เพชรบุรี ซอย 5 แหล่งรวมอาหารอร่อยราคาเป็นมิตร และที่พักใจกลางเมืองทั้งสำหรับคนต่างจังหวัดและนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากเดินลัดเลาะจนสุดซอย เลี้ยวซ้ายอีกหน่อย แล้วเดินตัดทะลุค่ายมวย ป. ลาเสือ จะพบกับชุมชนริมทางรถไฟ ทอดยาวจากถนนพระราม 6 สู่ถนนพญาไท โดยชุมชนที่ติดฝั่งถนนพระราม 6 คือ ชุมชนบุญร่มไทร หนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบต้องรื้อย้ายจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ชาวบ้านมารวมตัวกันอย่างแข็งขัน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากชุมชนอื่นๆ ในเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อเตรียมรอรับการลงพื้นที่ของ นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
มูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าชีวิต: หากประเทศเดินหน้า แล้วชีวิตคนจนเมืองเดินไปไหน?
“โครงการที่เกิดขึ้น เป็นโครงการที่จะทำให้ประเทศเราเดินหน้าต่อได้จริงๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้ว่า พวกเราเองก็คือส่วนหนึ่งของการให้ความร่วมมือ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของประเทศ วันหน้าเราบอกลูกบอกหลานได้เลยว่า รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งกันมูลค่าหลายแสนล้าน พ่อแม่และลูกๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จขึ้นมาได้”
นิรุฒกล่าวกับชาวบ้าน หลังจากเดินทางมาถึงชุมชนบุญร่มไทรพร้อมคณะทำงาน และได้รับมอบดอกไม้ รวมทั้งชี้แจงจุดยืนการทำงานของพวกเขาในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องทำตามกฎระเบียบต่างๆ
“เราอยากจะทำให้เรื่องนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เดือดร้อนน้อยที่สุด ส่วนเรื่องค่าเช่าก็มีระเบียบวางไว้อยู่ ก็ต้องขอเป็นขั้นตอนไป โดยขั้นตอนแรกเราต้องจัดพื้นที่ก่อน แล้วจะพยายามทำค่าเช่าให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมรับปากตรงนี้”
อย่างไรก็ดี ชาวบ้านยังคงมีข้อกังวลเรื่องอัตราเช่าที่ดิน ตามมติคณะกรรมการการรถไฟฯ 13 กันยายน 2543 ซึ่งเกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่าง รฟท. และเครือข่ายสลัม 4 ภาค โดยหนึ่งในสาระสำคัญคือ ให้ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีส่วนร่วมกับ รฟท. ในการยกร่างสัญญาเช่าที่ดินและพิจารณากำหนดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมและเป็นธรรม
สาระสำคัญดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ชุมชนสามารถทำสัญญาเช่าที่ดินและเสียค่าเช่าในอัตราต่ำกว่าราคาตลาด สอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตของพวกเขา อีกทั้งยังมีกรณีตัวอย่างที่ดำเนินการรื้อย้ายและตกลงเช่าที่ดินของการรถไฟฯ แล้วเสร็จ อย่างชุมชนทับแก้ว เขตราชเทวี ซึ่งจ่ายค่าเช่าที่ดินตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี จากการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และชาวบ้านในปี 2543 ด้วยเหตุนี้ทางชุมชนบุญร่มไทรจึงมีข้อเสนอในแนวทางเดียวกัน โดยตัวแทนชุมชนกล่าวว่า
“เรื่องค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี มีมติ ครม. ลงมาแล้วว่าจะให้ รฟท. ทำให้เรา แต่ว่ายังไม่ได้ทำ อยากให้ผู้ว่าการรถไฟฯ ชี้แจงตรงจุดนี้ เราไม่ได้ร้องขอเยอะเลย เพราะชุมชน ชาวบ้าน เขาเดือดร้อนเรื่องนี้จริงๆ เขาอยากให้มีการดำเนินการเกิดขึ้น”
ทางด้านเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องดังกล่าวอธิบายว่า ยังไม่สามารถดำเนินตามมติ ครม. ได้ เนื่องจากต้องรอทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กับ รฟท. ยืนยันจำนวนครัวเรือนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟฯ ก่อน จากนั้นจึงจะสามารถดำเนินการต่อ โดยพิจารณาเป็นรายครัวเรือน
ขณะที่ผู้ว่า รฟท. เสริมและเน้นย้ำวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ชุมชนบุญร่มไทรครั้งนี้ว่า “เรื่องมติ ครม. ให้ผู้แทนไปคุยกันนะครับ ผมไม่อยากให้มีวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป ผมมาเยี่ยมเยือนพี่น้องเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราต้องการเข้ามาดูแลจริงๆ สำหรับข้อกฎหมายต่างๆ ปล่อยให้เป็นเรื่องที่เขาคุยกัน ส่วนผมรับปากไว้ว่าผมจะทำให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง อันนี้คือวัตถุประสงค์ที่ผมอยากมาเจอวันนี้ ยังไม่อยากให้คุยเรื่องรายละเอียด เพราะเดี๋ยวมานั่งเถียงกันโดยที่พี่น้องไม่ได้เข้าใจว่า จริงๆ มันคืออะไรกันแน่
“ถ้าพี่น้องอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ แล้วเดือดร้อนจริงๆ เรายินดีช่วย เราจะไม่ยอมให้ใครมาหาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของพี่น้อง เราไม่ยอมให้มีกาฝากมาแฝงอยู่ในความเดือดร้อนของพี่น้องเด็ดขาด อันนี้คือสิ่งที่ยืนยันแล้วก็จะดำเนินการตามนั้น”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความกังวลของชาวชุมชนคือ เรื่องคดีการบุกรุกพื้นที่ที่ได้รับหมายศาล ซึ่งชาวบ้านทุกคนรวมตัวกันไปยอมความที่ศาล ตามคำของเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ที่ให้ไปยอมความที่ศาล เพื่อจะช่วยกันแก้ปัญหา ทว่าก็ยังมีข่าวว่าจะดำเนินการบังคับคดีกับชาวบ้าน
สำหรับส่วนนี้ ผู้ว่าการรถไฟฯ ให้มีการชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน และชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลดังกล่าวว่า “วิธีการที่เราคิดและคุยกันมาตลอดก็คือ เราบอกศาลว่าเขาอยู่ในฐานะบุกรุกก็จริง แต่วันนี้เขาจะไม่อยู่ในฐานะผู้บุกรุกแล้ว ฉะนั้นเรารีบดำเนินการเช่าให้เรียบร้อย แล้วเราก็เอาสัญญาเช่าไปบอกศาลว่า ไม่มีเรื่องบุกรุกแล้ว จึงไม่มีอะไรให้ต้องบังคับคดีแล้ว”
ข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ขอบ้านพักชั่วคราวก่อนไล่รื้อ
การลงชุมชนบุญร่มไทรของผู้ว่าการรถไฟฯ ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความเป็นห่วงด้านผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่เกิดจากแรงกดดันของชาวบ้านเพื่อต่อต้านการล้อมรั้วของการรถไฟฯ กรณี 19 ครัวเรือน ที่ต้องรื้อย้ายอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอยู่ในบริเวณการวางแนวท่อก๊าซ 500 เมตร จากฝั่งถนนพระราม 6 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565
ที่มาของการสร้างความกดดัน คือ การรถไฟฯ จะทำการล้อมรั้วบ้านของชาวบ้าน เพื่อกั้นพื้นที่สำหรับวางท่อก๊าซ แต่ไม่สร้างบ้านพักชั่วคราวให้พวกเขาก่อน ชาวชุมชนบุญร่มไทรจึงร่วมกันผลัดเวรวันละ 10 คน ประจำบริเวณแยกไฟแดงทางรถไฟติดถนนพระราม 6 เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อกันไม่ให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ เข้ามาทำงานได้อย่างอิสระ
“ไม่ใช่อยู่ๆ เขาเข้ามานะ เราผลัดเวรชาวบ้านวันละ 10 คน ตรงแยกไฟแดง เพื่อป้องกันไม่ให้การรถไฟฯ มาล้อมรั้ว คือเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ เข้ามาได้ แต่ต้องคุยกับเราก่อนว่า จะเข้ามาทำอะไร เพราะมีมติลงมาแล้วว่าให้คุณมาทำบ้านพักชั่วคราวให้เรา”
หนึ่งในบ้านที่ต้องรื้อย้ายเร่งด่วน 19 หลัง หนึ่งในบ้านที่ต้องรื้อย้ายเร่งด่วน 19 หลัง
หนึ่งในเสียงบอกเล่าจาก เชาว์ เกิดอารีย์ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนบุญร่มไทร และหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในกรณีการรื้อย้ายเร่งด่วนจากการวางแนวท่อก๊าซ
กลยุทธ์สร้างความกดดันของชาวบ้านชุมชนบุญร่มไทร ส่วนหนึ่งได้คำแนะนำจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำที่ชุมชนช่องลม-หลังฉาง บริเวณพระราม 3 กรุงเทพฯ ในปี 2547 ด้วยการสร้างแคมป์และปักหลักอยู่ที่นั่น พร้อมได้ผู้คนจากชุมชนอื่นในเครือข่ายสลัม 4 ภาค แวะเวียนกันมาให้กำลังใจ จากกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้ข้อสรุปร่วมกับบริษัทรับเหมาในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน
สำหรับการรื้อย้ายเร่งด่วนครั้งนี้ รฟท. ตกลงให้ 19 ครัวเรือน ขยับไปอยู่ภายในชุมชนเดิมที่มีพื้นที่ว่างและทำสัญญาเช่าชั่วคราวระยะสั้น ก่อนที่จะย้ายอีกครั้งหลังจากที่อยู่แห่งใหม่สร้างเสร็จ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี
พื้นที่ภายในชุมชนบุญร่มไทรสำหรับรองรับ 19 ครัวเรือน
นอกจากนี้ สำหรับ 42 ครัวเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ รฟท. จะส่งมอบให้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงพญาไท-พระราม 6 ผู้ว่าการรถไฟฯ ยินดีให้รื้อย้ายไปบริเวณบ้านพักรถไฟที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยและไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในลักษณะการทำสัญญาเช่าชั่วคราว ก่อนย้ายที่อยู่ใหม่เช่นเดียวกับกลุ่มแรกและคนอื่นๆ ในชุมชน
สิทธิในที่อยู่อาศัยและความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า
“การรถไฟฯ มีการไล่รื้อแบบนี้มาตลอดไม่รู้กี่สิบปี แต่การไล่แบบนี้ ชาวบ้านก็มาบุกรุกเหมือนเดิม ถ้าหากคุณคุยกับชาวบ้านและหาทางออกร่วมกัน ชาวบ้านก็จะไม่มาบุกรุกแบบนี้ ถ้าชาวบ้านมีที่พักชั่วคราว คุณก็รื้อได้ จะทำอะไรทำไปเลย ชาวบ้านยอมรื้ออยู่แล้ว ถ้ามีบ้านมั่นคงให้เขาได้อยู่อาศัย ได้มีอาชีพอยู่ในบริเวณนี้ ประกอบอาชีพของเขาไปได้ แม้อยู่ไกลสักนิดหนึ่งก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ให้เราไปอยู่ต่างจังหวัดหรือไปอยู่หลักหก”
หนึ่งในเสียงสะท้อนของเชาวน์ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนบุญร่มไทรบริเวณริมทางรถไฟพญาไทร่วม 20 ปี
ตลอดการเคลื่อนไหวต่อรองของชาวชุมชนบุญร่มไทรต่อการรื้อย้ายจากการสร้างรถไฟความเร็วสูงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บัดนี้ ความพยายามของพวกเขาเริ่มเห็นความหวังและอนาคตที่เป็นไปได้
จากแผนเดิมที่การรถไฟฯ จะรื้อย้ายให้ไปอยู่หลักหก แต่เมื่อภาครัฐหารือร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออก จึงได้พื้นที่รองรับใหม่บริเวณริมบึงมักกะสัน เขตราชเทวี โดยจะมีการทำสัญญาเช่าอยู่อย่างถูกกฎหมาย และได้ความร่วมมือจากการเคหะแห่งชาติ รับหน้าที่เป็นผู้สร้างอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ 315 ยูนิต ซึ่งเป็นหัองขนาด 1 ห้องนอน 28.5 ตารางเมตร ราคา 640,000 บาท (ผ่อนเดือนละ 2,500 บาท) และห้องขนาด 2 ห้องนอน 34.6 ตารางเมตร ราคา 770,000 บาท (ผ่อนเดือนละ 3,000 บาท)
อย่างไรก็ดี ราคาผ่อนชำระข้างต้นยังไม่รวมค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ยังเป็นประเด็นที่ชาวบ้านต้องร่วมกันเคลื่อนไหวต่อรองกันต่อไป
“เราคุยเรื่องการอยู่อาศัยแนวราบ แต่รัฐหรือการรถไฟฯ ต้องการให้เราขึ้นตึกสูง แล้วจะให้เราจ่ายเป็นล้าน ซึ่งรวมสาธารณูปโภคด้านล่างด้วย เราไม่สามารถจะจ่ายได้ รัฐต้องช่วยเหลือเราในเรื่องของสาธารณูปโภค เพราะการก่อสร้างรากฐานขึ้นมา เพื่ออยู่อาศัยอย่างน้อย 50 ปี เป็นรากฐานที่แน่นและใช้งบประมาณเยอะ นี่เป็นแนวคิดของคุณ ผลักภาระมาให้เราได้ยังไง
“เราคุยกันเรียบร้อยหมดแล้วว่า เราต้องการที่จะเช่า-ซื้อในตัวอาคาร ส่วนพื้นที่เป็นของการรถไฟฯ ก็ว่าไปตามเรื่องของการทำสัญญาเช่า แต่เราไม่ได้ต้องการที่ดิน เพราะที่ดินเป็นของรัฐอยู่แล้ว เราต้องการที่จะหมดห่วงเรื่องของสิทธิที่อยู่อาศัยบ้าง เราไม่อยากผ่อนตลอดชีวิต และเราต้องการเป็นอิสระ ไม่ใช่ว่าคุณจะให้เรามาเช่าตลอด 50 ปี การจ่ายค่าเช่าค่าผ่อนทุกเดือนเป็นเวลา 30 ปี ก็คงจะเพียงพอ ส่วนอีก 20 ปี เราขอเถอะ แล้วเมื่อครบ 50 ปี ค่อยมาตรวจสอบสภาพอาคารว่ายังพออยู่ได้ไหม หรือจะมีการเช่าอะไรต่อ ก็คงเป็นรุ่นลูกหลานค่อยว่ากันไป”
นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้สูงอายุในชุมชนที่จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่คนเดียวและไม่มีลูกหลานดูแล จึงหาเลี้ยงชีพด้วยการรับเลี้ยงเด็ก การขายของชำ การรับเย็บและซ่อมแซมเสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งอาจไม่สามารถมีรายได้ที่เพียงพอต่อการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยในราคา 2,500-3,000 บาทต่อเดือน
สำหรับกรณีผู้สูงอายุ ชุมชนบุญร่มไทรมีการเตรียมหาทางช่วยเหลือผ่านสหกรณ์ของชุมชน อาทิ การทำตู้กดน้ำ ตู้ซักผ้า ร้านสวัสดิการ เป็นต้น เงินที่ได้จากส่วนต่างๆ เหล่านี้จะนำมาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ รวมถึงอาจให้ผู้สูงอายุอยู่รวมกัน เพื่อให้สามารถพูดคุยกันได้และไม่เหงาเกินไป
ขณะเดียวกัน ชาวชุมชนบุญร่มไทรยังมีการเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออมทรัพย์กับสหกรณ์ชุมชน การวางแผนอยู่อาศัยในตึกสูงตามความจำเป็น อย่างที่เชาว์อธิบายไว้ว่า
“การขึ้นไปอยู่ตึกสูง เรามีการสอบถามก่อนแล้วว่าคุณอยู่ได้ไหม ซึ่งเราจะนับผู้สูงอายุให้อยู่ชั้นล่างก่อนเพื่อให้เขาได้เดินทางสะดวก และดูตามระดับความจำเป็นในเรื่องของอาชีพด้วย เช่น คุณเป็น รปภ. คุณเป็นแม่บ้าน ก็อยู่ข้างบนหน่อย โดยทุกคนมาคุยกันและรับรู้ในเรื่องนี้หมดแล้ว”
ทั้งนี้ สิ่งที่ยังต้องติดตามต่ออีกประการคือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่สำหรับรองรับการรื้อย้าย หรือแฟลตที่ริมบึงมักกะสันของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งทำหนังสือข้อตกลงกับ รฟท. และมีแบบการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว เจตนา วุฒิญาณ หัวหน้ากองพัฒนากิจการตลาด รฟท. และผู้ประสานงานเรื่องการเตรียมพื้นที่และรื้อย้ายชุมชนริมทางรถไฟ อธิบายเพิ่มเติมถึงความเป็นห่วงของชาวบ้านเรื่องการก่อสร้างว่า
“การเคหะฯ ไม่ได้ติดเรื่องการเข้าใช้พื้นที่ของการรถไฟ แต่ติดที่การสร้างอาคารขนาดใหญ่ 315 ยูนิต ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ต้องผ่าน EIA และบริเวณนั้นมีทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เข้ามาเกี่ยวข้อง เขาต้องใช้เวลาในส่วนนี้ให้ฝ่ายวิศวกรรมเขาทำงาน”
จากระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมดให้แล้วเสร็จ อย่างเร็วที่สุดคือ 2 ปี โดยการเคหะแห่งชาติต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการก่อสร้าง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8 เดือน และใช้เวลาในการก่อสร้างอาคารอีกประมาณ 12 เดือนขึ้นไป ส่วนระยะเวลาระหว่างนี้ชาวชุมชนบุญร่มไทรยังสามารถอยู่พื้นที่เดิมก่อนได้ จนกว่าที่พักอาศัยใหม่จะเสร็จ โดยไม่ใช่พื้นที่แนวท่อก๊าซ 500 เมตร และไม่ใช่พื้นที่ที่ต้องส่งมอบสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน