสัมพันธ์กัน และปฏิสัมพันธ์จะเกิดขึ้นมาได้ นอกเหนือจากการพูดจาหารือกันแล้ว ก็คือหากิจกรรมบางอย่างมาทำร่วมกัน เช่น จัดโครงการหนึ่ง สอง สาม ขึ้นมาเกี่ยวกับ ‘ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา’ หรือ ‘การให้ความช่วยเหลือ’ เป็นต้น ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่ไม่พอ เพราะมนุษย์เราไม่ได้เข้าใจกันจากการกระทำหรือกิจกรรมรูปธรรมแบบนี้ล้วนๆ โดยลำพัง แต่เข้าใจกันผ่านความหมายเกี่ยวกับกิจกรรมและการกระทำต่างๆ เหล่านั้นที่สังคมตรงนั้นยึดถือเชื่อใช้อยู่ หรือในทางกลับกัน เราที่เป็นผู้ลงมือกระทำจะก่อความหมายทางสังคมขึ้นมาอย่างไรให้แก่การกระทำหรือกิจกรรมที่เราปฏิบัติ เพื่อให้คนอื่นๆ เข้าใจตัวเราและสิ่งที่เราทำไป

พูดให้ง่ายขึ้นได้ว่า คนเราต่างเห็นกันและกัน มองกันและเข้าใจกัน ไม่ว่าจะเข้าใจตรงกัน ต่างกัน หรือขัดแย้งกัน ก็โดยผ่านปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมาย และที่ก่อให้เกิดความหมายขึ้นมาในใจของเราแต่ละฝ่าย การหาทางจัดความหมายให้แก่สิ่งที่เราทำสิ่งที่เราแสดงออก เพื่อให้คนอื่นฝ่ายอื่นเข้าใจเรา และเข้าใจสิ่งที่เราทำ ในความหมายตามที่เรามุ่งหวังนั้นจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวการกระทำหรือกิจกรรมรูปธรรมที่เราดำเนิน

โครงการ ‘ให้ความช่วยเหลือ’ ก็ดี หรือโครงการ ‘ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา’ ก็ดี มีความหมายทางสังคมให้เข้าใจได้เป็นหลายแบบโมซัมบิก หรือประเทศไหนๆ ก็ตามที่ผ่านประสบการณ์ ‘ความร่วมมือ’ หรือ ‘ความช่วยเหลือ’ แบบนี้มากับต่างประเทศ ต่างก็รู้ว่ามีความหมายเป็นไปได้หรือก่อให้เกิดความหมายได้หลายทาง ทั้งนัยบวกและลบ หรือฝ่ายเราคิดว่ามีความหมายอย่างหนึ่ง แต่คนที่นั่นอาจมองความหมายต่างไปจากเรา หรือโครงการแบบนี้อาจปลุกให้นึกถึงประสบการณ์ที่ดีหรือผลอันเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าในปฏิสัมพันธ์รูปแบบเดียวกันที่มีกับประเทศอื่นๆ ก็ได้

ในจุดนี้เองที่แนวความคิดจะเข้ามามีความสำคัญต่อการช่วยสร้างความหมายและคุณค่าให้แก่การกระทำและการแสดงออกต่างๆ ของเรา กล่าวคือ ช่วยให้คนที่โมซัมบิกเข้าใจประเทศไทยและการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ตัวแทนประเทศไทยได้ทำไป ว่าเป็นการทำโครงการโดยผู้กระทำที่เป็นตัวแทนของประเทศที่ยืนอยู่กับคุณค่าที่มีความหมายชุดหนึ่ง นั่นคือคุณค่าของความสามารถพึ่งตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา การดำเนินกิจกรรมทางการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ต้องการมุ่งเป้าหมายทางการทูตสาธารณะ จึงจำเป็นต้องใส่ใจให้มากต่อแนวความคิดที่จะก่อความหมายให้เกิดขึ้นและปรากฏออกไป เพราะแนวความคิดที่เราใช้สร้างความหมายเพื่อให้คนอื่นเข้าใจตัวเราและการกระทำของเรา ถ้ามันสามารถสร้างคุณค่าที่มีความหมายอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางขึ้นมาได้ มันก็จะมีอิทธิพลดึงใจคนอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งในทางสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ และเหนือไปกว่านั้นคือ ดึงใจให้พวกเขาคล้อยตามคุณค่าชุดนั้น รับมันยึดถือมันไว้เป็นเป้าหมาย และกลมกลืนเข้าหาเราที่เป็นตัวแทนของคุณค่าชุดนั้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้อิทธิพลแบบอื่นๆ มากดดันบังคับหรือเสริมสร้างแรงจูงใจแต่อย่างใด

และเมื่อความเชื่อมั่นไว้วางใจหรือความกลมกลืนทางความคิดอันเกิดจากการรับและยึดถือในคุณค่าชุดเดียวกันเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปทั้งสองฝ่ายก็จะพิจารณาปัญหาต่างๆ รวมทั้งความแตกต่างขัดแย้งที่เกิดมีขึ้นมาด้วยฐานคิดแบบเดียวกัน หรือมีจุดร่วมพื้นฐานทางความคิดที่ใกล้เคียงกัน การหาทางออกร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก หรืออย่างน้อยก็เป็นไปในทางที่สามารถคาดการณ์ได้

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเสนอเป็นแนวทางในเชิงคุณค่าสำหรับประเทศไทย เมื่อนำมาพิจารณาในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าทรงพิจารณาข้อจำกัดที่มีอยู่ในสถานะอำนาจของไทย ความคิดเห็นหรือความหมายเกี่ยวกับไทยในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน เป้าหมายการพัฒนาที่เหมาะสมและเป็นไปได้ ตลอดจนจุดเด่นของประเทศในด้านการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2517 อันเป็นระยะที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ใจความตอนหนึ่งว่า

…คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธานในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้…

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมีหัวใจอยู่ที่ความพออยู่พอกินที่พึ่งตนเองได้ “ลดการพึ่งพา เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะการเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยอาศัยแนวทางการปฏิบัติที่ยึดหลัก “ความพอประมาณ (moderation) ความมีเหตุผล (reasonableness) การสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัว (self-immunity) ที่ดีพอสำหรับการรับมือกับผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก” ผสานกับการใช้ความรู้จากวิชาการด้านต่างๆ (knowledge) และการเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตใจของพลเมืองด้วยการปลูกฝังคุณธรรมอย่างเหมาะสม (ethics)

พวกเราที่มองโลกเห็นตามความเป็นจริงย่อมทราบว่ายากที่ไทยจะก้าวขึ้นถึงสถานะมหาอำนาจในระดับที่ญี่ปุ่นเคยทำหรือพยายามทำได้มาแล้ว และคงทราบดีเกี่ยวกับท่าทีความรู้สึกต่อไทยของประเทศเพื่อนบ้านรายรอบว่าเป็นไปในทางไหน และความเจริญรุ่งเรืองหรือความพยายามของไทยที่คิดจะขึ้นมาเป็นผู้นำของภูมิภาคที่มีอิทธิพลเหนือประเทศเพื่อนบ้านจะก่อให้เกิดความรู้สึกและการตัดต้านแบบไหนขึ้นมา

การนำเสนอประเทศไทย ‘เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ’ ให้เป็นประเทศ ‘พออยู่พอกิน มีความสงบ’ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ถ้าประเทศไทยจะดำเนินได้ตามแนวทางนี้ และการทูตสาธารณะของไทยจะประสบความสำเร็จในการช่วยทำให้เพื่อนบ้านเปลี่ยนความเข้าใจที่เคยมีมาเกี่ยวกับไทยเป็นความเข้าใจไทยตามนัยแห่งพระราชดำรินี้ได้ ก็น่าจะช่วยระงับเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตที่มีอยู่ต่อกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนลงไปไม่น้อย ในขณะที่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของไทยกลับมีผลในทางส่งออกปัญหาให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในทางที่ทำให้พวกเขามองว่าเป็นสิ่งสร้างพิษภัยคุกคามความมั่นคงทางวัฒนธรรมของเขาได้มาก

ถ้าการตีความปัญหาความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้านที่มีต่อไทยเช่นนี้ถูกต้อง การปฏิบัติของประเทศไทยในทางที่จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจว่าไทยยืนอยู่กับหลัก moderation หลัก reasonableness หลักการสร้าง self-immunity บนฐานของความรู้และจริยธรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน ก็เป็นหนทางหนึ่ง ที่ถ้าทำจริงจัง น่าจะช่วยแก้ปมปัญหาค้างใจทางประวัติศาสตร์ที่ไทยกับประเทศรายรอบมีต่อกันให้คลี่คลายลงได้ เรื่องที่นับเป็นข้อวิพากษ์สำคัญของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าเกี่ยวกับการก่อตัวของรัฐไทยในทางประวัติศาสตร์ จึงอาจได้แนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงนี้เองมาเป็นทางเลือกในการปรับแก้ภาพลักษณ์เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของไทยในสายตาเพื่อนบ้าน

ในส่วนที่เป็นทางเลือกเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนา น่าสังเกตเหมือนกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มมองหาทางเลือกเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาของประเทศจังหวะเดียวกันกับที่เกิดกระแสการตื่นตัวระดับนานาชาติในช่วงทศวรรษ 1970 ในการตั้งคำถามต่อแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามตัวแบบตะวันตก ความกังวลถึงข้อจำกัดทางทรัพยากรต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของระบบนิเวศ และในประเทศพัฒนาแล้วเองก็เกิดคำถามเกี่ยวกับอัตราการเติบโตที่ต่ำลง ความยั่งยืนของตัวแบบรัฐสวัสดิการ และการขยายบทบาทภาระของรัฐเข้าไปวางแผนจัดการเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา กระแสความคิดใหญ่กระแสหนึ่งตั้งคำถามต่อการพึ่งพา (dependence) ที่สร้างสภาวะของการไม่พัฒนาและนำไปสู่ข้อเรียกร้องทางหนึ่งคือ delinking จากระบบทุนนิยมโลกและอีกทางหนึ่งคือผลักดันการเปลี่ยนระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศเสียใหม่

ความคิดอีกกระแสหนึ่งนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาวะการขึ้นต่อกันและกันทางเศรษฐกิจ (economic interdependence) ที่เข้มข้นมากขึ้น และเรียกร้องการสร้างหรือปรับปรุงกลไกกำกับดูแลระหว่างประเทศในรูปของ international regimes ในบริบทที่สหรัฐอเมริกามีความเต็มใจและมีขีดความสามารถน้อยลงในการรับภาระการรักษากฎเกณฑ์กติกาและอุดหนุนการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการเปิดตลาดรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ฝ่ายนี้เชื่อในการขยายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจบนฐานของการสร้างกลไกกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อความเป็นธรรมทางการค้าและรักษาผลประโยชน์ในการลงทุน

แต่ทางเลือกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งในที่สุดปรากฏออกมาเป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจัดอยู่ในกระแสที่สามคือแนวทางที่เน้นการพึ่งตนเอง (self-reliance) ซึ่งมีหลายความหมายแตกต่างกันตั้งแต่นักเศรษฐกิจชาตินิยมขวาสุดที่ได้อิทธิพลจากแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของ Friedrich List ไปจนถึงซ้ายที่สุดอย่างพวกเหมาอิสต์ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม หรือแนวทางการพึ่งตนเองอย่างสุดโต่งแบบเขมรแดงและเกาหลีเหนือ หรือแนวทางที่เน้นหลักอหิงสาแบบคานธี หรือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธแบบ Schumacher ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลงานบางบทจาก Small Is Beautiful ของเขา แนวทางนี้จึงเป็นเหมือนร่มคันใหญ่ที่กางคลุมความคิดหลากหลายฝ่าย

แนวคิดและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักการแนวทางที่ชัดเจนตามแนวพระราชดำริ และมีตัวอย่างรูปธรรมในการประยุกต์ใช้ เช่น ทฤษฎีใหม่ในการทำการเกษตร ซึ่งสะท้อนว่าทรงให้ความสำคัญไปที่การสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองตามหลักความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล และการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับบุคคล โดยตั้งต้นที่การใช้ที่ดินที่บุคคลนั้นมีอยู่ให้เกิดการผลิตที่พอเพียง และดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสมในชุมชน แนวทางนี้จึงน่าจะมีลักษณะพอเพียงแบบ trickle-up กลับหัวกับแนวทางของ trickle-down ของยุทธศาสตร์การเติบโตจากการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยที่มิได้เปิดประเด็นชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความไม่เท่าเทียมกัน นอกเหนือจากการเน้นที่การสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงและความผันผวนต่างๆ ที่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจะนำมาเป็นระลอก

แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องนี้ พระราชดำรัสหลายคราวมีลักษณะในทางที่สะท้อนว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาสำหรับการดำเนินชีวิตที่ใช้ได้กับคนทุกระดับชั้น มากกว่าที่จะเป็นทฤษฎีหรือหลักทางเศรษฐศาสตร์การพัฒนา โดยเหตุนี้ จึงเป็นแนวความคิดที่เข้าใจและตีความแตกต่างกันได้มาก รวมทั้งบทวิพากษ์และคำวิจารณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ตัวอย่างของบทวิพากษ์และคำวิจารณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับการรวบรวมไว้แล้วในหนังสือพระราชชีวประวัติ King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงสะท้อนคุณค่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนให้คนไทยใช้เป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต หลักการสำคัญอย่างเช่น moderation reasonableness และ self-immunity จึงเป็นแนวความคิดที่การทูตสาธารณะของไทยสามารถนำมาใช้สื่อสร้างความหมายนามธรรมให้คนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเข้าใจไทยและโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยตามนัยของหลักการข้างต้นได้ โดยไม่ต้องติดกรอบจำกัดของการที่ต้องมองผ่านลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม เพื่อที่จะเห็น ‘ไทย’ และเข้าใจ ‘ความเป็นไทย’ ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นชาติและความเป็นชาติที่แม้แต่ในหมู่คนไทยจะเข้าใจกันเองได้ ก็ยากอยู่ไม่น้อย

แม้จะไม่ได้เป็นคุณค่าที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลเหมือนกับเสรีนิยม แต่ข้อเด่นของหลักการตามแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ที่ลักษณะเป็น modular ที่การตีความแนวความคิดได้กว้างขวางทำให้นำมาประกอบเข้ากับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมสานความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างประเทศได้หลากหลายรูปแบบ พกพาไปสื่อสร้างความหมายข้ามพื้นที่ข้ามภูมิภาคแตกต่างกันได้ไม่ยาก ทั้งยังเปิดกว้างต่อการที่ผู้ปฏิบัติจะใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาโครงการความร่วมมือให้ตอบสนองความต้องการในพื้นที่เฉพาะตามที่ผ่านการสำรวจและกระบวนการปรึกษาหารือกับคนในท้องถิ่นนั้นมา และสอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศไทยในด้านอาหารและการเกษตร หรือภาคบริการหลากหลายสาขา

ที่สำคัญคือการดำเนินการทูตสาธารณะตามแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่ทำให้ใครฝ่ายไหนในพื้นที่นั้นเกิดตั้งแง่สงสัยขึ้นมาว่าจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่เบื้องหลังเป็นอะไรแน่ ด้วยเหตุที่ว่า หลักการต่างๆ ในแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่แสดงนัยทางการเมืองออกมาเด่นชัด ต่างจากแนวความคิดอย่าง Liberation Theology หรือ Pedagogy of the Oppressed ที่สนับสนุนการเผชิญหน้ากับโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมโดยตรง หรือปลุกการวิพากษ์สภาวะการถูกกดขี่ในสังคมรอบตัวออกมาชัดเจน

ในทางตรงข้าม หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งในทางช่วยรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคง และความยั่งยืน ความสามารถในการฟื้นคืนตัวเมื่อเผชิญกับภัยหรือความผันผวนปั่นป่วน ความกลมกลืน การรู้จักใช้เหตุผลในทางที่ก่อให้เกิดความรอบคอบระมัดระวัง การใช้ความรู้บนพื้นฐานของจริยธรรม และการรู้จักความพอประมาณ การดำเนินการทางการทูตสาธารณะด้วยหลักการเหล่านี้กับประชาชนในประเทศที่ยังมีความอ่อนไหวทางการเมือง แต่เป็นตลาดใหม่ที่ไทยจะเข้าไปบุกเบิก จึงไม่ก่อให้เกิดความระแวง

ต่างจากการใช้แนวทางการทูตวัฒนธรรมแบบอื่นๆ ซึ่งอาจทำได้ยากกว่าในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับไทย เพราะความแตกต่างนั้นอาจสร้างปัญหาข้อขัดข้องกลายเป็นความไม่เข้าใจระหว่างกันขึ้นมาได้ หรือในประเทศที่ใกล้เคียงกันทางวัฒนธรรม ก็ยังเป็นประเด็นให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นได้อีกว่า ผลิตผลทางวัฒนธรรมนี้เป็นของใคร ใครได้จากใคร ใครจดทะเบียนเป็นมรดกโลกมรดกตนได้

จากโบราณมาจนถึงปัจจุบัน กำลังใช้บีบบังคับการตอบสนองได้ แต่ใช้เปลี่ยนความคิดไม่ได้ ในขณะที่แนวความคิดใช้บีบบังคับการตอบสนองไม่ได้ แต่มีทางทำให้คนสมัครใจคล้อยตามเพราะเกิดความเชื่อถือในคุณค่าของแนวความคิดนั้นขึ้นมา สมรรถนะของกำลังลดน้อยลงเป็นลำดับตามระยะที่ห่างไกลออกไป แต่แนวความคิดที่มีพลังส่งผลข้ามพื้นที่ได้กว้างไกล ยืนยงได้ข้ามกาลเวลายาวนาน และดำรงเป็นอุดมคติความคิดฝันถึงอนาคตยาวไกล

สมัยโบราณ การปกครองระยะไกลจึงอาศัยแนวความคิดเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงรักษาความสัมพันธ์ ในปัจจุบัน การรักษาความสัมพันธ์ที่จะมีอิทธิพลดึงใจคนในระยะไกล ทั้งไกลในเชิงพื้นที่ และไกลในเชิงกาลเวลาอดีตอนาคต ก็ต้องใช้แนวความคิดเป็นเครื่องช่วย อิทธิพลแบบนี้เพิ่งจะมีคำเรียกว่า soft power

ผู้นำที่มีความฉลาดจัดเจนในอำนาจการปกครองจึงไม่มีใครมองข้ามความสำคัญของแนวความคิดที่มีต่อความคิดจิตใจของผู้คน แต่ข้อจำกัดของประเทศที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของชุดคุณค่าที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างเป็นสากล ในอดีต เช่น คริสต์ศาสนา ในปัจจุบัน เช่น เสรีนิยม และประชาธิปไตย จึงมีข้อจำกัดด้าน soft power มากกว่าประเทศที่ตรึงคุณค่าความหมายที่เป็นสากล และให้ตัวแบบอุดมคติที่เป็นความใฝ่ฝันเหล่านี้ไว้กับอัตลักษณ์ประจำประเทศของตนได้

ส่วนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะด้านอื่นๆ ซึ่งนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการทูตสาธารณะ อาจสร้างจุดขายจากความแปลกถิ่นมาดึงให้เกิดความสนใจขึ้นมาได้ เช่น ในทางส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นพลังดึงใจคนละชนิดกับแนวความคิดที่ยังให้เกิดการกลมกลืนกันในทางคุณค่าความเชื่อที่จะดึงคนเข้ามาสู่การมีมุมมองจากฐานคิดเชิงคุณค่าเดียวกัน หรือมีจุดยืนทางคุณค่าร่วมกัน ต่อการพิจารณาประเด็นปัญหาและพิสัยทางเลือกที่เป็นไปได้ ต่อการประเมินตัดสินความถูกผิดเหมาะสมไม่เหมาะสมของการกระทำและผลที่เกิดขึ้น ต่ออุดมคติของชีวิตที่ดีและสังคมที่ดี ต่อการเปลี่ยนแปลงและความเปลี่ยนแปลง

ในการพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวคราวหนึ่ง นักข่าวกราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า จากการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง ผู้นำต่างประเทศคนใดที่สร้างความประทับใจต่อพระองค์มากที่สุด ทรงตอบผู้สื่อข่าวว่า ได้แก่ นายพลชาร์ลส เดอ โกลล์ ทรงตั้งข้อสังเกตว่าใครๆ มักจะมองว่านายพลเดอโกลล์เป็นคนแข็งและหัวดื้อ แต่ความจริงแล้วทรงเห็นว่าเป็นคนที่อ่อนโยนมาก

ภาวะผู้นำและอำนาจการนำของนายพลเดอโกลล์ในการเมืองฝรั่งเศสมาพร้อมกับ ‘A certain idea of France’ ที่เขาวางเป็นวิสัยทัศน์ที่มุ่งรักษาสถานะและบทบาทการเป็นมหาอำนาจของฝรั่งเศสในเวทีโลก เช่นเดียวกับเดอโกลล์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเข้าพระทัยดีถึงพลังของแนวความคิด ที่จะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและความคิดอ่านของคน ผ่านทางความหมายที่ความคิดนั้นจะก่อขึ้นมาเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่น และความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน แต่ ‘A certain idea for Thailand’ ของพระองค์มาจากฐานคิดที่แตกต่างอย่างมากจากของนายพลเดอโกลล์

จึงน่าเปรียบเทียบเหมือนกันถึงผลสำเร็จของผู้นำที่เป็นประมุขรัฐทั้งสอง ในการนำแนวความคิดมาใช้เพื่อสื่อสร้างความหมายโน้มนำความคิดความเข้าใจของผู้คนฝ่ายต่างๆ ไปสู่จุดมุ่งหมาย เวลาในอนาคตจะให้คำตอบแก่เราว่า ‘A Certain Idea for Thailand’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะมีผลมีพลังแตกต่างอย่างไรกับ ‘A Certain Idea of France’ ของนายพลเดอโกลล์


อ้างอิงข้อมูลจาก:
Soft Power เป็นคำและแนวคิดของ Joseph S. Nye, Jr. นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่ง Harvard University เขาเสนอแนวคิดนี้ในราวปลายทศวรรษ 1980 และต่อมานำมาขยายเป็นหนังสือ Soft Power: The Means to Success in World Politics (New York: Public Affairs, 2004). ส่วนความเป็นมาในความหมายของคำว่า public diplomacy จากอดีตจนปรากฏดังที่เข้าใจกันในปัจจุบัน ดูได้ที่บทความของ Nicholas J. Cull, “ ‘Public Diplomacy’ before Gullion: The Evolution of a Phrase,” available at  http://uscpublicdiplomacy.org/blog/public-diplomacy-gullion-evolution-phrase
นอกจากนั้น บทความนี้ยังใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของศูนย์ศึกษาการทูตสาธารณะของมหาวิทยาลัย Southern California ซึ่งมีบทความและผลิตรายงานวิจัยจำนวนมากที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทูตด้านนี้ของประเทศและของภูมิภาคต่างๆ เป็นอย่างดี https://uscpublicdiplomacy.org/
ความยากของสถานการณ์และความระมัดระวังในการมีพระราชดำรัสหรือพระราชทานสัมภาษณ์ในระหว่างเสด็จฯ เยือน ติดตามอ่านได้ในพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเรื่อง ‘ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ
ตอนเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Colin L. Powell แสดงความสำคัญของ ‘ผู้ฟัง’ ต่างกลุ่มในการสื่อสารทางการทูตต่อสาธารณะไว้อย่างน่าสำเหนียก ในปาฐกถาต่อที่ประชุม NetDiplomacy 2001 อ่านได้ที่ https://2001-2009.state.gov/secretary/former/powell/remarks/2001/4838.htm.
แนวทาง Social Constructivism เป็นกรอบศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญแก่ความหมายทางสังคมต่อการสื่อสร้างความเข้าใจโลกทางวัตถุและการกระทำการแสดงออกในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งต่ออัตลักษณ์ของตัวผู้กระทำการ หนึ่งในงานต้นแบบของแนวทางศึกษานี้ได้แก่งานของ Alexander Wendt, ‘Anarchy is What States Make of It,’ available at http://maihold.org/mediapool/113/1132142/data/Wendt-Anarchy.pdf.
บทพระราชทานสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเรื่องนายพลเดอโกลล์อยู่ในวารสาร Leaders (April-June1982) รวมตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ The King of Thailand in World Focus จัดพิมพ์โดย Foreign Correspondent’s Club of Thailand, 2007.
พระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม 2517 และหลักคิดและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริที่บทความอ้างถึงค้นได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธิชัยพัฒนา: http://www.chaipat.or.th/content/porpeing/porpeing.html

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า