เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล / ภาพ: ทีม Puey Talks#5
สองสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน อย่างน้อยก็ในตอนแรกที่รับรู้ว่ามีงานนี้จัดขึ้น Puey Talks#5 หรืองานป๋วยทอล์คครั้งที่ 5 โดยครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘ประชาธิปไตยทางอาหาร’ หรือ Food Democracy ซึ่งมีขึ้นเนื่องในวาระรำลึกถึง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทมหานคร เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
จากความสงสัยนำไปสู่การก้าวเข้าไปร่วมรับฟังข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยสะสางความเข้าใจต่อประเด็นของประชาธิปไตยทางอาหารโดยเริ่มจาก วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด จากบริษัทอินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม บนคำถามที่กระตุ้นให้เดินเข้าไปหาคำตอบว่า “ประชาธิปไตยอาหารคืออะไร?”
“ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงระบอบที่ปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน อย่างนั้นในเรื่องอาหารก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันค่ะ” วัลลภาเริ่มต้นด้วยการพูดถึงสองสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘อาหาร’ อย่างที่สงสัยในตอนแรก ก่อนจะกล่าวต่อทำไมทั้งสองสิ่งสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องเดียวกัน โดยการพูดว่าในฐานะประชาชนแล้วเรามีสิทธิเสรีภาพอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย ในระบบอาหารก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้ดีต่อเรา ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
วัลลภายกตัวอย่างในเรื่องการผลิตไก่เพื่อบริโภคของบรรษัทขนาดใหญ่ที่การเพาะเลี้ยงเป็นไปเพื่อให้ไก่ถูกเตรียมเพื่อเป็น ‘สินค้า’ มากกว่าจะเป็นการบริโภคเพื่อตอบสนองคุณค่าของชีวิต
“ไก่ที่เอามากินเป็นฟรายชิกเก้น มันคือไก่ที่มีอายุ 45 วัน ไก่ทั้งหมดนี้ไม่ได้นอนเลยนะคะ มันอยู่ในระบบสายพานการผลิต ทีนี้ถ้าเราเคยกินไก่ทอด (ทั่วไป) มันจะมีอายุเป็นเดือนเป็นปี แต่ไก่แบบนี้นอกจากไม่มีระบบสวัสดิการแน่นอน ยังเป็นการผลิตที่ปล้นผลิตผล เพราะว่ามันไม่สนใจไยดีต่อเกษตรกรรายย่อย ไม่สนใจต่อระบบนิเวศและคุณค่าของอาหาร”
กระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมของเกษตรกรรม ทำราวกับพืชผักเป็นผู้ก่อการร้ายที่ต้องใช้การปราบปรามอย่างเด็ดขาดผ่านยุทโธปกรณ์ที่มีกระสุนชื่อสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช ด้วยยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เกิดเป็นวิกฤติอาหารที่การคำนึงถึงต้นทุนทางอาหารในระบบสายพานการผลิต ไม่เคยรวมถึงทุนทางด้านสุขภาพเข้าไปด้วย
เราไม่เคยพูดถึงต้นทุนที่แท้จริงในการผลิตอาหารเลย ต้นทุนทางสุขภาพ ต้นทุนที่เกิดต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนพลังงาน และต้นทุนทางสังคม
สภาวะแปรรูปสมบัติสาธารณะ
วัลลภากล่าวต่ออีกว่า ด้วยระบบการผลิตของบรรษัทขนาดใหญ่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมทางด้านอาหารที่มีสารปนเปื้อนสูงถึง 45-50 เปอร์เซ็นต์เหล่านี้ นอกจากส่งผลให้เกิดโรคอ้วนในเด็กสูงแล้ว ความไม่มั่นคงทางด้านผลิตผลทางการเกษตรก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเพราะถูกควบคุมโดยบรรษัทขนาดใหญ่เหล่านี้
ประเด็นต่อมาคือการแปรรูปสมบัติสาธารณะ จาก common property ไปสู่ private property หรือสมบัติส่วนบุคคล หรือขบวนการแย่งยื้อที่ดินด้วยระบบเกษตรเคมีขนาดใหญ่ในปัจจุบันทำให้เกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดิน นำไปสู่ภาวะหนี้สินอย่างมีนัยสัมพันธ์กัน
ประเด็นที่สามในเรื่องของวิกฤติพลังงาน วัลลภากล่าวต่อว่ามีข้อที่น่าสนใจอยู่สองประเด็น คือการที่เราอยากเป็นครัวโลก เราสนใจแต่การป้อนอาหารที่อยู่ไกลออกไป นำไปสู่ประเด็นที่สองคือการลงทุนอย่างสิ้นเปลืองของบรรจุภัณฑ์ในการบรรจุอาหารเพื่อส่งออก ไม่นับรวมถึงค่าขนส่ง และระบบการขนส่งที่จำต้องใช้พลังงานแทบทั้งสิ้น นับตั้งแต่การใช้ไฟฟ้าในการแช่แข็งไปจนถึงน้ำมัน
“ประเด็นสุดท้าย วิกฤติทางด้านสังคมของมนุษย์ ในกระบวนการผลิตแบบนี้มีการแย่งทรัพยากรแน่นอน เช่น ป่าชายเลนกลายเป็นที่ทำฟาร์มกุ้ง พื้นที่ทางภาคเหนือที่ปลูกไร่ข้าวโพดทำให้เกิดปัญหาทางด้านหมอกควัน คุณภาพชีวิตของคนเชียงใหม่ในตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤติในช่วงฤดูที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเพื่อมาใช้เป็นอาหารสัตว์ในกระบวนการผลิตไก่ให้เรากิน ถ้าต้นทุนของอาหารอุตสาหกรรมมีมากขนาดนี้ ทั้งต้นทุนสุขภาพ ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ต้นทุนพลังงาน และสังคม คำถามคือว่าเราจะนำอาหารกลับบ้านได้ไหม”
ประเด็นนี้ วัลลภากล่าวอ้างคำพูดของ กุนนาร์ รุนด์เกรน ที่บอกว่ามนุษย์ในปัจจุบันไม่เคยมีเสรีภาพในการเลือกกิน ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเลือกกินข้าวกลางวันเป็นกะเพราหมูราดข้าว แต่เรารู้หรือไม่ว่าในใบกะเพรามีสารปนเปื้อน ในหมูมีสารปนเปื้อน หรือแม้แต่คะน้าหมูกรอบ โดยในงานศึกษาของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) ระบุว่าทั้งผักกะเพราและคะน้าเป็นผักสองชนิดที่มีปริมาณสารปนเปื้อนเป็นอันดับ 1 ประเด็นสำคัญของวัลลภา คือเราต้องกลับไปสู่ทางเลือกในอาหาร เราจะต้องรู้ว่าใครคือผู้ผลิตอาหารให้เรา
ประเด็นนี้นำไปสู่ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคในการผูกโยงระบบสมาชิกขึ้นเพื่อซื้อผักอินทรีย์จากเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเกษตรกรและพวกเราในฐานะผู้บริโภค
ความปลอดภัยทางด้านอาหาร
ถ้าระบอบประชาธิปไตยหมายถึงเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน การจัดการด้านอาหารก็ควรจะเกิดขึ้นจากการร่วมมือของประชาชน ภาคประชาสังคมควรมาจับมือร่วมกันในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ผศ.ดร.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พูดต่อในประเด็น ‘พิษที่ต้องกิน พิษจากการกิน’ เอาไว้ว่า จากประชาธิปไตยมาสู่สิ่งที่ทำไมต้องมีสิทธิ มีเสรีภาพ และความเสมอภาคในด้านอาหาร เพราะว่าสารเคมีในปัจจุบันปนเปื้อนอยู่ในอาหารแทบทุกประเภท นับตั้งแต่เครื่องดื่ม น้ำอัดลมจนถึงขนมขบเคี้ยว
“ผมใช้คำว่าสารพิษเพราะว่ามันชัดเจนที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจจะถูกทำให้เข้าใจด้วยรูปศัพท์ของคำว่า ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า การที่มีคำว่า ‘ยา’ อยู่นี่อาจจะทำให้เราไขว้เขว สับสน หลงเชื่อว่ามันคือสิ่งที่จะมาเยียวยา ซึ่งไม่ใช่เลย”
การปนเปื้อนจากสิ่งที่เราอาจหลงเชื่อไปกับนิยามของคำว่า ‘ยา’ นั้น ปัตพงษ์ยกตัวอย่างสารพิษหรือสารเคมีที่ใช้กันมากก็คือ พาราควอต เนื่องจากมีการใช้กันเยอะมาก เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนตั้งแต่ในกระเพาะอาหารไปจนถึงสมอง
พาราควอตเป็นสารเคมีที่เราพยายามผลักดันให้เกิดการยกเลิก เพราะผลกระทบจากพาราควอตเพียงหนึ่งช้อนชาก็ทำให้เราเสียชีวิตได้แล้ว พาราควอตเป็นสารเคมีที่ชาวบ้านจะรู้กันดีในฐานะของยาพิษที่หากต้องการจะฆ่าตัวตาย ให้ไปหยิบเอายาฆ่าแมลงมากิน ซึ่งเป็นสิ่งน่าแปลกใจที่บางประเทศยังคงอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีตัวนี้ในตลาดอยู่อีก ทั้งที่ศรีลังกาและมาเลเซียมีการสำรวจพบว่าการยกเลิกพาราควอตช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากความพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาฆ่าแมลง การแบนพาราควอตช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง
ประเด็นต่อมา สารเคมีตัวที่สองที่ประเทศไทยนำเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งคือ ไกลโฟเสต ซึ่งเรานำเข้าสารเคมีชนิดนี้มากกว่า 10 ปี ในแต่ละปีมีการนำเข้าเป็นจำนวนกว่า 63 ล้านกิโลกรัม ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยรับสารเคมีชนิดนี้เข้าไปเกือบคนละ 1 กิโลกรัม ทุกปีๆ จะเกิดอะไรขึ้นต่อร่างกายของเรา
ปัตพงษ์ให้คำตอบว่า พิษของไกลโฟเสตจะไปจับเอาเกลือแร่ที่จำเป็นในร่างกาย รวมไปถึงการทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ทั้งในดินและในลำไส้ของคนเรา ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้จะช่วยสร้างการเติบโต สร้างภูมิคุ้มกัน ที่น่ากลัวกว่านั้นคือไกลโฟเสตเคยได้รับการจดสิทธิบัตรให้เป็นยาปฏิชีวนะ
“ลำไส้ของเราถูกจัดให้เป็นสมองอันที่สอง เมื่อลำไส้ของเราไม่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เราก็จะเจ็บป่วยมากมาย มีการวิจัยที่ระบุว่ายิ่งใช้สารเคมีตัวนี้มากเท่าไหร่ โรคต่างๆ ก็จะพุ่งเข้าสู่ร่างกายเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด อัลไซเมอร์ มะเร็งต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 22 โรค”
แม้มีความน่ากังวลเช่นนี้ แต่ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มกลับดีใจ เพราะพวกเขาจะได้ขายยาได้ สร้างกำไรจากสุขภาพของประชาชน
สุนทรียะในการกิน
หากระบบเกษตรกรรมเคมีต่างๆ ครอบคลุมแทบทุกองคาพยพของชีวิต ในฐานะของนักเขียนและผู้สนใจเรื่องอาหารผ่านการเขียนคอลัมน์ลงในนิตยสารรายสัปดาห์ อนุสรณ์ ติปยานนท์ บอกเล่าว่า ความสนใจที่นับตั้งแต่จุดเริ่มมาจนปัจจุบันเป็นเวลาหนึ่งปีนั้น ทำให้เกิดภาวะตื่นตัวที่ว่า ทำไมเราถึงรู้จักอาหารที่เรากินน้อยมาก
“ถ้าเราพูดในสมัยเมื่อ 200 ปีก่อน ในสมัย บุพเพสันนิวาส สักเมื่อ 500 ปีก่อนน่าจะเข้าท่า ในสมัยก่อนห่วงโซ่อาหารมันยุติอยู่ในตัวคนเดียว คือเราปลูก เราปรุง แล้วเราก็กิน เรารู้ว่าสิ่งที่เรากินมันมาจากไหน และเรารู้ว่าเรากินมันดีหรือไม่ดียังไง แต่ปัจจุบัน การพูดเรื่อง food democracy ทุกวันนี้มันเหมือนการพูดกันอยู่สองกลุ่ม ก็คือในฐานะของคนปรุงและคนกิน คนที่กำหนดวัตถุดิบใหญ่ในโลกอาจไม่ได้มานั่งอยู่ในที่นี้”
กระบวนการกำหนดวัตถุดิบทำให้ปัจจุบันของคนเรากลายเป็นเพียงผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ปลูกและผู้ปรุงอีกต่อไป พริกในปัจจุบันลดเหลือสายพันธุ์เพียงสามสี่ชนิด ขณะที่สมัยก่อนมีมากกว่า 40 ชนิด พริกที่ไม่ทำกำไรก็ถูกตัดออกไปจากตลาด รวมถึงกล้วยที่เคยมีมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ เราก็ถูกทำให้มีทางเลือกแค่การเดินเข้าไปซื้อกล้วยในร้านสะดวกซื้อ
อนุสรณ์ยังเล่าย้อนอีกว่า ในอดีต ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยผ่านการทำอาหารที่เรียกว่าเป็นการประชันทางฝีมือตามงานรื่นเริงหรืองานบุญต่างๆ ทำให้ลิ้นของคนไทยมีความหลากหลายทางด้านอาหารสูงที่สุดชาติหนึ่งของโลก คนไทยกินอาหารผ่านสำรับที่มีอาหารหลากหลายชนิด ผิดกับปัจจุบันที่การกินข้าวกลายเป็นเรื่องของปัจเจก เรากินข้าวเป็นหมู่เป็นเหล่า
“ประเภทการกินแบบฮิปสเตอร์ หรือกินคนเดียวเงียบๆ เหงาๆ มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เมื่อเราเข้าร้านอาหารแล้วมีคนมานั่งร่วมโต๊ะมันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้เอง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ากระบวนผลิตอาหารสมัยก่อน เราจะเห็นกระบวนการที่เรียกว่า แชริ่ง เราแชริ่งวัตถุดิบ บ้านนี้ถนัดแกงส้มก็เอามาให้บ้านนี้ที่ถนัดทำแกงเผ็ด เราแชริ่งในเรื่องเทสต์ เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะกินเผ็ดหรือกินหวานไปตลอดชีวิตมันเป็นไปไม่ได้ในสมัยโบราณ”
ประเด็นต่อมาในเรื่อง ‘ประชาธิปไตยทางอาหาร’ จากมุมมองของอนุสรณ์คือ การผลิตอาหารยังครอบคลุมเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องเสื้อผ้า ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย อนุสรณ์กล่าวว่า ในอดีต ยาและอาหาร ไม่ได้ถูกทำให้แยกกันเหมือนในปัจจุบัน แต่อาหารกลายเป็นยาผ่านกระบวนการปรุงไปเรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างแกงขี้เหล็ก ซึ่งให้รสขม ก็จะต้องใส่ข่าลงไปเพื่อดับความขม
อาหารไม่เคยเป็นพิษสำหรับคนไทย เพราะว่าเราทำอาหารให้เป็นยามาตั้งแต่ต้นแล้ว
ในส่วนของเสื้อผ้าและที่อยู่อาศัย อนุสรณ์เล่าว่า คนโบราณไม่เคยแยกสิ่งนี้ออกจากกันเช่นเดียวกับยา อาทิ หม่อนไหมที่เรานำมาทำเสื้อผ้า เราก็นำมาใช้ชงชา หรือแม้แต่ทำต้มไก่ ฟางข้าวก็ถูกนำไปผสมกับดินเหนียวเพื่อทำฝาบ้าน
“คุณจะเห็นว่าในอดีตทั้งสี่อย่างนี้มันเป็นวัฏจักรของการหมุนเวียนซึ่งกันและกัน และนี่คือ democracy ที่ชัดเจน”
เช่นเดียวกันกับวัลลภา อนุสรณ์มองว่า เพราะเราถูกทำให้กลายเป็นแค่ผู้บริโภค เราจึงไม่เคยรู้จักสิ่งที่เรากิน เราเลือกเอาง่ายเข้าว่าโดยไม่มีการศึกษา เรียนรู้จากภูมิปัญญาโบราณ การจะเกิดสุนทรียะในการกิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนจะรู้จักปรุง เราต้องรู้จักสิ่งที่เรานำมาปรุงด้วย
ประเด็นนี้นำไปสู่หัวข้อต่อไปที่อาจไม่จำเป็นต้องตอบก็ได้ว่าสิ่งที่เรากินนั้นมีอะไรบ้างอยู่ในนั้น แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่ากะเพราหรือคะน้าที่นำมากินนั้นปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลายจะทำให้เกิดความมั่นใจนั้นขึ้นได้ จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เทคโนโลยี…เกษตรยั่งยืน’ ซึ่งในเรื่องนี้ รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน กล่าวเปิดก่อนว่า ประเด็นที่ทำให้การเกษตรปัจจุบันไม่นำไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืนนั้นเป็นเพราะวิถีชีวิตและกรอบความคิดยังยึดติดอยู่แบบเดิมในเรื่องการใช้สารเคมี
วิถีชีวิตที่เราเคยชิน เราเคยชินกับการทำเกษตรที่มีการใช้สารเคมีมาตั้งแต่ต้น ทำให้สารเคมีสะสมอยู่ในดิน แล้วไหลลงสู่น้ำ ซึ่งในที่สุดก็เข้าไปปะปนอยู่ในระบบนิเวศของเรา
บัญชากล่าวต่อว่าองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้กำหนดเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ไว้ 10 ประเด็น แต่ประเด็นที่ต้องการนำเสนอหลักๆ คือประเด็นในเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสาเหตุที่ทำให้การเกษตรไม่ยั่งยืน โดยบัญชามองว่าการถือครองที่ดินในชนบทของเกษตรกรถูกยึดแย่งไป ทำให้เกษตรกรกลายเป็นเพียงผู้เช่าในที่ดินตนเอง และต้องปลูก ต้องทำนา แค่เฉพาะพื้นที่ที่ถูกกำหนดมาเท่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการทำเกษตรที่จำต้องใช้สารเคมีทั้งสิ้น
ทั้งนี้ บัญชาเสนอทางออกของเกษตรกรในอนาคตเอาไว้โดยจำแนกให้เห็นภาพใหญ่ๆ สองภาพ คือเกษตรกรรายใหญ่ กับเกษตรกรรายย่อย โดยเกษตรกรรายใหญ่นั้นมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพราะรับประกันผลตอบแทนที่มั่นคงแน่นอน ในขณะที่เกษตรกรรายย่อย ที่มุ่งไปที่การทำเกษตรแบบผสมผสาน เป็นการเกษตรที่เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาเรื่องเกษตรที่ยั่งยืนนั้นยังคงถูกจำกัด และแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
“ทั้งหมดนี้นำไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่การลดต้นทุนการผลิตนำไปสู่การลดแรงงาน ที่จะนำไปสู่การนำเครื่องจักรมาใช้แทนมนุษย์ ดังนั้น เกษตรกรต้องมองตัวเองใหม่ ไม่ใช่แค่มองในฐานะชาวไร่ชาวนา แต่ต้องเข้าใจไปถึงการผลิตที่เหมาะสมและปลอดภัยในตลาด”
ซึ่งการจะทำเช่นนั้น บัญชาเชื่อมโยงกลับมายังปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องถือครองที่ดิน ที่เกษตรกรต้องเสียที่ดินไปจากปัญหาหนี้สิน นำไปสู่การไม่สามารถปลูกพืชยืนต้นและการเกษตรแบบผสมผสานขึ้นมาได้ ต้องทำแต่การเกษตรแบบใช้สารเคมี เพื่อรักษาสิทธิ์ในการเช่าที่ดินไว้ และเพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน จึงเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
การจัดทำเขตเพาะปลูกจึงเป็นทางออกในการสร้างความชัดเจนในการสนับสนุนเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการวางแผนเพาะปลูกตามความต้องการของตลาด พัฒนาให้เกิดการผลิตอาหารที่ปลอดภัย เหมาะสมตามพื้นที่ และมีการติดตามกระบวนการผลิต คุณภาพการผลิต รวมถึงแหล่งผลิตโดยจะต้องเกิดจากการสร้างแรงจูงใจ ไม่ใช่การบังคับ
ธุรกิจอาหารออร์แกนิก
การสร้างแรงจูงใจชาวนา-ชาวไร่ให้หันมาเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรของตนเอง ฟังดูอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ด้วยสภาวะทางการตลาด ความคุ้นชินทั้งต่อตัวเกษตรกรเองและตัวผู้บริโภค กระนั้นบริษัทนครหลวงค้าข้าวก็ยังมองต่างออกไป ว่า “ธุรกิจและออร์แกนิกก้าวไปด้วยกันได้”
“วันนี้ผมจะมาเล่าถึงโครงการหนึ่งที่เราทำ เป็นโครงการที่ดีต่อผู้บริโภคและดีต่อระบบสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพของคนปลูก ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเขา” วัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทนครหลวงค้าข้าว เกริ่นเริ่มต้นถึงที่มาที่ไปของโครงการส่งออกข้าวอินทรีย์ไปยังตลาดยุโรปเป็นรายแรกของประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 บริษัทนครหลวงค้าข้าวเริ่มต้นทำการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ขึ้นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงราย ก่อนที่วัลลภจะเข้ามาเรียนรู้ในกิจการของครอบครัวในปี 2544
“โครงการนี้เริ่มขึ้นไม่ได้มาจากอุดมการณ์ใดๆ จุดเริ่มต้นของโครงการคือความต้องการของคู่ค้าของเราในยุโรปที่สนใจอยากจะได้ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไปขายในยุโรป ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครเข้าไปขาย และตอนนั้นในประเทศไทยยังไม่มีใครผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้ได้ระดับมาตรฐานส่งออกไปขายที่ยุโรปได้”
วัลลภบอกเล่าที่มาที่ไปของโครงการที่นำไปสู่การค้นพบเกษตรกรที่ยินดีเข้าร่วมกับการปลูกข้าวไร้สารเคมีเพื่อส่งออกเป็นครั้งแรก ว่าเกิดจากความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในภาคของการวิจัย งานวิชาการ และตัวบริษัทนครหลวงค้าข้าวเองในฐานะผู้แปรรูปข้าวสารให้ได้มาตรฐานส่งออก
การส่งออกข้าวอินทรีย์ทำให้เขาสรุปว่า ทำอย่างไรให้ระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นระบบที่มั่นคงและยั่งยืนมากกว่าที่เป็น บทเรียนที่ได้นั้นมีด้วยกันสองประเด็น คือ
“การผลิตในระดับไร่นาต้องมีคนปลูก คนแปรรูป ถูกส่งต่อให้กับคนที่ทำการตลาด สุดท้ายก็จะไปจบที่การบริโภค ดังนั้นสี่องค์ประกอบต้องมีความสมดุล มีการจัดการที่จะทำยังไงให้วงจรนี้มันไปได้ บทเรียนที่สองที่เราได้เรียนรู้ คือผลจากโครงการนี้มันดีต่อเกษตรกรนะ ทั้งในด้านสุขภาพและรายได้ สินค้าที่เราส่งไปผู้บริโภคก็ได้รับสินค้าที่ดีกับสุขภาพ ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างได้รับผลที่ดีหมดเลย”
บทเรียนทั้งสองข้อที่วัลลภได้ข้อสรุปมาทำให้มองเห็นว่าโครงการผลิตข้าวอินทรีย์นั้นไม่เพียงแต่เป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ แต่ยังรวมไปถึงประเด็นในเชิงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีเอกลักษณ์ชุมชนที่ยังคงอยู่
“จริงๆ แล้วโครงการที่เราทำมา คุณค่าที่เราได้ มันมากกว่าการทำมาหากิน”
ประเด็นสุดท้าย วัลลภกล่าวว่า ในฐานะปัจเจก เราจะมีส่วนได้อย่างไรในการที่จะกำหนดทิศทางระบบอาหารของเราเอง
ถ้าเกิดประชาธิปไตยในด้านความมั่นคงทางอาหารคือสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ในการเลือกอาหารของตัวเอง เพราะฉะนั้นพลังของแต่ละคนในการเลือกสิ่งที่เราจะบริโภคมันจะไปกำหนดระบบอาหารของเรา
เพื่อจะกำหนดระบบอาหารของเราเอง วัลลภยกตัวอย่างคำพูดของ รสนา โตสิตระกูล ที่เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะได้เลือกตั้ง แต่เราโหวตของเราทุกวันผ่านการบริโภคของเรา ฉะนั้น พลังของเราในฐานะผู้บริโภคจึงมีความสำคัญมาก เช่นเดียวกันกับคำพูด “คุณกินอะไรคุณก็เป็นเช่นนั้น” ในระดับสังคมเช่นกัน ถ้าผู้คนในสังคมบริโภคเช่นไร สังคมก็จะเป็นไปตามผู้บริโภค
“พลังอยู่กับเราทุกคน เรามีสิทธิ์ ฉะนั้นเลือกในสิ่งที่เราคิดว่าดี” วัลลภกล่าว
ความเหลื่อมล้ำของประชาธิปไตย
หัวข้อสุดท้ายที่อาจจะเป็นปลายทางของคำตอบต่อคำถามเรื่องประชาธิปไตยทางอาหาร คือ ปัญหาเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำและสิทธิชุมชนในการดูแลทรัพยากร’ โดย บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกเล่าผ่านประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมการต่อสู้กับภาครัฐจนพ่ายแพ้หวนกลับไปสู่การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายให้ไกลห่างจากปัญหาของคนเมือง ด้วยการไปอยู่ในชุมชนริมฝั่ง ได้เห็นสภาพปัญหาที่แท้จริงของชุมชน และเห็นว่าปัญหาที่เคยคิดว่าจะหนีพ้น แท้ที่จริงแล้วมันยังอยู่ ไม่ว่าขบวนการจะล้ม พรรคจะล้ม แต่ปัญหาของชาวบ้านยังอยู่
“แนวคิดของอาจารย์ป๋วยที่ให้ไว้ในการพัฒนาการชุมชน หลักการทำงานที่ว่าคำตอบอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้ได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิต โดยไม่อยู่ต่อหน้าคัมภีร์หรือทฤษฎีชี้นำ มันจะเห็นข้อเท็จจริงในชุมชน เห็นผู้คน เห็นชีวิต เห็นจิตใจ ผมเลือกไปอยู่กับชุมชนเล็กๆ เพราะมันจะได้ไม่ต้องไปเจอใคร ซึ่งสิ่งที่ได้ก็คือประชาธิปไตยที่อาจารย์ป๋วยสอน หรือประชาธิปไตยจากฐานรากมันได้หล่อเลี้ยงจิตใจให้เราสามารถทำงานขึ้นมาได้ เพราะเรามาอยู่ในชุมชน เราเห็นประชาธิปไตยจากข้างบนที่ลงไปครอบข้างล่าง ผ่าน สส. ผ่าน สจ. เราเห็นระบบราชการที่ลงไปครอบ เราเห็นประชาธิปไตยในหมู่บ้านแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประชาธิปไตยที่ปัญญาชนสมาทาน และก็มักจะไปกล่าวโทษชาวบ้านว่าไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย”
ประชาธิปไตยในมุมมองของบรรจงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่กินได้ กล่าวโดยเปรียบเทียบกับเรื่องอาหาร บรรจงมองว่า หากใครมีอธิปไตยทางด้านอาหาร คนนั้นจึงจะกุมอำนาจได้ และในความเชื่อของบรรจงที่ออกตัวไว้ก่อนว่า อำนาจของอธิปไตยทางด้านอาหารนั้นอยู่ที่ทะเล เพราะในทะเลมีโปรตีนมากที่สุด และเยาวชนประมงฉลาดที่สุด
บรรจงบอกว่า ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าอาหารในทะเลดีกว่าพื้นที่ภาคอื่น แต่ความเชื่อส่วนตัวเกิดจากการอยู่ในพื้นที่มานาน ได้เห็นเยาวชนริมฝั่งที่มีความฉลาดทั้ง IQ และ EQ เพียงแต่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษา
เช่นเดียวกันกับเรื่องการทำประมง ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวประมงหรือคนที่จับปลามาให้เราได้กินมีแต่จะจนลงๆ ขณะที่คนกินปลาอย่างเราๆ ในเมืองนั้นกลับต้องจ่ายแพงขึ้น ปัญหานี้เกิดจากการใช้เครื่องมือในการจับปลาที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มทุนผู้ประกอบเรือประมงรายใหญ่ กับชาวประมงรายย่อย
เครื่องมือจับปลาที่บรรจงมองว่าเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำคือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ แม้อวนรุนจะมีคำสั่งให้ยกเลิกใช้ไปแล้ว แต่อวนลากและเรือปั่นไฟยังคงอยู่ด้วยคำสั่งของ คสช. ที่มอบสิทธิ์ในการรุกล้ำทะเลแก่บริษัททุนรายใหญ่มากกว่าเกษตรกรชาวประมงชาวบ้าน
การเมืองไม่เคยแก้ปัญหาเรื่องทะเล การเมืองรวมศูนย์อำนาจตั้งแต่เรื่องที่ดินไปจนถึงในทะเล ถ้าเราจะสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขอถามว่าวันนี้ที่ดินอยู่ในมือของใคร เหมือนกันกับเรื่องทะเล วันนี้ทะเลอยู่ในมือของใคร ทำไมในตลาดถึงมีแต่ปลานิลกับปลาทับทิม ทั้งๆ ที่เรามีทะเลที่มีปลาเยอะแยะขนาดนี้
ทางออกวิกฤติทะเลไทย
บรรจงเสนอทางออกต่อปัญหาวิกฤติทะเลไทยไว้ภายใต้หัวข้อใหญ่ๆ สามข้อดังนี้
“หนึ่ง-ถ้าจะเอาทะเลให้เป็นแหล่งอาหารของเยาวชน ในอนาคตต้องยกเลิกการประมงโดยเรือปั่นไฟโดยทันที อันที่สอง-เรืออวนลาก มีทั้งลากเล็ก ลากเดี่ยว ลากคู่ คุณต้องออกไปไกลกว่า 12 ไมล์ และห้ามต่อทะเบียนอีกต่อไป แม้วันนี้เราอาจยังยกเลิกไม่ได้ แต่คุณต้องไปไกลๆ หน่อย ให้ลูกปลาได้เติบโต และอันสุดท้าย ยกเลิกการทำปลาป่น by catch ต้องหยุดทันที การหยุดคือการเซฟลูกปลาทู ลูกปูม้าให้มันได้เติบโต ให้ลูกหลานไว้ได้กิน
ก็ฝากไว้ว่า ผมเชื่อมั่นว่าทะเลไทยฟื้นได้ และจะเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนต่อเยาวชนไทยในอนาคต แต่จะต้องขจัดการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองในทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการจัดการทะเล ต้องอยู่ในมือของชุมชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่อยู่ที่กระทรวงเกษตร ไม่ใช่อยู่ที่กรมประมง รวมทั้งเรื่องที่ดิน เพราะนี่คือเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร