เมซุต เออซิล: ความพ่ายแพ้ของวันพรุ่งนี้

 

I am German when we win, but I am an immigrant when we lose

เมซุต เออซิล ประกาศอำลาทีมชาติในวัย 29 ปี ด้วยคำแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ (แทนที่จะเป็นภาษาเยอรมัน) ความยาวสี่หน้ากระดาษ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“I am German when we win, but I am an immigrant when we lose”

เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาหันหลังให้กับทีมชาติ จากความขุ่นเคืองของกองเชียร์ทีมชาติเยอรมัน ที่เห็นเขากับ อิลคาย กุนโดกัน เพื่อนร่วมชาติ ยืนยิ้มร่าขนาบข้างกับ เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ลึกลงไปกว่านั้น อาจมีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวโยงจนกลายเป็นปัญหาลุกลาม ความแตกต่างในเรื่องของเชื้อชาติถูกตั้งคำถามและต่อรองความหมายขึ้นอีกครั้ง

ในสายตาของ ไรน์ฮาร์ด กรินเดล และผู้ที่สนับสนุนเขา ตอนที่ผมชนะ ผมเป็นชาวเยอรมัน ตอนแพ้ผมคือผู้อพยพ

 

ถ้อยคำบาดลึกของกำลังสำคัญที่พาทีมชาติเยอรมันเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ปี 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ เป็นคำอธิบายกลายๆ ได้ดีถึงการมีอยู่ของความแตกต่าง ที่ชัยชนะและความพ่ายแพ้ถูกแแขวนไว้ ขึ้นอยู่กับว่าอะไรจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ไม่ใช่ เมซุต เออซิล คนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ สมัยยังเป็นนักเรียน โรเมลู ลูคาคู ทีมชาติเบลเยียม เพื่อนที่โรงเรียนมักจะเรียกเขาว่า “ไอ้ยักษ์ดำ” หรือ big black boy ตอนเล่นฟุตบอลในระดับนักเรียน ผู้ปกครองบางคนถึงกับขอดูบัตรประชาชน สิ่งเดียวที่ทำให้เขาหลุดพ้นถ้อยคำเหล่านั้นคือคำปลอบประโลมของมารดาและเล่นฟุตบอลให้ดีที่สุด พร้อมทั้งตอกกลับพวกนั้นไปว่า

“เขาเกิดและเติบโตในเมืองอันท์เวิร์ป ลีแอช และบรัสเซลส์ ความฝันคือการเล่นให้อันเดอร์เลชท์ อยากเป็น แว็งซองต์ ก็องปานี มักจะเริ่มต้นประโยคในภาษาฝรั่งเศส และจบมันด้วยภาษาดัตช์ มักจะชอบพรั่งพรูภาษาฝรั่งเศส โปรตุเกส หรือลิงกาลา (ภาษาพื้นเมืองของประเทศคองโก) บางคำ ขึ้นอยู่กับว่าเพื่อนบ้านมาจากละแวกไหน”

เราทุกคนเป็นเบลเยียม นั่นทำให้ทุกคนดูเจ๋งใช่หรือไม่

ลูคาคูกล่าวอย่างภาคภูมิใจในความเป็นเบลเยียมของเขา

เมื่อก้าวขึ้นไปติดทีมชาติ ทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่เล่นดีและเล่นแย่ สลับกันไปตลอดช่วงชีวิตการเป็นนักฟุตบอล โรเมลู ลูคาคู ก็หลีกหนีสัจธรรมไม่พ้น แต่ตัวเขาต้องพบกับความแตกต่างที่เกิดกับตัวเขาและเพื่อนร่วมทีมชาติในยามที่หนังสือพิมพ์ในประเทศพาดหัวข่าวเกี่ยวกับฟอร์มการเล่นของเขา

ในยามที่ผมเล่นดี ตัวผมมักจะถูกเรียกว่า โรเมลู ลูคาคู ศูนย์หน้าทีมชาติเบลเยียม ขณะเดียวกันในยามที่ผมเล่นไม่ดี พวกเขามักจะเรียกผมว่า โรเมลู ลูคาคู ศูนย์หน้าทีมชาติเบลเยียมเชื้อสายคองโก

มาที่ทีมแถบสแกนดิเนเวีย จิมมี ดูมาซ ดูจะมีความซับซ้อนทางด้านเชื้อชาติมากกว่าใคร เมื่อครอบครัวของเขาเป็นชาวซีเรียที่อพยพไปอยู่ในประเทศตุรกี และย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ประเทศสวีเดน แม้จะมีความหลากหลายเชื้อชาติในตัวเขา จิมมี ดูมาซ ยังคงภาคภูมิใจในประเทศบ้านเกิดเขาอย่างสวีเดน

ผิดกับ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช แม้จะได้ชื่อว่าเป็นตำนานของโลกฟุตบอล อดีตนักเตะทีมชาติสวีเดน ที่มีพ่อเป็นชาวบอสเนียและแม่เป็นชาวโครเอเชีย บางครั้งเขาถูกจับตามองมากกว่านักเตะทีมชาติสวีเดนคนอื่นๆ

“ทุกวันนี้หากนักเตะสวีเดนคนอื่นทำพลาดแบบเดียวกัน เขาจะได้รับการปกป้อง แต่ถ้าเป็นผมจะไม่เป็นเช่นนั้น แม้ไม่ใช่การเหยียดตรงๆ ก็ตาม แต่มันทำให้ผมรู้สึกได้ สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น”

ถ้าชื่อผมคือ สเวนสัน หรือ แอนเดอร์สัน หรือถ้าผมมีผมสีบลอนด์ ผมคงได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป ต่อให้ผมไปปล้นธนาคารก็ตาม

ขณะเดียวกันทีมชาติฝรั่งเศสที่ได้เป็นแชมป์โลก ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพราะว่า นักเตะ 23 คนนั้น มีอยู่ 19 คนที่เป็นลูกหลานผู้อพยพ กระนั้นก็ตาม คาริม เบนเซมา เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ทำให้เขาไม่มีชื่อติดทีมชาติฝรั่งเศส ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์การถ่ายคลิปวิดีโอแบล็คเมล์ มาติเยอ วัลบูเอนา เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ เพราะว่า คาริม เบนเซมา มีเชื้อสายแอลจีเรีย

ครั้งหนึ่งเมื่อตอนที่ทีมชาติฝรั่งเศสได้แชมป์โลกปี 1998 ในชุดนั้นมีนักฟุตบอลที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติผสมกัน จึงมีคนนำสำนวนของชาวฝรั่งเศส ที่กล่าวถึงธงชาติของตัวเอง หรือธง Le Tricolore ซึ่งประกอบไปด้วย สีน้ำเงิน สีขาว สีแดง หรือในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า เบลอ บล็อง รูจ (Blue Blanc Rouge) มาล้อเลียนว่าเป็น ‘Black Blanc Beur’ คือสีดำ สีขาว และคำสุดท้ายคือ Beur เป็นคำผวนจากคำว่า เบอห์ราพ (Brab) คือคำว่าอาหรับ แม้ว่าในทีมชุดนั้นจะมีซีเนอดีน ซีดาน เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มาจากแอลจีเรียซึ่งเป็นชาติอาหรับก็ตาม

สำหรับชาวฝรั่งเศสแล้ว เหตุการณ์อาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสจะเหมารวมว่าเป็นฝีมือของพวกเบอห์หรือที่เรียกว่า ‘มาเกร็บ’ ซึ่งประกอบไปด้วย แอลจีเรีย ตูนิเซีย โมร็อคโค ในสายตาชาวฝรั่งเศสแล้ว พวกมาเกร็บนั้นถูกมองว่าเป็นพวกกลุ่มที่มีปัญหามากกว่าคนผิวดำที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศ ประกอบกับ เอริค คันโตนา ออกมาพูดถึงวิธีคิดของ ดิดิเยร์ เดอช็อง ว่าเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ และทำให้ คาริม เบนเซมา ไม่ติดทีมชาติ ขณะเดียวกันหากมองด้วยสายตายุติธรรม ในทีมชาติฝรั่งเศสชุดนี้ยังมีนักเตะอย่าง อาดิล รามี และ นาบิล เฟคีร์ ที่มาจากแอลจีเรีย

มีเพียง ดิดิเยร์ เดอช็อง เพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด

จากการเลิกเล่นทีมชาติหลังจากจบฟุตบอลโลกในครั้งนี้ของ เมซุต เออซิล อาจดูไม่ใช่เรื่องประหลาดใจอะไร หากดูจากนโยบายในสมัยที่เคยเป็นสมาชิกสภาเยอรมันของ ไรน์ฮาร์ด กรินเดล ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเยอรมนีคนปัจจุบัน และเป็นคนเดียวกับที่พยายามจะโยนความผิดและความล้มเหลวของทีมชาติเยอรมันในครั้งนี้ให้กับ เมซุต เออซิล ที่เคยพูดถึงความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ

ในโลกความเป็นจริงแล้ว พหุวัฒนธรรมนิยมเป็นเพียงเรื่องแต่งที่หลอกลวง

สำหรับนักฟุตบอลคงมีเพียงชัยชนะเท่านั่นที่จะกลบความแตกต่างด้านเชื้อชาติให้ลบเลือน ต่อเมื่อไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวัง มันจะถูกหยิบขึ้นมากระหน่ำซ้ำเติมโดยไม่สนใจชัยชนะในอดีต คำเชิดชูในวันวานกลับกลายเป็นคำก่นด่า เพราะว่าช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในฐานะพวกเดียวกัน ไม่มีพื้นที่เหลือให้กับความพ่ายแพ้

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า