หากจะให้รวบรวมรายนามของนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องในรอบกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา คงจะมีชื่อของ แอนโทนี รีด (Anthony Reid, 1939 – ) นักประวัติศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์ ติดโผของทุกสำนัก
เช่นเดียวกับนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชื่อดังรุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายคน รีดเติบโตในยุคสงครามโลกต่อกับสงครามเย็น พื้นฐานทางครอบครัวเป็นข้าราชการ แอนโทนี รีด ผู้พ่อ เป็นทูต และมีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย รีดใช้เวลาสี่ปีในโรงเรียนมัธยมที่วอชิงตัน ดีซี ก่อนจะย้ายกลับนิวซีแลนด์ และศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทที่ Victoria University of Wellington
รีดเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ด้วยความที่เขาเป็นคนนิวซีแลนด์ ประเทศที่ทั้งเล็กและห่างไกล ทำให้เขามีความสนใจและอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์โลกอยู่ตลอดเวลา เพราะ [1]
“ศูนย์กลางโลกนี้ย่อมไม่ใช่นิวซีแลนด์ แต่ต้องเป็นที่อื่นแน่ๆ”
ด้วยความคิดนี้ รีดจึงวางแผนอนาคตของตนเองไว้ว่าหากไม่สมัครชิงทุนไปเรียนต่อ ก็จะตามรอยบิดาเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ความฝันด่านแรกของรีดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อเขาได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ King’s College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และได้รับการฝึกฝนขัดเกลาจาก วิคเตอร์ เพอร์เซลล์ (Victor Purcell, 1896-1965) ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวจีนโพ้นทะเลในบริติชมาลายา และ เจเรมี โคแวน (Jeremy Cowan, 1924-2013) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มาลายายุคอาณานิคม ผู้แนะนำให้รีดเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์สุมาตราเหนือ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย)
คำถามของรีดในเวลานั้นมีอยู่ว่า รัฐเล็กรัฐน้อยในสุมาตราภาคเหนือ โดยเฉพาะรัฐสุลต่านในอาเจะห์ ทำสงครามกับเนเธอร์แลนด์ต่อเนื่องยาวนานไปเพื่ออะไร เนเธอร์แลนด์ทำสงครามกับอาเจะห์หลายครั้ง ก่อนผนวกอาเจะห์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ในปี 1904
หากมองเผินๆ สงครามระหว่างเนเธอร์แลนด์กับสุลต่านอาเจะห์เป็นสงครามระหว่างเจ้าอาณานิคมกับผู้ปกครองพื้นเมืองที่พยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แต่หากมองให้กว้างแล้ว จะพบว่านี่เป็นสงครามที่เกี่ยวพันกับมหาอำนาจอื่นๆ ทั่วโลก เพราะเนเธอร์แลนด์กำลังยื้อแย่งความเป็นหนึ่งในคาบสมุทรมลายู อิทธิพลของเนเธอร์แลนด์ขยายไปทั่วหมู่เกาะในอินโดนีเซีย ทำให้สุลต่านอาเจะห์ต้องหันไปหาอังกฤษและจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) เพื่อให้ช่วยคานอำนาจกับเนเธอร์แลนด์ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของรีดในชื่อ The Contest for North Sumatra: Atjeh, the Netherlands and Britain (สงครามแย่งสุมาตราเหนือ: อาเจะห์, เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร) จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ร่างสูงใหญ่ผู้นี้ยิ่งสนใจประวัติศาสตร์โลกมากขึ้น
เมื่อเรียนจบ รีดพาภรรยา เฮเลน รีด (Helen Reid, สกุลเดิม Gray) ขับรถลัดเลาะจากเกาะอังกฤษสู่ยุโรปตะวันออก กรีซ ก่อนจะขับไปตุรกี ที่อิสตันบูล รีดได้รับโทรเลขว่าเขาได้งานเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya – มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของมาเลเซีย) ในกัวลาลัมเปอร์ รีดต้องวางแผนการเดินทางใหม่ และขับรถเลียบเลาะตามเมืองใหญ่น้อยในตะวันออกกลาง เยรูซาเล็ม ดามัสกัส แบกแดด (อิรัก) ไปจนถึงเมืองท่ามัทราส ที่อินเดีย สองสามีภรรยาขึ้นเรือข้ามอ่าวเบงกอลไปมาเลเซีย [2]
เมื่อถึงกัวลาลัมเปอร์ รีดได้รับมอบหมายให้สอนวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคใหม่ช่วงต้น นักประวัติศาสตร์อาณานิคมอย่างรีดไม่ได้มีความเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ในยุคนี้ แต่การเตรียมสอนและการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาและนักวิชาการชั้นดีมากมายที่มหาวิทยาลัยมาลายาทำให้รีดเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ในยุคก่อนอาณานิคมเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รีดสอนที่มหาวิทยาลัยมาลายาห้าปี ระหว่าง 1965-1970 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ (สิงคโปร์แยกออกจากมาเลเซียในเดือนสิงหาคม 1965 หลังรีดเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยมาลายาได้ไม่กี่เดือน) ในปี 1970 รีดได้งานใหม่เป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University: ANU) ในทศวรรษ 1970-1980 วงวิชาการด้านเอเชียศึกษาในออสเตรเลียกำลังได้รับความนิยม โดยมีนักวิชาการคนสำคัญๆ อย่าง หวัง กังวู (Wang Gungwu, 1930 – ) ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวจีนอพยพ ที่ไปวางรากฐานไว้ก่อนหน้านี้
รีดเริ่มคิดและวางแผนงานวิจัยชิ้นใหม่หลังย้ายไปออสเตรเลีย และมีโอกาสได้ค้นคว้าอย่างจริงจังเมื่อได้ลาไปเขียนงานวิจัยในปี 1978 และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการที่ผลัดเปลี่ยนกันไปเยี่ยม Research School of Pacific and Asian Studies ที่รีดสังกัดอยู่ และได้ร่วมเป็นบรรณาธิการในหนังสือด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เล่มสำคัญๆ หลายเล่ม เช่น Perceptions of the Past in Southeast Asia (การรับรู้อดีตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 1979) งานเขียนชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตของรีด Southeast Asia in the Age of Commerce, 1450-1680. Vol. I: The Land Below the Winds [3] หรือในชื่อภาษาไทยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680 เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านเป็นครั้งแรกในปี 1988 หรือ 23 ปีหลังรีดเริ่มอาชีพเป็นอาจารย์และนักวิจัย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า เล่ม 2 การขยายตัวและวิกฤตการณ์ ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านในอีกห้าปีต่อมา
ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่รีดโลดแล่นอยู่ในแวดวงวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เขาเก็บเกี่ยวและกลั่นประสบการณ์ที่มีให้เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ และทำให้รีดเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เต็มตัว กลายเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นผู้สร้างกระบวนทัศน์ (paradigm) ใหม่ๆ ไม่ใช่เฉพาะในสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แต่ยังรวมไปถึงแวดวงวิชาโลกด้วย
กระบวนทัศน์ว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของปวงชน
หากจะมีนักประวัติศาสตร์คนใดที่เป็นแรงบันดาลใจหลักให้รีดเขียนงานในชุด ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า’ ออกมา คนคนนั้นคือ แฟร์นองด์ บรอเดล (Fernand Braudel, 1902-1985) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส สมาชิกคนสำคัญของสำนักประวัติศาสตร์อันนาลส์ (Annales School) ผู้เขียนหนังสือ The Mediterranean and the Mediterranean World in the Age of Philip II (ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและโลกเมดิเตอร์เรเนียนในยุคของพระเจ้าฟิลิปที่ 2)
หนังสือ The Mediterranean เป็นหนังสือเล่มแรกของบรอเดล (พิมพ์ครั้งแรกในปี 1949) แนวคิดของบรอเดลพยายามขุดรื้อแนวความคิด/ความเชื่อเดิมที่ว่า อารยธรรมและวัฒนธรรมของผู้คนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแทบไม่ต่างกัน เขามองว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีความหลากหลาย และหากมองแบบพาโนรามาจากเลนส์ของหลายๆ สาขาวิชาแล้ว ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งเร็วและช้า แบ่งออกเป็นสามช่วง ได้แก่ ช่วงเวลาสั้นๆ หรือ ‘กุ๊ต ดูเร’ (courte durée) ช่วงเวลากลางๆ และช่วงเวลาที่ยาวนาน หรือ ‘ลง ดูเร’ (longue durée)
แนวคิดของบรอเดลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือแนวคิดว่าด้วย ‘ระยะเวลาช่วงยาว’ หรือที่เราเรียกทับศัพท์ว่า ‘ลา ลง ดูเร’ (La Longue Durée) ที่เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ พลวัต และความเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงระยะเวลายาวนานหลายศตวรรษ ปฏิเสธการศึกษาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นพิเศษ แสดงให้เห็น ‘ภาพรวม’ ที่เศรษฐกิจ สังคม ภูมิศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ เป็นเหมือนกระบวนการทางประวัติศาสตร์ (historical processes) ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในโลก และการเกิด-ดับของอารยธรรมหลายแห่งในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เมื่อนำกระบวนทัศน์ของบรอเดลที่มองทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในฐานะภูมิภาคที่หลากหลายกับเปี่ยมพลวัตมาใช้มองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รีดพบว่าผู้คนและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กว้างใหญ่แห่งนี้มีลักษณะร่วมกันอย่างน่าประหลาด ไม่ว่าจะเป็นในเชิงความผาสุกทางกาย วัฒนธรรมทางวัตถุ การจัดระเบียบทางสังคม และงานเฉลิมฉลองและการบันเทิง
รีดต้องการชี้ให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิใช่ภูมิภาคที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความจำเป็นทางภูมิรัฐศาสตร์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างที่หลายคนคิด แต่ในอันที่จริง ความเป็นภูมิภาคนี้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเชิงวัฒนธรรมมาหลายร้อยปีแล้ว
ความเหมือนหรือคล้ายกันนี้เกิดขึ้นจากสภาพอากาศในแถบเส้นศูนย์สูตร ฝนตกชุก สภาพอากาศแบบร้อนชื้น พืชและสัตว์ที่พบได้ไม่ต่างกันทั่วทั้งภูมิภาค สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนจากต่างที่มีวิถีชีวิต อาหารการกิน บ้านเรือน การจัดระเบียบทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างเพศชาย-หญิง เทศกาล และความสนุกสนานที่คล้ายกันไปด้วย นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ด้านกายภาพ กับโรคระบาดที่พบได้ไม่บ่อยนัก สร้างให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสีสัน และมีเวลาใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน เห็นได้จากเทศกาลงานรื่นเริงที่พบเห็นได้ทั่วไป
บทความนี้ให้ความสำคัญกับหนังสือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม เป็นหลัก หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อครั้งผู้เขียนศึกษาในระดับปริญญาตรี อาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มอบหมายให้นิสิตทุกคนอ่าน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า เล่ม 1 เพราะถือเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ปูพื้นฐานให้เห็นสภาพทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ต่างจากตำราเล่มอื่นๆ ที่มุ่งความสนใจไปที่การก่อกำเนิดของรัฐ การขยายอำนาจรัฐ และประวัติศาสตร์ภายในราชสำนัก งานของรีดขุดรื้ออุดมคติเดิมๆ (ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน) ที่ว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของชนชั้นสูง รัฐจึงเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์เสมอในงานเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก
งานของรีดแปลกแหวกแนวกว่านักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคก่อนหน้านี้ อาทิ ดี.จี.อี. ฮอลล์ (D.G.E. Hall) ยอร์ช เซเดส์ (George Coedès) หรือแม้แต่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่มักมองประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องของรัฐ กษัตริย์ และศาสนาประจำรัฐ
จึงกล่าวได้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเน้นเอกสารประเภทพระราชพงศาวดาร ศิลาจารึก และจดหมายเหตุที่รัฐสร้างขึ้นเพียงอย่างเดียว มิใช่การศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีประโยชน์โพดผลที่ชี้ให้เห็นสภาพสังคมและชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นการศึกษาเรื่องราวของผู้คนเพียงหนึ่งหยิบมือ และกีดกันคนตัวเล็กตัวน้อยในประวัติศาสตร์ออกไปอย่างมักง่าย
หนังสือของรีดยังพยายามหักล้างกรอบการมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบเดิมๆ ที่มักมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหน่วยหนึ่งทางการปกครอง และเป็นจุดยุทธศาสตร์ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาถึงยุคสงครามเย็น ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่มองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศต่างๆ 10 ประเทศ (เมื่อฮอลล์เขียนหนังสือ A History of South-East Asia ของเขาในปี 1955 อินโดนีเซียเพิ่งได้เอกราชไม่นาน และ ติมอร์ เลสเต ยังเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย) งานของรีดจึงไม่ใช่การขุดรื้อวิธีวิทยาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเท่านั้น แต่งานที่เปี่ยมไปด้วยพลังของรีดยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้สหวิทยาการ (interdisciplinary) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ และเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในแต่ละ ‘ประเทศ’ ผ่านการค้า และวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
การใช้เอกสารประเภทจดหมายเหตุในท้องถิ่น เช่น ฮิกายัต (hikayat) หรือพงศาวดาร-มุขปาฐะในวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ และจดหมายเหตุการเดินทางของนักเดินทางชาวตะวันตกและชาวจีน ชี้ให้เห็นว่าดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความผาสุกมาตั้งแต่อดีต มีประชากรอาศัยอยู่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รีดวิเคราะห์ไว้อย่างน่าฟังว่า จำนวนประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อดินแดนหลายแห่งเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม
อีกปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนการเพิ่มขึ้นของประชากรคือสงครามย่อยๆ ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงกระนั้น สงครามในภูมิภาคนี้กลับทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อย เพราะเป้าหมายการทำสงครามไม่ได้อยู่ที่การห้ำหั่นกันทางอุดมการณ์หรือศาสนา หากแต่เป็นความต้องการเสริมกำลังพล การเพิ่มขึ้นของประชากรในที่หนึ่งๆ จึงมาจากการกวาดต้อนเชลยศึก
นอกจากลักษณะการเพิ่มขึ้น-ลดลงของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะคล้ายกันแล้ว วิถีชีวิตของผู้คนยังคล้ายกันมาก อาหารการกินที่ผู้คนตั้งแต่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปจนถึงประชากรในลุ่มโตนเลสาบในกัมพูชาบริโภคเป็นหลักคือปลา บันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ทั้ง มาร์โค โปโล ที่กล่าวว่า “ปลาที่นี่ดีที่สุดในโลก” ด้าน หม่า หวน และ เจิ้ง เหอ นักเดินเรือชาวจีนในศตวรรษที่ 15 ก็เห็นพ้องกันว่าปลาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากมายและมีราคาถูก การบริโภคเนื้อสัตว์ไม่เป็นที่นิยม เนื้อสัตว์อื่นๆ มีให้เห็นอยู่บ้างในพิธีกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่ เซอร์จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ก็กล่าวไว้เช่นกันว่าไม่มีใครจะมีความสามารถด้านการจับปลาเท่ากับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [4] ความมั่นคงทางอาหาร ที่เห็นได้จากความอุดมสมบูรณ์ของปลา ข้าว เกลือ ผลหมากรากไม้ และเครื่องเทศ ทำให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสุขภาพ-สุขอนามัยดี และค่อนข้างสงบสุข
ความผาสุกทางกาย และความมั่งคั่งทางวัตถุ ดึงดูดพ่อค้านักเดินทางจากทั่วโลกให้เข้ามาในพื้นที่แถบนี้มานับพันปีแล้ว ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมืองกับพ่อค้าต่างชาติ ที่มีทั้งพ่อค้าจากจีน อินเดีย โลกอาหรับ ไปจนถึงพ่อค้าจากยุโรปทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏในแผนที่โลกมาโดยตลอด และยังเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดในยุคที่การค้าทางทะเลเฟื่องฟูสูงสุดระหว่างศตวรรษที่ 15-17 ความสัมพันธ์กับโลกภายนอกนำพาศาสนาหลักๆ เข้ามา และยังมีศิลปะวิทยาการอื่นๆ ที่เมื่อเข้ามาผสมผสานกับความรู้-ประเพณีในท้องถิ่นแล้ว ก่อกำเนิดเป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าสนใจยิ่ง
หากจะมีหนังสือเล่มใดที่ผู้เขียนแนะนำให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคก่อนสมัยใหม่อ่านเพื่อเข้าใจตัวตนและความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคของเราแล้วล่ะก็ ผลงานของรีดจะอยู่ในรายชื่ออันดับแรกๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
[1] Leonard Blussé and Caroline Stolte, ‘Studying Southeast Asia in and for Southeast Asia. An Interview with Anthony Reid,’ Itinerario 34, No.2 (2010): pp.7-18, อ้างใน Geoff Wade and Li Tana (eds.). Anthony Reid and the Study of Southeast Asia Past. Singapore: ISEAS, 2012, p.5.
[2] เรื่องราวการเดินทางของรีดมีบันทึกไว้ใน Geoff Wade and Li Tana, ‘Anthony Reid: Through Time and Space,’ ใน Ibid., pp.3-14.
[3] ฉบับภาษาไทย: แอนโทนี รีด. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680 เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม. แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอ์ม, 2548 และ แอนโทนี รีด. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680 เล่ม 2 การขยายตัวและวิกฤตการณ์. แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ. เชียงใหม่: ซิลค์เวอ์ม, 2548
[4] รีด, หน้า 30-31.