‘ร่างทรง’ การแตกหักของไสยศาสตร์กับสังคมร่วมสมัย ในพิธีกรรมครั้งสุดท้าย

ภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง มีประเด็นที่ให้คนดูถกเถียงต่อเนื่องหลังจากที่ดูจบ เนื่องจากตัวเรื่องไม่ได้อธิบายเหตุการณ์อะใรให้ชัดเจนจนกระจ่าง ราวกับพฤติกรรมของนักประวัติศาสตร์สายโพสต์โมเดิร์นที่นำเอาหลักฐานต่างๆ มาจัดวางใหม่เพื่อให้ผู้ชมได้ผูกโยงเรื่องและตีความเอาเอง จึงไม่แปลกที่เรื่องนี้จะไม่มีฉันทมติในข้อสรุป เพราะการตีความขึ้นอยู่กับกรอบอ้างอิงในหัวของคนดูแต่ละคน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คืนการตัดสินใจให้คนดูได้ออกแบบเนื้อเรื่องเองในจินตนาการ แต่กระนั้นผู้กำกับเองก็ไม่ได้ปล่อยให้โครงเรื่องดำเนินไปอย่างไร้ทิศทางเสียทีเดียวจนไม่เหลือจุดมุ่งหมายของภาพยนตร์ 

ร่างทรง ของค่าย GDH ที่มี นา ฮง-จิน ยอดผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชาวเกาหลีใต้เป็นโปรดิวเซอร์ ได้เลือกการถ่ายทำแบบสารคดีเทียม หรือ mockumentary ทำให้ภาพเคลื่อนไหวและมุมกล้องมีรสชาติของสารคดีที่เชื่อว่าจะสามารถสร้างอารมณ์ร่วมอย่างสมจริง ทำให้ทีมตากล้องกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่สำคัญ เป็นตัวแทนของสายตาคนดู เพราะภาพที่ผู้ชมเห็นก็คือภาพจากกล้องของทีมตากล้อง ฉะนั้นแล้วเท่ากับว่าผู้ชมจะไม่เห็นตัวละครหลักในช่วงเวลาที่ไม่มีตากล้อง 

ทีมตากล้องทำหน้าที่ราวกับเป็นนักมานุษยวิทยาจากพื้นที่เมืองที่ถ่ายทอดความเป็นไปของตระกูลร่างทรงอย่างทัศนะของคนใน โดยปราศจากการตัดสินด้วยอคติของตากล้อง ดังนั้นในประเด็นนี้ทีมตากล้องในสถานะผู้ถ่ายทำ จึงมีสถานะเหนือกว่าผู้ถูกถ่ายทำในแง่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ขณะเดียวกัน ตากล้องก็มีสถานะแทบจะเป็นโกสต์โหมด (เช่น ในเกมออนไลน์จำพวกแบทเทิลรอยัลที่ผู้เล่นที่ตายแล้วสามารถมองเห็นผู้เล่นรายอื่น โดยไม่สามารถยุ่งหรือก่อกวนเกมได้ หมายความว่าทำได้แค่ดูเท่านั้น) ขนาดฉากที่ มิ้ง-หนึ่งในตัวละครหลัก ดื่มจนเมาแล้วขึ้นไปนอนที่สำนักงานศูนย์จัดหางาน ตากล้องก็ทำหน้าที่แค่ถ่ายบันทึกเท่านั้น โดยไม่ได้ยุ่งอะไรกับตัวละครมิ้งเลย หรืออธิบายอีกอย่างคือ ตากล้องไม่ได้มีบทบาทที่ทำให้เนื้อเรื่องเปลี่ยนแปลง ทุกๆ จังหวะของการดำเนินเรื่องล้วนมาจากการตัดสินใจและเหตุบังเอิญของตัวละครหลักเอง

ทีมตากล้องได้ถ่ายทำให้คนดูเห็นสายธารอดีตของมิ้งที่มาจากสองสายธารด้วยกัน คือ อดีตสายตระกูลแม่ที่เป็นผู้สืบทอดร่างทรงย่าบาหยัน และสายตระกูลพ่อหรือนามสกุลยะสันเที๊ยะที่มีอดีตอันเต็มไปด้วยการก่อกรรมทำเข็ญต่อชีวิตผู้อื่น จนทำให้บรรพบุรุษต้องพบจุดจบอันน่าสะพรึง ไม่ว่าจะการตายด้วยการโดนรุมปาหิน การฆ่าตัวตายหลังจากโดนจับได้เรื่องวางเพลิงเพื่อเอาประกันโรงงานปั่นด้ายที่เจ๊ง การฆ่าตัวตายของลูกชายคนโตที่ลักลอบได้เสียกับมิ้งที่เป็นน้องสาว และสุดท้ายวิโรจน์ผู้เป็นพ่อตายด้วยโรคมะเร็ง ส่วนความผิดพลาดทางฝ่ายแม่ที่แม่น้อยเคยปฏิเสธการเป็นร่างทรงย่าบาหยัน ทำให้น้านิ่มต้องมารับเป็นร่างทรงแทน ความผิดบาปทั้งสองสายตระกูลจึงมารวมอยู่ในชีวิตมิ้งคนเดียว จนท้ายที่สุดมันนำพาทุกคนในตระกูลไปสู่จุดจบ 

อดีตที่ไล่กัดกินปัจจุบัน และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนบทกับเมือง

ตัวเรื่องดำเนินไปโดยถ่ายทอดผ่านชีวิตปัจจุบันของมิ้ง ซึ่งมิ้งคือสาววัยรุ่นภาคอีสานสมัยใหม่ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา แล้วได้ทำงานที่สำนักงานศูนย์จัดหางานประจำจังหวัด ซึ่งหน่วยงานที่มิ้งทำงานอยู่ คือทำหน้าที่ในตลาดแรงงานโดยนัดพบให้นายจ้างได้เจอกับแรงงานในภาคการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ภาคเกษตรที่เป็นตัวแทนภาคการผลิตดั้งเดิมของภาคอีสาน แต่ยังรวมถึงภาคอุตสาหกรรมและบริการอื่นๆ

มิ้งเป็นคนรุ่นใหม่ การศึกษาสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ และพูดภาษากลาง ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นร่วมสมัยมากๆ เพราะไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับภาคอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะภาคเหนือ มิ้งเองก็ทำงานใกล้ชิดกับภาคการผลิตสมัยใหม่ แน่นอนว่าเธอได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ทำให้วิถีชีวิตประจำวันและภาพลักษณ์ของมิ้งห่างไกลจากวัฒนธรรมวิธีคิดแบบไสยศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อมิ้งต้องเจอกับเรื่องราวลี้ลับจึงทำให้เธออยู่ในสภาวะขัดแย้งในตัวเอง เพราะหากจะยอมรับว่าตัวเองพบเจอกับเรื่องลี้ลับก็จะขัดกับความเป็นสมัยใหม่ของตัวเอง ดังนั้นจึงมีเหตุการณ์ที่มิ้งปิดกั้นความช่วยเหลือจากนิ่ม ร่างทรงย่าบาหยันผู้เป็นน้าอยู่หลายครั้ง 

อดีตและวิถีชีวิตแบบเก่าในความเชื่อเรื่องร่างทรงกำลังดิ้นรนเพื่อที่จะอยู่รอดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นดวงวิญญาณผีร้ายจากอดีตที่พยายามจะกลืนร่างของมิ้ง และการยื้อธุรกิจเนื้อหมาของแม่น้อยที่กำลังถูกค่านิยมของสังคมสมัยใหม่ตั้งคำถามและไล่ล่า ดังนั้นแล้วภูตผีที่พยายามจะยึดร่างมิ้ง (ในมุมมองไสยศาสตร์) และธุรกิจเนื้อหมาของครอบครัวก็คล้ายเป็นสัญลักษณ์ของอดีตที่กำลังดิ้นรนต่อสู้อย่างทุรนทุราย เพื่อจะมีพื้นที่ทางสังคมในสังคมสมัยใหม่ต่อไป 

ถึงแม้ว่าช่วงกลางเรื่อง การแสดงอาการป่วยไข้ของมิ้งจะสามารถชี้ชวนให้ผู้ชมตีความได้ว่า อาจเป็นผลมาจากอาการทางจิตที่มีสาเหตุมาจากการที่มิ้งประสบพบเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางเพศกับคนในครอบครัว รวมถึงการสูญเสียคนรักทั้งพี่ชายและพ่อในเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากนั้นยังผิดหวังจากหน้าที่การงานที่เป็นตัวแทนตำแหน่งงานในสังคมสมัยใหม่ (โดนไล่ออก) อย่างไรก็ตาม เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้กำกับเปิดช่องเพียงเล็กน้อยนั้นก็ถูกปิดลงด้วยบทบาทของหมอผีสันติ ตัวละครผู้นำพาคนดูดิ่งไปสู่เส้นทางหรือเหตุผลทางไสยศาสตร์อย่างเต็มตัว

การปรากฏตัวของหมอผีสันติ ทำให้คนดูอย่างเราๆ ต้องกลับไปผูกโยงเรื่องใหม่ในแนวทางไสยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์รูปปั้นย่าบาหยันหัวขาด และการตายของน้านิ่มที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแบบวิทยาศาสตร์ การทำพิธีของหมอสันติคือการเลี้ยวหักศอกสู่เส้นทางไสยศาสตร์แบบถลำลึก คือการปฏิเสธการรักษาแบบแพทย์สมัยใหม่อย่างเด็ดขาด ส่วนทีมตากล้องก็แบ่งเป็นสองทีม ประจำอยู่ที่โรงงานร้างของตระกูลยะสันเที๊ยะ และบ้านของมิ้งที่ประกอบไปด้วยลูกศิษย์หมอสันติหนึ่งคน แป้ง-ภรรยา ป้อง-ลูกชายของมานิต และตากล้องหนึ่งคน การแบ่งทีมตากล้องเป็นสองทีมก็เพื่อจะทำให้คนดูสามารถเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งสองสถานที่ในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่ก่อนหน้าที่จะถึงวันทำพิธี 6 วัน ทีมงานตากล้องได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อจะจับภาพมิ้งในเวลากลางคืน และเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมในเวลาเช้าบ้านมิ้งถึงเละเทะ ฉากกล้องวงจรปิดคือฉากที่น่ากลัวเกือบจะถึงขีดสุด เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาคนดูจะรู้สึกว่าตากล้องอยู่ด้วยตลอด ตากล้องคือสายตาของคนดู สิ่งที่คนดูเห็นคือการที่มีตากล้องอยู่ด้วย แต่การติดตั้งกล้องวงจรปิดเท่ากับเป็นการทิ้งให้คนดูอยู่ลำพังกับมิ้ง และเผชิญหน้ากับความกลัวอย่างเดียวดาย นอกจากนั้นการทำหน้าที่ของกล้องวงจรปิดยังเป็นปฏิบัติการจับจ้องแบบพื้นที่เมือง ดังนั้นจึงหมายความว่าการถ่ายทอดภาพกลางคืนของมิ้งยังเป็นการทับซ้อนกันระหว่างความเป็นเมืองสมัยใหม่และชนบท เพราะกล้องวงจรปิดกำลังถ่ายทอดพฤติกรรมผีเข้าซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนชนบทภาคอีสาน

ณ วันทำพิธี การแยกสถานที่เพื่อหลอกผีของหมอผีสันติ แสดงให้ถึงการเชื่อมต่อระหว่างสถานที่ที่ปฏิเสธสื่อกลางแบบวิทยาศาสตร์ คือเราแทบจะหาคำอธิบายไม่ได้เลยว่าอะไรคือตัวเชื่อมระหว่างสองสถานที่ นอกจากรู้แค่ว่าทั้งสองสถานที่จะส่งผลต่อกัน ในช่วงเวลานี้ก็มีเพียงแค่คนดูเท่านั้นจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทั้งสองสถานที่ คนดูจะได้เห็นว่าอะไรกันแน่ที่จะชนะ ระหว่างวิญญาณจากอดีตหรือความอยากเอาชนะโชคชะตาของครอบครัวมิ้งเพื่อจะได้กลับสู่ชีวิตปกติ

ผู้กำกับได้เลือกแนวทางสุดโต่งที่ไม่ปรานีประนีประนอมให้กับวิธีการทำความเข้าใจเรื่องร่างทรงแบบวิทยาศาสตร์ที่คนดูหลายคนคาดหวังอยากจะเห็น และอยากจะเดิมพันว่าพวกเขาจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับร่างทรงจากหนังเรื่องนี้โดยมีวิธีการเชิงสารคดีผ่านทีมตากล้อง แต่ก็นั่นแหละ ทั้งหมดพ่ายแพ้ให้กับวิญญาณจากอดีตที่โจมตีจุดอ่อนที่สุดของมนุษย์ คือความเป็นแม่ของแป้ง และการออกมาไล่กัดกินผู้คนของผีอีมิ้ง คือการไล่กัดกินความหวังและความอยากที่จะเข้าใจสิ่งลี้ลับไปทีละเล็กละน้อย 

ประเด็นชี้ขาดและปิดตายความหวังความอยากที่จะเข้าใจของคนดูคือ การโดนผีสิงแบบป่าช้าแตกแทบทุกคนในพิธีที่โรงงานร้าง โดยเฉพาะบรรดาลูกศิษย์หมอผีสันติ ตัวหมอสันติ มานิต และแม่น้อย ซึ่งคนเหล่านี้คือคนท้องถิ่นหรือคนใน แต่ทีมตากล้องไม่มีใครสักคนเดียวจะโดนสิง จึงตีความได้ว่า เราในฐานะ ‘คนนอก’ ไม่สามารถจะเข้าใจร่างทรงในมิติของ ‘คนใน’ ได้เลย เพราะตากล้องที่เป็นคนนอกไม่ได้รับโอกาสให้มีประสบการณ์ร่วมด้วยการถูกสิง จะทำได้ก็เพียงยืนดูและถูกกัดกินเท่านั้น ความไม่เข้าใจเหล่านี้แหละมันทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนบทและเมืองกลับมาเท่ากัน หรือคุณค่าของอดีตและปัจจุบันกลับมาเท่ากัน และชนบทหรืออดีตก็ไม่ใช่เพียงผู้ถูกกระทำ หากแต่ยังเป็นฝ่ายรุกตอบโต้ได้ด้วย ตีความได้จากฉากที่ผีอีมิ้งถือกล้องวิดีโอถ่ายกลับตากล้องคนหนึ่ง การได้เห็นหน้าตากล้องในครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่ชนบทเท่านั้นที่จนแต้มหวาดกลัวกับเรื่องลี้ลับ แต่คนเมืองอย่างตากล้องเองก็หวาดกลัวเป็น

สำหรับผมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงหนังผี แต่ยังเป็นลายแทงให้ทำความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนในเมืองและชนบทที่ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่องและการถ่ายทอดเรื่องราว เราคนดูที่คาดหวังว่าจะได้เข้าใจ ‘ร่างทรง’ ในสถานะวัตถุที่ถูกศึกษา แต่เรากลับไม่เข้าใจมันต่อไป จึงไม่แปลกที่หลายคนผิดหวัง และพยายามตีความว่าการ ‘กัดกิน’ ของบรรดาผีที่สิงคนคือ ‘ซอมบี้’ เพราะซอมบี้คือตัวแทนของความเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในภาพยนตร์และเกมในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งที่จริงแล้วการ ‘กัดกิน’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องซอมบี้เท่านั้น แต่ในวัฒนธรรมผีพื้นที่ไทยก็ล้วนแต่มีการใช้ปากกัดกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผีปอบ ผีกระสือ กระหัง และผีโพง เป็นต้น 

การไม่เข้าใจ ฟันธงไม่ได้ บางสถานการณ์มันอาจคือการดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้ยังเท่าเทียมกันก็เป็นไปได้

ปฐมพงศ์ มโนหาญ
อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า