เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี
วันนี้เป็นวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สามัญชนคนสำคัญของไทยที่องค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก พ้นไปจากคำสรรเสริญที่มีอยู่จำนวนมาก จนพอจะสามารถศึกษาหาความกันบ้างได้แล้ว คุณูปการอย่างหนึ่งที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีต่อบ้านเมืองไทยในปัจจุบันก็คือ ‘ความกล้าหาญทางจริยธรรม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติบ้านเมืองที่สังคมไทยต่างถวิลหา
นี่จึงเรียกร้องให้เรายิ่งต้องทำความเข้าใจเรื่องราวดังกล่าวให้กระจ่าง การหาคำตอบนี้เราอาจเริ่มประมวลได้จากวิธีแสดงออกทางจริยธรรมของป๋วยเอง
ความกล้าหาญทางจริยธรรมในที่นี้ คือ การใช้ความมุ่งมั่นทางปัญญาญาณ เพื่อตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องระหว่างห้วงเวลาวิกฤติ
สิ่งนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมไทยมาสักระยะแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็นับว่า ป๋วยเป็นดั่งเช่นสามัญชนคนทั่วไปที่มีความวูบไหวและมีพลวัตภายในตัวเอง กว่าจะสำแดงให้โลกรับรู้ถึงเขาในฐานะ ‘คนตรงในประเทศคด’ ในที่สุด
ในวาระนี้ เราจึงคัดสรรรูปธรรมของเหตุการณ์ที่ป๋วยใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมมาให้เห็นกัน
1. ปฏิเสธการแทรกแซงจากรัฐบาลทหาร
‘ขุนนางนักวิชาการ’ เป็นคำอธิบายข้าราชการในยุคแรกๆ ที่ขึ้นมามีบทบาทในการกำหนดและผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองของไทย (คำนี้มาจาก รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่ง) จุดเริ่มต้นของขุนนางนักวิชาการหรือ ‘เหล่าเทคโนแครต’ เริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 2490 โดยมีภาระหน้าที่ในการต่อรองทางนโยบายและชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ของประเทศต่อผู้มีอำนาจ[1] (แต่โปรดระวังเพราะโฉมหน้าเทคโนแครตรุ่นบุกเบิกอย่างป๋วยนั้น แตกต่างจากเทคโนแครตในยุคหลังจากนั้นอย่างน้อย 30-40 ปี)
ในช่วงปลายยุค 3 ทหารเสือ (จอมพล ป., เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลสฤษดิ์) ซึ่งคานอำนาจกันอยู่นั้น พบว่าป๋วยได้แสดงบทบาทที่ไม่ตอบสนองคำสั่งการซื้อสหธนาคารกรุงเทพจำกัดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ไม่ชอบมาพากล จนเขาต้องพ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
แต่เมื่อการรัฐประหาร 2500 มาพบกันเมื่อชาติต้องการ (คำของสฤษดิ์) จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจ ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ช่วงนี้อาจต้องประเมินป๋วยในอีกด้านหนึ่ง
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ วิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ เขาพิจารณาไปที่ตำแหน่งแห่งที่ของป๋วยและบทบาทในการประชุมคณะรัฐมนตรี พบว่า เอาเข้าจริงป๋วยมีบทบาทสูงมากภายใต้อำนาจของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยได้รับความไว้วางใจให้นั่งในตำแหน่ง ‘ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ’ ดูแลเงินคงคลังของรัฐบาลที่ใช้ไปในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจขนานใหญ่
แต่หลักฐานหนึ่งที่สำคัญในการวิพากษ์ ‘การรับรู้’ ต่อบทบาทของป๋วยในช่วงนี้คือ การประชุม ครม. เรื่อง การประหารชีวิต ครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศ สมศักดิ์เห็นว่า การประเมินว่าป๋วยรักสิทธิและเสรีภาพ อาจจะต้องใส่ใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้ให้จงหนัก
เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 สั่งประหาร ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธ์ สุทธิมาศ ในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน (แม้ว่าในความเป็นจริง ครองไม่ได้มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ครองทำคือ การต่อสู้เพื่อคนอีสานจำนวนมากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และต่อต้านเผด็จการอย่างเปิดเผย[2] นั่นอาจจะไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรหากพูดในภาษาเผด็จการ แต่ที่น่าสนใจมากกว่าน่าจะเป็นว่า ไม่มีถ้อยความใดๆ จากผู้ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนั้นคือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
แน่นอน สมศักดิ์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ป๋วยสนับสนุนให้มีการประหารครองและทองพันธ์ แต่ก็นำมาซึ่งการทบทวนการรับรู้ต่อป๋วยว่า เป็นบุคคลที่ยึดมั่นในการปกป้องเสรีภาพและหลักการประชาธิปไตย[3]
2. ปฏิเสธเงินเดือนจากการลาไปต่างประเทศ
ดังที่เรียนไปว่า บทบาทที่สม่ำเสมอของป๋วย น่าจะอยู่ที่การทำหน้าที่ขุนนางวิชาการ ที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญในสิ่งที่ถูกต้อง นับตั้งแต่เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ขบวนการชาตินิยมพลเรือน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องการปลดแอกประเทศไทยจากการครอบงำของประเทศมหาอำนาจ
ความพยายามในการจัดวางบทบาทของป๋วยในช่วงเวลาหลังการกลับมาทำงานจึงร้อยเรียงไปกับอุดมการณ์ที่เป็นจริง คือ การปฏิเสธตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองจากระบอบเผด็จการ โดยเลือกจะทำงานข้าราชการประจำต่อไป หรือการเป็น ‘ขุนนางนักวิชาการ’ ที่สามารถทัดทานอำนาจที่ไม่ชอบธรรมได้ ดังที่นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเศรษฐศาสตร์ของโลก เลือกที่จะเดินเส้นทางข้าราชการที่ซื่อตรง ดังข้อความนี้
“…นอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือ เงินของชาวนาไทย ไปเที่ยวนอก แล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย…” ป๋วย อึ๊งภากรณ์
กรณีเล็กๆ ที่น่าสนใจ แต่สะท้อนภาพที่เป็น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตลอดช่วงเวลาของการทำงานคือ จดหมายลาไปต่างประเทศของเขา
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2517 ป๋วยทำหนังสือเสนอคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ความว่า
“ผมมีความจำเป็นต้องไปประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2517 จนถึงประมาณวันที่ 5 มกราคม 2518 เพื่อพักผ่อนและทำธุระส่วนตัว จึงขอลางานจากมหาวิทยาลัยในระยะนั้น และโปรดเสนอมหาวิทยาลัยอย่าจ่ายเงินเดือนประจำเดือนธันวาคม 2517 ให้แก่ผม เพราะจะไม่ได้ทำงาน”
ถ้อยความลักษณะนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่โดยทั่วไปในชีวิตการทำงานของป๋วย ตั้งแต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้แทนการค้าไทย จนถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. จดหมายของเข้ม เย็นยิ่ง[4]
สมัยรัฐบาลทหารอันยาวนานได้พรากความมุ่งมั่นของป๋วยหลายครั้ง ในช่วงนี้ป๋วยเริ่มมีบทบาทนำในด้านประชาธิปไตย และยังคงยึดมั่นความซื่อตรงในหน้าที่อยู่เสมอ เช่น การต่อรองกับผู้มีอำนาจที่ต้องการแทรกแซงวินัยทางการคลัง บทบาทของป๋วยแสดงออกในลักษณะหาญคัดค้านเชิงนโยบายที่ผู้มีอำนาจใช้เงินฝากของประชาชนไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจด้วยกันเอง แต่ครั้งที่สำคัญคือ สุนทรพจน์ของป๋วยที่เรียกร้องมิให้ผู้มีอำนาจเข้าไปมีผลประโยชน์ในธุรกิจการค้า ในปี 2507
สุนทรพจน์ครั้งนั้นมีส่วนให้จอมพลถนอม กิตติขจร ลาออกจากกรรมการธนาคารพาณิชย์บางแห่ง และมีการทำบันทึกเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตาม
ปี 2508 ป๋วยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ซึ่งแสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนที่ป๋วยเริ่มขยับทิศทางการพัฒนาที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น การก่อตั้งโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2514 เมื่อป๋วยเขียนจดหมายภายใต้ชื่อว่า ‘เข้ม เย็นยิ่ง’ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจให้กับประชาชน ก่อนที่เหตุการณ์ลุกฮือของนักศึกษา ประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม จะมาถึงในอีก 2 ปีต่อมา
“… สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัวซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง…”
4. เสียงข้างน้อยใน สสร.
ผลอย่างหนึ่งของการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อป๋วยเข้ามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นผลมาจากการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
ด้วยโครงสร้างของคณะกรรมาธิการฯ ที่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้การครอบงำของอุดมการณ์อนุรักษนิยม ทำให้ป๋วยไม่สามารถผลักดันแนวคิด สิทธิ เสรีภาพแก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ ผลคือป๋วยกลายเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม แต่ยังคงยืนหยัดนำเสนอหลักการ
ในบทความชื่อ กรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ชื่อ ‘ป๋วย’[5] เขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล พบว่า ป๋วยได้รับเลือกให้เป็น 1 ในจำนวน 2,347 คนที่เข้าร่วมสมัชชาแห่งชาติ หรือ ‘สภาสนามม้า’ และยังได้รับเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยคะแนนเป็นอันดับสองรองจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
จากการศึกษาคำอภิปรายในการร่างรัฐธรรมนูญพบว่า ป๋วยให้ความสำคัญในการนำเสนอ 3 ประเด็น คือ หนึ่ง-เสรีภาพทางความคิดและมโนธรรม สอง-อำนาจอธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน และสาม-เยาวชนและคนรุ่นใหม่ในระบบเลือกตั้ง
แต่ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง สมาชิก สนช. บางคนโต้แย้งว่า จะเกิดเสรีภาพสุดขอบฟ้า เป็นเสรีภาพที่กว้างขวาง จนอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ จนในที่สุดมี สนช. ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของป๋วยเพียง 24 คนเท่านั้น โดยที่เสียงไม่เห็นด้วยมีถึง 156 คน บทบาทของป๋วยในกรณีนี้จึงเห็นได้ว่า เขาให้ความสำคัญในหลักการประชาธิปไตย และกล้าหาญพอที่จะนำเสนอแนวทางที่สวนทางกับความคิดของสมาชิกสภาสนามม้าที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
5. ถ้อยแถลงจากสภาคองเกรส
หลังการล้อมปราบนักศึกษา ประชาชน ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป๋วยเป็นคนหนึ่งที่ต้องออกนอกประเทศ คณะอนุกรรมการว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ ของคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ แห่งสภาคองเกรส สหรัฐ ได้เชิญป๋วยให้เข้าไปให้ความเห็น ทว่าป๋วยดูจะสวนทางคณะกรรมการเสียงข้างมากของสหรัฐ ซึ่งมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่กับรัฐบาลทหารของไทยอยู่ ณ ขณะนั้น โดยถ้อยความที่ป๋วยแถลงต่อศาล แสดงให้เห็นการยึดมั่นในชีวิตเพื่อนมนุษย์อย่างน่าเคารพ
“ผมเชื่อในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ตามที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ ผมเชื่อในสิทธิของชายและหญิงทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ การปฏิเสธไม่ให้สิทธินั้นแก่เขา เพราะเขายากจนหรือเพราะเขาขาดการศึกษา ผมถือว่าเป็นความร้ายกาจอย่างหนึ่ง ผมเกลียดชังเผด็จการ ไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม”
แนวทางของป๋วยที่กล่าวมา อาจเรียกได้ว่า เป้าหมายของป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั้น แทบจะไม่คลอนแคลน แต่วิธีการต่างหากนั้นที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ความกล้าหาญทางจริยธรรมของป๋วย จึงเป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีให้เสรีชนทั้งหลาย ปรับปรุงตนเองให้เข้าใกล้กับหัวใจของความเป็นมนุษย์
อ้างอิง:
[1] อภิชาต สถิตนิรามัย. 2557. รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ: จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน
[2] สมชัย ภัทรธนานันท์. 2557. ครอง จันดาวงศ์ กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน. วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร. วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่ 11 ฉบับที่ 1
[3] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. บางด้านของระบอบสฤษดิ์: ปัญหาป๋วย, การประหารชีวิตครอง และสฤษดิ์กราบบังคมทูล วิเคราะห์ลักษณะพิเศษของภาคอีสาน ที่เป็นสาเหตุขบวนการคอมมิวนิสต์และ “แบ่งแยกดินแดน” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1325, วันที่ 6 มกราคม 2549
[4] จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ. ตีพิมพ์ใน เศรษฐศาสตร์สาร ฉบับชาวบ้าน ปี 2515
[5] ประจักษ์ ก้องกีรติ และ ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ. 2559. ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์